ไซเบอร์วนาราม.เน็ต

เว็บไซต์เพื่อพระพุทธศาสนา อารามหนึ่งบนโลกไซเบอร์

laithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithai

        ช่วงนี้มีข่าวเกี่ยวกับการประพฤติปฏิบัติที่ไม่เหมาะสมของพระสงฆ์ออกมาอย่างต่อเนื่องแทบทุกวัน ทั้งจากสื่อวิทยุ โทรทัศน์ ตลอดจนสื่อสังคมออนไลน์ต่างก็นำเสนอข่าวสารต่างๆออกมาอย่างต่อเนื่อง แม้จะไม่อยากให้เกิดข่าวในทำนองนี้เกิดขึ้น แต่เมื่อมีมูล ก็ย่อมจะต้องมีข่าว เหมือนมีควันย่อมมีไฟ การจะดับควันให้หมดไปก็ต้องเริ่มที่การดับไฟ หากจะให้ข่าวหายไปจากสื่อทั้งหลาย ผู้เป็นต้นเหตุของข่าวก็ต้องออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงให้สังคมได้ทราบ  อะไรจริงอะไรเท็จสังคมจะได้รับรู้ตามความเป็นจริง หากผิดก็ต้องรับโทษตามสมควรแก่ความผิด

        แดดกำลังร้อนเดินผ่านสนามหญ้ากำลังจะขึ้นอาคารเรียนมหาวิทยาลัยฯ ได้ยินเสียงทักมาจากข้างหลังว่า “นมัสการครับหลวงปู่”  ผู้เขียนสะดุ้งรีบหันกลับไปยังต้นเสียงในทันใด เห็นกสิกะ ชินากรณ์ อาจารย์หนุ่ม กำลังเดินฝ่าเปลวแดดร้อนมาพอดี เขายิ้มอย่างอารมณ์ดี จึงบอกว่า “ช่วงนี้ข่าวหลวงปู่กำลังดัง อาตมาแม้จะมีอายุมากกว่าหลวงปู่ที่กำลังเป็นข่าว อุปสมบทในขณะที่หลวงปู่รูปนั้นมีอายุเพียงสองสามปี  แต่ก็ไม่อยากเป็นหลวงปู่  เป็นหลวงพี่ หลวงพ่อ หลวงตา ยังสมควรแก่อายุขัย หากจะเป็นหลวงปู่คงต้องรออีกสักสามสิบปี ตอนนั้นคงไม่เหลือลมหายใจอยู่แล้ว  ที่หลวงพระบางชาวบ้านเรียก “ยาพ่อ”
        กสิกะ ชินากรณ์ เดินเข้ามาใกล้ จึงเอ่ยถามว่า “ช่วงนี้ไม่ค่อยได้เห็นหน้านะครับ”
       จึงตอบกสิกะไปว่า “อาตมาไปร่วมสัมมนางานวิจัย ที่สถาบันวิจัยญาณสังวรหลายวัน  ไม่ค่อยมีเวลาคิดเรื่องอื่น เสร็จจากงานวิจัยก็เดินทางไปศึกษาศิลปวัฒนธรรมที่หลวงพระบาง เวียงจันทน์ ร่วมกับคณาจารย์คณะศาสนาปรัชญา”  
        กสิกะจึงรำพึงว่า “หลวงตาฯได้ดูข่าวไหมครับ กระแสแรงจริงๆ ยิ่งขุดยิ่งพบยิ่งค้นยิ่งเจอ ไม่คิดว่าพระที่มีชื่อเสียงโด่งดังระดับนี้จะมีรอยตำหนิมากขนาดนั้น”

