ในมนุษยโลกนี้จะมีใครสักกี่คนที่ถือกำเนิด ทำงานบรรลุผล จากนั้นจึงปรินิพพานลงตรงกับวันเดียวกัน เพียงแต่ต่างปี คือวันเพ็ญเดือนวิสาขะ พระจันทร์ทอแสงเปล่งประกายสดใสท่ามกลางเวหาสน์ ณ ดินแดนอันชาวพุทธทั้งหลายขนานนามว่าชมพูทวีป ปัจจุบันสมัยจาก ณ เวลากาลที่พระพุทธเจ้าศาสดาของชาวพุทธประสูติจำเนียรกาลผ่านมาแล้ว 2633 ปี (80+2553) ชาวพุทธจึงได้ถือเอาวันคล้ายวันประสูติ ตรัสรู้และปรินิพพานของพระพุทธองค์ของทุกปีโดยเรียกวันนี้ว่า “วันวิสาขบูชา”
องค์กรสหประชาชาติได้ประกาศให้เป็นวันสำคัญสากลของโลก โดยในวันที่ 15 ธันวาคม2542 ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 54 ได้พิจารณาระเบียบวาระที่174 International recognition of the Day of Visaka โดยการเสนอของศรีลังกา ในการพิจารณา ประธานสมัชชาฯ ได้เชิญผู้แทนศรีลังกาขึ้นกล่าวนำเสนอร่างข้อมติ และเชิญผู้แทนไทย สิงคโปร์ บังคลาเทศ ภูฐาน สเปน พม่า เนปาล ปากีสถาน อินเดียขึ้นกล่าวถ้อยแถลง สรุปความว่า วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญของ พุทธศาสนิกชนทั่วโลกเพราะเป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ ทรงตรัสรู้ เสด็จดับขันธปรินิพพาน พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน ให้มวลมนุษย์มีเมตตาธรรมและขันติธรรม ต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เพื่อให้เกิดสันติสุขในสังคม อันเป็นแนวทางของ สหประชาชาติ จึงขอให้ที่ประชุมรับรองข้อมตินี้ ซึ่งเท่ากับเป็นการรับรองความสำคัญของพุทธศาสนาในองค์การสหประชาชาติ โดยถือว่าวันดังกล่าวเป็นที่สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติและที่ทำการสมัชชาจะจัดให้มีการระลึกถึง(observance) ตามความเหมาะสม
ที่ประชุมฯ ได้รับรองร่างข้อมติโดยฉันทามติ ถ้อยแถลงของเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรฯ ศรีลังกาประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก ถ้อยแถลงของนายวรวีร์ วีรสัมพันธ์ อุปทูต คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก
ในปีพุทธศักราช 2553 นี้ เนื่องจากเป็นปีที่มีอธิกมาส(แปดสองหน) “วันวิสาขบูชาจึงเลื่อนไปอีกเป็นวันขึ้น 15 ค่ำเดือน7 ตรงกับวันศุกร์ที่ 28 พฤษภาคม 2553 การประสูติ ตรัสรู้และปรินิพพานนั้นได้แสดงไว้ในตำราหลายเล่ม ตั้งแต่หนังสือพุทธประวัติของนักธรรมชั้นตรี อันเป็นชั้นเบื้องต้นของการเริ่มศึกษาพระพุทธศาสนา และยังมีปรากฏในพระไตรปิฎกแทรกอยู่ในสูตรต่างๆ ซึ่งจะได้นำเสนอเพื่อเป็นเครื่องพิจารณาต่อไป
พระศาสดาประสูติ
