มีคำเรียกขานมาแต่โบราณกาลจนติดปากคนไทยว่า “ชาวนาคือกระดูกสันหลังของชาติ” อันแสดงให้เห็นถึงความสำคัญว่าหากมนุษย์มีกระดูกสันหลังที่ไม่แข็งแรงคงดำรงตนอยู่ลำบาก จะเดินเหินไปไหนมาไหนก็ยุ่งยาก เพราะกระดูกไม่แข็งแรง เมื่อนำอาชีพดั้งเดิมของคนไทยที่มีมาแต่โบราณกาลคือชาวนามาเปรียบเทียบกับกระดูกสันหลังของมนุษย์ จึงบ่งถึงลักษณะที่แข็งแรง สำนวนนี้จึงบ่งความถึงส่วนสำคัญที่สุดของชาติหมายถึงชาวนา ส่วนที่เป็นพลังค้ำจุนของชาติบ้านเมืองคือชาวนา เพราะหากชาวนาไม่ทำนาก็จะไม่มีข้าวกิน ประชากรในประเทศที่บริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก หากวันใดไม่มีข้าวกินคงดำรงชีวิตอยู่ลำบากยากเข็ญ
กระดูกสันหลังมีหน้าที่รับน้ำหนักและช่วยพยุงร่างกายให้สามารถตั้งตรง ได้ ในคนปกติหากมองจากด้านหลังจะเห็นกระดูกสันหลังเป็นแนวเส้นตรง แต่บางครั้งอาจเกิดความผิดปรกติกลายเป็นโรคที่ทางการแพทย์เรียกว่า “โรคกระดูกสันหลังคด” ทำให้ร่างกายขาดความสมดุล
หากประเทศชาติมีกระดูกสันหลังที่คดงอก็จะทำให้การทรงตัวลำบาก เมื่อชาวนาคือกระดูกสันหลังของชาติจึงควรเอาใจใส่ให้การศึกษาในการทำนาที่ถูกต้อง แต่เท่าที่เห็นในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการโฆษณาทางวิทยุโทรทัศน์ต่างๆ มักจะเน้นให้ชาวนาและเกษตรกรอาชีพอื่นๆให้ใช้ปุ๋ยเคมีซึ่งมีหลากหลายชนิด มีประโยชน์ทำให้ข้าวกล้าในนาอุดมสมบูรณ์ให้ผลผลิตในปริมาณที่มาก นักธุรกิจมุ่งแต่จะขายเพื่อหวังกำไร ไม่ค่อยจะคำนึงถึงผลข้างเคียงคือดินจะเกิดความเสียหายมีผลระยะยาว ผลผลิตข้าวได้ผลดีไม่กี่ปี แต่ดินเสื่อมสภาพ ผลผลิตในปีต่อๆไปลดลง แม้ว่าเทคโนโลยีจะเจริญก้าวหน้ามากขึ้น ทำให้ชาวนาสามารถทำนาได้สะดวก ผลิตข้าวได้มากขึ้น แต่ชาวนาประเทศไทยยังคงยากจนอยู่เหมือนเดิม บางคนกลับมีหนี้สินเพิ่มมากขึ้น
ชาวนาส่วนหนึ่งไม่ค่อยสนับสนุนให้ลูกทำนา หากพอมีเงินก็จะส่งลูกเรียนสูงๆในสาขาที่ไม่เกี่ยวกับการทำนาเลยเช่นบัญชี รัฐศาสตร์ กฎหมาย หรือแม้แต่ชีวะ เคมี ก็ยังมีลูกชาวนาหลายคนเรียนจบ พอจบออกมาก็จะทำงานตามสาขาที่ตนได้ศึกษามา ไม่ค่อยจะมีลูกชาวนายุคใหม่กลับไปทำนาสืบต่ออาชีพดั้งเดิมของบรรพบุรุษ
ผู้เขียนเป็นลูกชาวนาเคยทำนาสมัยเด็กๆแต่พอโตขึ้นก็ไม่ได้กลับไปทำนาอีกเลย อีกอย่างพ่อก็ขายที่นาที่มีอยู่น้อยนิดหันมาประกอบอาชีพเป็นชาวสวนปลูกอ้อย ปลูกมันสำปะหลัง หรือแม้หากจะทำนาก็ทำเพียงแค่พออยู่พอกิน ไม่ได้ทำไว้ขาย ปีหนึ่งจึงใช้พื้นที่ในการทำนาไม่มาก พ่อไม่มีที่นาเหลือแบ่งให้ลูกๆแล้ว พ่อเคยบอกว่า “อาชีพทำนาลำบากหลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน หนักเอาเบาสู้ ที่นามีเท่าเดิมแต่เมื่อพวกเอ็งโตขึ้นพ่อก็ไม่มีที่นาแบ่งให้แล้ว พวกเอ็งต้องเรียนให้สูงๆจะได้ทำงานดีๆมีชีวิตที่สบาย ไม่ต้องลำบากเหมือนพ่อ” พ่อจึงพยายามส่งลูกๆให้เรียนเท่าที่จะเรียนได้
