เข้าพรรษามาได้หนึ่งวันแล้ว ปีนี้ตั้งแต่วันอาสาฬหบูชาเป็นต้นมามีฝนตกพรำมาโดยตลอด ฟ้าครึ้ม เมฆหนา เหมือนฟ้ากำลังชื่นใจ อากาศเย็นสบาย ในวันเวียนเทียนยังมีพุทธศาสนิกชนมาร่วมงานอย่างคับครั่ง เทียนพรรษาที่เตรียมไว้ให้ผู้คนได้ร่วมกันหล่อสำเร็จเสร็จสิ้นไปหลายต้น พอถอดแบบออกมาแม้จะได้ต้นเทียนที่ไม่ค่อยสวยงามนัก แต่ตกแต่งอีกนิดเพิ่มอีกหน่อยก็กลายเป็นเทียนพรรษาที่ใช้จุดบูชาพระภายในพระอุโบสถตลอดพรรษา เป็นเทียนของทุกคนที่ร่วมกันหล่อขึ้นมาจากพลังศรัทธาความเลื่อมใสและได้กระทำบุญร่วมกัน
วันเข้าพรรษาหลังจากที่ได้ทำวัตรสวดมนต์และขอนิสสัยจากเจ้าอาวาสตามธรรมเนียมเสร็จแล้ว เป็นช่วงเวลาที่กำลังรออธิษฐานเข้าพรรษาพร้อมกับพระภิกษุสามเณรรูปอื่นๆ จึงออกมาจากพระอุโบสถนั่งฟังเสียงฝนที่กำลังพรำเบาๆอากาศเย็นสบาย อุบาสกท่านหนึ่งในชุดขาวซึ่งปฏิญาณตนเป็นผู้ปฏิบัติธรรมในช่วงวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา นำน้ำดื่มมาถวาย จากนั้นก็ถามว่า “หลวงตาครับ เข้าพรรษาผมอยากอธิษฐานทำความดีสักอย่างแต่ผมคิดไม่ออกว่าจะอธิษฐานว่าอย่างไร”
จึงบอกว่า “มีต้งมากมายหลายอย่างที่น่าจะอธิษฐานเช่นเลิกเหล้า เลิกบุหรี่ เลิกด่า เลิกบ่น เลิกนินทา จะไม่โกรธ ไม่เกลียดใคร จะใส่บาตรทุกวัน จะนั่งสมาธิทุกวัน”
พอพูดได้แค่นั้นอุบาสกท่านนั้นรีบยกมือห้ามก่อนจะบอกว่า “พอแล้วครับ ผมพอจะนึกออกแล้วครับ ผมจะอธิษฐานอย่างไร ผมเป็นคนอารมณ์ร้อนหากเห็นอะไรไม่ถูกอกถูกใจ มักจะบ่นจะด่า และโกรธพวกลูกหลานอยู่ประจำ พรรษานี้ผมจะอธิษฐานว่าจะไม่บ่น ไม่ด่า ไม่นินทาและไม่โกรธใคร แล้ววิธีตั้งจิตอธิษฐานจะทำอย่างไรครับ”
“ไหว้พระสวดมนต์ทำใจให้สงบ จากนั้นก็ตั้งจิตอธิษฐานว่าจะทำในสิ่งที่ต้องการจะอธิษฐาน เช่นจะอธิษฐานว่า “ในพรรษานี้จะไม่โกรธใคร ไม่แสดงอาการโกรธให้ใครเห็น” เท่านี้ก็เป็นการอธิษฐานแล้ว จากนั้นก็ดำเนินตามสิ่งที่ตั้งใจไว้ให้แน่วแน่ การอธิษฐานนั้นต้องประกอบด้วยคุณลักษณะครบถ้วนจึงจะได้กุศลแรง
คำว่า “อธิษฐาน” ภาษาบาลีเขียนเป็น “อธิฏฺฐาน” เป็นคำนามนปุงสกลิงค์ (ไม่หญิงไม่ชาย) แปลว่า “ความตั้งใจแน่วแน่ การอธิษฐาน การติดแน่น ที่อยู่อาศัย” อธิษฐานจึงเป็นธรรมเป็นที่มั่น ธรรมอันเป็นฐานที่มั่นคงของบุคคล ธรรมที่ควรใช้เป็นที่ประดิษฐานตน เพื่อให้สามารถยึดเอาผลสำเร็จสูงสุดอันเป็นที่หมายไว้ได้ โดยไม่เกิดความสำคัญตนผิด และไม่เกิดสิ่งมัวหมอง หมักหมม ทับถมตน หรือจะแปลสั้นๆก็ได้ว่า “ธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ”
การอธิษฐานจึงเป็นธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ ดังที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ในธาตุวิภังคสูตร มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์(14/682/329) ความว่า “ดูกรภิกษุ คนเรานี้มีธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจสี่ประการคือ(1) ปัญญาเป็นธรรมควรตั้งไว้ในใจ (2) สัจจะ เป็นธรรมควรตั้งไว้ในใจ (3) จาคะ เป็นธรรมควรตั้งไว้ในใจ (4) อุปสมะ เป็นธรรมควรตั้งไว้ในใจ” การดำเนินตามการอธิษฐานจะสำเร็จผลนั้นจึงต้องมีปัญญา รักษาสัจจะ เพิ่มพูนจาคะ และต้องมีความสงบสันติ”
ในสังคีติสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค (11/ 254/187) ได้แสดงอธิฏฐานไว้สี่ประการ คือ (1)ปัญญาธิฏฐาน อธิษฐานคือปัญญาคือความรู้ชัด หยั่งรู้ในเหตุผล พิจารณาให้เข้าใจในสภาวะของสิ่งทั้งหลายจนเข้าถึงความจริง(2) สัจจาธิฏฐาน อธิษฐานคือสัจจะคือความจริง ดำรงมั่นในความจริงที่รู้ชัดด้วยปัญญา เริ่มแต่จริงวาจาจนถึงปรมัตถสัจจะ (3) จาคะธิฏฐาน อธิษฐานคือจาคะ หมายถึงความสละได้แก่สละสิ่งอันเคยชิน ข้อที่เคยยึดถือไว้ และสิ่งทั้งหลายอันผิดพลาดจากความจริงเสียได้ เริ่มแต่สละอามิสจนถึงสละกิเลส(4) อุปสมาธิฏฐาน อธิษฐานคืออุปสมะหมายถึงความสงบได้แก่การระงับโทษข้อขัดข้องมัวหมองวุ่นวายอันเกิดจากกิเลสทั้งหลายแล้ว ทำจิตใจให้สงบได้
เสร็จจากการอธิษฐานเข้าพรรษาร่วมกับคณะสงฆ์ภายในพระอุโบสถแล้ว กลับเข้ากุฏิที่พักปีนี้ตั้งใจอธิษฐานว่าจะอยู่จำพรรษาตลอดสามเดือนในกุฏิที่พักแห่งนี้ หากไม่จำเป็นจริงๆจะไม่ไปไหน จากนั้นมานั่งพิจารณาตนเองว่าในพรรษานี้จะอธิษฐานเพื่อลดละอะไรดี
คิดถึงคำพูดที่อุบาสกท่านนั้นบอกว่าในพรรษานี้จะไม่บ่น ไม่ด่า ไม่นินทาและไม่โกรธใคร ลองค้นจากพระไตรปิฎกดูก็พบว่า การอธิษฐานว่า “จะไม่โกรธ ไม่จองร้าย ไม่จองผลาญ” นั้น พระพุทธเจ้าเมื่อครั้งยังเป็นพระโพธิสัตว์เคยประพฤติมาก่อนดังที่แสดงไว้ในลักขณสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค (11/148/125) ความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ภพก่อนกำเนิดก่อน เป็นผู้ไม่มีความโกรธ ไม่มีความแค้นใจ แม้ถูกคนหมู่มากว่าเอาก็ไม่ขัดใจ ไม่โกรธ ไม่ปองร้าย ไม่จองผลาญ ไม่ทำความโกรธ ความเคืองและความเสียใจให้ปรากฏ และเป็นผู้ให้เครื่องลาดมีเนื้อละเอียดอ่อน และให้ผ้าสำหรับนุ่งห่ม คือ ผ้าโขมพัสตร์มีเนื้อละเอียด ผ้าฝ้ายมีเนื้อละเอียด ผ้าไหมมีเนื้อละเอียด ผ้ากัมพลมีเนื้อละเอียด ตถาคตย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เพราะกรรมนั้น อันตนทำ สั่งสม พอกพูน ไพบูลย์
ครั้นจุติจากสวรรค์นั้นแล้ว มาสู่ความเป็นอย่างนี้ ย่อมได้เฉพาะซึ่งมหาปุริสลักษณะนี้ คือ มีวรรณะดังทองคำ มีผิวหนังคล้ายทองคำ พระมหาบุรุษสมบูรณ์ด้วยลักษณะนั้น ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ เมื่อเป็นพระราชาจะได้อะไร เมื่อเป็นพระราชาจะได้รับผลข้อนี้ คือ จะได้เครื่องลาดมีเนื้อละเอียดอ่อน ทั้งได้ผ้าสำหรับนุ่งห่ม คือ ผ้าโขมพัสตร์มีเนื้อละเอียด ผ้าฝ้ายมีเนื้อละเอียด ผ้าไหมมีเนื้อละเอียด ผ้ากัมพลมีเนื้อละเอียด ถ้าพระมหาบุรุษนั้นออกจากเรือนผนวชเป็นบรรพชิต จะได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มีหลังคาคือกิเลสอันเปิดแล้วในโลก เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะได้อะไร เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะได้รับผลข้อนี้ คือ ทรงได้เครื่องลาดมีเนื้อละเอียดอ่อน ทรงได้ผ้าสำหรับนุ่งห่ม คือ ผ้าโขมพัสตร์มีเนื้อละเอียด ผ้าฝ้ายมีเนื้อละเอียด ผ้าไหมมีเนื้อละเอียด ผ้ากัมพลมีเนื้อละเอียด