        จึงบอกว่าหลวงพ่อพระพุทธจนวราภรณ์ (จันทร์ กุสโล) อดีตเจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวงเคยเขียนไว้ในมงคลชีวิตประสิทธิพรว่า “พระดังอาจจะไม่ดี พระดีอาจจะไม่ดัง” ความดังและความดีต้องแยกออกจากกัน อย่าเอาความดังไปตัดสินความดี และอย่าตีค่าความดีด้วยความดัง 
        หลวงตาครับผมสงสัยว่าคำว่าอุตตริมนุสธรรมคืออะไร
        จึงบอกว่า “อุตตริมนุสธรรมคือคุณอันยิ่งยวดของมนุษย์ได้แก่ธรรมวิเศษมีฌาน วิโมกข์ สมาบัติ มัคคภาวนา การละกิเลสเป็นต้น” 
        ตอบสั้นๆพียงเท่านั้นก็แยกจากกสิกะ ชินากรณ์ เข้าห้องทำงานตามปรกติพอกลับถึงวัดจึงเปิดพระไตรปิฎกและหนังสือพจนานุกรมเพื่อจะได้หาคำอธิบายของคำว่า “อุตตริมนุสสธรรม” หมายถึงอะไร มีขอบข่ายเพียงใด
        พจนานุกรมบาลี-ไทย รวบรวมและเรียบเรียงโดยพระอุดรคณาธิการ(ชวินทร์ สระคำ) หน้า 103 ได้ให้ความหมายไว้ว่า “อุตตริมนุสสธรรม  “อุตตริมนุษยธรรม” เป็นคำนามปุงลิงค์ (เพศชาย) ได้แก่คุณอันยิ่งยวดของมนุษย์ได้แก่ธรรมวิเศษมีการสำเร็จฌาน และมรรคผลเป็นต้น”
        ในพระวินัยปิฏก มหาวิภังค์ ปฐมภาค (1/ 233/336)  ได้อธิบายไว้ว่า    “บทว่า อุตตริมนุสสธรรม” ได้แก่ ฌาน วิโมกข์ สมาธิ สมาบัติ ญาณทัสสนะ มรรคภาวนา การทำให้แจ้งซึ่งผล การละกิเลส ความเปิดจิต ความยินดียิ่งในเรือนอันว่างเปล่า”
        ภิกษุใดกล่าวอวดอุตตริมนุสสธรรมที่ไม่มีในตน ภิกษุนั้นต้องอาบัติปาราชิก ดังที่แสดงไว้ในบทบัญญัติแห่งจตุตถปาราชิก เรียกว่า “พระปฐมบัญญัติ” (1/ 231/334)  ความว่า  “อนึ่งภิกษุใด ไม่รู้เฉพาะ กล่าวอวดอุตตริมนุสสธรรม อันเป็นความรู้ความเห็น อย่างประเสริฐ อย่างสามารถ น้อมเข้ามาในตนว่า ข้าพเจ้ารู้อย่างนี้ ข้าพเจ้าเห็นอย่างนี้ ครั้นสมัยอื่นแต่นั้น อันผู้ใดผู้หนึ่ง ถือเอาตามก็ตาม ไม่ถือเอาตามก็ตาม เป็นอันต้องอาบัติแล้ว มุ่งความหมดจด จะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า แน่ะท่าน ข้าพเจ้าไม่รู้อย่างนั้น ได้กล่าวว่ารู้ ไม่เห็นอย่างนั้น ได้กล่าวว่าเห็น ได้พูดพล่อยๆ เป็นเท็จเปล่าๆ แม้ภิกษุนี้ ก็เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้  สิกขาบทนี้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแล้วแก่ภิกษุทั้งหลายด้วยประการฉะนี้” 