ปัจจุบันแม้จะไม่มีอะไรเป็นหลักเป็นฐานที่มั่นคง แต่ก็ยังพอมีความรู้ทางด้านปรัชญาและศาสนาพอประมาณจนสามารถสอนนักศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยได้ แม้ชีวิตจะผ่านก้าวผ่านกาลเวลาจนกำลังจะก้าวผ่านวัยกลางคน แต่ก็ยังพอได้ทำคุณประโยชน์ต่อคนอื่นบ้าง อย่างน้อยก็ยังสอนวิชาด้านปรัชญาและศาสนาให้แก่คนรุ่นใหม่อยู่บ้าง
นักศึกษาสาขาวิชาปรัชญาคนหนึ่งขอเข้าพบเพื่อขอคำปรึกษาในการทำวิทยานิพนธ์ ซึ่งนักศึกษาท่านนี้ทำเกี่ยวกับการตรรกศาสตร์เป็นศาสตร์ว่าด้วยหลักเหตุผล การใช้เหตุผล ซึ่งอยู่ในขอบข่ายของวิชาปรัชญา เมื่อสนทนาไปสักพักจึงถามว่า “เรียนปรัชญาทำไม เรียนจบแล้วจะเอาไปทำอะไร”
นักศึกษาคนนั้นตอบว่า “ผมว่าวิชาปรัชญามันลึกซึ้งเข้าใจยาก ท้าทายสติปัญญาดีนะครับ มักจะคิดในเรื่องใกล้ตัวที่เราอาจคิดไม่ถึงเช่นความจริงแท้คืออะไร ความรู้ ความดี ความงามคืออะไร จะมีวิธีเข้าถึงคงวามจริง ความรู้อย่างไร เป็นต้น ที่ผมชอบวิชานี้เพราะผมสงสัยจึงพยายามค้นหาคำตอบ”
มีตอนหนึ่งในคำสนทนานักศึกษาคนนั้นบอกว่า “พ่อผมเป็นชาวนา ผมก็มีพื้นฐานในการทำนาพอสมควรอยู่ ทุกปีหากอยู่ในช่วงปิดเทอมก็ยังกลับไปช่วยพ่อทำนาที่จังหวัดหนองบัวลำภู ถึงแม้ว่าผมเรียนจบไปแล้วไม่มีงานทำผมก็ยังกลับไปทำนาได้”
ผมว่าน่าจะมีมหาวิทยาลัยเกี่ยวกับการทำนาสักแห่ง ผมเคยอ่านพบว่า “ที่จังหวัดสระแก้วมีโรงเรียนฝึกควายให้ไถนา ชื่อว่า “กาสรกสิวิทย์” ดำเนินงานโดยมูลนิธิชัยพัฒนาใช้เป็นพื้นที่จัดตั้งโครงการพระราช ดำริ เป็นศูนย์อนุรักษ์และพัฒนาควายไทย พร้อมทั้งทำแปลงสาธิตด้านการเกษตร เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ของเกษตรกรทั่วไป เปิดโรงเรียนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2552 ถ้าหากจะมี “มหาวิทยาลัยชาวนา” ขึ้นมาฝึกคนให้ทำนาน่าจะดีนะครับ”
แม้จะเป็นการพูดสนทนาที่นอกส่วนของการทำวิทยานิพนธ์ แต่เมื่อได้ยินคำนี้ทำให้รู้สึกดี เพราะผู้เขียนเองก็เป็นชาวนา เคยทำไร่ไถนามาตั้งแต่เด็ก ถึงจะไม่ถึงขนาดที่เรียกว่าผู้ชำนาญการ แต่ก็สามารถทำได้ทุกอย่างตั้งแต่ไถนา หว่านกล้า ปลูกข้าว ไขน้ำเข้านา กำจัดวัชพืช กำจัดแมลง เกี่ยวข้าว นวดข้าว จนกระทั่งสามารถนำมาข้าวมานึ่งรับประทานได้ ที่กล่าวถึงขั้นตอนทั้งหมดนั้นใช้เวลาหนึ่งฤดูกาลของการทำนา เริ่มต้นจากประมาณเดือนพฤษภาคมจนถึงเดือนธันวาคมหรือมกราคม ฤดูกาลทำนาจึงใช้เวลาเกือบหนึ่งปี อีกสามเดือนเป็นเวลาหยุดพัก ไม่รวมถึงการทำนาปรังซึ่งทำได้ตลอดปี
