บริเวณที่ตั้งมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ศาลายา นครปฐม ครึกครื้น รื่นเริงและคร่ำเคร่งไปด้วยพระสงฆ์และนักวิชาการจากประเทศต่างๆที่มาร่วมประชุมสมาคมมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาเถรวาทครั้งที่ 3 ซึ่งจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย นั่งฟังการบรรยาย การสนทนาพูดคุยของเหล่านักวิชาการพระพุทธศาสนาเถรวาทซึ่งไม่มีใครยอมใคร เพราะต่างก็เป็นผู้ชำนาญการด้วยกันทั้งนั้น ในช่วงการประชุมทุกท่านเอาจริงกับหัวข้อการประชุม แต่พอถึงเวลามีการแสดงทางวัฒนธรรมจากวิทยาลัยนาฏศิลป์ ทุกท่านก็หันหน้าเข้าหากันพูดคุยอย่างเป็นกันเอง
อนุสนธิจากมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยร่วมกับสมาคมมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาเถรวาทจึงจัดประชุมมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาเถรวาทนานาชาติขึ้น ในหัวข้อ "พุทธศาสน์ศึกษา คือชีวิตศึกษา(Buddhist Education, Life Education)" ระหว่างวันที่ 16 - 18 พฤษภาคม 2556 ณ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม
การศึกษาโดยอุดมการณ์ถือว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนามนุษยชาติ ที่สามารถเปลี่ยนมนุษย์จากเด็กผู้ไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ สู่ความเป็นผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะและมีความรับผิดชอบต่อตนเอง ครอบ ครัวและสังคมโดยรวม แต่ในปัจจุบันไม่ว่าในประเทศที่พัฒนาแล้วหรือประเทศที่กำลังพัฒนา กลับปรากฏว่าการศึกษาแทนที่จะเป็นสิ่งท้าทายความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์ แต่กลายเป็นเพียงรูปแบบการให้ความรู้ที่ไร้ชีวิตชีวาโดยผู้บริหารและผู้สอนต่างก็ทำหน้าที่ให้เสร็จไปในแต่ละวันเท่านั้น ทั้งที่คำว่า "การศึกษา" (Education) ในภาษาอังกฤษ หมายถึง "การนำ หรือดึงออกมา" ซึ่งหมายความว่า "การศึกษาเป็นกระบวนการที่จะดึงศักยภาพแห่งการเรียนรู้และเข้าใจของผู้เรียนออกมา กระตุ้นให้ผู้เรียนได้เรียนรู้และเข้าใจสภาวะที่แท้ จริงที่อยู่ภายในจิตใจของมนุษย์ เสมือนหนึ่งความหิวกระหายที่เป็นภาวะแท้จริงแห่งร่างกายมนุษย์"
การศึกษาในปัจจุบันมักจะถูกกำหนดโดยสังคมที่มุ่งความเจริญเติบโตทางอุตสาหกรรมเป็นสำคัญ โดยกำหนดให้การจัดการศึกษาจะต้องผลิตแรงงานสนองตอบต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ภายใต้แรงขับแห่งการสร้างกำไรสูงสุดในเชิงธุรกิจ ซึ่งแนวคิดดังกล่าวแตกต่างจากหลักคิดทางพระพุทธศาสนาเป็นอันมาก เพราะการศึกษาทางพระพุทธศาสนาจะเน้นเรื่องศักยภาพทางการปฏิบัติเป็นสำคัญ แม้กระนั้น ก็ยังวางหลักมัชฌิมาปฏิปทาไว้เพื่อสร้างภาวะสมดุลระหว่างร่างกายและจิตใจ โดยแสดงว่า จิตใจที่จะบรรลุเป้าหมายสูงสุดได้นั้นจะต้องมาจากร่างกายที่แข็งแรง และสังคมที่มีความมั่งคงทางเศรษฐกิจ ดังนั้น การปฏิบัติตามหลักพระพุทธศาสนาจึงต้องบูรณาการกับปัจจัยอื่นๆ ที่มีความจำเป็นต่อการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์เพื่อให้บรรลุวุฒิภาวะดังที่พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงไว้ เพราะเหตุดังกล่าว การศึกษาตามหลักพระพุทธศาสนาจึงมีเป้าหมายที่จะปลูกฝังคุณธรรมควบคู่กับความรู้ในศาสตร์ต่าง ๆ และนำผู้เรียนไปสู่ความเป็น "อารยะ" นอก เหนือจากที่เสริมสร้างทักษะทางสังคมและทักษะเชิงพาณิชยกรรม
