ตามปรกติจะพยายามทำความสะอาดกุฏิที่พักทุกวัน เช่นกวาดเก็บเช็ดถูพื้น เก็บหนังสือเข้าตู้ เพราะเวลาอ่านหนังสือ จะมีลักษณะพิเศษคือเล่มไหนอยู่ใกล้มือจะหยิบอ่านก่อน พออ่านเสร็จก็จะวางไว้ไม่ค่อยเป็นที่เป็นทาง อยากวางตรงไหนก็วาง บางทีวันหนึ่งคิดได้หลายเรื่องก็อ่านหลายเล่ม กุฏิที่พักจึงเต็มไปด้วยหนังสือเก่าๆ ที่ไม่ค่อยได้เก็บเข้าตู้ ห้องพักจึงดูไม่ค่อยจะมีระเบียบนัก สมบัติส่วนมากยังคงเป็นหนังสือ บางเล่มจำไม่ได้ซื้อมาเป็นรอบที่สองแล้ว พอเปิดอ่านได้สักพักจึงรู้ว่าเคยอ่านแล้ว หนังสือเดี๋ยวนี้บางเล่มเขาห้ามเปิดอ่านก่อนซื้อ
หลายคนคงมีลักษณะเช่นนี้ สิ่งของบางอย่างแม้จะไม่ได้ใช้แล้วแต่ก็ยังเก็บรักษาไว้ ไม่รู้จะเก็บไว้ทำไม ครั้นจะให้คนอื่นสิ่งนั้นก็เก่าเกินไป ครั้นจะทิ้งก็ยังเสียดาย คิดถึงคำพูดของหลวงพ่อฤษีลิงแดงที่เขียนติดป้ายสังกะสีข้างๆกุูฎีิไว้ตอนหนึ่งว่า “จะทิ้งก็เสียดาย จะเก็บไว้ก็ไม่มีที่ ชีวิตนี้วุ่นวายจริง” สิ่งของเครื่องใช้ อาคารสถานที่ต้องหมั่นทำความสะอาด จึงจะน่าอยู่น่าอาศัย
ในชีวิตมนุษย์ยังมีความสะอาดภายในร่างกายมนุษย์ที่จะต้องคอยระมัดระวังไว้เสมอ เพราะหากเผลเมื่อไหร่สนิมจะเข้าเกาะและกัดกินได้ทุกเวลา สนิมเหล็กพอแก้ไขได้ แต่สนิมใจแก้ไขยาก ความสะอาดภายในต้องชำระและทำทุกเวลานาที เพราะหากเผลอเมื่อไหร่มีโอกาสพลาดพลั้งเมื่อนั้น
เรื่องของความไม่สะอาดและความสะอาดพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้แสดงแก่นายจุนทกัมมารบุตร ดังที่มีปรากฏในจุนทสูตร อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต (24/165/275) มีเนื้อหาโดยสรุปว่า “ครั้งหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ส่วนมะม่วงของนายจุนทกัมมารบุตร ใกล้เมืองปาวา นายจุนทกัมมารบุตรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะนายจุนทกัมมารบุตรว่า “ดูกรจุนทะ ท่านชอบใจความสะอาดของใครหนอ”
นายจุนทกัมมารบุตรกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พราหมณ์ชาวปัจฉาภูมิ ผู้ถือเต้าน้ำ สวมพวงมาลัยสาหร่าย บำเรอไฟลงน้ำเป็นวัตร ย่อมบัญญัติความสะอาดไว้ ข้าพระองค์ชอบใจความสะอาดของพราหมณ์พวกนั้น
พวกพราหมณ์ชาวปัจฉาภูมิ ผู้ถือเต้าน้ำ สวมพวงมาลัยสาหร่าย บำเรอไฟ ลงน้ำเป็นวัตร ย่อมชักชวนสาวกทั้งหลายอย่างนี้ว่า มาเถิด บุรุษผู้เจริญ ท่านลุกขึ้นจากที่นอนแต่เช้าตรู่พึงจับต้องแผ่นดิน ถ้าไม่จับต้องแผ่นดิน พึงจับต้องโคมัยสด ถ้าไม่จับต้องโคมัยสดพึงจับต้องหญ้าเขียวสด ถ้าไม่จับต้องหญ้าเขียวสด พึงบำเรอไฟ ถ้าไม่บำเรอไฟพึงประนมอัญชลีนอบน้อมพระอาทิตย์ ถ้าไม่ประนมอัญชลีนอบน้อมพระอาทิตย์ พึงลงน้ำสามครั้ง ทั้งเวลาเย็นเวลาเช้า ดังนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกพราหมณ์ชาวปัจฉาภูมิผู้ถือเต้าน้ำ สวมพวงมาลัยสาหร่าย บำเรอไฟ ลงน้ำเป็นวัตรย่อมบัญญัติความสะอาดอย่างนี้แล ข้าพระองค์ชอบใจความสะอาดของพราหมณ์พวกนั้น”