        เมื่อบัญญัติครั้งแรก เรียกว่าปฐมบัญญัติ ภิกษุบางรูปสำคัญว่าตนได้บรรลุ จึงอวดอ้างมรรคผลที่ตนเองสำคัญว่าได้บรรลุ เกิดความสงสัย จึงแจ้งเรื่องแก่พระอานนท์ ๆ กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคตรัสว่า  “มีอยู่เหมือนกัน  อานนท์ ข้อที่ภิกษุทั้งหลายสำคัญมรรคผลที่ตนยังมิได้เห็นว่าได้เห็น สำคัญมรรคผลที่ตนยังมิได้  ถึงว่าได้ถึง สำคัญมรรคผลที่ตนยังมิได้บรรลุว่าได้บรรลุ สำคัญมรรคผลที่ตนยังมิได้ทำให้แจ้งว่าได้  ทำให้แจ้ง จึงอวดอ้างมรรคผลตามที่สำคัญว่าได้บรรลุ แต่ข้อนั้นนั่นแล เป็นอัพโพหาริก 
        คำว่า “อัพโพหาริก” เป็นคำคุณนามในภาษาบาลี แปลว่า พิเศษ พูดไม่ได้ว่ามีหรือไม่มี ไม่ควรอ้างเป็นกฎเกณฑ์ หากจะแปลให้เข้าใจง่าย  ก็จะได้ความหายว่า “ทำเหมือนไม่ได้ทำ”
        จากนั้นพระพุทธองค์จึงทรงแสดงบัญญัติเพิ่มเติมเรียกว่า “พระอนุบัญญัติ” ความว่า “อนึ่ง ภิกษุใด ไม่รู้เฉพาะ กล่าวอวดอุตตริมนุสสธรรม อันเป็นความรู้ ความเห็น อย่างประเสริฐ อย่างสามารถ น้อมเข้ามาในตนว่า ข้าพเจ้ารู้อย่างนี้  ข้าพเจ้าเห็นอย่างนี้ ครั้นสมัยอื่นแต่นั้น อันผู้ใดผู้หนึ่ง ถือเอาตามก็ตาม ไม่ถือเอาตามก็ตาม เป็นอันต้องอาบัติแล้ว มุ่งความหมดจด จะพึงกล่าวอย่างนี้ว่าแน่ะท่าน ข้าพเจ้าไม่รู้อย่างนั้น ได้กล่าวว่ารู้ ไม่เห็นอย่างนั้น ได้กล่าวว่าเห็น ได้ พูดพล่อยๆ เป็นเท็จเปล่าๆ เว้นไว้แต่สำคัญว่าได้บรรลุ แม้ภิกษุนี้ ก็เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้”  
        ที่เพิ่มเติมเข้ามาคือคำว่า “เว้นไว้แต่สำคัญว่าได้บรรลุ” แสดงว่าผู้ที่สำคัญตนว่าได้บรรลุแม้กล่าวอวดก็ไม่เป็นอาบัติ ปาราชิก

        แม้หากอุตตริมนุสสธรรมที่มีอยู่ในตนหากกล่าวต่ออนุปสัมบัน(ผู้ที่ไม่ใช่นักบวช,คฤหัสถ์) ก็เป็นอาบัติปาจิตตีย์ ดังที่แสดงไว้ในมุสาวาทวรรค ปาจิตตีย์ สิกขาบทที่ 8 (2/307/372) ความว่า “อนึ่งภิกษุใดบอกอุตตริมนุสสธรรมแก่อนุปสัมมบัน เป็นปาจิตตีย์ เพราะมีจริง”
        มีคำอธิบายความหมายของคำต่างๆในสิกขาบทไว้ดังนี้(1/233/236)  “บทว่า ไม่รู้เฉพาะ” คือ ไม่รู้ ไม่เห็น กุศลธรรมในตน ซึ่งไม่มี ไม่เป็นจริงไม่ปรากฏ ว่าข้าพเจ้ามีกุศลธรรม 
        บทว่า “อุตตริมนุสสธรรม” ได้แก่ ฌาน วิโมกข์ สมาธิ สมาบัติ ญาณทัสสนะ มรรคภาวนา การทำให้แจ้งซึ่งผล การละกิเลส ความเปิดจิต ความยินดียิ่งในเรือนอันว่างเปล่า
        บทว่า “น้อมเข้ามาในตน” ได้แก่น้อมกุศลธรรมเหล่านั้นเข้ามาในตน หรือน้อมตน เข้าไปในกุศลธรรมเหล่านั้น 
        บทว่า “ความรู้” ได้แก่ วิชชา 3 
        บทว่า “ความเห็น” โดยอธิบายว่า อันใดเป็นความรู้ อันนั้นเป็นความเห็น อันใด เป็นความเห็น อันนั้นเป็นความรู้
        บทว่า “กล่าวอวด” คือ บอกแก่สตรี บุรุษ คฤหัสถ์หรือบรรพชิต 
        คำว่า "ข้าพเจ้ารู้อย่างนี้ ข้าพเจ้าเห็นอย่างนี้" ความว่า ข้าพเจ้ารู้ธรรมเหล่านี้ ข้าพเจ้าเห็นธรรมเหล่านี้ อนึ่ง ข้าพเจ้ามีธรรมเหล่านี้ และข้าพเจ้าเห็นชัดในธรรมเหล่านี้ 
        บทว่า “เป็นปาราชิก” ความว่า ต้นตาลมียอดด้วนแล้ว ไม่อาจจะงอกอีก ชื่อแม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแหละ มีความอยากอันลามก อันความอยากครอบงำแล้ว พูดอวดอุตตริมนุสสธรรม อันไม่มีอยู่ อันไม่เป็นจริง ย่อมไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า เป็นปาราชิก 
        บทว่า “หาสังวาสมิได้” ความว่าที่ชื่อว่า สังวาสได้แก่ กรรมที่พึงทำร่วมกัน อุเทศ ที่พึงสวดร่วมกัน ความเป็นผู้มีสิกขาเสมอกัน นั่นชื่อว่า สังวาส สังวาสนั้นไม่มีร่วมกับภิกษุนั้น เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า หาสังวาสมิได้”