ในวงการศึกษาได้ยอมรับว่า การที่จะแก้ไขปัญหาในสมัยศตวรรษที่ 21 ได้นั้น จะต้องพัฒนา "ทักษะศตวรรษที่ 21" (21st Century skills) ขึ้นมาให้ได้ ซึ่งทักษะศตวรรษที่ 21 นั้นประกอบด้วย
(1) วิชาแกน(Core subject) ได้แก่ อาร์ 3 (Reading, wRiting, aRithmetic) และวาระสำคัญแห่งศตวรรษที่ 21
(2) ทักษะด้านการเรียนรู้และนวัตกรรม ได้แก่ ซี (C) 4 คือ ความคิดเชิงวิพากษ์ การสื่อสาร การร่วมแรงร่วมใจ และการรู้จักคิดเชิงสร้างสรรค์ (critical thinking, communication, collaboration, creativity)
(3) ทักษะด้านสารสนเทศ ด้านสื่อและด้านเทคโนโลยี และ (4) ทักษะการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพ
เป็นที่น่าอัศจรรย์อย่างยิ่งที่หัวใจของพระพุทธศาสนา คือ "ไตรสิกขา" ได้แก่ ศีล สมาธิ และปัญญา สอดคล้องกับทฤษฎี 3R's ที่กล่าวข้างต้น คือ Regulating (ศีล) Reflecting (สมาธิ) และ Reasoning (ปัญญา) ยิ่งไปกว่านั้น พระพุทธศาสนายังสอนให้ดำเนินชีวิตเพื่อสันติสุข นอกเหนือจากความรู้เพื่อการดำรงชีวิตในสังคมที่ขับเคลื่อนโดยแรงผลักทางเศรษฐกิจดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน จึงอาจกล่าวได้ว่า พระพุทธศาสนาได้ให้คำตอบต่อทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 อย่างครบถ้วน
ระบบการศึกษาของพระพุทธศาสนา มี "ปัญญา" เป็น "มงกุฏ" หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งเป็น "สิ่งสูงสุด" ส่วนระดับอื่น ๆ ที่ต่ำลงมาก็จะต้องขับเคลื่อนสู่จุดหมายอันสูงส่งนี้เช่นเดียวกัน เพราะการบรรลุ "ปัญญา" ถือเป็นการจบการศึกษา ที่เรียกว่า "อเสกขา" ในความหมายที่แท้จริง ตามหลักพระพุทธศาสนา ดังที่พระพุทธองค์ได้ทรงประกาศในวันแห่งการตรัสรู้ว่า "จักขุง อุทปาทิ ญาณัง อุทปาทิ ปัญญา อุทปาทิ วิชชา อุทปาทิ อาโลโก อุทปาทิ (จักษุได้เกิดขึ้นแล้ว ญาณได้เกิดขึ้นแล้ว ปัญญาได้เกิดขึ้นแล้ว วิชาได้เกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างได้เกิดขึ้นแล้ว(แก่เรา)"
เพื่อร่วมเฉลิมฉลองวโรกาสอันเป็นมงคลแห่งพระชนมพรรษา 100 ชันษาของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ในวันที่ 3 ตุลาคม 2556 มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยร่วมกับสมาคมมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาเถรวาท จึงเห็นเป็นการสมควรจัดการประชุมมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาเถรวาทนานาชาติ ครั้งที่ 3 ขึ้น ภายใต้หัวข้อหลัก คือ "พุทธศาสน์ศึกษา คือชีวิตศึกษา (Buddhist Education, Life Education)" ทั้งนี้เพื่อร่วมมือกันแสวงหาแนวทางแก้ปัญหาในการจัดการศึกษาเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการศึกษาพระพุทธศาสนา คือการศึกษาชีวิตดังกล่าว
ภายใต้หัวข้อหลัก"พุทธศาสน์ศึกษา คือชีวิตศึกษา" (Buddhist Education, Life Education) ได้จัดให้มีการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ (Workshop) 5 กลุ่ม โดยมีหัวข้อดังนี้
(1) การจัดทำหลักสูตรมาตรฐานสาขาวิชาพุทธศาสน์ศึกษา (Making Standard Buddhist Curriculum)
(2) การสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพในการสอนพระพุทธศาสนา (Effective Communication in Teaching Buddhism)
(3) การจัดทำหลักสูตรการสอนสมาธิในพระพุทธศาสนา (Making Syllabi in Buddhist Meditation)
