ลุมพินี ประเทศเนปาลสถานที่ประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะซึ่งต่อมาได้ตรัสรู้กลายเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบรมศาสดาของพระพุทธศาสนา สถานที่แห่งนั้นแม้จะไม่คึกคักเหมือนเช่นสังเวชนียสถานอื่นๆ เช่นพุทธคยา สารนาถ กุสินารา เพราะเหตุผลของการเดินทางอย่างหนึ่งที่จะต้องผ่านชายแดนอินเดีย เนปาลเข้าไป และอีกเหตุผลหนึ่งเป็นเรื่องทางการเมือง เรื่องของความมั่นคงภายใน บางทีอยู่กันดีๆก็มีการประท้วงเรียกร้องวุ่นวายไปหมด วันนั้นกำลังนมัสการลุมพินีได้ไม่นานก็มีเสียงเรียกให้ขึ้นรถกลับด้วยเหตุผลเดิมๆคือข่าวว่าจะมีการประท้วงที่ชายแดน ประท้วงเรื่องอะไรข่าวไม่ได้บอก
เช้าวันนั้นเดินเข้าลุมพินีตั้งแต่พระอาทิตย์โผล่ขึ้นขอบฟ้าเบื้องบุรพทิศ แสงสีทองแม้จะหม่นด้วยหมู่หมอก แต่ก็เป็นวันที่อากาศดี ถึงจะมีรถสามล้อคอยให้บริการด้วยอัตราราคาขาดตัวยี่สิบรูปี จะขึ้นตรงไหนลงตรงไหนก็ได้ในอัตราราคาเดียวกัน วันนั้นอยากเดินสัมผัสกับบรรยายกาศยามเช้าหมอกกำลังปกคลุม อากาศเย็นสบาย จึงเดินเล่นๆไปตามถนนไม่ได้รีบร้อนอะไร ผ่านเหล่าบรรดาขอทานทั้งหลายก็ให้ทานตามกำลังศรัทธาสิบรูปีเป็นเกณฑ์ โดยไม่ได้เลือกว่าจะเป็นใครเพราะตั้งใจไว้ในวันนั้นว่าหากมีคนขอก็จะให้ทันที วันนี้อารมณ์อยากให้ทานแก่คนขอ ซึ่งไม่ต้องหาเหตุผลว่าพวกเขาจนจริงหรือไม่ ที่ขอทานเพราะไม่มีจะกินหรือขอเพราะเป็นอาชีพ ตั้งใจไว้อย่างเดียวว่ามีโอกาสมาเยี่ยมบ้านเกิดของพระบรมศาสดาทั้งทีควรหาโอกาสทำบุญให้ทาน ให้เพื่อชำระความตระหนี่ภายในจิตใจตัวเอง ให้โดยไม่ได้หวังอะไรตอบแทบ เงินหมดก็เลิกซึ่งวันนั้นน่าจะเหลืออยู่ประมาณห้าร้อยรูปี ยังให้ได้อีกพอสมควร
เหล่าขอทานที่ลุมพินีค่อนข้างจะมีลักษณะพิเศษคือเมื่อได้แล้วก็ไป จะไปขอคนอื่นหรือหากขอแล้วเขาไม่ให้ก็จะไม่เดินตาม แต่จะไปขอจากคนอื่นแทน หรือบางคนยืนอยู่กับที่ แสดงอาการให้เห็นว่ากำลังขอเงินจากผู้ใจบุญ แต่จะไม่เซ้าซี้เหมือนที่อินเดีย และอีกอย่างขอทานที่นี้มีไม่มาก เจ้าหน้าที่เขาคอยไล่ไม่ให้มารบกวนนักจาริกแสวงบุญ