  ในบทภาชนีย์ได้มีจำแนก แจกแจง ถึงความหมายของอุตตริมนสสธรรมแต่ละข้อไว้ดังนี้ (1/236/337) ความว่า “ที่ชื่อว่า อุตตริมนุสสธรรม ได้แก่ ฌาน วิโมกข์ สมาธิ  สมาบัติ ญาณทัสสนะ  มัคคภาวนา การทำให้แจ้งซึ่งผล การละกิเลส ความเปิดจิต ความยินดียิ่งในเรือนอันว่างเปล่า 
        ที่ชื่อว่า ฌาน ได้แก่ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน  
        ที่ชื่อว่า วิโมกข์ ได้แก่ สุญญตวิโมกข์ อนิมิตตวิโมกข์ อัปปณิหิตวิโมกข์  
        ที่ชื่อว่า สมาธิ ได้แก่ สุญญตสมาธิ อนิมิตตสมาธิ อัปปณิตสมาธิ  

      ที่ชื่อว่า สมาบัติ ได้แก่ สุญญตสมาบัติ อนิมิตตสมาบัติ อัปปณิหิตสมาบัติ ที่ชื่อว่า ญาณ ได้แก่ วิชชา 3 ที่ชื่อว่า มัคคภาวนา ได้แก่ สติปัฏฐาน 4 สัมมัปปธาน 4 อิทธิบาท 4 อินทรีย์ 5  พละ 5 โพชฌงค์ 7 อริยมรรคมีองค์ 8  
        ที่ชื่อว่า การทำให้แจ้งซึ่งผล ได้แก่การทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล การทำให้แจ้งซึ่งสกทาคามิผล การทำให้แจ้งซึ่งอนาคามิผล การทำให้แจ้งซึ่งอรหัตตผล  
        ที่ชื่อว่า การละกิเลส ได้แก่การละราคะ การละโทสะ การละโมหะ  
        ที่ชื่อว่า ความเปิดจิต ได้แก่ความเปิดจิตจากราคะ ความเปิดจิตจากโทสะ ความเปิดจิตจากโมหะ      ที่ชื่อว่า ความยินดียิ่งในเรือนอันว่างเปล่า ได้แก่ความยินดียิ่งในเรือนอันว่างเปล่าด้วยปฐมฌาน ความยินดียิ่งในเรือนอันว่างเปล่าด้วยทุติยฌาน ความยินดียิ่งในเรือนอันว่างเปล่าด้วยตติยฌาน ความยินดียิ่งในเรือนอันว่างเปล่าด้วยจตุตถฌาน          

