ไซเบอร์วนาราม.เน็ต

เว็บไซต์เพื่อพระพุทธศาสนา อารามหนึ่งบนโลกไซเบอร์

laithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithai

            ศรัทธาหมายถึงความเชื่อ ในพระพุทธศาสนาแสดงศรัทธาความเชื่อไว้สี่ประการคือเชื่อในกฎแห่งกรรม กรรมมีอยู่จริง เชื่อในผลของกรรม กรรมที่ทำแล้วต้องมีผล  เชื่อว่าสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของๆตน แต่ละคนเป็นเจ้าของจะต้องรับผิดชอบเสวยวิบากเป็นไปตามกรรมของตน  และเชื่อในความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า มั่นใจในพระพุทธองค์ว่าพระองค์เป็นสัมมาสัมพุทธะตรัสรู้จริง พระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ได้รับการจารึกไว้ในคัมภีร์ที่สำคัญที่สุดเรียกว่าพระไตรปิฎก

 
            เข้าพรรษาได้เพียงเจ็ดวัน วันพระที่ผ่านมามีอุบาสิกาท่านหนึ่งนำพระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐมาถวาย  พระไตรปิฎกฉบับนี้มีจำนวน 45 เล่ม พิมพ์มาแล้ว 9 ครั้ง พิมพ์ครั้งแรกตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2470 ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 นับจำนวนชุดที่จัดพิมพ์จากการพิมพ์ครั้งแรก 4500 ชุด ๆละ 45 เล่ม จึงมีจำนวนเล่ม 202500 เล่ม
          นานมาแล้วคิดอยากได้พระไตรปิฎกเพื่อใช้ในการอ้างอิงได้สักชุดหนึ่ง  เท่าที่มีอยู่มีไม่ครบ บางเล่มก็หายไปเฉยๆ คงเนื่องเพราะมีใครสักคนหยิบไปอ่านแล้วลืมนำมาส่ง ในเวลาที่ต้องการหลักฐานอ้างอิงจึงหาไม่พบ แม้จะมีพระไตรปิฎกฉบับเรียนพระไตรปิฎกจากแผ่นซีดีและเผยแผ่ทางอินเทอร์เน็ต แต่ก็มักจะมีความผิดพลาดเช่นพิมพ์ผิด เล่มข้อหน้าไม่ตรงกันกับฉบับหลวงที่ใช้อยู่ประจำ ดังนั้นเวลานำมาอ้างอิงจึงทำให้สับสน แต่หากใครที่สนใจในการศึกษาจริงๆ จะอ้างเฉพาะเล่มและข้อซึ่งพระไตรปิฎกแทบทุกฉบับจะตรงกัน ส่วนหน้านั้นแต่ละฉบับจะไม่ค่อยตรงกัน

            เมื่อต้องการหลักฐานที่ใช้ในการอ้างอิงได้ก็หายาก จึงตัดสินใจที่จะซื้อถวายวัด เป็นสมบัติของโรงเรียนพระปริยัติธรรม พระภิกษุสามเณรจะได้ใช้ในการศึกษาค้นคว้า  มีอุบาสิกาท่านหนึ่งได้ทราบข่าวจึงถวายปัจจัยร่วมสมทบทุนส่วนหนึ่ง จากนั้นก็มีอีกหลายท่านร่วมบริจาคคนละเล็กคนละน้อยจนมีเงินพอที่จะซื้อได้ อันที่จริงราคาเพียง 9500 บาท แต่ในช่วงที่ไม่มีเงิน แม้จะดูจำนวนเงินไม่มากนัก หากในช่วงยามที่ไม่มีมีก็มากโขอยู่ 
            แม้จะยากจนแต่หากมีศรัทธาก็เป็นเหมือนคนมีทรัพย์ ดังที่อาฬวกยักษได้ทูลถามพระพุทธเจ้าดังที่ปรากฎในอาฬวกสูตร สังยุตตนิกาย สคาถวรรค(15/840-841/315) ความว่า “อะไรหนอ เป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจอันประเสริฐของคนในโลกนี้  อะไรหนอที่บุคคลประพฤติดีแล้วนำความสุขมาให้   อะไรหนอเป็นรสอันล้ำเลิศกว่ารสทั้งหลาย นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวชีวิตของผู้ที่เป็นอยู่อย่างไร ว่าประเสริฐสุด”
            พระผู้มีพระภาคตรัสตอบอาฬวกยักษ์(15/841/315) ความว่า “ศรัทธาเป็นทรัพย์ อันประเสริฐของคนในโลกนี้ ธรรมอันบุคคลประพฤติดีแล้ว นำความสุขมาให้ ความสัตย์แลเป็นรสอันล้ำเลิศกว่ารสทั้งหลายนักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวชีวิตของผู้ที่เป็นอยู่ด้วยปัญญาว่าประเสริฐสุด”
            แปลมาจากภาษาบาลีว่า “สทฺธีธ วิตฺตํ ปุริสสฺส เสฏฺฐํ       ธมฺโม สุจิณฺโณ สุขมาวหาติ  
                                             สจฺจํ หเว สาธุตรํ รสานํ           ปญฺาชีวึ ชีวิตมาหุ เสฏฺฐนฺติ ฯ  