โบราณกเถระทั้งหลายจึงได้กล่าวคาถาประพันธ์ไว้ว่า (11/149/125) ความว่า “พระมหาบุรุษอธิษฐานความเป็นผู้ไม่โกรธไว้ และได้ให้ทานคือผ้าเป็นอันมาก ล้วนแต่มีเนื้อละเอียดและมีสีดี เป็นผู้ดำรงอยู่ในภพก่อนๆ ทรงเสียสละเหมือนฝนตกทั่วแผ่นดิน ครั้นทรงทำกุศลกรรมนั้นแล้ว จุติจากมนุษยโลกเข้าถึงเทวโลก เสวยวิบาก อันเป็นผลกรรมที่ทำไว้ดี มีพระฉวีเปรียบด้วยทอง ดุจพระอินทร์ผู้ประเสริฐกว่าสุรเทวดา ย่อมลบล้นอยู่ในเทวโลก ถ้าเสด็จครองเรือนยังไม่ประสงค์ที่จะทรงผนวช ก็จะทรงปกครองแผ่นดินใหญ่ ทรงได้เฉพาะซึ่งสัตตรตนะ และความเป็นผู้มีพระฉวีสะอาดละเอียดงามลบล้นประชุมชนในโลกนี้ ถ้าเข้าถึงบรรพชา ก็จะทรงได้ซึ่งผ้าสำหรับทรงครอง เป็นผ้าเครื่องนุ่งห่มอย่างดี และเสวยผลกรรมที่เป็นประโยชน์ดีที่ทรงทำไว้ ในภพก่อน ความหมดสิ้นแห่งผลกรรมที่พระองค์ทำแล้ว หามีไม่”
โกธะหรือความโกรธ จัดเป็นมลทิน(สนิม)ของจิตอย่างหนึ่งในมลทินทั้งเก้าอย่างดังที่แสดงไว้ในอภิธรรม วิภังค์ เรียกว่าปุริสมละแปลว่ามลทินหรือสนิมของบุรุษหรือมนุษย์ (35/1021/478) ความว่า “ปุริสมละ 9 เป็นไฉน ปุริสมละ 9 คือ (1) โกธะ ความโกรธ (2) มักขะ ความลบหลู่คุณท่าน (3) อิสสา ความริษยา (4)มัจฉริยะ ความตระหนี่ (5) มายาความเจ้าเล่ห์ (6)สาเถยยะ ความโอ้อวด (7) มุสาวาท พูดเท็จ (8) ปาปิจฉา ความปรารถนาลามก (9) มิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิด เหล่านี้เรียกว่า ปุริสมละ
นอกจากนั้นความโกรธยังเป็นอุปกิเลสคือเครื่องเศร้าหมองของจิตอย่างหนึ่งในอุปกิเลส 16 ประการที่แสดงไว้ในวัตถูปมสูตร มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ (12/93/48) ความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมเหล่าไหน เป็นเครื่องเศร้าหมองของจิตคือ(1) อภิชฌาวิสมโลภะ ละโมบไม่สม่ำเสมอ คือความเพ่งเล็ง (2) พยาบาท ปองร้ายเขา (3)โกธะ โกรธ (4) อุปนาหะ ผูกโกรธไว้ (5) มักขะ ลบหลู่คุณท่าน (6) ปลาสะ ยกตนเทียบเท่า (7)อิสสา ริษยา (8)มัจฉริยะ ตระหนี่ (9) มายา มารยา (10) สาเฐยยะ โอ้อวด (11) ถัมภะ หัวดื้อ(12) สารัมภะ แข่งดี (13) มานะ ถือตัว (14) อติมานะ ดูหมิ่นท่าน (15) มทะ มัวเมา(16) ปมาทะ เลินเล่อ เหล่านี้เป็นธรรมเครื่องเศร้าหมองของจิต”
เครื่องเศร้าหมองของจิตมีมากมาย การที่จะละให้หมดได้นั้นคงต้องใช้เวลาอีกนาน ไม่แน่ว่าไม่รู้อีกกี่ภพกี่ชาติจึงจะชำระเครื่องเศร้าหมองของจิตเหล่านี้ให้หมดไปได้ ดึกสงัดฝนยังคงโปรยปรายลงมาอย่างต่อเนื่อง ก่อนเข้าสู่นิทรารมย์ได้กำหนดจิตโดยตั้งสัตยาธิษฐานไว้ในใจคนเดียวเงียบๆ แต่จะอธิษฐานว่าอย่างไรนั้นคำอธิษฐานรับรู้อยู่ภายจิตใจคนเดียว ในคืนวันเข้าพรรษาจึงหลับสนิทอย่างสงบด้วยจิตใจที่มีคำอธิษฐานเข้าพรรษาเป็นสัจจาธิษฐานที่จะดำเนินตามอย่างแน่วแน่
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
24/07/56