        ก่อนจะบัญญัติสิกขาบทพระพุทธเจ้ามีขั้นตอนตามลำดับคือ ติเตียนภิกษุผู้เป็นต้นเหตุ แสดงโทษแห่งความเป็นผู้เลี้ยงยาก แสดงคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย และแสดงถึงประโยชน์ของการบัญญัติสิกขาบท (1/ 231/334) ดังข้อความว่า “ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงติเตียนภิกษุพวกฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา โดยอเนกปริยายแล้ว ตรัสโทษแห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก ความเป็นคนบำรุงยาก ความเป็นคนมักมาก ความเป็นคนไม่สันโดษ ความคลุกคลี ความเกียจคร้าน ตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย ความเป็นคนบำรุงง่าย ความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภความเพียร โดยอเนกปริยาย ทรงกระทำธรรมีกถาที่สมควรแก่เรื่องนั้นที่เหมาะสมแก่เรื่องนั้น แก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า    ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เราจักบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย อาศัยอำนาจ  ประโยชน์ 10 ประการ คือ(1) เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์ (2) เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์ (3) เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก (4) เพื่ออยู่สำราญแห่งภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก (5) เพื่อป้องกันอาสวะอันจะบังเกิดในปัจจุบัน (6) เพื่อกำจัดอาสวะอันจักบังเกิดในอนาคต (7) เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส (8) เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว (9) เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม (10) เพื่อถือตามพระวินัย   

        การอวดอุตตริมนุสสธรรมหรือการอวดคุณวิเศษที่ไม่มีในตนพระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ว่าเป็นมหาโจร ดังที่แสดงไว้ในมหาวิภังค์ (1/230/332) ว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย มหาโจร 5 จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก มหาโจร 5 จำพวกเป็นไฉน 
        1.ดูกรภิกษุทั้งหลาย มหาโจรบางคนในโลกนี้ ย่อมปรารถนาอย่างนี้ว่า เมื่อไรหนอ เราจักเป็นผู้อันบุรุษร้อยหนึ่ง หรือพันหนึ่งแวดล้อมแล้ว ท่องเที่ยวไปในคามนิคมและราชธานี เบียดเบียนเอง ให้ผู้อื่นเบียดเบียน ตัดเอง ให้ผู้อื่นตัด เผาผลาญเอง ให้ผู้อื่นเผาผลาญ สมัยต่อมา เขาเป็นผู้อันบุรุษร้อยหนึ่ง หรือพันหนึ่ง แวดล้อมแล้วเที่ยวไปในคามนิคมและราชธานี เบียดเบียนเอง ให้ผู้อื่นเบียดเบียน ตัดเอง ให้ผู้อื่นตัด เผาผลาญเอง ให้ผู้อื่น เผาผลาญฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เลวทรามบางรูปในธรรมวินัยนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล ย่อมปรารถนาอย่างนี้ว่า เมื่อไรหนอ เราจึงจักเป็นผู้อันภิกษุร้อยหนึ่ง หรือพันหนึ่งแวดล้อมแล้ว  เที่ยวจาริกไปในคามนิคมและราชธานี อันคฤหัสถ์และบรรชิต สักการะ เคารพ นับถือ บูชา ยำเกรง ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัย เภสัชบริขาร สมัยต่อมา เธอเป็นผู้ อันภิกษุร้อยหนึ่ง หรือพันหนึ่งแวดล้อมแล้ว เที่ยวจาริกไปในคามนิคมและราชธานี อันคฤหัสถ์  และบรรพชิตสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ยำเกรงแล้ว ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารทั้งหลาย ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นมหาโจรจำพวกที่ 1 มีปรากฏอยู่ ในโลก  

        2.ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุผู้เลวทรามบางรูปในธรรมวินัยนี้ เล่าเรียน  ธรรมวินัยอันตถาคตประกาศแล้ว ย่อมยกตนขึ้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นมหาโจรจำพวกที่ 2  มีปรากฏอยู่ในโลก

