ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง(ตม.)จับพระต่างด้าว ทั้งพม่า, เขมร, ศรีลังกา,ลาว และเวียดนาม รวม 311 รูป ไม่มีพาสปอร์ตเข้ามาเรียนหนังสือในไทย (17มี.ค.) เวลา 04.00 น. พ.ต.อ.ชาติชาย เอี่ยมแสง รองผู้บังคับการสืบสวนสอบสวนสำนักงานตำรวจคนเข้าเมือง พร้อมกับเจ้าหน้าที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ นำกำลังเข้าตรวจภายในวัดตะล่อม ถ.แยกบางแวก แขวงบางแวก เขตภาษีเจริญ เบื้องต้นพบพระสงฆ์ที่เป็นพระต่างชาติ จำนวน 311 รูป ประกอบด้วย สัญชาติพม่า, เขมร ,ศรีลังกา, ลาว และ เวียดนาม สำหรับการเข้าตรวจค้นครั้งนี้สืบเนื่องจากชาวบ้านละแวกดังกล่าวได้มีการร้องเรียนไปยังสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติว่า ภายในวัดดังกล่าวมีพระสงฆ์จำนวนมากอาศัยอยู่ และมีการออกบิณฑบาตรช่วงเวลาประมาณ 09.00-10.00 น.ของทุกวัน ซึ่งถือว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ดังนั้นสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จึงทำการประสานไปยังสำนักงานตำรวจคนเข้าเมืองให้เข้ามาตรวจสอบ เบื้องต้นพบว่ามีพระสงฆ์ สัญชาติ พม่า 12 รูป และเณร 1 รูป ที่ไม่มีพาสปอร์ต ซึ่งจะต้องถูกส่งตัวกลับประเทศ
ขณะที่ พระมหาบุญถึง ชุติน ธิโร เจ้าอาวาสวัดตะล่อม เปิดเผยว่า ในฐานะเจ้าอาวาสและยังเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ซึ่งไทยเป็นศูนย์รวมของพระพุทธศาสนาในเขตเอเซีย มีทั้งหมด 85 ประเทศ โดยไทยเป็นศูนย์กลาง ซึ่งพร้อมที่จะรับพระสงฆ์จากทุกประเทศเข้ามาเรียนหนังสือ ตั้งแต่ระดับมัธยม ถึงระดับปริญญาตรี ซึ่งทางวัดได้ทำการจัดที่พักอาศัยให้กับพระสงฆ์ที่เข้ามาเรียนหนังสือดังกล่าว โดยมีการจัดแบ่งการดูแลออกไปเป็นส่วนๆ
"ยอมรับว่าสถานที่ของวัดค่อนข้างคับแคบ ซึ่งจะต้องแบ่งกันพัก แบ่งกันอาศัย ทางวัดเองได้รับการร้องเรียนว่ามีพระกัมพูชาบางรูป ออกไปบิณฑบาตร เวลา 09.00-12.00น. ซึ่งถือเป็นประเพณีของกัมพูชา ที่พระสงฆ์จะออกบิณฑบาตรตอนสาย เข้าใจพระสงฆ์บางรูปเพิ่งเข้ามาพักในไทยอาจยังปรับตัวไม่ได้ ทางวัดได้มีการเตือนและห้าม พร้อมกับระบุว่าเวลาบิณฑบาตรควรจะเป็น 06.00-08.00 น. " พระมหาบุญถึงกล่าว
พระมหาบุญถึง กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามการดูแลบางครั้งอาจดูแลไม่ทั่วถึง ทำให้ยังมีพระสงฆ์บางรูปออกไปบิณฑบาตรในเวลาที่ไม่เหมาะสม ทำให้ชาวบ้านร้องเรียนไปยังสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ซึ่งพระสงฆ์บางรูปเป็นการเข้ามาท่องเที่ยว แต่ไม่ว่าจะมาเรียนหรือท่องเที่ยว ทางวัดจะมีการตรวจพาสปอร์ต และใบสุทธิของพระสงฆ์ทุกรูป ซึ่งพระสงฆ์ที่เดินทางเข้ามาของแต่ละประเทศจะมีหัวหน้าของแต่ละประเทศคอยดูแลในเรื่องวินัย ซึ่งถ้าเป็นความผิดเล็กน้อยก็จะสามารถดำเนินการจัดการทันที แต่ถ้าหากเป็นเรื่องใหญ่ จะต้องส่งเรื่องให้กับทางเจ้าอาวาสเป็นผู้ตัดสินใจว่า สมควรจะเรียนต่อ หรือพักต่อหรือไม่อย่างไร