แม่น้ำโขงมีช่วงหนึ่งที่ไหลผ่านหลวงพระบาง สองฟากฝั่งเขียวชะอุ่มไปด้วยหมู่แมกไม้ มีเรือจอดเรียงรายอยู่ตามริมฝั่งซึ่งพร้อมที่จะรับนักท่องเที่ยวไปยังถ้ำติ่ง มีวัดอยู่วัดหนึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งโขง ด้วยความรีบร้อนจึงไม่ได้ถ่ายภาพชื่อวัดไว้ พอกาลเวลาผ่านไปชื่อวัดก็ถูกลืม ตามปรกติแล้วชื่อสถานที่ที่เกี่ยวข้องมักจะถูกถ่ายภาพเก็บไว้ก่อนเสมอ ส่วนชื่อบุคคลจะเขียนบันทึกไว้ในสมุดบันทึกเล่มเล็กๆที่มักจะมีติดมือไปด้วยทุกครั้ง ถ้าหาไม่ได้จริงๆก็จะเขียนลงบนฝ่ามือไว้ก่อน หากไม่ลบเลือนหายไปเสียก่อนค่อยจดบันทึกลงสมุดอีกที แต่หากไม่มีอะไรเลยแม้แต่ปากกาก็จะพยายามจำไว้ในใจ ชื่อของคนบางคนแม้กาลเวลาจะผ่านไปนานแต่ก็ยังจดจำไว้ได้ ผิดกับชื่อของคนบางคนที่พบเห็นหน้ากันอยู่บ่อยๆ ก็มักจะลืมชื่อจริงทุกที ปัจจุบันความจำเริ่มสั้นลง แต่ความประทับใจกลับยืนยาวขึ้น
วันนั้นพอถึงท่าเรือก่อนจะขึ้นเรือจึงแวะเข้าวัดแห่งหนึ่งริมฝั่งแม่น้ำโขง สามเณรน้อยรูปหนึ่งออกมาต้อนรับพาไปยังห้องน้ำ ถามชื่อสามเณรบอกว่า “ผมชื่อสามเณรบุญสีครับ อยู่กับพระสงฆ์อีกสามรูป เจ้าอาวาสเดินทางไปหลวงพระบาง กับพระอีกรูปหนึ่ง วันนี้เหลือผมกับหลวงตาเฝ้าวัดนี่แหละครับ หลวงพ่อมาจากไหนครับ” เมื่อบอกว่ามาจากรุงเทพ สามเณาบุญสีก็มองด้วยสายตาตั้งคำถาม ก่อนจะบอกว่า “ผมไม่เคยไปเมืองไทย อยากไปเหมือนกันแหละครับ แต่คงไม่ใช่ตอนนี้ ผมอยากเรียนหนังสือที่เมืองไทย กลับมาจะได้สอนหนังสือให้กับพระภิกษุสามเณรรูปอื่นๆ หลวงพ่อรู้จักหลวงพี่บัวผันไหมครับ ท่านเรียนจบมาจากมหามกุฏฯ ที่กรุงเทพฯตอนนี้ทำงานอยู่ที่เวียงจันท์ครับ”
โลกช่างแคบจริงๆ บังเอิญว่าพระบัวผันที่สามเณรบุญสีพูดถึงนั้น เคยเป็นพระนักษาเรียนที่มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยเมื่อหลายปีก่อน เรียนสาขาวิชาภาษาอังกฤษ และผู้เขียนก็เคยสอนเมื่อครั้งที่ท่านเรียนปี 1 ปี 2 เป็นพระที่ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนดีมาก แม้จะเรียนไม่ค่อยเก่งแต่ก็มีความพยายามจนสามารถเรียนจบปริญญาตรีจนได้
สามเณรบุญสีมีพระในอุดมคติ มีเป้าหมายคืออยากเรียนหนังสือ แต่ในช่วงเวลาอย่างนั้นรับปากใครไม่ได้ ประเดี๋ยวจะผิดสัญญา ปล่อยให้กาลเวลาเป็นไปตามครรลอง สามเณรรูปนั้นแม้จะพบกันในช่วงเวลาสั้นๆ ไม่ได้บันทึกชื่อไว้ในกระดาษแผ่นใดเลย แต่กาลเวลาผ่านไปหลายเดือน ชื่อนั้นกลับยังอยู่ในความทรงจำ สามเณรบุญสี จำชื่อสามเณรได้แต่กลับจำชื่อวัดไม่ได้
ชุมชนข้างวัดชาวบ้านมีอาชีพทอผ้าตามแบบดั้งเดิมคือไม่ได้นำเครื่องจักรใดๆมาใช้ แต่ใช้ฝีมือและแรงงานของคนล้วนๆ ชาวบ้านส่วนมากจะเป็นผู้หญิงทั้งวัยสาวและสูงวัยต่างก็ก้มหน้าก้มตาทำหน้าที่ทอผ้าโดยมีเครื่องมือที่สำคัญที่เรียกว่าฟืม ค่อยๆสอดด้ายจากฟักหลอดเข้าไปทีละเส้น ในขณะที่เท้าก็เหยียบลงบนไม้สลับไปมา เมื่อด้ายสอดผ่านก็สลับขาเหยียบเท้าลงครั้งหนึ่ง ในขณะที่สายตาเพ่งมองไปที่ผืนผ้าที่ค่อยๆมีขนาดใหญ่ขึ้นตามลำดับ กว่าจะเสร็จเป็นผ้าแต่ละผืนต้องใช้เวลานาน บางผืนใช้เวลาหลายวัน อาชีพเหล่านี้คงกระทำสืบต่อมาจากบรรพบุรุษ ในขณะที่พวกเด็กๆก็ชักชวนนักท่องเที่ยวเข้าร้านเพื่อที่จะได้เสนอขายผลิตภัณฑ์ที่ทำจากผ้า พวกเขาต่างก็ทำหน้าที่ทำของตน ในการทำมาหากิน แม้จะไม่ต้องการซื้ออะไร แต่ทว่าเมื่อเห็นสภาพการทำงานของชาวบ้านเหล่านั้นจึงตัดสินใจซื้อผ้ามาผืนหนึ่ง
