วัดมหาธาตุอยุธยาไม่ได้อยู่ในโปรแกรมเที่ยวอยุธยาในครั้งนี้ เมื่อเดินทางจากวัดพระศรีสรรเพชญ์ คนขายของที่ระลึกยื่นภาพถ่ายให้พร้อมทั้งบอกราคาเรียบร้อย เมื่อเหลือบตาดูเห็นมีภาพพระเจดีย์ ภาพวัด ภาพวิหาร แต่มาสะดุดตาตรงภาพสุดท้ายคือภาพเศียรพระพุทธรูปที่แทรกตัวสงบนิ่งอยู่บนรากต้นโพธิ์ จึงถามแม่ค้าผู้ที่ขายของที่ระลึกว่า ภาพนี้อยู่ที่ไหน แม่ค้าบอกว่าวัดมหาธาตุ นักท่องเที่ยวชอบไปเที่ยวมาก จึงบอกกับคณะผู้นำเที่ยวว่าขอไปวัดมหาธาตุสักประเดี๋ยว อยากดูเศียรพระพุทธรูปเพราะมีคนร่ำลือกันว่าปัจจุบันได้กลายเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่นักท่องเที่ยวจากทุกมุมโลกอยากมาทัศนา
ภาพนี้ถูกเผยแพร่มานานแล้ว เป็นภาพของเศียรพระพุทธรูปหินทรายเหลือแต่ส่วนเศียร สำหรับองค์พระนั้นหายไป เป็นเศียรพระพุทธรูปศิลปะอยุธยา วางอยู่ในรากโพธิ์ข้างวิหารราย ฝรั่งนำเสนอเผยแพร่ภาพนี้ไปทั่วโลก แต่ทว่าไม่เคยเดินทางไปดูด้วยตาสักครั้ง ภาพนี้รู้จักเพียงคร่าวๆว่า “เศียรพระที่วัดมหาธาตุ อยุธยา” แต่เมื่อได้เห็นและได้สักการะครั้งแรกได้เรียกเศียรพระพุทธรูปนั้นว่า “หลวงพ่อพระเศียรแห่งอยุธยา” เมื่อมีโอกาสไปอยุธยาจึงขออนุญาตผู้นำเที่ยวว่าขอเวลาสักนิดอยากไปดูเศียรพระพุทธรูปในรากไม้ เดินเข้าบริเวณวัดมหาธาตุในช่วงบ่าย ซึ่งวันนั้นมีนักท่องเที่ยวจากนานาประเทศจำนวนมากต่างเบียดเสียดเพื่อเข้าไปยังวัดมหาธาตุ ส่วนหนึ่งไปเพื่อชมเศียรพระพุทธรูปในรากโพธิ์
วัดมหาธาตุ อยุธยามีประวัติการสร้างมานานกว่าหกร้อยปีแล้วตามหลักฐานระบุว่า “สมเด็จพระรามาธิบดีอู่ทองผู้ทรงสถาปนาพระนครศรีอยุธยา ทรงสถาปนาวัดสำคัญในราชธานีคือวัดพุทไธสวรรค์ ซึ่งทรงอุทิศพื้นที่บริเวณตำบลเวียงเหล็กเป็นที่สร้างวัด วัดพุทไธยศวรรย์เป็นปฐมอารามในสมัยอยุธยา คติในการสถาปนาพระมหาธาตุเจดีย์เป็นศูนย์กลางของบ้านเมืองอันเป็นคติในพระพุทธศาสนาเถรวาทได้เข้าสู่ราชธานีศรีอยุธยาตั้งแต่ยุคแรกสถาปนาด้วย ดังปรากฏการสถาปนาพระปรางค์มหาธาตุองค์ใหญ่ตามอิทธิพลสถาปัตยกรรมเขมรโบราณ ในรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 (ขุนหลวงพระงั่ว พ.ศ. 1913 –พ.ศ. 1931) ดังที่กล่าวถึงในพระราชพงศาวดารว่า “ศักราช 736 ขาลศก (พ.ศ. 1917) สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้า และพระมหาเถรธรรมากัสญาณ แรกสถาปนาพระศรีรัตนมหาธาตุ ฝ่ายบุรพทิศหน้าพระบรรพ์ชั้นสิงห์สูงเส้น 3 วา” การก่อสร้างองค์พระศรีรัตนมหาธาตุขึ้นมาขึ้นมาในรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 ยังไม่แล้วเสร็จบริบูรณ์ในแผ่นดินนั้น ในรัชกาลต่อมาพระราชพงศาวดารกล่าวถึงเหตุการณ์ที่สมเด็จพระราเมศวรทอดพระเนตรเห็น “พระบรมสารีริกธาตุเสด็จปาฏิหาริย์ ในราตรีหนึ่งเวลา 10 ทุ่ม จึงทรงสร้างพระปรางค์มหาธาตุและเสนาสนะต่างๆ เพิ่มเติมจนสำเร็จบริบูรณ์เป็นพระอาราม แล้วขนานนามว่า “วัดมหาธาตุ” (ดร.ดินาร์ บุญธรรม,พระมหากษัตริย์ไทยกับพระพุทธศาสนา,กรุงเทพฯ:อมรินทร์พริ้นติ้งแอนพับลิชซิ่ง,2555 หน้า 121
วัดมหาธาตุมีอาณาบริเวณที่ใหญ่โตมากแต่ก็นึกภาพไม่ออกว่ามีแผนผังในสมัยที่เริ่มก่อสร้างอย่างไร เพราะปัจจุบันมีเพียงซากปรักหักพังของเจดีย์และสิ่งก่อสร้างอื่นๆ จึงได้สืบค้นจากหลักฐานที่มีผู้สันนิษฐานไว้