เมื่อเข้าแถวเรียงหนึ่งในวัดมายาเทวีเพื่อสักการะสถานที่ประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ บางคนปิดทอง บางคนอธิษฐานอะไรพึมพรำ สังเกตเห็นว่ามีสุภาพสตรีมากกว่าสุภาพบุรุษ ผู้นำเที่ยวอธิบายให้ฟังสั้นๆว่า “ทั้งคนอินเดียและเนปาลมีความเชื่อว่าหากใครมาตั้งจิตอธิษฐานในสถานที่แห่งนี้และขอบุตร มักจะได้ลูกชายที่มีปัญญาดี และประสบความสำเร็จสูงสุดในชีวิต เหมือนเจ้าชายสิทธัตถะ” ความเชื่อในลักษณะนี้คงพิสูจน์ได้ยาก แต่เมื่อมีศรัทธาก็ไม่ควรประมาทศรัทธาของแต่ละคน
ในช่วงที่กำลังเดินไปยังแท่นดินอันเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงสถานที่ประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะนั้น ในใจได้ท่องคาถาที่เรียกว่า “อาสภิวาจา” ไว้ตลอดเวลา ซึ่งเป็นวาจาที่เจ้าชายสิทธัตถะทรงกล่าวในวันประสูติเป็นภาษาบาลีว่า “อคฺโคหมสฺมิ โลกสฺส เชฏฺโฐหมสฺมิ โลกสฺส เสฏฺโฐหมสฺมิ โลกสฺส อยมนฺติมา เม ชาติ นตฺถิทานิ ปุนพฺภโวติ อยเมตฺถ ธมฺมตา” แปลเป็นภาษาไทยความว่า “เราเป็นยอดของโลก เราเป็นใหญ่แห่งโลก เราเป็นผู้ประเสริฐแห่งโลก ความเกิดของเรานี้เป็นครั้งที่สุด บัดนี้ความเกิดอีกมิได้มีดังนี้ ข้อนี้เป็นธรรมดาในเรื่องนี้”
เนื้อความในข้อนี้ พระไตรปิฎกฉบับภาษาไทยแสดงไว้โดยละเอียดว่าเป็นถ้อยคำที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่ภิกษุทั้งหลาย ดังที่แสดงไว้ในมหาปทานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค (10/26/14) ความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมดามีอยู่ดังนี้ พระโพธิสัตว์ผู้ประสูติแล้วได้ครู่หนึ่ง ประทับยืนด้วยพระบาททั้งสองอันสม่ำเสมอ ผินพระพักตร์ทางด้านทิศอุดร เสด็จดำเนินไปเจ็ดก้าว และเมื่อฝูงเทพดากั้นเศวตฉัตรตามเสด็จอยู่ ทรงเหลียวแลดูทั่วทุกทิศ เปล่งวาจาว่า เราเป็นยอดของโลก เราเป็นใหญ่แห่งโลกเราเป็นผู้ประเสริฐแห่งโลก ความเกิดของเรานี้เป็นครั้งที่สุด บัดนี้ความเกิดอีกมิได้มี ดังนี้ ข้อนี้เป็นธรรมดาในเรื่องนี้” ความเป็นธรรมดาของพระโพธิสัตว์ยากที่ปัญญาของคนธรรมดาจะเข้าใจได้
ออกจากบริเวณวัดคณะจาริกแสวงบุญชุมนุมสวดมนต์ข้างๆต้นโพธิ์ เหลือไปเห็นนักบวชกลุ่มหนึ่งสังเกตว่ามีทั้งพระภิกษุ ฤาษี ลามะนั่งบริกรรมรอบๆต้นโพธิ์ ก่อนพิธีจะเริ่มขึ้นจึงเตร่เข้าไปบริจาครูปละสิบรูปีและขอถ่ายภาพเก็บไว้เป็นที่ระลึก ซึ่งทุกรูปต่างก็ยิ้มให้ตั้งท่าให้ถ่ายภาพอย่างอารมณ์ดี บางทีแม้เงินจะซื้ออะไรไม่ได้ทุกอย่างแต่ก็สามารถสร้างสัมพันธภาพในช่วงระยะเวลาสั้นๆได้เหมือนกัน