พวกผู้ชายมีอาชีพในการขับเรือล่องตามลำน้ำพานักท่องเที่ยวไปชมความงามของสองฟากฝั่งริมแม่น้ำ ที่ยังคงมีบ้านเรือนตั้งอยู่ตามริมฝั่ง จุดหมายปลายทางอยู่ที่ถ้ำติ่งอันถือเป็นสถานที่สำคัญที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยือน ถ้ำติ่งเป็นถ้ำที่ตั้งอยู่บนหน้าผาต้องค่อยๆปีนไปตามบันได ภายในถ้ำมีพระพุทธรูปจำนวนมากทั้งที่สมบูรณ์และไม่สมบูรณ์แทรกอยู่ตามหลืบถ้ำ เรือยนต์มีหลายลำวิ่งสวนกันไปมา มีนักท่องเที่ยวที่กำลังเดินไปและเดินทางกลับ
สองฟากฝั่งลำน้ำโขงเป็นวิถีชีวิตที่ยังคงรักษารูปแบบการดำเนินชีวิตแบบดั้งเดิม ปลูกผัก ปลูกผลไม้ หาปลาตามริมฝั่ง มองจากสายตาของคนเดินทางแล้วเป็นชีวิตที่เรียบง่าย สงบสุข พออยู่พอกินตามประสาชนบท ปัจจุบันวิถีแบบนี้หายากในเมืองใหญ่ ความธรรมดาสามัญของการดำเนินชีวิตกลับกลายเป็นสิ่งที่ขายได้ในสายตาของนักท่องเที่ยว
ถ้ำติ่งเป็นเก่าแก่แห่งหนึ่งตั้งอยู่ในภูเขาริมน้ำโขง ภายในมีพระพุทธรูปที่ทำจากไม้จำนวนมาก ชาวบ้านเชื่อกันว่าเคยมีพระพุทธรูปทองคำหลายองค์อยู่ภายในถ้ำ แม่น้ำโขงช่วงนี้หากมองดีๆจะเห็นเป็นแม่น้ำสองสีทั้งสีน้ำตาลที่ไหลมาจากอีกทางหนึ่ง และสี้ฟ้าสดใสเมื่อมาบรรจบกันจึงกลายเป็นแม่น้ำสีหม่น
วันนั้นหลังจากที่ได้ชมภูผาป่าถ้ำที่ถ้ำติ่งแล้วก็แวะฉันภัตตาหารเพลที่ร้านอาหารริมฝั่งน้ำ วันนั้นมีนักท่องเที่ยวหลายคณะ ร้านอาหารมีเพียงร้านเดียว แต่ทว่ารสชาติใช้ได้ คงเนื่องความหิวจากการเดินทางและ อาหารอร่อย ความหิวบวกกับอาหารรสชาติดีได้กลายเป็นความเปรมปรีในวันนั้น
ย้อนกลับมาทางเดิมเดินขึ้นท่าที่ฝั่งเดิม เดินเข้าไปในวัดแห่งเดิม สามเณรน้อยรูปเดิมออกมาต้อนรับ ขอเข้าห้องน้ำเหมือนเดิมและตอบแทนความีน้ำใจของสามเณรบุญสี 100 บาท สามเณรบุญสีมองเห็นผ้าที่บังเอิญพาดไว้ที่ไหล่จึงหันมาชวนสนทนาว่า “ผ้าสวยดีนะครับหลวงพ่อ” จึงบอกว่า “พึ่งซื้อจากแม่ค้าก่อนจะขึ้นเรือนี่เอง แต่ถามจริงๆเถอะสามเณรบุญสี ผ้าผืนนั้ปรกติเขาขายราคาเท่าไหร่ ตอบตามความจริงไม่ต้องเกรงใจ”
สามเณรบุญสีทำท่าอึกอักก่อนจะยิ้มเจื่อนๆว่า “หลวงพ่ออย่าโกรธชาวบ้าน อย่าโกรธผมนะครับ หากผมบอกราคาจริงๆออกไปแล้วแพงกว่าที่หลวงพ่อซื้อ”
“ไม่เป็นไรที่มานี้ก็พร้อมจะถูกหลอกอยู่แล้ว ถึงเขาหลอกแต่เต็มใจให้หลอก”
สามเณรบุญสีจึงบอกว่า “ตามปรกติเขาขายไม่เกินหนึ่งร้อยบาทหรือหนึ่งหมื่นกีบครับ แพงสุดไม่เกินร้อยห้าสิบบาท”
หลวงพ่อตามที่สามเณรเรียกในวันนั้นรีบบอกลาสามเณรบุญสีในบัดดล หากมีโอกาสวันหน้าเราคงได้พบกันอีก รีบดุ่มเดินกลับเพื่อขึ้นรถในทันใด โดยไม่ได้แวะที่ร้านขายผ้าแห่งไหนอีกเลย เพราะผ้าผืนนั้นซื้อมาในราคาสองร้อยห้าสิบบาท แพงกว่าราคาปรกติตั้งสองเท่า
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
16/10/56