สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้สิ้นพระชนม์ตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2556 ก่อนหน้านั้นคือวันที่ 3 ตุลาคม 2556 ได้มีพิธีฉลองพระชนมายุครบ 100 พรรษา นับเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์แรกที่ทรงมีพระชนมายุครบ 100 พรรษา ทรงเป็นพระมหาเถระที่ได้บำเพ็ญคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาและประเทศชาตินานับประการ ทรงแสดงพระธรรมเทศนาและทรงนิพนธ์หนังสือไว้มากมาย วันนี้ขออนุญาตนำข้อความบางตอนจากหนังสือ “ตนอันเป็นที่รักยิ่งของตน” ที่ได้รับแจกในงานฉลองพระชนมายุ 100 พรรษาที่ผ่านมา พุทธศาสนิกชนจะได้คติธรรมเตือนใจและแนวทางในการดำเนินชีวิตที่ถูกทาง
ตนแลเป็นที่รักยิ่งของตน
ตนแลเป็นที่รักอย่างยิ่ง พุทธศาสนาสุภาษิตนี้เตือนให้ระลึกรู้ตัวว่าต้องรักษาตนให้จงดี ให้เป็นผู้ ได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง ไม่ใช่ได้รับประโทษที่แฝงมาในรูปของประโยชน์
อันประโยชน์ที่ปิดบังเร้นโทษไว้ภายในนั้นมีเป็นอันมาก แม้ไม่พิจารณาให้รอบคอบแล้วยากจะแลเห็น จะเห็นแต่ประโยชน์เพียงผิวเผิน และแม้จะได้รับประโยชน์ ก็จะได้เพียงเล็กน้อยชั่วครู่ชั่วยาม หลังจากนั้นก็จะได้รับโทษเป็นอันมาก ทำเช่นนี้กล่าวได้ว่า ทำไปอย่างไม่คำนึงให้ถูกต้องว่า ตนแลเป็นที่รักอย่างยิ่ง
ผู้ที่เห็นว่าตนเป็นที่รักอย่างยิ่ง มักจะมุ่งแสวงหาลาภยศให้แก่ตน คิดว่าเมื่อตนมีลาภมียศ ก็เท่ากับตนมีคุณสมบัติสมกับตนเป็นที่รักอย่างยิ่ง
ถ้าเป็นลาภยศที่สุจริต ได้มาอย่างเหมาะสม ถูกต้องตามเหตุผล ก็เป็นการถูกต้องที่จะมอบให้กับผู้เป็นที่รักอย่างยิ่งคือตนนี้แล ถ้าแสวงหาลาภยศอย่างไม่สุจริต ไม่เหมาะสม เพื่อมอบให้แก่ตน ด้วยคิดว่าเป็นการ แสดงความรักตน เช่นนี้ไม่ถูก เป็นการไม่รักตน เป็นการไม่ถือว่าตนแลเป็นที่รักอย่างยิ่ง
รักตนต้องถนอมห่วงใยรักษา รักตนอย่างยิ่งต้องถนอมรักษาอย่างยิ่ง อย่าว่าแต่ความสกปรกมากมายเป็นความเสื่อมเสียชื่อเสียงอย่างมากเลย แม้ความมัวหมองเพียงเล็กน้อย ผู้ที่รีกตน มีตนเป็นที่รักอย่างยิ่งก็ไม่พึงทำ ยิ่งกว่านั้น ผู้มีตนเป็นที่รักอย่างถูกต้องแท้จริง ยังไม่เพียงรักษาแต่ชื่อเสียงเกียรติยศอันเป็นความงามภายนอกเท่านั้น ยังเป็นการรักษาจิตใจอันเป็นสมบัติภายในให้งามล้ำค่าอย่างยิ่งอีกด้วย
อย่าตกเป็นทาสของกิเลส
จงรอบคอบในการปฏิบัติจัดการกับกิเลสทั้งปวงที่มีอยู่ในใจตน อย่าตกเป็นทาสของกิเลส
