ขุนแผนโคโยตี้เมื่อผู้สร้างบอกว่าเป็นของขลังน่าจะอยู่ประเภทที่สอง เพียงแต่การสร้างนั้นมีความไม่เหมาะสมประหนึ่งจะเป็นการดูหมิ่นพระพุทธศาสนาด้วยซ้ำไป หากสร้างโดยไม่มีรูปพระพุทธเจ้าคงไม่มีใครว่าอะไร การสร้างของขลังขึ้นอยู่กับความเชื่อของผู้ใช้ พระเครื่องอาจใช้เป็นกุศโลบายในการดึงคนเข้าวัดและนำไปสู่การปฏิบัติธรรม
วิทยานิพนธิ์ปริญญาเอกเรื่องการศึกษาวิเคราะห์พระเครื่องในฐานะเป็นกุศโลบายในการปฏิบัติธรรมได้สรุปไว้อย่างน่าสนใจว่า “เมื่อนำกระบวนการสร้างและการใช้พระเครื่องมาพิจารณาวิเคราะห์เทียบเคียงกับหลักการปฏิบัติธรรมต่างๆที่สำคัญในพระพุทธศาสนาเช่นหลักบุญกิริยาวัตถุ หลักไตรสิกขา เป็นต้น พบว่ากระบวนการสร้างและการใช้พระเครื่องนั้นเป็นกุศโลบายที่แฝงเอาไว้เพื่อดึงดูดให้ผู้สร้างและผู้ใช้พระเครื่องได้มีโอกาสปฏิบัติตามหลักบุญกิริยาวัตถุหรือหลักไตรสิกขาครบถ้วนสมบูรณ์” รอบทิศ ไวยสุศรี,การศึกษาวิเคราะห์พระเครื่องในฐานะเป็นกุศโลบายในการปฏิบัติธรรม,วิทยานิพนธ์ดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา,บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย,2550,บทคัดย่อ)
ขุนแผนโคโยตี้มีพ่อค้าขาย ก๋วยเตี๋ยวอยู่หน้าวัด เปิดเผยว่าช่วงเดือน ธ.ค.52 เข้าไปขอพระเครื่องจากหลวงพ่ออึ่ง ท่านก็ให้พระเครื่องรุ่นขุนแผนโคโยตี้ เมื่อรับมาก็ดูลักษณะแปลกๆ แต่ก็ไม่คิดอะไรนำมาบูชา ปรากฏว่าขายของดีขึ้นกว่าเดิมอย่างไม่น่าเชื่อ ทุกวันนี้จะนำพระรุ่นนี้มาวางใส่พานไว้ที่ตู้หน้าร้านเป็นประจำทุกวัน
ในขณะที่นาย อำนาจ บัวศิริ ผู้อำนวยการสำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม (มส.) สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.)กล่าวว่า การนำภาพผู้หญิงมาไว้คู่กับพระก็เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะ สมอยู่แล้ว และยิ่งเป็นภาพโคโยตี้ก็สื่อความหมายในทางที่ไม่เหมาะสมมากขึ้นไปอีก ทั้งนี้ การจะสร้างวัตถุมงคลหรือการหล่อพระพุทธรูป ทางคณะสงฆ์ก็ไม่เคยสนับสนุนให้สร้าง แต่การสร้างวัตถุมงคลไม่มีกฎหมายเข้าไปควบคุมดูแล เพราะถือเป็นความศรัทธาของแต่ละบุคคลที่ไม่สามารถห้ามปรามได้ และไม่มีความผิด อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันก็มีคนที่มีความคิดแปลกๆโดยการนำความโลกีย์ของสังคมมาผสมผสานกับ ความเชื่อของคนไทยเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ที่สำคัญมีการอวดอ้างสรรพคุณต่างๆ ซึ่งตนคิดว่าการจัดสร้างวัตถุมงคลในลักษณะดังกล่าวคงไม่มีใครอยากไปเช่าซื้อ หรือครอบครอง เพราะไม่สร้างจากความศรัทธาและไม่ถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนา (เดลินิวส์ 5 เมษายน 53)
รอบทิศ ไวยสุศรียังสรุปไว้อย่างน่าสนใจว่า “พระเครื่องมิใช่เรื่องของความงมงายในอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆดังที่คนทั่วไปมักเข้าใจ แต่พระเครื่องนั้นกลับเป็นกุศโลบายอันลึกซึ้งที่เหล่าโบราณจารย์สร้างเอาไว้ เพื่อใช้ปาฏิหาริย์ภายนอกดึงดูดเข้าสู่ปาฏิหาริย์ภายในอันแท้จริงนั่นคือ ใช้เรื่องของอิทธิปาฏิหาริย์ภายนอกเช่นคงกระพัน แคล้วคลาด เมตตามหานิยม โชคลาภต่างๆเป็นต้นที่สามารถเข้าถึงคนส่วนใหญ่ได้ง่ายกว่ามาโน้มน้าวให้คนเหล่านั้นหันหน้าเข้าวัดทำบุญต่างๆหมั่นทำใจให้เบาสบายอยู่กับพระเสมอ เมื่อหมั่นปฏิบัติธรรมไปเรื่อยๆย่อมมีโอกาสปฏิบัติธรรมได้มากขึ้นตามลำดับ (หน้า 325)
ฉันไม่มีขุนแผน แม้จะใส่เสื้อแดง แต่ขายไม่ค่อยได้ เลยต้องมาขายให้พระเณรนี่แหละ
หากขุนแผนโคโยตี้ทำให้ค้าขายดีซึ่งอาจเป็นไปได้ แต่คนค้าขายหากมีหลวงพ่อสามองค์จะทำให้ได้กำไร หลวงพ่อที่ว่าคือ หลวงพ่อชอบ หลวงพ่อเงิน หลวงพ่อสด หากตัดหลวงพ่อออกไปก็จะได้ความว่า “ชอบเงินสด”อย่างนี้พ่อค้าไม่มีทางขาดทุน หรือจะใช้คาถาเมตตามหานิยมทำให้ค้าขายดีอีกอย่างหนึ่งก็ได้ว่า “ยิ้มแย้มแจ่มใส ตั้งใจสนทนา เจรจาไพเราะ สงเคราะห์เอิ้อเฟื้อ”อีกอย่างหนึ่งพ่อค้าแม่ค้าควรมีความงามให้ครบทั้งสี่ด้านคือ"งามใบหน้า ลูกค้าชอบใจ งามกิริยา ลูกค้าถูกใจ งามวาจา ลูกค้าหลงไหล งามบริการ ลูกค้าบานตะไท" หากทำได้อย่างนี้รับรองค้าขายดี ไม่ต้องมีขุนแผนโคโยตี้ก็ได้
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
เรียบเรียง
11/04/53
เอกสารอ้างอิง
ยอร์ซ เซเดย์. ตำนานพระพิมพ์.กรุงเทพฯ:ศึกษาภัณฑ์พาณิชย์,2507.
รอบทิศ ไวยสุศรี.การศึกษาวิเคราะห์พระเครื่องในฐานะเป็นกุศโลบายในการปฏิบัติธรรม.วิทยานิพนธ์ดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา,บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย,2550.
ส. พลายน้อย.พระพุทธรูปสำคัญในเมืองไทย.กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์สารคดี,2545.
สมพร ไชยภูมิธรรม.ปางพระพุทธรูป.กรุงเทพฯ:ต้นธรรมสำนักพิมพ์,2537.
ไทยรัฐ 5 เมษายน 53.
เดลินิวส์ 5 เมษายน 53.