ปีการศึกษา 2556 นี้ สำนักศาสนศึกษาวัดมัชฌันติการามเปิดเรียนช้าไปหน่อย เพราะตามปรกติจะต้องเปิดเรียนหลังวันวิสาขบูชาแต่เนื่องจากคณะครูและนักเรียนมีภารกิจหลายอย่าง นักเรียนส่วนมากกำลังศึกษาแผนกปริยัติสามัญที่โรงเรียนวชิรมกุฏฯ วัดมกุฎกษัตริยาราม ซึ่งมีกำหนดการปฐมนิเทศที่เขาใหญ่ โคราช หลังวันวิสาขบูชา โรงเรียนวัดเลยต้องเลื่อนการเปิดเรียนออกไป แม้จะช้าแต่ก็ยังทันกาล ไม่ใช่นานแล้วไม่ทันเวลา
นักเรียนแผนกนักธรรม บาลีของสำนักศาสนศึกษาวัดมัชฌันติการามบางรูปต้องเรียนสามเวลาคือเช้าเรียนนักธรรม ภาคบ่ายเรียนปริยัติสามัญหรือชั้นปริญญาตรี โท เอก ภาคค่ำต้องเรียนบาลี นักเรียนที่มาใหม่หากไม่มีความตั้งใจจริง ไม่มีความอดทนพอมักจะไปไม่ค่อยรอด ต้องท่องคาถาประจำไว้เสมอว่า “อดทนถึงที่ได้ดีทุกคน” ผู้ที่เคยศึกษาจากสำนักศาสนศึกษาแห่งนี้ ปัจจุบันเป็นเจ้าคณะพระสังฆาธิการเป็นเจ้าคณะจังหวัดหลายรูป เรียนจบปริญญาโท ปริญญาเอกอีกจำนวนมาก ลาสิกขาออกไปทำหน้าที่พลเมืองที่ดีมีคุณภาพอีกมากมาย
ในของส่วนครูสอนก็ไม่ต่างกับนักเรียนมากนัก บางรูปเป็นครูสอนที่โรงเรียนวชิรมกุฏฯ บางรูปสอนที่มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ศาลายา นครปฐม บางรูปกำลังศึกษาในชั้นศาสนศาสตรบัณฑิต มหาบัณฑิต หรือแม้แต่ดุษฎีบัณฑิต ปัจจุบันวัดมัชฌันติการามจึงมีนักเรียนศึกษาทั้งนักธรรม บาลีและมัธยมศึกษาจนถึงปริญญาเอก
วัดมัชฌันติการามแม้จะเป็นวัดเล็กๆ มีพระภิกษุสามเณรจำพรรษาไม่มากนัก แต่เจ้าอาวาสสนับสนุนด้านการศึกษาทุกแผนก ใครที่มีความเพียรพยายามที่พร้อมจะเรียนที่ไหนสามารถเรียนได้ แต่ทางวัดขอให้ศึกษานักธรรมและบาลีซึ่งถือว่าเป็นการศึกษาภาคบังคับของวัด
คณะครูและนักเรียนจึงเป็นไปในทำนองพี่สอนน้อง ในแต่ละปีมีสอบได้บ้าง สอบตกบ้างตามสมควร การจัดการศึกษาอยู่ในลักษณะของคณะกรรมการบริหารการศึกษามีพระพุทธิสารโสภณ (พระมหา ดร. เดช กตปุญโญ)เจ้าอาวาสเจ้าสำนักเรียนและเป็นประธานกรรมการบริหาร พระมหา ดร. บุญไทย ปุญญมโน ทำหน้าที่เป็นครูใหญ่ แต่พระภิกษุสามเณรในวัดมักจะนิยมเรียกว่า "อาจารย์ใหญ๋" ครูสอนนักธรรมในภาคเช้าอาจจะต้องมาเป็นเพื่อนร่วมชั้นกับนักเรียนในแผนกบาลีในภาคค่ำ ความรู้นั้นไม่ได้จำกัดด้วยเพศและวัยอาจจะศึกษาและเรียนทันกันได้
เปิดเรียนวันแรกนักเรียนเก่าไม่มีปัญหาเดินเข้าเรียนได้เลย แต่นักเรียนใหม่ยังทำอะไรไม่ถูก ต้องคอยถามรุ่นพี่ว่าจะให้ทำอย่างไร แต่ทุกอย่างก็ดำเนินไปได้ด้วยดี นับเป็นเรื่องที่น่าอนุโมทนาอย่างยิ่งสำหรับผู้มีศรัทธาในการศึกษา ปีการศึกษานี้มีเจ้าภาพซื้อตำราเรียนถวายนักเรียนทุกรูปครบทุกชั้น เจ้าภาพมีหลายคนต้องขออนุโมทนาในกุศลเจตนาเป็นอย่างยิ่ง
คำว่า "การศึกษา" ในพระพุทธศาสนานั้นมาจากคำในภาษาบาลีว่า “สิกฺขา” เป็นคำนามอิตถีลิงค์คือเพศหญิงแปลว่า “การศึกษา ข้อควรศึกษา ส่วนคำว่าครู มาจากภาษาบาลีว่า “ครุ” ” เป็นคำนามปุงลิงค์คือเพศชาย แปลว่า “ครู ผู้สอน ผู้แนะนำ ผู้ควรเคารพ ปีก หากเป็นคำคุณนามจะแปลว่า “ใหญ่ หนัก ผู้ควรแก่การเคารพนับถือ ผู้ควรได้รับการยกย่อง สำคัญ” อีกคำหนึ่งที่ไม่ค่อยเป็นที่นิยมแต่ก็มีความหมายคล้ายกันคือ “สิกฺขาปก สิกฺขาปนก” เป็นคำคุณนามแปลว่า “ผู้ให้การศึกษา ครู”
การศึกษานั้นในพระพุทธศาสนาแสดงไว้สามประการดังที่ปรากฏในสังคีติสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค(11/228/172) ความว่า “สิกขาสามอย่างคือ(1) อธิศีลสิกขา หมายถึงสิกขาคือศีลยิ่ง(2)อธิจิตตสิกขาหมายถึงสิกขาคือจิตยิ่ง (3)อธิปัญญาสิกขาหมายถึงสิกขาคือปัญญายิ่ง”