จึงถามว่า “ถ้าสมมุติมีมหาวิทยาลัยชาวนา จะบริหารอย่างไร ใครจะเป็นนักศึกษา”
นักศึกษาคนนั้นบอกว่า “จะตั้งชื่ออะไรก็แล้วแต่ พระอาจารย์มีความรู้ด้านภาษาบาลีสามารถสรรหาคำที่สละสลวยมาตั้งได้ ส่วนการบริหารก็มีอธิการบดีเหมือนมหาวิทยาลัยอื่นๆ อาจสรรหามาจากผู้ชำนาญการในการทำนา ผมว่าหาไม่ยาก มีรองอธิการบดีฝ่ายต่างๆ ที่สำคัญต้องมีคณะ ภาควิชา สาขาวิชาเหมือนมหาวิทยาลัยอื่นๆ เรียนจบมีวุฒิปริญญาตามสาขาที่เรียน
มหาวิทยาลัยชาวนาอาจจะมีคณะการผลิตข้าวเหนียว คณะการผลิตข้าวจ้าว คณะการผลิตข้าวหอมมะลิเป็นต้น มีสาขาวิชาการทำนาในที่ลุ่ม การทำนาในที่ดอน คณะ ภาควิชา สาขาวิชาให้สัมพันธ์กับการทำนาของชาวนาจริงๆ ควายก็เรียนจบมาจากโรงเรียนกาสรกสิวิทย์ หรือปัจจุบันใช้ควายเหล็กในการทำนาก็อาจจะมีวิชาเอกการใช้รถไถนาอีกก็ได้ “
“ไม่ต้องห่วงหรอกครับว่าจะไม่มีใครมาเรียน หากชาวนายังไม่จบชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น อาจจะขอความร่วมมือจากกรมการศึกษานอกโรงเรียนมาจัดการเรียนการสอนชั้นเตรียมปริญญาก็ได้ พอจบแล้วก็เข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยได้ ศึกษาทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติโดยการทำนาจริงๆ ได้ผลผลิตจริงๆ ลูกชาวนาก็จะไม่ต้องเรียนในสาขาวิชาที่ไม่เกี่ยวกับการทำนาเหมือนกับที่เป็นอยู่ในปัจจุบันที่ลูกชาวนาไม่ค่อยมีโอกาสเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยทางการเกษตร เพราะสอบแข่งขันสู้คนอื่นเขาไม่ได้ หรือหากจะมีอยู่บ้างก็มีปริมาณที่น้อยมาก หากไม่เก่งจริงก็ไม่มีสิทธิ์ หรือหากสอบเข้าได้ก็ไม่มีเงินพอที่จะเรียนจบ
นักศึกษาปริญญาโท สาขาวิชาปรัชญาคนนั้นลากลับไปแล้ว มานั่งคิดพิจารณาสิ่งที่เขาเสนอ แม้จะฟังดูเหมือนเป็นความเพ้อฝัน แต่หากย้อนกลับมาคิดอีกทีความคิดนี้เข้าท่า ลองคิดหาคำในภาษาบาลีที่เกี่ยวกับชาวนาหากจะตั้งชื่อมหาวิทยาลัยชาวนาที่ฟังดูเป็นสากลหน่อยจะใช้คำอะไร ก็ได้คำในภาษาบาลีดังนี้
คำว่า “กาสร” แปลว่า กระบือ ควาย ส่วนคำว่า “กสิ แปลว่าการไถ การหว่าน คำว่า “กสิกมฺม” การทำไร่ทำนา ส่วนคำว่า “กสิกร เป็นคำนามแปลว่า ชาวนา คนทำนา คำที่ใกล้เคียงอีกคำหนึ่งคือ “กสิกรณ” การไถนา การทำนา คำว่า “กสิเขตฺต” แปลว่า ทุ่งนา ที่นา ยังมีอีกหลายคำที่แปลว่าที่นาเช่น คำว่า “เขตฺต” แปลว่า สวน นา ไร่ ที่อยู่ หรืออีกความหมายคือ “เขตฺต” แปลว่าเมียหรือร่างกายก็ได้ อีกคำคือ “เขตฺตกมฺม” แปลว่าเกษตรกรรม กสิกรรม การทำนา การทำสวน อีกคำคือ “เขตฺตาชีว” แปลว่าผู้มีอาชีพทางทำนาหรือทำสวน เกษตรกร กสิกร คำว่า “เขตฺตสามิก” หมายถึงเจ้าของนา เจ้าของสวน เจ้าของที่ดิน ใครจะนำคำเหล่านี้ไปตั้งชื่อก็ได้
