ปรินิพพาน
ในวันแห่งการปรินิพพานนั้นพระพุทธองค์ได้แสดง “ปัจฉิมโอวาท” โอวาทครั้งสุดท้าย โดยได้ประทานปัจฉิมโอวาทว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราผู้พระตถาคตเตือนท่านทั้งหลายให้รู้ สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมความฉิบหายไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังกิจทั้งปวงอันเป็นประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น ให้บริบูรณ์ด้วยไม่ประมาทเถิด" อันนี้เป็นพระวาจาที่สุดแห่งพระตถาคตเจ้า สมเด็จพระผู้ทรงพระภาค เสด็จประทม ณ พระแท่นที่ปรินิพพาน พระองค์ได้รวบรวมซึ่งโอวาททั้งปวงที่ได้ประทานแล้วสิ้น 45 พรรษานั้นลงในความไม่ประมาทอันเดียวนั้นแล ประทานแก่ภิกษุสงฆ์พุทธบริษัทในอวสานกาล ด้วยประการฉะนี้.
แต่นั้นพระองค์มิได้ตรัสอีกเลย ทรงทำปรินิพพานบริกรรมด้วยอนุบุพพวิหารสมาบัติทั้ง 9 พระธรรมสังคาหกเถรเจ้าทั้งหลายแสดงไว้ดังนี้
อนุบุพพวิหารสมาบัติ
ลำดับนั้น สมเด็จพระผู้ทรงพระภาค ทรงเข้าปฐมฌาน ออกจากปฐมฌานแล้ว เข้าทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ครบรูปาพจรสมบัติทั้ง 4 ตามลำดับนี้ ออกจากฌานที่ 4 แล้ว เข้า อรูปสมาบัติทั้ง 4 คือ อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะอากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ ตามลำดับ ออกจากเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติแล้ว ทรงเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ดับจิตตสังขาร คือสัญญาและเวทนา พระองค์ทรงเข้าอนุบุพพวิหารสมาบัติทั้ง 9 ด้วยประการฉะนี้.
ครั้งนั้นพระอานนท์ผู้มีอายุ ถามพระผู้เป็นเจ้าอนุรุทธเถระว่า"ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าอนุรุทธะ สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพานแล้วหรือ ?" "ดูก่อนอานนท์ผู้มีอายุ สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ยังไม่ปรินิพพานก่อน พระองค์ทรงเข้าซึ่งสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ."
ลำดับนั้น สมเด็จพระผู้มีพระภาค เสด็จอยู่ในนิโรธสมาบัติตามกาลที่พระองค์ทรงกำหนดแล้ว เสด็จออกจากนิโรธสมาบัติแล้วเข้าสู่เนวสัญญานาสัญญายตนะ อากิญจัญญายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากสนัญจายตนะ เป็นปฏิโลมถอยหลังฉะนี้แล้ว เข้าสู่รูปาพจรฌานทั้ง 4 เป็นปฏิโลมตามลำดับคือจตุตถฌาน ตติยฌาน ทุติยฌาน ปฐมฌาน ครั้งเสด็จออกจากปฐมฌานแล้ว ก็ทรงเข้าทุติยฌาน ออกจากทุติฌานแล้ว เข้าสู่ตติยฌาน ออกจากตติยฌานแล้ว เข้าสู่จตุตถฌาน เสด็จออกจากจตุตถฌานแล้ว พระองค์ปรินิพพานแล้ว ในลำดับแห่งความพิจารณาองค์แห่งจตุตถฌานนั้น ณ ปัจฉิมยามแห่งราตรีวิสาปุรณมี มหามงคลสมัยด้วยประการฉะนี้.
ครั้นเมื่อสมเด็จพระผู้มีพระภาคปรินิพพานแล้ว ก็บังเกิดมหัศจรรย์แผ่นดินไหวใหญ่สะเทื้อนสะท้าน เกิดการโลมชาติชันสยดสยอง กลองทิพย์ก็บันลือลั่นสนั่นสำเนียงในอากาศ พร้อมกับปรินิพพานแห่งสมเด็จพระบรมโลกนาถสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น เป็นมหาโกลาหลในปัจฉิมกาล สำเร็จโดยธรรมดานิยมบันดาลให้เป็นไปในปรินิพพานสมัย ด้วยประการฉะนี้.