เมื่อยังไม่สามารถหลีกหนีกิเลสพ้นได้จริง ก็ต้องเข้มแข็งประณีในการปฏิบัติทุกอย่างให้ฉลาดเหนือกิเลส ให้กิเลสอยู่ใต้เรา ไม่ใช่ให้เราอยู่ใต้กิเลส
การนำกิเลสมาใช้ให้เกิดประโยชน์
มีกิเลสอยู่ต้องใช้กิเลสให้เป็นประโยชน์ เช่นใช้กิเลสกองโลภให้เป็นการโลภแสวงบุญกุศลคุณความดี ใช้กิเลสกองโทสะดุว่าตำหนิติเตียนตนเองเมื่อทำไม่ชอบ ดังนี้เป็นต้น
ตราบใดที่กิเลสยังไม่ไกลจากจิตใจสิ้นเชิง ตราบนั้นยังไม่ควรหยุดขับไล่กิเลส
แต่ที่ถูกต้องที่สุด ควรปฏิบัติที่สุดก็คือพยายามขับไล่กิเลสออกพ้นใจให้เต็มสติปัญญาความสามารถ โลภก็ตาม โกรธก็ตาม หลงก็ตาม ต้องพยายามขจัดไปให้พ้นจิตใจให้ได้ หมั่นสำรวจตรวจดูใจตนว่า สามารถทำได้ผลเพียงใดในแต่ละวัน แล้วไม่นอนใจไม่พอใจว่าทำได้ผลเพียงพอแล้ว ตราบใดที่กิเลสยังไม่ไกลจากจิตใจสิ้นเชิง ตราบนั้นยังไม่ควรหยุดขับไล่กิเลส
ความดี เป็นเหตุให้ชื่อสกุลดำรงอยู่อย่างชื่นชม ความชั่ว เป็นเหตุให้ชื่อสกุลดำรงอยู่อย่างดูถูก
พระพุทธเจ้าทรงเป็นพยายนยืนยันความจริงที่ว่า ร่างกายของสัตว์ย่อยยับได้ แต่ชื่อและสกุลไม่ย่อยยับ
พระพุทธสรีระ คือร่างกายของพระพุทธเจ้าย่อยยับไปนานนักแล้ว นับเป็นเวลากว่าสองพันปี แต่ชื่อและสกุลของพระองค์ท่านหาได้ย่อยยับไปด้วยไม่ ยังดำรงอยู่อย่างมั่นคงตราบเท่าทุกวันนี้ พระนามของพระพุทธองค์เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง และเป็นที่รู้จักอย่างเทิดทูนบูชา ศรัทธาเลื่อมใสอย่างสูงส่ง
ทำให้น่าคิดว่า ชื่อและสกุลที่ไม่ย่อยยับ แตกต่างกันเป็นสองลักษณะอย่างกว้างๆ คือลักษณะหนึ่งดำรงอยู่อย่างเป็นที่ดูหมิ่นดูแคลน อีกลักษณะหนึ่งดำรงอยู่อย่างเป็นที่ชื่นชมยกย่องสรรเสริญ ความแตกต่างนั้น ทุกคนน่าจะเข้าใจว่าเป็นเพราะเหตุสำคัญคือความดีกับความชั่ว
ความดี จะเป็นเหตุให้ชื่อและสกุลดำรงอยู่อย่างเป็นที่ชื่นชม ยกย่องสรรเสริญ
ความชั่ว จะเป็นเหตุให้ชื่อและสกุลดำรงอยู่อย่างเป็นที่ดูหมิ่นดูแคลน รังเกียจเหยียดหยาม
วิธีบริหารจิตโดยตรงให้ห่างไกลจากกิเลส
อันความคิดและสติปัญญาของปุถุชนเรา แตกต่างจากของพระพุทธเจ้าอย่างหาคำมาอธิบายให้ถูกไม่ได้ ดังนั้นจึงมีความตรงกันข้ามอยู่ในแทบทุกเรื่อง ที่เป็นความตรัสรู้ และที่เป็นความคิดเห็นของเราปุถุชนทั้งหลาย เป็นต้น ในความสุขและความทุกข์ ที่เราเข้าใจว่าเป็นสุขก็ทรงแสดงว่าเป็นทุกข์ ที่เราเข้าใจว่าน่าใคร่น่าปรารถนาพอใจ ก็ทรงแสดงว่าไม่น่าใคร่ไม่น่าปรารถนาพอใจ และที่เราเข้าใจว่าเป็นสิ่งที่จะนำให้เกิดความสุขก็ทรงแสดงว่าเป็นสิ่งที่จะนำให้เกิดควมทุกข์ ดังนี้เป็นต้น