            พระไตรปิฎกภาษาบาลีฉบับสยามรัฐเป็นเล่มที่ 15 ข้อ 841 หน้า 315  พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับหลวงพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2514 คือเล่มที่ 15 ข้อ 841 หน้า 297  พระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเป็นเล่มที่ 15 ข้อ 246 หน้า 351  ฉบับเรียนพระไตรปิฎกจากซีดีรอมก็จะเป็น เล่มที่ 15 ข้อ 841 หน้า 258  ดังนั้น “เล่ม” จึงตรงกันทั้ง 4 ฉบับ  “ข้อ” ตรงกัน 3 ฉบับ แต่ “หน้า” ไม่ตรงกันเลย  มีฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ที่ “ข้อ”แตกต่างจากเล่มอื่น และคำแปลก็ต่างจากฉบับอื่นๆโดยแปลว่า “ศรัทธาเป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจที่ประเสริฐของบุรุษในโลกนี้ ธรรมที่บุคคลประพฤติดีแล้วนำความสุขมาให้ ความสัตย์แลมีรสล้ำเลิศกว่ารสทั้งหลาย นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวถึงชีวิตของผู้เป้นอยู่ด้วยปัญญาว่าประเสริฐสุด”  ผู้ศึกษามีพระไตรปิฎกฉบับไหนก็สามารถใช้ในการศึกษาและอ้างอิงได้
            สำหรับข้อความที่ปรากฏในไซเบอร์วนารามนับจากวันนี้เป็นต้นไป ในการอ้างอิงหากเป็นภาษาบาลีจะยึดตามหนังสือพระไตรปิฎกภาษาบาลีฉบับสยามรัฐ พิมพ์ครั้ง 9 ปี พ.ศ. 2553 แต่หากเป็นภาษาไทยก็จะใช้พระไตรปิฎกฉบับหลวง ฉบับพิมพ์ พ.ศ. 2514 แม้หน้าจะไม่ตรงกัน แต่เล่มและข้อทั้งสองเล่มตรงกัน หากใครจะนำไปอ้างอิงต้องบอกว่ามาจากพระไตรปิฎกชุดนี้ ซึ่งพิมพ์เป็นภาษาบาลีล้วนๆ แต่คำแปลได้เทียบเคียงกับพระไตรปิฎกฉบับหลวงภาษาไทย
            การชำระและจารึกกับการพิมพ์พระไตรปิฎกในประเทศไทย นั้น สุชีพ  ปุญญานุภาพ ได้เรียบเรียงไว้ในหนังสือพระไตรปิฎกสำหรับประชาชนสรุปความว่า “การชำระการเขียน การพิมพ์พระไตรปิฎกในประเทศไทย ได้แบ่งเป็น 4 สมัย ดังนี้