ผังของวัดมหาธาตุ ได้มีผู้ตั้งข้อสันนิษฐานว่า “ผังของวัดประกอบด้วยปรางค์ประธานเป็นศูนย์กลาง แวดล้อมด้วยปรางค์บริวารประจำที่มุมทั้งสี่ ถัดออกมาล้อมรอบอย่างได้จังหวะ ด้วยเจดีย์รายจำนวน 36 องค์ ทั้งหมดนี้ล้อมอบอีกชั้นหนึ่ง ด้วยระเบียงสี่เหลี่ยมซึ่งหักมุมฉากอ้อมไปบรรจบกับผนังข้างของพระวิหารหลวง ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันอกของปรางค์ประธาน กลุ่มของสิ่งก่อสร้างในผังซึ่งเป็นระเบียบเช่นนี้ ส่วนใหญ่น่าจะถูกสร้างขึ้นในคราวเดียวกัน ภายใต้การกำหนดผังรวมอย่างรอบคอบของสถาปนิกโบราณ เมื่อประมาณครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ 20 องค์ปรางค์ประธานได้พังลง ในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม (ระหว่างปีพุทธศักราช 2163 – 2174) และได้รับการปฏิสังขรณ์ให้คืนดี ในสมัยของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (เมื่อปีพุทธศักราช 2176) ต่อมาได้พังทลายลงอีกครั้งหนึ่งเมื่อหลายสิบปีก่อน ดังสภาพที่เห็นในปัจจุบัน” (เสมอชัย พูลสุวรรณ,สัญญลักษณ์ในงานจิตรกรรมไทย,กรุงเทพฯ; สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,2539, หน้า 41)
รูปแบบศิลปะในยุคนั้นระบุว่าสร้างพระปรางค์เป็นประธาน แต่จากที่เห็นกำลังมรการซ่อมแซมเจดีย์อยู่จึงสงสัยว่า รูปแบบของศิลปะในการก่อสร้างสมัยนั้นจะเป้นอย่างไร มีผู้ตั้งข้อสันนิษฐานว่า “ศิลปะอยุธยามีศิลปะสืบมาจากศิลปะอู่ทอง จึงมักจะมีศิลปะอู่ทองและศิลปะเขมรและศิลปะสุโขทัยผสมอยู่มาก ตั้งแต่สถาปัตยกรรมในพระพุทธศาสนาเช่นอุโบสถ สถูปเจดีย์ และสถาปัตยกรรมในสถาบันกษัตริย์ วัดที่สร้างในยุคต้นนิยมสร้างปรางค์เป็นประธานของวัด มีวิหารอยู่ด้านหน้า มีระเบียงคตล้อมรอบปรางค์เช่นวัดราชบูรณะ วัดมหาธาตุ (วิบูลย์ ลี้สุวรรณ, ศิลปะในประเทศไทย, กรุงเทพฯ:ศูนย์หนังสือลาดพร้าว,2548,หน้า 51)
วัดมหาธาตุ อยุธยาได้รับการสันนิษฐานว่าองค์ประธานของวัดคือพระปรางค์ ซึ่งปัจจุบันได้หักพังลงมาเหลือเพียงกองอิฐ พระปรางค์ที่เคยโดดเด่นเป็นศรีสง่าแก่กรุงศรีอยุธยาในอดีต ปัจจุบันเหลือเพียงซากเก่าแห่งความรุ่งเรือง นอนสงบนิ่งมีต้นไม้วัชพืชขึ้นแซมเป็นหย่อมๆ เมื่อมองย้อนกลับไปยังอดีตที่เคยรุ่งเรืองเมื่อกาลเวลาผ่านไปก็ล่มสลาย กลายเป็นเพียงเศษอิฐเศษปูนที่นักท่องเที่ยวทั้งหลายแทบจะนึกภาพองค์พระปรางค์ในอดีตไม่ออก แต่สิ่งที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจกลับกลายเป็นเศียรพระพุทธรูปที่แทรกอยู่ในรากโพธิ์ต้นหนึ่ง
วันนั้นต้องคอยหลบนักท่องเที่ยวจากหลายประเทศ รอเวลาที่ผู้คนเบาบางจะได้เข้าไปถ่ายภาพเศียรพระพุทธรูปไว้เป็นที่ระลึก ในขณะที่ผู้คนทยอยมาไม่ขาดสาย เท่าที่สังเกตก็ไม่ค่อยมีใครให้ความสนใจกับกองอิฐที่อยู่ไม่ห่างออกไป เพราะแทบทุกคนต่างก็พยายามถ่ายภาพตนเองกับเศียรพระนั้น ปรางค์ใหญ่ในอดีตปัจจุบันจึงแทบจะถูกลืมเลือน ในขณะที่เศียรพระพุทธรูปธรรมดากลายเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกไปแล้ว