จึงสมควรที่จะใช้วิธีบริหารจิตโดยตรง โดยยอมเชื่อว่าไม่ว่าเรื่องใดสิ่งใด ถ้าความคิดความเห็นของเราผิดจากของพระพุทธเจ้าแล้ว เราเป็นฝ่ายผิด ต้องแก้ไขให้ถูกต้องตามของพระพุทธเจ้าให้เต็มสติปัญญาความสามารถ
การดำรงชีวิตของคนเปรียบได้กับการเดินทาง
เปรียบชีวิตก็เหมือนทาง การดำรงชีวิตอยู่ของแต่ละคนเปรียบดังการเดินทางนั่นเอง แตกต่างกันเพียงว่าบางคนเดินอยู่บนทางที่สว่าง บางคนเดินอยู่บนทางที่มืด
พระพุทธองค์ทรงประกาศ ทรงชูประทีปขึ้นส่องทาง ก็แสดงว่าทางของพระพุทธองค์เป็นทางที่สว่าง คือตามที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ชัดแจ้งว่า เป็นทางที่ถูกแท้ อันจักนำไปถึงจุดหมายได้โดยสวัสดี ไม่พาไปตกหลุมตกเหวหรือเป็นเหยื่อของสัตว์ร้ายเสียก่อน
ความสุขอย่างยิ่งของเราทุกคน อยู่ที่ใจดวงนี้
ใจเป็นสิ่งบังคับได้ด้วยการฝึก สามารถฝึกให้อยู่ในอำนาจได้
ใจนั้นฝึกอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น
ฝึกให้เป็นใจดี ก็จะเป็นใจดี
ฝึกให้เป็นใจร้าย ก็จะเป็นใจร้าย
ฝึกให้เป็นใจที่สงบเย็น ก็จะเป็นใจที่สงบ
ฝึกให้เป็นใจที่วุ่น ก็จะเป็นใจที่วุ่น
ฝึกให้เป็นใจที่สว่างด้วยปัญญา ก็จะเป็นใจที่สว่างด้วยปัญญา
ฝึกให้เป็นใจที่มืดด้วยไม่มีปัญญา ก็จะเป็นใจที่มืดด้วยไม่มีปัญญา
ใจฝึกบังคับได้ ถ้าตั้งใจฝึกจริง
ความสุขอย่างยิ่งของเราทุกคน ไม่ได้อยู่ที่อะไรอื่นทั้งสิ้น แต่อยู่ที่ใจดวงนี้เท่านั้น พึงทำความเข้าใจให้ถูก หนทางดำเนินไปสู่การทำใจให้เป็นสุขนั้น พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ชัดแจ้งหลายอย่าง สามารถเลือกให้เหมาะกับจริตนิสัยของตนได้
พึงรักษาวิธีเดินให้จงดี จักได้เดินอย่างถูกทาง
ไม่มีผู้ใดอยากมีหนทางที่มืด มีแต่อยากมีหนทางชีวิตที่สว่างทั้งนั้น เพราะฉะนั้นก็ต้องอบรมตนให้รู้จักทางให้ดี ทางมืดก็ให้รู้ ทางสว่างก็ให้รู้ ไปสู่ที่มืดก็ให้รู้ ไปสู่ที่สว่างก็ให้รู้ จะรู้ได้ถูกต้องก็ด้วยอาศัยการศึกษาพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงสั่งสอนไว้
เมื่อรู้แล้วก็พึงศึกษาวิธีเดินทางให้จงดี เดินทางสว่างท่านเดินกันอย่างไร ต้องศึกษาให้ดี เดินอย่างไรจึงจะเป็นเดินทางมืด และขึ้นชื่อว่าทางมืดแล้ว ต้องมีอันตรายแอบแฝงอยู่อย่างไม่ต้องสงสัย จึงไม่ควรเสี่ยงเดินส่งเดชไป อบรมใจให้ดี ให้ตาสว่างจะได้เดินถูกทาง สามารถทำตนให้เป็นคติของตนได้
เว็บมาสเตอร์ไซเบอร์วนาราม
รวบรวม
26/10/56
ที่มา: สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก.ตนอันเป็นที่รักยิ่งของตน.กรุงเทพฯ:โรงพิพม์เม็ดทราย,2555. (พิมพ์แจกเป็นธรรมทาน)