หากจะเรียกโดยย่อก็จะเป็น “ศีล จิต และปัญญา” แต่พุทธศาสนิกชน มักนิยมเรียกเพื่อความเข้าใจง่ายว่า “ศีล สมาธิ ปัญญา” ศีล หมายถึงข้อปฏิบัติเพื่อการฝึกหัดอบรมในทางความประพฤติอย่างสูง จิต (สมาธิ) ข้อปฏิบัติเพื่อการฝึกหัดอบรมจิตเพื่อให้เกิดคุณธรรมเช่นสมาธิอย่างสูง และปัญญา ข้อปฏิบัติเพื่อการฝึกหัดอบรมปัญญาเพื่อให้เกิดความรู้แจ้งอย่างสูง
การศึกษาของพระภิกษุสามเณรจึงเน้นที่การศึกษาสามด้านเป็นกิจของสมณะที่ควรศึกษา ดังที่แสดงไว้ในสมณสูตร อังคุตรนิกาย ติกนิบาตร (20/521/294) ความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย กิจของสมณะที่สมณะควรทำสามอย่างนี้คือ(1)การสมาทานอธิศีลสิกขา (2)การสมาทานอธิจิตตสิกขา (3) การสมาทานอธิปัญญาสิกขา ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแหละ ท่านทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจักมีความพอใจอย่างแรงกล้าในการสมาทานอธิศีลสิกขา เราจักมีความพอใจอย่างแรงกล้าในการสมาทานอธิจิตตสิกขา เราจักมีความพอใจอย่างแรงกล้าในการสมาทานอธิปัญญาสิกขา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายพึงศึกษาเช่นนี้แล”
การจัดการเรียนการสอนสำหรับสำนักศาสนศึกษาวัดมัชฌันติการาม นอกจากจะมีวัตถุประสงค์เพื่อการสอบได้นักธรรมและบาลีในชั้นต่างๆแล้ว ยังจะต้องเน้นที่การสมาทานอธิศีลสิกขา การสมาทานอธิศีลจิตตขา และการสมาทานอธิปัญญาสิกขาไปพร้อมๆกันด้วย
การเรียนนักธรรมและบาลีเป็นการศึกษาคำสอนของพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นข้อหนึ่งในห้าข้อที่ทำให้พระภิกษุสามเณรได้จดจำคำสอนย่อมเป็นไปเพื่อความตั้งมั่น ไม่ฟั่นเฟือนแห่งพระสัทธรรม ดังที่มีหลักฐานปรากฏในสัทธรรมปฏิรูปกสูตร สังยุตตนิกาย นิทานวรรค (16/535/217) ความว่า “ดูกรกัสสป เหตุห้าประการเหล่านี้แล ย่อมเป็นไปพร้อม เพื่อความตั้งมั่น ไม่ฟั่นเฟือน ไม่เลือนหายแห่งพระสัทธรรม คือ(1) ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในธรรมวินัยนี้ มีความเคารพยำเกรงในพระศาสดา (2) ในพระธรรม (3) ในพระสงฆ์ (4) ในสิกขา (5)ในสมาธิ เหตุห้าประการเหล่านี้แล ย่อมเป็นไปพร้อมเพื่อความตั้งมั่น ไม่ฟั่นเฟือนไม่เลือนหายแห่งพระสัทธรรม”
สามเณรเพ่งสอบได้นักธรรมชั้นตรี ส่วนสามเณรติ๊กสอบตกนักธรรมชั้นโท ปีนี้จึงมาเรียนในชั้นเดียวกัน สามเณรติ๊กนั่งเงียบไม่พูดไม่จาก้มหน้าตาดูตำราและฟังครูสอน แต่สามเณรเพ่งมีใบหน้าที่มีรอยยิ้มฟังครูสอนไปก็ยิ้มไป ทั้งคู่นั่งใกล้ๆกัน พอครูใหญ่เดินผ่านสามเณรเพ่งถามว่า “อาจารย์ใหญ่ครับ การศึกษาอาจเรียนทันกันหมดใช่ไหมครับ แต่ผมจำบทต่อไปไม่ได้ครับ”
ครูใหญ่บอกสามเณรเพ่งไปว่า “เป็นบทพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ห้า เป็นโคลงสี่สุภาพมีเนื้อความว่า
“ฝูงชนกำเนิดคล้าย คลึงกัน
ใหญ่ย่อมเพศผิวพรรณ แผกบ้าง
ความรู้อาจเรียนทัน กันหมด
ยกแต่ชั่วดีกระด้าง ห่อนแก้ฤาไหว”
ครูใหญ่ฯ จึงบอกให้ครูประจำชั้นเขียนบนกระดาน นักเรียนทุกรูปจะได้ท่องจำจนขึ้นใจ ครูใหญ่พูดจบสามเณรเพ่งก็หันไปมองสามเณรติ๊กด้วยรอยยิ้ม ส่วนสามเณรติ๊กยังคงก้มหน้าเปิดหนังสือตำรา เหมือนฟังแต่ไม่ได้ยิน มองแต่ไม่เห็น
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
10/06/56