โรงเรียนวัดมัชฌันติการามจัดพิธีไหว้ครูประจำปี ได้นิมนต์พระสงฆ์จากวัดมัชฌันติการามไปร่วมพิธีด้วย มีการเจริญพุทธมนต์ และมีกิจกรรมต่างๆอีกหลายอย่าง มีการแสดง การละเล่นอีกมากมาย นอกจากนั้นยังเป็นวันที่รวมศิษย์เก่าที่เคยศึกษาในโรงเรียนแห่งนี้มาก่อน วันไหว้ครูศิษย์เก่าทั้งหลายที่ประสบความสำเร็จในการศึกษาได้เช้าเรียนในสถาบันที่มีชื่อเสียง หรือได้ประกอบอาชีพต่างๆก็ถือโอกาสมาพบครูที่เคยสอน และยังเป็นการให้นักเรียนรุ่นน้องได้เห็นตัวอย่างที่ดีจากนักเรียนรุ่นพี่
เสร็จพิธีเจริญพระพุทธมนต์ฝนตกหนักยังกลับวัดไม่ได้ จึงต้องรอให้ฝนสร่าง มีพระภิกษุรูปหนึ่งถามว่า “อาจารย์ครับทำไมพิธีไหว้ครูจึงมักจะจัดในวันพฤหัสบดี ไหว้วันอื่นไม่ได้หรือครับ”
ตอนนั้นหาเหตุผลอื่นมาอธิบายไม่ได้จึงตอบสั้นๆว่า “วันพฤหัสบดีในภาษาบาลีใช้คำว่า “ครุ” เป็นคำนามเพศชาย แปลว่า “ครู ผู้สอน ผู้แนะนำ ผู้ควรเคารพ ปีก หากเป็นคำคุณนามก็จะแปลว่า ใหญ่ หนัก ผู้ควรแก่การเคารพนับถือ ผู้ควรได้รับการยกย่อง สำคัญ”
วันพฤหัสบดีจึงนิยมเรียกว่า “วันครู”หรือ “ครุ” ในภาษาบาลี ต่อมาจึงนิยมจัดพิธีไหว้ครูในวันพฤหัสบดี วันเดือนปีในภาษาบาลีมีคำเรียกขานต่างกัน คำว่าวัน ภาษาบาลีใช้คำว่า “วาร” วันทั้งเจ็ดมีคำที่ใช้ในภาษาบาลีว่า “วันอาทิตย์ ชื่อว่า รวิวาร วันจันทร์ ชื่อว่า จนฺทวาร วันอังคาร ชื่อว่า ภุมฺมวาร วันพุธ ชื่อว่า วุธวาร วันพฤหัสบดี ชื่อว่า ครุวาร วันศุกร์ ชื่อว่า สุกฺกวาร หรือ โสรวาร”
คติความเชื่ออีกอย่างหนึ่งในศาสนาพราหมณ์ซึ่ง นับถือเทพเจ้านามว่าพฤหัสบดีเป็นเทพแห่งฤทธิ์เดช ในฐานะปุโรหิตาจารย์ที่เคารพนับถือของพระอินทร์และเทวดาอื่น ๆ จึงนิยมไหว้ครูกันในวันพฤหัสบดี มีตำนานที่ถือว่าวันพฤหัสบดีเป็นวันครู นอกจากนี้ยังถือกันว่าเวลากลางวันพระพฤหัสบดีเป็นธาตุไฟ และเป็นธาตุน้ำในเวลากลางคืน เป็นดาวพระเคราะห์ที่ให้วิทยาความรู้แก่มนุษย์ เราจึงถือว่าวันพฤหัสบดีเป็นวันครู
ในทางโหราศาสตร์มีคติความเชื่อว่าพระพฤหัสบดีเป็นครูแห่งเทวดาทั้งหลายคือปุโรหิต ตามไตรเพทว่าเป็นองค์เดียวกับพระอัคนี เทพแห่งไฟ อีกตำราว่าเป็นฤาษีโอรสพระอังคีรสพรหมบุตร กับนาง สมปฤดี ในตำราพระอิศวรมีกล่าวว่า “พระศิวะเจ้าได้สร้างพระพฤหัสบดีขึ้นมา โดยนำฤษี 19 ตน มาป่นให้ละเอียดเป็นผง ห่อด้วยผ้าสีเหลือง ร่ายพระคาถาศักดิ์สิทธิ์ ห่อผ้านั้นก็กลายเป็นพระพฤหัสบดี เทพบุตรผู้ปรากฎเป็นฤาษี กายสีแสด ทรงกระดานชนวน ลูกประคำ อาภรณ์ประดับด้วยแก้วบุษราคัม ทรงกวางเป็นพาหนะ เป็นเทพแห่งปัญญา เทพแห่งครู วันพฤหัสบดีจึงถือเป็นวันครู ตามธรรมเนียมของไทยจึงถือเอาวันพฤหัสบดีเป็นวันไหว้ครู
จะถือตามคติความเชื่อใดก็ตาม คนไทยได้ถือเอาวันพฤหัสบดีเป็นวันไหว้ครู พิธีไหว้ครูนั้น เป็นพิธีกรรมที่เป็นประเพณีของไทยที่นิยมปฏิบัติมาแต่สมัยโบราณ แสดงถึงความระลึกถึงบุญคุณของครู การไหว้ครูเป็นการแสดงตนว่าขอเป็นศิษย์ของท่านโดยตรง นักเรียนเมื่อเปิดเทอมใหม่ได้แสดงตนว่าพร้อมที่จะศึกษาวิชาการต่างๆจากครู จึงแสดงความคารวะและแสดงตนเป็นศิษย์ของครู อีกอย่างครูบางท่านอาจจะย้ายมาใหม่จึงถือโอกาสแนะนำตัวให้นักเรียนได้รู้จัก และนักเรียนก็แนะนำตัวให้ครูรู้จักแสดงความพร้อมในการศึกษา