หากจะใช้คำที่เหมาะกับคำว่า “มหาวิทยาลัยชาวนา” คำที่ตรงความหมายที่สุดคือ “กสิกร” ก็จะเป็นชื่อมหาวิทยาลัยว่า “มหาวิทยาลัยกสิกร” แม้จะไปใกล้เคียงกับชื่อของธนาคารบางแห่ง แต่ก็ไม่เป็นไร ชื่อเป็นสาธารณะไม่ได้จำกัดสิทธิ์ในการใช้ หรือหากใครจะตั้งชื่อลูกชายว่า “กสิกะ กสิกร กสิการ หรือ เขตต์ ” ก็จะมีความหมายว่าชาวนาหรือคนทำนา
ในแต่ละสาขาอาชีพต่างก็มีความชำนาญเฉพาะทาง ชาวนาต้องเข้าใจการทำนา ซึ่งส่วนหนึ่งมีความสัมพันธ์กับน้ำ ในอดีตน้ำมาจากฟ้า ชาวนาต้องพึ่งพาอำนาจของฟ้า เมื่อต้องการให้ฟ้าพอใจจึงทำให้เกิดพิธีกรรมต่างๆเกี่ยวกับการทำให้ฟ้าพอใจเช่น ประเพณีการจุดบั้งไฟ จุดบั้งไฟขึ้นฟ้าบูชาพระยาแถนเป็นต้น ยังมีประเพณีต่างๆอีกมากมายที่เกิดจากอาชีพชาวนา
เรื่องนี้บังเอิญเกิดขึ้นในวันที่ 5 มิถุนายนเป็น “วันข้าวและชาวนาแห่งชาติ" ซึ่งมีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจคือเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2489 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระเจ้าน้องยาเธอ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เพื่อทอดพระเนตรกิจการมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทั้งได้ทรงหว่านข้าวด้วยพระองค์เองในแปลงนา หลังตึกขาว (ปัจจุบันคือ ตึกพืชพรรณ ของกรมวิชาการเกษตร) ทรงหว่านข้าวด้วยพระองค์เองในแปลงนา นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่พระราชทานต่อชาวสยามและข้าวไทยและเป็นวาระสำคัญ ต่อกิจกรรมข้าวไทย การเสด็จพระราชดำเนินทรงหว่านข้าวในครั้งนั้น นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์
วันที่ 5 มิถุนายนของทุกปีจึงน่าจะมีอะไรที่เป็นเหตุให้ระลึกถึงข้าวและชาวนา ซึ่งได้จัดเป็นวันสำคัญของชาวนา แต่จะมีชาวนาสักกี่คนที่ได้ทำกิจกรรมในวันสำคัญนี้ ประเทศไทยเคยได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ปลูกข้าวและส่งข้าวออกติดอันดับต้นๆของโลก ทั้งๆชาวนาในอดีต ทำนาจากการสั่งสมประสบการณ์ มิได้ศึกษาจากสถาบันการศึกษาของรัฐอย่างเป็นทางการ แต่เป็นการศึกษามาจากมหาวิทยาลัยชีวิต
กสิกะ ชินากรณ์
06/06/56
หมายเหตุ: กสิกะ ชินากรณ์ เป็นนามปากกาของอาจารย์ท่านหนึ่ง สอนวิชาปรัชญาและศาสนาในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ส่งเรื่องมาร่วมสนุกเนื่องใน "วันข้าวและชาวนาแห่งชาติ" หากผู้อ่านท่านใดมีเรื่องดีๆที่อยากร่วมสนุก ขอเชิญส่งเรื่องมาได้ทึ