        3.ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุผู้เลวทรามบางรูปในธรรมวินัยนี้ ย่อมตามกำจัด  เพื่อนพรหมจารี ผู้หมดจด ผู้ประพฤติพรหมจรรย์อันบริสุทธิ์อยู่ด้วยธรรมอันเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์อันหามูลมิได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นมหาโจรจำพวกที่ 3 มีปรากฏอยู่ในโลก  
        4. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุผู้เลวทรามบางรูปในธรรมวินัยนี้ ย่อมสงเคราะห์ เกลี้ยกล่อมคฤหัสถ์ทั้งหลาย ด้วยครุภัณฑ์ ครุบริขาร ของสงฆ์ คือ อาราม พื้นที่อาราม วิหาร พื้นที่วิหาร เตียง ตั่ง ฟูก หมอน หม้อโลหะ อ่างโลหะ กะถางโลหะ กะทะโลหะ  มีด ขวาน ผึ่ง จอบ สว่าน เถาวัลย์ ไม้ไผ่ หญ้ามุงกะต่าย หญ้าปล้อง หญ้าสามัญ ดินเหนียว  เครื่องไม้ เครื่องดิน ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นมหาโจรจำพวกที่ 4 มีปรากฏอยู่ในโลก  
        5.ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้กล่าวอวดอุตตริมนุสสธรรม อันไม่มีอยู่ อันไม่เป็นจริง  นี้จัดเป็นยอดมหาโจร ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณะ  พราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ ข้อนั้น เพราะเหตุไร เพราะภิกษุนั้น ฉันก้อนข้าวของชาว แว่นแคว้น ด้วยอาการแห่งคนขโมย  

        จากข่าวสารตามสื่อต่างๆ ที่นำเสนอเรื่องของ “หลวงปู่” ติดต่อกันมาหลายวันได้ยินคำว่า “อวดอุตตริมนุสสธรรม” หลายครั้ง ได้ฟังพระเถระพูดถึงก็หลายครา ลองเทียบเคียงกับคำอธิบายจากพระไตรปิฎกดูก่อน ว่าจะเป็นการอวดหรือไม่ประการใด ผิดหรือไม่ผิดใช้หลักฐานจากพระไตรปิฎกน่าจะดีกว่าที่เราท่านทั้งหลายจะพากันตัดสินเอาเอง

 

พระมหาบุญไทย  ปุญญมโน
06/07/56


 

หมายเหตุ: พระไตรปิฎกที่นำอ้างอิงในที่นี้คือ “กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ, พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง,กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์การศาสนา,2515.  (พิมพ์ในปีฉลองรัชดาภิเษก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พุทธศักราช 2514)

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

กองธรรมสนามหลวง

กองบาลีสนามหลวง

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กรมการศาสนา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัย  มมร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)

เว็บไชต์นักศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มมร

 

วัดไทย

เว็บวัดในประเทศไทย

วัดไทยในต่างประเทศ

คณะสงฆ์ธรรมยุตUSA

 วัดป่าธรรมชาติ LA

พระคุ้มครอง

วัดธรรมยุตทั่วโลก

 

ส่วนราชการในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ส่วนราชการในประเทศไทย

กระทรวงในประเทศไทย

 

หนังสือพิมพ์ไทย

ไทยรัฐ
เดลินิวส์
มติชน
ผู้จัดการ
กรุงเทพธุรกิจ
คม ชัด ลึก
บ้านเมือง
ข่าวสด
ฐานเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ
สยามกีฬา
แนวหน้า
โพสต์ทูเดย์
ไทยโพสต์
สยามรัฐ
สยามธุรกิจ
บางกอกทูเดย์

 

ข่าวภาษาต่างประเทศ

ข่าว CNN

ข่าว BBC

Bangkok Post

The Nation

หนังสือพิมพภาษาต่างประเทศ

เมนูสมาชิก