ในพิธีไหว้ครูสิ่งที่ได้พบเห็นคือพานไหว้ครู ในพานนั้นจะประกอบด้วย “หญ้าแพรก ดอกเข็ม ดอกมะเขือ ข้าวตอก” ซึ่งแต่ละอย่างมีความหมายและนัยที่แฝงอยู่ในเครื่องบูชาเหล่านั้น
หญ้าแพรก สื่อความหมายว่า ขอให้เรียนได้เร็วเหมือนหญ้าแพรก ที่โตได้เร็วและทนต่อสภาพดินฟ้า อากาศ ทนต่อการเหยียบย่ำ ซึ่งเปรียบเสมือน คำดุด่าของครูบาอาจารย์ย่อมเป็นเหมือนคำชมของศิษย์ ต้องอดทนให้ได้ เหมือนหญ้าแพรกที่แม้จะถูกเหยียบจนแหลกลาญก็สามารถงอกงามขึ้นใหม่ได้
ดอกเข็ม สื่อความหมายว่า ขอให้มีสติปัญญาเฉียบแหลม เหมือนชื่อของดอกเข็ม ใครที่มีปัญญาเฉียบแหลมย่อมจะเป็นบันไดที่จะก้าวเดินไปสู่การศึกษาเรียนรู้ในชั้นของการศึกษาในระดับที่สูงต่อไปได้
ดอกมะเขือ สื่อความหมายว่า มะเขือนั้น จะคว่ำดอกลงเสมอเมื่อจะออกลูก แสดงถึง นักเรียนที่จะเรียนให้ได้ผลดีนั้นต้องรู้จักอ่อนน้อม ถ่อมตน เป็นคนสุภาพเรียบร้อย เหมือนมะเขือที่โน้มลง นักเรียนฟังคำสอนของครูด้วยความเคารพย่อมจะพบกับความสำเร็จที่รออยู่ข้างหน้าได้ไม่ยาก
ข้าวตอก สื่อความหมายว่า ข้าวตอกเกิดจากข้าวเปลือกที่คั่วด้วยไฟอ่อนๆ ให้ร้อนเสมอกันจนถึงจุดหนึ่งที่เนื้อข้างในขยายออก จนดันเปลือกให้แยกออกจากกัน ได้ข้าวสีขาวที่ขยายเม็ดออกบาน ซึ่งสามารถนำไปประกอบพิธีกรรม หรือทำขนมต่างๆได้ ดังนั้น ข้าวตอกจึงเป็นสัญลักษณ์ของความมีระเบียบวินัย หากใครสามารถทำตามกฎระเบียบ เอาชนะความซุกซนและความเกียจคร้านของตัวเองได้ ก็จะเหมือนข้าวตอกสีขาวที่ถูกคั่วออกจากข้าวเปลือก
คนโบราณใช้เครื่องสักการะครูอาจารย์ในพิธีไหว้ครูเพื่อที่จะได้เป็นอุปมาในการสอนศิษย์ทั้งหลายให้มีความอดทน สั่งสมปัญญา อ่อนน้อมถ่อมตน มีระเบียบวินัย ซึ่งจะเป็นเหมือนอุปกรณ์การศึกษาภายในของตัวนักเรียนเอง หากนักเรียนทั้งหลายเมื่อทำพิธีไหว้ครูแล้วถือปฏิบัติตามหลักการคือ “อดทนในการศึกษา สร้างปัญญาในการเรียนรู้ เคารพครูอาจารย์ และทำงานอย่างมีวินัย” แม้หนทางที่จะก้าวยังยาวไกล ก็จะไปถึงฝั่งฝันจนได้
ฝนเริ่มสร่างแล้วจึงได้กลับวัด พระภิกษุรูปนั้นบอกว่า “ผมไม่ได้ประกอบพิธีไหว้ครูมานานแล้ว จำได้ว่าเคยร่วมพิธีไหว้ครูตั้งแต่สมัยเด็กๆ”
จึงบอกว่า “ไม่ต้องมีพิธีอะไรก็ไหว้ครูได้ ไหว้ได้ทุกวันๆละหลายครั้ง โดยไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นวันพฤหัสบดี ชาวพุทธมีครูที่ยอดเยี่ยมของโลกคือพระพุทธเจ้า ตามคำในภาษาบาลีที่แสดงไว้ในมหาสีหนาทสูตร มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์(12/163/138) ความว่า “อิติปิโส ภควา อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน สุคโต โลกวิทู อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ สตฺถา เทวมนุสฺสนํ พุทฺโธ ภควา” แปลว่า “แม้เพราะเหตุนี้พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึกไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม" หากทำวัตรสวดมนต์ไหว้พระเวลาใดก็หมายความว่ากำลังไหว้ครูเมื่อนั้น
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
13/06/56