ตื่นเช้าไหว้พระอาทิตย์ อาบน้ำวันละสามครั้งอย่างนี้หากมองดูภายนอกน่าจะเป็นผู้สะอาด แต่ พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่า ”ดูกรจุนทะ พวกพราหมณ์ชาวปัจฉาภูมิ ผู้ถือเต้าน้ำ สวมพวงมาลัยสาหร่าย บำเรอไฟ ลงน้ำเป็นวัตร ย่อมบัญญัติความสะอาดโดยประการอื่นส่วนความสะอาดในวินัยของพระอริยะ ย่อมมีโดยประการอื่น
นายจุนทะจึงทูลถามต่อไปว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ความสะอาดในวินัยของพระอริยะย่อมมีอย่างไรเล่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส ความสะอาดในวินัยของพระอริยะมีอยู่ด้วยประการใด ขอพระผู้มีพระภาคโปรดแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์ด้วยประการนั้นเถิด”
พระพุทธเจ้าจึงแสดงว่า “ดูกรจุนทะ ความสะอาดทางกายมีสามอย่าง ความสะอาดทางวาจามีสี่อย่าง ความสะอาดทางใจมีสามอย่าง
จากนั้นพระพุทธองค์จึงทรงอรรถาธิบายขยายความว่า "ดูกรจุนทะ ความสะอาดทางกายมีสามอย่างคือ(1)บุคคลบางคนในโลกนี้ ละการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑะ วางศาตรา มีความละอาย มีความเอ็นดู มีความกรุณาหวังประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งปวงอยู่(2) ละการลักทรัพย์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ ไม่ถือเอาวัตถุเป็นอุปกรณ์แก่ทรัพย์เครื่องปลื้มใจแห่งผู้อื่นของบุคคลอื่น ซึ่งอยู่ในบ้านหรืออยู่ในป่าที่เจ้าของมิได้ให้ ด้วยจิตเป็นขโมย (3) ละการประพฤติผิดในกาม เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม ไม่ถึงความประพฤติล่วงในสตรีที่มารดารักษา บิดารักษาพี่ชายน้องชายรักษา พี่สาวน้องสาวรักษา ญาติรักษา ธรรมรักษา มีสามี มีอาชญาโดยรอบ โดยที่สุดแม้สตรีที่บุรุษคล้องแล้วด้วยพวงมาลัย
“ดูกรจุนทะ ความสะอาดทางวาจามีสี่อย่างคือ(1)บุคคลบางคนในโลกนี้ ละการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดเท็จ อยู่ในสภา ในบริษัท ในท่ามกลางญาติ ในท่ามกลางเสนา หรือในท่ามกลางราชสกุล ถูกผู้อื่นนำไปเป็นพยานซักถามว่า มาเถิดบุรุษผู้เจริญ ท่านรู้สิ่งใดจงพูดสิ่งนั้น บุรุษนั้นเมื่อไม่รู้ก็บอกว่าไม่รู้ หรือเมื่อรู้ก็บอกว่ารู้ เมื่อไม่เห็นก็บอกว่าไม่เห็น หรือเมื่อเห็นก็บอกว่าเห็น ไม่เป็นผู้กล่าวเท็จทั้งรู้ เพราะเหตุแห่งตน