มนุษย์ทุกคนอยากเป็นคนดีแต่การกระทำความดีของแต่ละคนอาจจะไม่เหมือนกัน อีกอย่างหนึ่งการตีความเรื่อง “ความดี” ในแต่ละศาสนาอาจจะไม่เหมือนกัน เมื่อความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับคำนิยามต่างกัน การกระทำที่เกิดจากความเข้าใจก็แตกต่างกันไปด้วย แม้ว่าเราจะทำให้ทุกคนเป็นคนดีไม่ได้ทุกคนแต่อย่างน้อยในสังคมมีคนดีมากกว่าคนชั่วก็จะทำให้สังคมนั้นสงบสุขได้บ้าง ให้โอกาสคนดี พยายามป้องกันคนเลวไม่ให้ทำความเลวซ้ำอีกเป็นแนวทางหนึ่งที่จะทำให้คนในสังคมมีคนดีมากกว่าคนชั่ว การจะจำแนกว่าใครคือคนดีหรือคนชั่วนั้น มีหลักการง่ายๆว่า “คนดีชอบทำบุญ คนชั่วชอบทำบาป” ส่วนผลของการกระทำนั้นแล้วแต่บุญแต่กรรมของแต่ละคน
คำว่า “บุญ” มาจากภาษาบาลีว่า “ปุญญ” เป็นคำนามนปุงสกลิงค์(เพศไม่หญิงไม่ชาย)แปลว่า ความผ่องแผ้วแห่งวงจิต ความสะอาด ความสุข ความดี ส่วนคำว่า “กรรม” มาจากภาษาบาลีว่า “กมฺม” เป็นคำนามนปุงสกลิงค์แปลว่า กรรม การกระทำ การงาน มีความหมายเดียวกันกับคำว่า “กิริย” ซึ่งเป็นคำนามนปุงสกลิงค์ หรือจะเขียนเป็น “กิริยา หรือบางแห่งใช้เป็น “กริยา”เป็นคำนามอิตถีลิงค์(เพศหญิง) ทั้งสามคำมีคำแปลเป็นภาษาไทยได้เหมือนกันว่า “กรรม การกระทำ”
ในพระพุทธศาสนาได้แสดงที่ตั้งแห่งการทำบุญ หลักแห่งการทำความดีไว้เรียกว่า “ปุญกิริยาวัตถุ” ซึ่งมีความหมายเดียวกันกับคำว่า “ปุญญกมฺม” แปลว่า “การทำบุญ การกระทำอันเป็นไปเพื่อความดี ที่ตั้งแห่งการทำบุญ ทางแห่งการทำดี” คนโบราณจึงมักมีคำที่เรียกติดปากว่า “แล้วแต่บุญแต่กรรม” หมายถึงการกระทำต่างๆขึ้นอยู่กับการกระทำของแต่ละคน
การทำบุญเบื้องต้นนั้นมีแสดงไว้ในปุญญกิริยาวัตถุสูตร อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต (23/126/189) ความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุญกิริยาวัตถุสามนี้คือ(1) บุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยทาน (2) บุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยศีล (3) บุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยภาวนา
จากนั้นได้อธิบายขยายความผลหรืออานิสงส์ของการทำบุญที่ให้ผลต่างกันต่อไปว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานนิดหน่อย ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลนิดหน่อย ไม่เจริญบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยภาวนาเลย เมื่อตายไป เขาเข้าถึงความเป็นผู้มีส่วนชั่วในมนุษย์
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานพอประมาณ ทำบุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยศีลพอประมาณ ไม่เจริญบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยภาวนาเลย เมื่อตายไป เขาเข้าถึงความเป็นผู้มีส่วนดีในมนุษย์
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานมีประมาณยิ่ง ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลมีประมาณยิ่ง ไม่เจริญบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยภาวนาเลย เมื่อตายไป เขาเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นจาตุมมหาราช
ดูกรภิกษุทั้งหลาย มหาราชทั้งสี่ในชั้นนั้น ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานเป็นอดิเรก ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลเป็นอดิเรก ย่อมก้าวล่วงเทวดาชั้นจาตุมมหาราชโดยฐานะสิบประการ คือ อายุทิพย์ วรรณทิพย์ สุขทิพย์ ยศทิพย์ อธิปไตยทิพย์ รูปทิพย์ เสียงทิพย์ กลิ่นทิพย์ รสทิพย์ โผฏฐัพพทิพย์”
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานมีประมาณยิ่ง
ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลมีประมาณยิ่ง ไม่เจริญบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยภาวนาเลย เมื่อตายไป เขาเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นดาวดึงส์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ท้าวสักกะจอมเทพในชั้นดาวดึงส์นั้น กระทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานเป็นอดิเรก ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลเป็นอดิเรกย่อมก้าวล่วงพวกเทวดาชั้นดาวดึงส์โดยฐานะสิบประการ คือ อายุทิพย์ ฯลฯ โผฏฐัพพทิพย์”
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานมีประมาณยิ่ง ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลมีประมาณยิ่ง ไม่เจริญบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยภาวนาเลย เมื่อตายไป เขาเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นยามา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ท้าวสยามเทพบุตรในชั้นยามานั้น ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานเป็นอดิเรก ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลเป็นอดิเรก ย่อมก้าวล่วงเทวดาชั้นยามาโดยฐานะสิบประการ คือ อายุทิพย์ ฯลฯ โผฏฐัพพทิพย์”
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานมีประมาณยิ่ง ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลมีประมาณยิ่ง ไม่เจริญบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยภาวนาเลย เมื่อตายไป เขาเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นดุสิต ดูกรภิกษุทั้งหลาย ท้าวสันดุสิตเทพบุตรในชั้นดุสิตนั้น ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานเป็นอดิเรก ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลเป็นอดิเรก ย่อมก้าวล่วงเทวดาชั้นดุสิตโดยฐานะสิบประการ คือ อายุทิพย์ ฯลฯ โผฏฐัพพทิพย์”
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานเป็นอดิเรก ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลเป็นอดิเรก ไม่เจริญบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยภาวนาเลย เมื่อตายไป เขาเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นนิมมานรดี ดูกรภิกษุทั้งหลาย ท้าวสุนิมมิตเทพบุตรในชั้นนิมมานรดีนั้น ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานเป็นอดิเรก ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลเป็นอดิเรกย่อมก้าวล่วงเทวดาชั้นนิมมานรดีโดยฐานะสิบประการ คือ อายุทิพย์ ฯลฯโผฏฐัพพทิพย์”
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานมีประมาณยิ่ง ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลมีประมาณยิ่ง ไม่เจริญบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยภาวนาเลย เมื่อตายไป เขาเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตตี ดูกรภิกษุทั้งหลาย ท้าวปรนิมมิตวสวัตตีเทพบุตรในชั้นปรนิมมิตวสวัตตีนั้น ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานเป็นอดิเรก ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลเป็นอดิเรก ย่อมก้าวล่วงเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตตีโดยฐานะสิบประการ คือ อายุทิพย์ วรรณทิพย์ สุขทิพย์ ยศทิพย์ อธิปไตยทิพย์ รูปทิพย์ เสียงทิพย์ กลิ่นทิพย์ รสทิพย์ โผฏฐัพพทิพย์”
วันนี้ได้นำเสนอปุญญกิริยาวัตถุโดยละเอียดเพราะไม่อยากตัดส่วนใดส่วนหนึ่งออกไป เนื้อหาในพระสูตรนี้ได้แสดงอานิสงส์หรือผลของการกระทำไว้ชัดเจนว่าทำบุญอะไรจะได้อะไร อานิสงส์ของการทำบุญด้วยให้ทาน รักษาศีล และเจริญภาวนาย่อมมีผลมากน้อยต่างกัน ตามสมควรแก่การกระทำ การกระทำที่ต่างกันย่อมได้รับผลไม่เหมือนกัน แล้วแต่บุญแต่กรรมของใครของมัน ส่วนใครจะเลือกการทำบุญทำกรรมอย่างไรนั้น เรื่องนี้เป็นเรื่องส่วนบุคคลเป็นบุญกรรมของใครของของมัน บุญนั้นไม่มีขาย ถ้าอยากได้ต้องทำเอง
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
04/06/56