พยายามสบตากับหลวงพ่อเศียรแต่ดวงเนตรหลวงพ่อสงบนิ่ง ในใจอยากจะถามหลวงพ่อว่า หลวงพ่อรู้สึกอึดอัดที่ต้องมาทนอยู่ใต้รากไม้หรือไม่ แต่ทว่าหลวงพ่อเศียรก็ไม่มีคำตอบ เห็นเพียงรอยยิ้มจางๆอย่างผู้ปล่อยวาง ไม่ได้สนใจในความเป็นไปของมนุษยโลกอีกแล้ว ใครจะมาใครจะไปไม่อยู่ในใจของหลวงพ่อ มีผู้กล่าวถึงคุณลักษณะพิเศษของพระพุทธรูปไว้ว่า “เผาไม่ไหม้ ใกล้ไม่ร้อน นอนไม่มาก ปากไม่โป้ง โกงไม่เป็น”
ความหมายของแต่ละคำนั้นอรรถาธิบายได้ว่า คำว่า “เผาไม่ไหม้” หมายถึง พระพุทธรูปเป็นตัวแทนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่มีพระคุณอันประเสริฐ แม้จะถูกกล่าวหาว่าร้ายอย่างไรก็ไม่ทำให้พระคุณทั้งสามประการคือพระปัญญาคุณ พระวิสุทธิคุณและพระมหากรุณาคุณ ของพระพุทธเจ้าเสื่อมถอยไปได้
คำว่า “ใกล้ไม่ร้อน” หมายถึงพระพุทธรูปเป็นตัวแทนของความสงบ มองแล้วเย็นตาเย็นใจ รู้สึกสัมผัสได้ถึงความเย็น แม้จะเข้าใกล้ก็จะได้รับความสงบและสันติสุข ไม่เร่าร้อนเหมือนมองรูปอย่างอื่น
คำว่า “นอนไม่มาก” หมายถึงพระพุทธรูปอันเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้านั้นมีเวลาพักผ่อนนอนไม่มาก วันหนึ่งพักผ่อนเพียงไม่กี่ชั่วโมง เวลาที่เหลือจะทำหน้าที่เพื่อประโยชน์และความสุขแก่มหาชน
คำว่า “ปากไม่โป้ง” หมายถึงจะพูดในสิ่งที่ควรพูด พูดในสิ่งที่เป็นประโยชน์
คำว่า “โกงไม่เป็น” หมายถึงมีความซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมา ไม่มีมารยาสาไถย์
หากนำคุณสมบัติของพระพุทธรูปซึ่งแม้จะเป็นเพียงอิฐเพียงปูน แต่เมื่อเป็นรูปเหมือนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ชาวพุทธก็มองผ่านอิฐผ่านปูนเข้าไปถึงพุทธคุณของพระพุทธเจ้าเก้าประการดังที่แสดงไว้ในมหาสีหนาทสูตร มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์(12/163/138) ความว่า “อิติปิโส ภควา อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน สุคโต โลกวิทู อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ สตฺถา เทวมนุสฺสนํ พุทฺโธ ภควา” แปลว่า “แม้เพราะเหตุนี้พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึกไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม"
หลวงพ่อพระเศียร วัดมหาธาตุ อยุธยา แม้จะเป็นเพียงเศียรของพระพุทธรูปเก่าๆที่บังเอิญมีรากของต้นไม้โอบรอบโผล่เพียงพระพักตร์ออกมาให้เห็น แต่ทว่าปัจจุบันได้กลายเป็นสิ่งที่นักท่องเที่ยวต่างก็อยากจะมาดูให้เห็นกับตา จนดูเหมือนกับว่านักท่องเที่ยวทั้งหลายสนใจหลวงพ่อพระเศียรมากกว่าจะให้ความสนใจวัดมหาธาตุที่หลวงพ่อพระเศียรพำนักอยู่
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
22/09/56
หนังสืออ้างอิง
กรมการศาสนา. พระไตรปิฏกภาษาไทยฉบับหลวง เล่มที่ 12. กรุงเทพมหานคร : กรมการศาสนา, 2525.
ดินาร์ บุญธรรม(ดร.).พระมหากษัตริย์ไทยกับพระพุทธศาสนา. กรุงเทพฯ:อมรินทร์พริ้นติ้งแอนพับลิชซิ่ง,2555.
เสมอชัย พูลสุวรรณ.สัญญลักษณ์ในงานจิตรกรรมไทระหว่างพุทธศตวรรษที่ 19-24.กรุงเทพฯ; สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,2539.
วิบูลย์ ลี้สุวรรณ. ศิลปะในประเทศไทย. กรุงเทพฯ:ศูนย์หนังสือลาดพร้าว,2548.