            สมัยที่ 1  ชำระและจารลงในใบลาน  กระทำที่เมืองเชียงใหม่ สมัยพระเจ้าติโลกราช ประมาณ พ.ศ. 2020 พระเจ้าติโลกราชได้อาราธนาพระภิกษุผู้ทรงพระไตรปิฎกหลายร้อยรูป มีพระธรรมทินเถระเป็นประธาน ให้ชำระอักษรพระไตรปิฎกในวัดโพธาราม 1 ปีจึงสำเร็จ เมื่อทำการฉลองสมโภชแล้ว ก็ได้ให้สร้างมณเฑียรในวัดโพธาราม เพื่อประดิษฐาน พระไตรปิฎก ตัวอักษรที่ใช้ในการจารึกพระไตรปิฎกในครั้งนั้น คงเป็นอักษรแบบไทยลานนา คล้ายอักษรพม่า มีผิดเพี้ยนกันบ้าง และพอเดาออกเป็นบางตัว  
            สมัยที่ 2 ชำระและจารลงในใบลาน กระทำที่กรุงเทพฯ สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 พ.ศ. 2331 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงสละพระราชทรัพย์จ้างช่างจารจารึกพระไตรปิฎกลงในใบลาน และให้ชำระและแปลฉบับอักษรลาว อักษรรามัญ เป็นอักษรขอม สร้างใส่ตู้ไว้ในหอมนเทียรธรรม และสร้างพระไตรปิฎกถวายพระสงฆ์ไว้ทุกพระอาราม หลวง มีผู้กราบทูลว่า ฉบับพระไตรปิฎก และอรรถกถาฎีกาที่มีอยู่ ผิดเพี้ยนวิปลาสเป็นอันมาก ผู้ที่รู้พระไตรปิฎกก็มีน้อยท่าน ควรจะได้หาทางชำระให้ถูกต้องจึงทรงอาราธนาพระสังฆราช พระราชาคณะ ฐานานุกรมเปรียญ 100 รูปมาฉัน ตรัสถามว่า พระไตรปิฎกผิดพลาดมากน้อยเพียงไร สมเด็จพระสังฆราชพร้อมด้วยพระราชาคณะถวายพระให้ทรงทราบว่า มีผิดพลาดมาก แล้วเล่าประวัติการสังคายนาพระไตรปิฎก 8 ครั้งที่ล่วงมาแล้ว เมื่อทรงทราบดั่งนี้ จึงอาราธนาให้พระสงฆ์ดำเนินการสังคายนาชำระพระไตรปิฎก ซึ่งเลือกได้พระสงฆ์ 218 รูป ราชบัณฑิตอุบาสก 32 คน กระทำ ณ วัดพระศรีสรรเพชญ์ (ปัจจุบันคือวัดมหาธาตุ ยุวราชรังสฤษดิ์)

            สมัยที่ 3 ชำระและพิมพ์เป็นเล่ม กระทำที่กรุงเทพฯ สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พ.ศ. 2431 ถึง พ.ศ. 2436   หลักฐานเรื่องการพิมพ์พระไตรปิฎก ซึ่งเดิมเขียนเป็นตัวอักษรขอมอยู่ในคัมภีร์ใบลาน ให้เป็นเล่มหนังสือขึ้นนี้ มีในหนังสือชุมนุมกฏหมายในรัชกาลที่ 5 (หลวงรัตนาญัปติ์เป็นผู้รวบรวมพิมพ์) หน้า 839 ว่าด้วยลักษณะบำรุงพระพุทธศาสนาในหัวข้อว่า การศาสนูปถัมภ์ คือการพิมพ์พระไตรปิฎก ประกาศการสังคายนา และพระราชดำรัสแก่พระสงฆ์โดยพระองค์ ซึ่งได้พิมพ์ไว้ ส่วนหนึ่งในภาคผนวกแล้ว
            สาระสำคัญที่ได้กระทำ คือคัดลอกตัวขอมในคัมภีร์ใบลานเป็นตัวไทยแล้วชำระแก้ไข และพิมพ์ขึ้นเป็นเล่มหนังสือรวม 39 เล่ม (เดิมกะว่าจะถึง 40 เล่ม) มีการประกาศการสังคายนา แต่เพราะเหตุที่ถือกันว่า การสังคายนาควรจะต้องมีการชำระสะสางหรือทำลายเสี้ยนหนามพระศาสนา เพียงพิมพ์หนังสือเฉย ๆ คนจึงไม่นิยมถือว่าเป็นการสังคายนา แต่ได้กล่าวไว้แล้วว่า จะเรียกว่า สังคายนา หรือไม่ ไม่สำคัญ ขอให้ได้มีการตรวจสอบ จารึกหรือจัดพิมพ์พระไตรปิฎกให้เป็นเล่มรักษาไว้เป็นหลักฐาน ก็นับว่าเป็นกิจอันควรสรรเสริญอย่างยิ่ง เพราะเป็นการทำให้พระพุทธวจนะดำรงอยู่เป็นหลักแห่งการศึกษาและปฏิบัติตลอดไป  
            ในการพิมพ์ครั้งแรกนี้ พิมพ์ได้ 39 เล่มชุด ยังขาดหายไปมิได้พิมพ์อีก 6 เล่ม และได้พิมพ์เพิ่มเติมในรัชกาลที่ 7 จนครบ ฉบับพิมพ์ในรัชกาลที่ 7 รวม 45 เล่ม จึงนับว่าสมบูรณ์ เป็นการช่วยเพิ่มเติมเล่มที่ขาดหายไป