นักบวชคนหนึ่งกำลังนั่งบริกรรมลูกประคำจึงแวะเข้าไปชวนคุย ซึ่งก็พูดกันไม่รู้เรื่อง แต่ก็ไม่เป็นไรใช้ภาษากายและภาษาใจคุยกันได้ ผ่านไปสักพักได้ยินเสียงหัวเราะจากนักบวชท่านนั้น คนอื่นๆต่างก็หันมามอง นักบวชทั้งสองหัวเราะอะไรกันทั้งๆ ที่พูดกันคนละภาษา ก่อนจากกันจึงขอลูกประคำเป็นที่ระลึก นักบวชท่านนั้นยื่นให้แต่บอกเป็นภาษาอังกฤษกระท่อนกระแท่นว่า “วันฮันเดรสรูปี” แม้จะรู้ว่าราคาแพงเกินไปแต่ตั้งใจไว้แล้วว่าแม้จะถูกหลอกในดินแดนพุทธภูมิก็ไม่เป็นไร มาปีละครั้งถูกหลอกครั้งละปีจะเป็นไรไป ชีวิตบางครั้งก็ยอมให้คนอื่นหลอกบ้าง ถึงรู้ว่าเขาหลอกแต่ก็เต็มใจให้หลอก
ได้เวลาสวดมนต์ร่วมกับคณะเดินทางจึงนั่งสวดมนต์โดยมีลูกประคำจากนักบวชท่านนั้นอยู่ในมือแต่ยังไม่จ่ายเงิน พิธีเสร็จจึงเดินไปจ่ายเงินค่าลูกประคำของนักบวชท่านนั้นให้ไปหนึ่งร้อยแต่ขออีกลูกในมือเขาก็ยื่นให้พลางอวยพรอย่างอารมณ์ดี วันนี้มาลุมพินีทั้งทีอย่างน้อยก็ได้ลูกประคำจากดินแดนประสูติของพระพุทธเจ้าติดมือมาสองอันในราคาหนึ่งร้อยรูปี
ที่อาณาบริเวณทางเข้าลุมพินีมีร้านค้าขายของที่ระลึกหลายร้าย เห็นว่ายังพอมีเวลา เพราะขากลับนั่งรถสามล้อกลับจึงมาถึงก่อนท่านอื่นๆ จึงแวะเข้าดูถามนั่นถามนี่ ในที่สุดก็ตัดสินใจถามราคาลูกประคำซึ่งมีราคาต่างกันมากบางอันราคาห้าพันรูปี ลดลงมาจนถึงราคาต่ำสุดสิบรูปี ตัดสินใจซื้อลูกประคำเป็นที่ระลึกได้หลายอันราคาไม่แพงมากนัก
รถเคลื่อนออกจากลุมพินีทิ้งความทรงจำไว้เบื้องหลัง การที่มีโอกาสได้มานมัสการยังสถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้านั้นถือว่าเป็นความฝันอันยิ่งใหญ่ของชาวพุทธ เป็นความสุขที่หาคำบรรยายไม่ได้ เป็นเรื่องของศรัทธาที่ไม่ต้องการคำอธิบาย ใขณะที่รถกำลังผ่านทุ่งนาหมู่บ้านในชนบทของเนปาล เพื่อนพระภิกษุที่นั่งข้างๆยกลูกประคำขึ้นมานั่งบริกรรม ประคำอันนั้นเหมือนกันทุกประการกับที่ซื้อมาจากนักบวชท่านนั้น จึงถามว่าซื้อมาในราคาเท่าไหร่ ภิกษุรูปนั้นบอกว่าผมซื้อมาจากนักบวชที่ใส่หมวกราคายี่สิบรูปี ลูกประคำที่กำลังจะนำออกมาบริกรรมจึงสงบนิ่งอยู่ในย่ามตามเดิม ไม่กล้านำออกมาใช้เกรงว่าพระภิกษุรูปนั้นจะถามราคา
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
09/05/56