(4) พระพุทธศาสนา กับประชาคมอาเซียน (Buddhism and ASEAN Community) และ
(5) ศึกษาพระไตรปิฎกภาษาบาลีอดีตและปัจจุบัน (Pali Tipitaka Studies Then and Now) (อภิปรายเป็นภาษาบาลี)
ในปี พ.ศ. 2557 ประชาชาติอาเซียน 10 ประเทศจะรวมกันเป็นหนึ่งประชาคม ภายใต้เสาหลัก 3 ประการคือ (1) เสาหลักด้านการเมืองและความมั่นคง (ASEAN Political-Security Community--APSC) (2) เสาหลักด้านเศรษฐกิจ (ASEAN Economic Community--AEC) (3) เสาหลักด้านสังคมและวัฒนธรรม (ASEAN Socio-Cultural Community--ASCC) พระพุทธศาสนานิกายเถรวาท ถือว่าเป็นอัตตลักษณ์หนึ่งของประชาคมอาเซียน ดังนั้น สมาคมมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาเถรวาท (สมพถ) จึงดำเนินการให้สอดคล้องกับเสาหลักแห่งประชาคมอาเซียน ด้วยการจัดการศึกษาวิชาพุทธศาสน์ศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา ร่วมกับประเทศอื่นอีก 4 ประเทศ คือ บังคลาเทศ อินเดีย เนปาล และศรีลังกา จึงคาดหวังว่า การจัดประชุมครั้งนี้ จะเป็นก้าวแรกที่จะสร้างหลักสูตรในสาขาวิชาพุทธศาสน์ศึกษาในกลุ่มประเทศอาเซียน+สี่ (ASEAN+4) ซึ่งมิใช่จะเป็นเพียงการตอบโจทย์นโยบายอาเซียนเท่านั้น แต่จะเป็นการลงมือปฏิบัติเพื่อดึงประเทศอาเซียน+สี่ (ASEAN +4) ให้มาทำงานร่วมกันเพื่อให้การศึกษาพระพุทธศาสนาเดินไปในทิศทางเดียวกันกับ "ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21"
การจัดประชุมในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์คือ (1) เพื่อร่วมเฉลิมฉลองวโรกาสอันเป็นมงคลแห่งพระชันษา 100 ปี สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ในวันที่ 3 ตุลาคม 2556
(2) เพื่อประชุมใหญ่สามัญประจำวาระ 2 ปี ของสมาคมมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาเถรวาท ครั้งที่ 3
(3) เพื่อจัดทำหลักสูตรร่วมสาขาวิชาพุทธศาสน์ศึกษาสำหรับสถาบันสมาชิกสมาคมมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาเถรวาท
(4) เพื่อส่งเสริมการวิจัยด้านการศึกษาพระพุทธศาสนาในระดับอุดมศึกษาระหว่างนักวิชาการและคณาจารย์ใน มมร และ สพมถ
(5) เพื่อดำเนินนโยบายการแลกเปลี่ยนความรู้และข้อมูลข่าวสารระหว่าง มมร แล สมพถ กับสถาบันการศึกษาอื่น ๆ
(6) เพื่อขยายเครือข่ายทางวิชาการของ มมร และ สมพถ ไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เพื่อให้ มมร และ สมพถ เป็นที่ยอมรับของประชาคมโลก
(7) เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และประสบการณ์ระหว่างนักวิชาการและคณาจารย์ของ มมร และ สมพถ กับนักวิชาการและคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาระดับ อุดมศึกษาอื่น ๆ ที่มิได้เป็นสมาชิกของ สมาคมมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาเถรวาท (สมพถ )
ในการประชุมสมาคมมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาเถรวาทครั้งนี้มีพระสงฆ์และนักวิชาการด้านพระพุทธศาสนาเถรวาทจากประเทศต่างๆเข้าร่วมประชุมประมาณ 200 รูป/คน สาระสำคัญของการประชุมในครั้งนี้เพื่อจะได้ร่วมจัดทำหลักสูตรการศึกษาพระพุทธศาสนาให้เป็นหลักสูตรสากล และการศึกษาพระพุทธศาสนาคือการศึกษาชีวิต ในการประชุมครั้งต่อไปจะจัดที่ประเทศอินโดนีเซีย รายละเอียดเพิ่มเติมดูได้จาก www.atbu.mbu.ac.th
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
รายงาน
18/05/56