เมื่อสมัยพร้อมกับปรินิพพานแห่งพระผู้มีพระภาคนั้น ท้าวสหัมบดีพรหม ได้กล่าวคาถาแสดงความสังเวชและเลื่อมใสแห่งตนมีความว่า "บรรดาสัตว์ทั้งปวงถ้วนหน้า ไม่มีเหลือในโลก ล้วนจะทอดทิ้งซึ่งร่างกายไว้ถมปฐพี, ในโลกไรเล่า แต่องค์พระตถาคตซึ่งเป็นพระศาสดา ทรงพระคุณอันใหญ่หลวงเช่นนี้ ไม่มีผู้ใดจะเปรียบปาน ทรงพระสยัมภูญาณตรัสรู้โดยลำพัง พระองค์ถึงซึ่งกำลัง คือทศพลญาณแล้ว ยังมิถาวรมั่นคงดำรงอยู่ได้ ยังมาดับขันธปรินิพพาน เสียแล้ว ควรจะสังเวชสลดนัก."
ฝ่ายท้าวโกสิยเทวราช ได้กล่าวพระคาถาความว่า "สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ มีเกิดขึ้นและเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา ย่อมเกิดขึ้นและดับไป ไม่ยั่งยืนถาวรมั่นคงอยู่ได้ความที่สังขารนามรูปเบญจขันธ์เหล่านั้นระงับเสียมิได้เป็นไป นำมาซึ่งความสุขเหตุสังขารทุกข์ คือชาติชรามรณะมิได้มีมาครอบงำ." ฝ่ายพระอนุรุทธเถรเจ้าผู้มีอายุได้กล่าว 2 พระคาถา มีความว่า "พระพุทธเจ้า มีจิตอันยั่งยืนคงที่ในโลกธรรมทั้ง 8 ท่านไม่หวั่นไหวลมอัสสาสะหายใจก่อน และปัสสาสะหายใจกลับดับสิ้นไม่มีแล้ว พระมุนีโลกนาถมิได้หวั่นไหวสะทกสะท้านด้วยมรณธรรมอันใดอันหนึ่ง ทรงปรารภทำซึ่งสันติความระงับ คือนิพพานเป็นอารมณ์ทำแล้วซึ่งกาละอันใด อันพ้นวิสัยสามัญญสัตว์ พระองค์มีจิตมิได้สะทกสะท้านหดหู่พรั่นพรึงต่อมรณธรรมเลย ได้อดกลั้นซึ่งทุกขเวทนาด้วยสติสัมปชัญญะ อันสุดดี ความพ้นแห่งจิตด้วยอนุปาทิเสสนิพพานได้มีแล้ว ประหนึ่งประทีปอันไพโรจน์ชัชวาลดับไปฉะนั้น."
ฝ่ายพระอานนท์ได้กล่าวพระคาถามีความว่า "เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ประกอบด้วยอาการอันประเสริฐทั้งปวง ดับขันธปรินิพพานแล้ว มหัศจรรย์อันให้สยดสยองสะดุ้งหวาดและให้โลมชาติชูชัน ได้เกิดมีแล้ว ณ ครั้งนั้น ปรากฏแก่เทพดามนุษย์ทั้งหลาย." ท่านทั้ง 4 องค์ได้กล่าวคาถาแสดงความสังเวชแห่งตน ๆ ด้วยประการฉะนี้แล.
คาถาแสดงเรื่องปรินิพพาน แห่งสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ควรเป็นที่ตั้งแห่งความสังเวชและไม่ประมาทของสาธุชนบัณฑิตชาติผู้สดับโดยอ่อนน้อม จะให้หยั่งรู้สภาพปกติแห่งสังขาร โดยเป็นอนิจจตาทิธรรม มิได้มีความถาวรมั่งคงดำรงอยู่ได้ ล้วนเป็นของมีความพิโยคแปรผันเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา เพราะว่าอันอุปาทินนกสังขาร ร่างกายที่มีเวทนาสัญญาและเจตนาครองนี้ ย่อมตกอยู่ในวิสัยแห่งชรามรณะถ่ายเดียว มิได้มีผู้ใดล่วงพ้น แม้แต่องค์พระตถาคตทศพลสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นพระศาสดาผู้ประเสริฐในโลกมิได้มีผู้ใดจะเปรียบปาน ยังมาเสด็จดับขันธปรินิพพาน มิถาวรดำรงอยู่ได้ ควรแล้วที่สาธุชนจะพึงมีความสังเวชและไม่ประมาทแสวงหาอุบายที่พึ่งแก่ตนในทางกุศลสัมมาปฏิบัติ อันจะสำเร็จเป็นมรรคาแห่งสุคติสวรรค์และนิพพาน ด้วยอำนาจแห่งอัปปมาทธรรมโดยกาลเป็นนิรันดร.