เพราะเหตุแห่งผู้อื่นบ้าง หรือเพราะเหตุเห็นแก่อามิสเล็กน้อย (2) ละคำส่อเสียด เว้นขาดจากคำส่อเสียด ฟังข้างนี้แล้วไปบอกข้างโน้น เพื่อทำลายคนหมู่นี้ หรือฟังจากข้างโน้นแล้วไม่มาบอกข้างนี้เพื่อทำลายคนหมู่โน้น สมานคนที่แตกร้าวกันแล้วบ้าง ส่งเสริมคนที่พร้อมเพรียงกันแล้วบ้าง ชอบคนผู้พร้อมเพรียงกัน ยินดีคนผู้พร้อมเพรียงกันเพลิดเพลินในคนผู้พร้อมเพรียงกัน กล่าววาจาที่ทำให้คนพร้อมเพรียงกัน (3) ละคำหยาบ เว้นขาดจากคำหยาบ กล่าววาจาที่ไม่มีโทษ เพราะหู ชวนให้รักจับใจ เป็นของชาวเมือง คนส่วนมากรักใคร่ พอใจ (4) ละคำเพ้อเจ้อ เว้นขาดจากคำเพ้อเจ้อ พูดถูกกาล พูดแต่คำที่เป็นจริง พูดอิงอรรถ พูดอิงธรรม พูดอิงวินัยพูดแต่คำมีหลักฐาน มีที่อ้างอิง มีที่กำหนด ประกอบด้วยประโยชน์ โดยกาลอันควร
“ดูกรจุนทะ ความสะอาดทางใจมีสามอย่างคือ(1)บุคคลบางคนในโลกนี้ ไม่อยากได้ของผู้อื่น คือ ไม่อยากได้วัตถุเป็นอุปกรณ์แก่ทรัพย์เครื่องปลื้มใจแห่งผู้อื่นของบุคคลอื่นว่า ไฉนหนอ วัตถุที่เป็นเครื่องอุปกรณ์แก่ทรัพย์เครื่องปลื้ม แห่งผู้อื่นของบุคคลอื่นพึงเป็นของเรา ดังนี้ (2)ไม่มีจิตปองร้าย คือ ไม่มีความดำริในใจอันชั่วร้ายว่า สัตว์เหล่านี้จงเป็นผู้ไม่มีเวร ไม่มีความมุ่งร้ายกัน ไม่มีทุกข์ มีสุข รักษาตนเถิดดังนี้ (3) มีความเห็นชอบ คือ มีความเห็นไม่วิปริตว่า ทานที่บุคคลให้แล้วมีผล การเซ่นสรวงมีผล การบูชามีผล ผลวิบากของกรรมที่บุคคลทำดีทำชั่วมีอยู่ โลกนี้มีโลกหน้ามี มารดามี บิดามี สัตว์ผู้เป็นอุปปาติกะมี สมณพราหมณ์ผู้ดำเนินไปชอบ ผู้ปฏิบัติชอบ ผู้ทำโลกนี้และโลกหน้าให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองแล้วสอนผู้อื่นให้รู้ตาม มีอยู่ ดังนี้
ธรรมทั้งสิบประการเรียกว่ากุศลกรรมบถ บุคคลผู้ประพฤติตนทั้งกาย วาจา ใจประกอบด้วยธรรมทั้งสิบประการนั้นชื่อว่าเป็นผู้สะอาดกาย สะอาดวาจาและสะอาดใจ พระพุทธเจ้าทรงสรุปไว้ในตอนท้ายของพระสูตรว่า “ดูกรจุนทะ กุศลกรรมบถสิบประการนี้เป็นความสะอาดด้วย เป็นตัวทำให้สะอาดด้วย ก็เพราะเหตุแห่งการประกอบด้วยกุศลกรรมบถสิบประการนี้ เทวดาทั้งหลายย่อมปรากฏ มนุษย์ทั้งหลายย่อมปรากฏ หรือว่าสุคติอย่างใดอย่างหนึ่งแม้อื่นจึงมี
เมื่อได้เก็บกวาดสถานที่ ทิ้งสิ่งที่ควรทิ้ง เก็บสิ่งที่ควรเก็บ ห้องก็เริ่มโล่งมีที่ว่างขึ้นอีกมาก หนังสือก็นำเข้าห้องสมุด บริบทภายนอกมองดูสะอาดตา พาสบายใจ ส่วนสิ่งที่อยู่ภายในกาย วาจาและใจก็ต้องคอยทำความสะอาดอยู่ตลอดเวลา กาย วาจาพอรักษาได้ไม่ยากนัก แต่สิ่งที่อยู่ภายในจิตใจทำความสะอาดได้ยากแท้
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
13/03/56