พระเจ้าสุทโธทนะกับพระนางเจ้ามายา ได้ร่วมเสวยรมย์โดยสุขสบาย, จำเนียรกาลล่วงมา พระศาสดาของเราทั้งหลาย. ได้ทรงถือปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระนางเจ้ามายา. ทรงถือปฏิสนธิเมื่อวันพฤหัสดี เพ็ญเดือนอาสาฬหะ ปีระกา ก่อนพุทธศก 80 ปี เมื่อถึงเวลาจวนจะประสูติ พระนางเจ้าทรงปรารถนาจะเสด็จประพาสอุทยานลุมพินีวัน, บัดนี้ เรียกว่า ตำบลรุมมินเด แขวงเปชวาว์ ประเทศเนปาล
พระราชสามีก็ทรงอนุมัติมิได้ขัดพระอัธยาศัย ถึงมงคลสมัยวันวิสาขปุรณมีเพ็ญเดือน 6 แห่งปีก่อนพุทธศก 80, เวลาเช้า พระนางเจ้าเสด็จโดยสถลมารค พร้อมด้วยราชบริพารฝ่ายในฝ่ายหน้าถึงป่าลุมพินีเสด็จประพาสเล่นอยู่
ในที่นี้พระคันถรจนาจารย์ กล่าวถึงเหตุเสด็จลุมพินีวันว่าพระนางเจ้าปรารถนาจะเสด็จเยี่ยมสกุลของพระองค์ ในเทวทหนครจึงเสด็จถึงสถานตำบลนี้ อันตั้งอยู่ในกึ่งกลางแห่งนครทั้ง 2. คำนี้มีหลักฐานที่พอฟังได้, สมด้วยธรรมเนียมพราหมณ์ ภรรยามีครรภ์หาคลอดที่เรือนของสามีไม่ กลับไปคลอดที่เรือนของสกุลแห่งตน
ในเวลานั้น เผอิญพระนางเจ้าประชวรพระครรภ์ จะประสูติอำมาตย์ผู้ตามเสด็จ จัดที่ประสูติถวายใต้ร่มไม้สาละ ตามสามารถที่จะจัดได้ พระศาสดาได้ประสูติจากพระครรภ์พระมารดาในที่นั้น.ในวันศุกร์ เพ็ญเดือนวิสาขะ ปีจอ ก่อนพุทธศก 80 ปี เวลาสายใกล้เที่ยง พระเจ้าสุทโธทนะทรงทราบข่าว จึงตรัสสั่งให้เชิญเสด็จกลับพระราชนิเวศน์
เป็นธรรมดาของท่านผู้เป็นมหาบุรุษ ได้เกิดมาทำอุปการะอันยิ่งใหญ่แก่โลก จะมีผู้กล่าวสรรเสริญอภินิหารของท่านด้วยประการต่าง ๆ ในปางหลังแต่ยุคของท่าน เหตุนั้น พระคันถรจนาจารย์ก็ได้กล่าวอภินิหารของพระศาสดาไว้ โดยอเนกนัยเหมือนกัน, เล่าเรื่องตั้งแต่เสด็จอยู่ในสวรรค์ชั้นดุสิต, พวกเทวดาพากันมาอาราธนาเพื่อเสด็จลงมาสู่มนุษยโลก นำสัตว์ข้ามโอฆะคือสงสารสาคร พระองค์ทรงจุติจากดุสิตพิภพ ลงสู่พระครรโภทรแห่งพระมารดา. ปรากฏแก่พระมารดาในสุบินเป็นพระยาช้างเผือก เสด็จอยู่ในพระครรภ์บริสุทธิ์ อันมลทินมิได้แปดเปื้อน และประทับนั่งขัดสมาธิ ไม่คุดคู้เหมือนทารกอื่น, พระมารดาและเห็นได้ถนัด. เวลาประสูติ พระมารดาเสด็จประทับยืนไม่นั่งเหมือนสตรีอื่น
พระองค์ประสูติบริสุทธิ์ไม่เปรอะเปื้อนด้วยครรภมลทิน, มีเทวดามาคอยรับก่อน, มีธารน้ำร้อนน้ำเย็นตกลงมาจากอากาศสนานพระองค์; พอประสูติแล้ว ทรงดำเนินด้วยพระบาท 7 ก้าว, เปล่งวาจาเป็นบุรพนิมิตแห่งพระสัมมาสัมโพธิญาณ. การเสด็จลงสู่พระครรภ์ตลอดจนถึงการประสูติของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์มีลักษณะเหมือนกัน ดังที่ พระโคตมพุทธเจ้าแสดงการประสูติของวิปัสสีพุทธเจ้าตามที่ปรากฏในทีฆนิกาย มหาวรรคว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมดามีอยู่ดังนี้ เมื่อใดพระโพธิสัตว์จุติจาก ชั้นดุสิต เสด็จลงสู่พระครรภ์ของพระมารดา เมื่อนั้นในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์เทวดาและมนุษย์ แสง สว่างอันยิ่งไม่มีประมาณ ปรากฎในโลก ล่วงเทวานุภาพของเทวดาทั้งหลาย ช่องว่าง ซึ่งอยู่ที่สุดโลก มิได้ถูกอะไรปกปิดไว้ ที่มืดมิดก็ดี สถานที่ที่พระจันทร์และ พระอาทิตย์เหล่านี้ ซึ่งมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากปานนี้ส่องแสงไปไม่ถึงก็ดี ในที่ ทั้งสองชนิดนั้น แสงสว่างอันยิ่งไม่มีประมาณ ย่อมปรากฎล่วงเทวานุภาพของเทวดา ทั้งหลาย ถึงสัตว์ทั้งหลายที่เกิดในสถานที่เหล่านั้นก็จำกันและกันได้ ด้วยแสงนั้น ว่า พ่อเฮ้ย ได้ยินว่า ถึงสัตว์พวกอื่นที่เกิดในนี้ก็มีอยู่เหมือนกัน ทั้งหมื่นโลก ธาตุนี้ ย่อมหวั่นไหว สะเทื้อนสะท้าน ทั้งแสงสว่างอันยิ่งไม่มีประมาณย่อมปรากฎในโลกล่วงเทวานุภาพของเทวดาทั้งหลาย ข้อนี้เป็นธรรมดาในเรื่องนี้ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมดามีอยู่ดังนี้ ในเวลาที่พระโพธิสัตว์เสด็จ ลงสู่พระครรภ์พระมารดา เทวบุตร 4 องค์ ย่อมเข้าไปรักษาทิศทั้ง 4 โดยตั้งใจว่า ใครๆ คือ มนุษย์ หรืออมนุษย์ก็ตามอย่าเบียดเบียนพระโพธิสัตว์ หรือพระมารดา ของพระโพธิสัตว์นั้นได้ ข้อนี้เป็นธรรมดาในเรื่องนี้ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมดามีอยู่ดังนี้ ในเวลาที่พระโพธิสัตว์เสด็จ ลงสู่พระครรภ์ของพระมารดา พระมารดาของพระโพธิสัตว์โดยปรกติทรงศีล งดเว้น จากการฆ่าสัตว์งดเว้นจากการลักทรัพย์ งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม งดเว้น จากการกล่าวเท็จ งดเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นฐานแห่งความ ประมาท ข้อนี้เป็นธรรมดาในเรื่องนี้ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมดามีอยู่ดังนี้ ในเวลาที่พระโพธิสัตว์เสด็จลงสู่พระครรภ์ของพระมารดา พระมารดาของพระโพธิสัตว์ย่อมไม่เกิดมานัส ซึ่งเกี่ยวด้วยกามคุณในบุรุษทั้งหลาย พระมารดาของพระโพธิสัตว์ย่อมเป็นหญิงที่บุรุษใดๆ ซึ่งมีจิตกำหนัดแล้วจะล่วงเกินไม่ได้ ข้อนี้เป็นธรรมดาในเรื่องนี้ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมดามีอยู่ดังนี้ ในเวลาที่พระโพธิสัตว์เสด็จลงสู่พระครรภ์ของพระมารดา พระมารดาของพระโพธิสัตว์ย่อมได้กามคุณ 5 พระนางเพียบพร้อมพรั่งพร้อมด้วยกามคุณ 5 ได้รับบำเรออยู่ ข้อนี้เป็นธรรมดาในเรื่องนี้ ฯ