ธรรมเนียมการปฏิบัติในวันวิสาขบูชา
เมื่อวันวิสาขบูชาเวียนมาถึงในรอบปี พุทธศาสนาชนไม่ว่าจะเป็นบรรพชิต (พระสงฆ์ สามเณร) หรือ ฆราวาส (ผู้ครองเรือน) ทั่วไป จะร่วมกันประกอบพิธีเป็นการพิเศษทำการสักการบูชาเพื่อน้อมรำลึกถึงพระกรุณา พระปัญญาคุณ และพระวิสุทธิคุณ ของพระพุทธเจ้าผู้เป็นดวงประทีปโลก เมื่อวันวิสาขบูชา ซึ่งตรงในวันเดียวกัน ได้เวียนมาบรรจบอีกครั้งหนึ่งในรอบปี คือ เวียนมาบรรจบในวันเพ็ญวิสาขบูชา กลางเดือน 6 ปีนี้เป็นปีอธิกมาสจึงเลื่อนไปเป็นวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 7 ตรงกับวันศุกร์ที่์ 28 พฤษภาคม 2553 ชาวพุทธทั่วโลกประกอบพิธีสักการบูชา การประกอบพิธีในวันวิสาขบูชา แบ่งออกเป็น 3 พิธี คือ
1. พิธีหลวง (พระราชพิธี)
2. พิธีราษฎร์ (พิธีของประชาชนทั่วไป)
3. พิธีของพระสงฆ์ (คือพิธีที่พระสงฆ์ประกอบศาสนกิจเนื่องในวันสำคัญวันนี้) โดยพุทธศาสนิกชนและพระสงฆ์จะประกอบพิธีตั้งแต่เช้าดังนี้
1. ทำบุญใส่บาตร กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศล
2. ไปวัดเพื่อปฏิบัติธรรม ฟังพระธรรมเทศนา
3. ไปเวียนเทียน ร่วมกิจกรรมเกี่ยวกับวันสำคัญทางพุทธศาสนา
4. จัดแสดงนิทรรศการ ประวัติ หรือเรื่องราวความเป็นมาเกี่ยวกับวันวิสาขบูชา
5. ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือน วัดและสถานที่ราชการ ฯลฯ
เหตุการณ์ทั้งสามคือประสูติ ตรัสรู้และปรินิพพานแห่งองค์พระบรมศาสดาจารย์สัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ยังมีข้อปลีกย่อยอีกนานาประการ ที่พระอรรถกถาจารย์ได้รจนาไว้ มีนัยแตกต่างกันออกไปบ้าง แต่สาระสำคัญมิได้คลาดเคลื่อนกันมากนัก ชาวพุทธทุกนิกายมักจะมีความเห็นตรงกันว่าวันวิสาขบูชาถือเป็นวันที่ยิ่งใหญ่ที่ชาวพุทธควรระลึกถึงพระบรมศาสดาผู้ให้กำเนิดพระพุทธศาสนา ดังนั้นในแต่ละประเทศต่างก็พร้อมใจกันจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อเป็นการหวลรำลึกถึงคุณูปการของพระพุทธองค์ที่ได้ทรงนำสัจธรรมอันล้ำเลิศมาประกาศแก่ชาวโลก และถือเป็นหน้าที่ของชาวพุทธทุกคนจะต้องช่วยกันธำรงรักษาพระธรรมให้คงอยู่เพื่อดับพิษร้อนแห่งกิเลสทั้งหลาย อันช่วยให้โลกอยู่ได้ด้วยสันติธรรมตลอดไป
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
เรียบเรียง
23/05/53
แหล่งอ้างอิง
กรมการศาสนา,พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง,กรุงเทพ ฯ: โรงพิมพ์การศาสนา,2514.
วิชัย ธรรมเจริญ(รวบรวมและปรับปรุงต้นฉบับ),คู่มือนักธรรมชั้นตรี,กรุงเทพ ฯ: โรงพิมพ์การศาสนา,2545.
วรนุช อุษณกร, ประวัติวันสำคัญที่ควรรู้จัก. กรุงเทพฯ : โอ.เอส.พริ้นติ้ง เฮ้าส์,2528.
สุภักดิ์ อนุกูล. วันสำคัญของไทย.กรุงเทพฯ : อักษรบัณฑิต,2530.
กรมศิลปากร, กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์. ขนมธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ: 2525.
http://www.dhammathai.org
http://www.learntripitaka.com
http://www.banfun.com
http://www.mis.moe.go.th/intranet/punlada/daysthai.htm
http://www.mcu.ac.th/visakha/index.html
http://www.dhammathai.org