            สมัยที่ 4 ชำระและพิมพ์เป็นเล่ม กระทำที่กรุงเทพฯ สมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พ.ศ. 2468 ถึง พ.ศ. 2473 และได้พิมพ์เพิ่มเติมในรัชกาลที่ 7 จนครบ ฉบับพิมพ์ในรัชกาลที่ 7 รวม 45 เล่ม จึงนับว่าสมบูรณ์ เป็นการช่วยเพิ่มเติมเล่มที่ขาดหายไป จึงเป็นพระไตรปิฎกจำนวน 45 เล่ม (สุชีพ ปุญญานุภาพ,พระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน พิมพ์ครังที่ 16,กรุงเทพฯ: มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2539,หน้าส 17-20)
            พระไตรปิฎกฉบับพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2470 จำนวน 1000 ชุดจากนั้นก็มีการพิมพ์อีก 6 ครั้งๆล่าสุดคือปี พ.ศ. 2553 จำนวน 500 ชุด จำนวนชุดที่จัดพิมพ์ตั้งแต่ครั้งแรกจนถึงครั้งที่ 6 รวมแล้ว 4500 ชุด วันนี้วัดมัชฌันติการามมีคัมภีร์พระไตรปิฎกครบทั้งสี่ชุดแล้ว หากใครมีข้อสงสัยประการใด สามารถจะสืบค้นได้
            ในสมัยรัชการที่ 9 รัชกาลปัจจุบันมีการชำระพระไตรปิฎกหลายครั้งและมีการจัดพิมพ์อีกหลายครั้ง แต่พิมพ์เป็นภาษาไทย รวมทั้งแปลอรรถกถาจากภาษาบาลีเป็นภาษาไทย ปัจจุบันจึงมีหลายชุดเช่นพระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับหลวงจำนวน 45 เล่ม พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยจำนวน 45 เล่ม พระไตรปิฎกภาษาไทยพร้อมทั้งอรรถกถาจำนวน 91 เล่ม เป็นต้น

            เนื่องจากพระไตรปิฎกส่วนมากจะจำหน่ายเป็นชุด ไม่นิยมแยกขายเป็นเล่ม ยกเว้นแต่ฉบับอรรถกถามูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยจะแยกขายเป็นเล่ม  ดังนั้นผู้ที่ถวายพระไตรปิฎกครบทุกเล่มจึงต้องมีศรัทธาและมีทรัพย์จึงจะสามารถจัดซื้อถวายได้ คนที่มีศรัทธาพระพุทธเจ้าแสดงว่าเป็นผู้มีทรัพย์อันประเสริฐ  คนที่เป็นอยู่ด้วยปัญญาเป็นผู้ประเสริฐที่สุด เพราะคนมีปัญญาย่อมหาทรัพย์ได้ ส่วนคนที่ไม่มีปัญญาแม้จะมีทรัพย์ก็รักษาทรัพย์ไว้ไม่ได้ 
 

พระมหาบุญไทย  ปุญญมโน
31/07/56

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

กองธรรมสนามหลวง

กองบาลีสนามหลวง

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กรมการศาสนา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัย  มมร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)

เว็บไชต์นักศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มมร

 

วัดไทย

เว็บวัดในประเทศไทย

วัดไทยในต่างประเทศ

คณะสงฆ์ธรรมยุตUSA

 วัดป่าธรรมชาติ LA

พระคุ้มครอง

วัดธรรมยุตทั่วโลก

 

ส่วนราชการในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ส่วนราชการในประเทศไทย

กระทรวงในประเทศไทย

 

หนังสือพิมพ์ไทย

ไทยรัฐ
เดลินิวส์
มติชน
ผู้จัดการ
กรุงเทพธุรกิจ
คม ชัด ลึก
บ้านเมือง
ข่าวสด
ฐานเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ
สยามกีฬา
แนวหน้า
โพสต์ทูเดย์
ไทยโพสต์
สยามรัฐ
สยามธุรกิจ
บางกอกทูเดย์

 

ข่าวภาษาต่างประเทศ

ข่าว CNN

ข่าว BBC

Bangkok Post

The Nation

หนังสือพิมพภาษาต่างประเทศ

เมนูสมาชิก