มนุษย์แต่ละคนมีความสามารถไม่เท่ากัน แม้จะมีระดับการศึกษาเท่ากัน ศึกษามาจากสำนักเดียวกัน แต่เวลาทำงานจะมีความถนัดไม่เท่ากัน มีคำพูดในภาษาอังกฤษที่มักจะได้ยินบ่อยๆที่ใช้ในเรื่องของการเลือกคนให้เหมาะกับงานว่า “ Put the right man on the right job” หมายถึงเลือกคนให้เหมาะกับงาน การเลือกคนให้ทำงานจึงเป็นการศิลปะของการบริหารงานอย่างหนึ่ง เมื่อเริ่มต้นได้ดี เริ่มต้นได้ถูกต้อง งานนั้นก็จะเดินไปสู่เป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในพระพุทธศาสนามีคำสอนเกี่ยวกับการเลือกคนให้เหมาะกับงานดังที่แสดงไว้ใน มหาสารชาดก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก (27/92/29) ความว่า “เมื่อสงครามเกิดขึ้นย่อมต้องการคนกล้าหาญ เมื่อเกิดข่าวตื่นเต้นขึ้น ย่อมต้องการคนหนักแน่น เมื่อข้าวและน้ำมีบริบูรณ์ย่อมต้องการคนที่รัก เมื่อข้อความลึกซึ้งเกิดขึ้นย่อมต้องการบัณฑิต”
ในอรรถกถามหาสารชาดกเล่มที่ 56 หน้า 331-338 พระบรมศาสดาได้นำอดีตนิทานมาสาธยายมีเนื้อความว่า “ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์เรียนจบศิลปศาสตร์ทุกอย่างแล้ว ได้เป็นอำมาตย์ของพระเจ้าพรหมทัตพระองค์นั้นแหละ อยู่มาวันหนึ่ง พระราชาเสด็จไปสู่พระอุทยาน ด้วยบริวารเป็นอันมาก เสด็จเที่ยวไปสู่ละแวกป่า แล้วทรงพระประสงค์จะทรงอุทกกีฬา เสด็จลงสู่สระโบกขรณีอันเป็นมงคล รับสั่งเรียกแม้นางใน พวกสตรีต่างก็เปลื้องอาภรณ์มีเครื่องประดับศีรษะและประดับคอเป็นต้น ใส่ในผ้าห่มวางไว้บนหลังหีบ มอบให้ทาสีทั้งหลายรับไว้ แล้วพากันลงสู่โบกขรณี
ครั้งนั้นนางลิงอยู่ในสวนตัวหนึ่งนั่งเจ่าเหนือกิ่งไม้ เห็นพระเทวีทรงเปลื้องเครื่องประดับทรงใส่ไว้ในผ้าทรงสพัก แล้วทรงวางไว้ นางลิงนึกอยากจะแต่งสร้อยมุกดาหารของพระนาง นั่งจ้องดูความเผลอเลอของนางทาสีอยู่ ฝ่ายนางทาสีผู้เฝ้า ก็มัวนั่งมองดูในที่นั้นอยู่ เลยง่วงหลับไป นางลิงรู้ความที่นางทาสีประมาท โดดลงโดยรวดเร็วปานลมพัด สอดสวมสร้อยมุกดาหารใหญ่ที่คอ แล้วโดดขึ้นรวดเร็วปานลมเหมือนกัน กลับนั่งเหนือกิ่งไม้ กลัวนางลิงตัวอื่นๆ จะเห็น จึงซุกไว้ที่โพรงไม้แห่งหนึ่ง แสร้งทำเป็นเหมือนสงบเสงี่ยม นั่งเฝ้าเครื่องประดับนั้นไว้
ฝ่ายนางทาสีนั้นเล่า ตื่นขึ้นไม่เห็นมุกดาหาร ก็ตัวสั่น ครั้นไม่เห็นอุบายอื่น ก็ต้องตะโกนว่า คนแย่งมุกดาหารของพระเทวีหนีไปแล้ว พวกมนุษย์ที่เฝ้าแหน ประชุมกันตามตำแหน่งนั้นๆ ครั้นได้ยินคำของนาง ก็กราบทูลแด่พระราชา พระราชารับสั่งว่า พวกท่านจงจับโจรให้ได้ พวกราชบุรุษทั้งหลายก็พากันออกจากพระราชอุทยาน กล่าวว่า พวกท่านจงจับโจร จงจับโจร พากันค้นหาทางโน้น ทางนี้
ขณะนั้นบุรุษผู้กระทำพลีกรรมชาวชนบทคนหนึ่ง ได้ยินเสียงนั้น ก็หวั่นหวาดวิ่งหนี พวกราชบุรุษเห็นเข้าก็กวดตามไปว่า คนนี้เป็นโจร จับเขาได้ โบยพลางตวาดพลาง เฮ้ย ไอ้โจรชั่ว มึงกล้าลักเครื่องประดับชื่อมหาสารอย่างนี้เทียวนะ เขาคิดว่า ถ้าเราจักบอกว่า ฉันไม่ได้เอาไป วันนี้คงไม่รอดชีวิต พวกราชบุรุษคงโบยเราเรื่อยไปจนถึงตาย จำเราต้องรับ เขาจึงบอกว่า นายขอรับกระผมนำไปเอง ทีนั้น พวกราชบุรุษก็พากันมัดเขา นำมาสู่สำนักพระราชา
ฝ่ายพระราชาตรัสถามว่า เครื่องประดับมีค่ามาก เจ้าลักไปหรือ กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ เป็นความจริง พระเจ้าข้า รับสั่งถามว่า บัดนี้ เอาไปไว้ที่ไหน บุรุษนั้นกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ ขึ้นชื่อว่าสิ่งที่มีค่ามาก แม้เตียงตั่ง ข้าพระองค์ก็ไม่เคยเห็น แต่ท่านเศรษฐีบอกให้ข้าพระองค์ลักเครื่องประดับมีค่ามากนั้น ข้าพระองค์จึงลักเอาไป แล้วมอบให้ท่านไป ท่านเศรษฐีนั่นแหละถึงจะรู้ พระราชารับสั่งให้หาท่านเศรษฐีมาเฝ้า รับสั่งถามว่า เครื่องประดับมีค่ามาก ท่านรับเอาจากมือคนนี้ไว้หรือ เศรษฐีกราบทูลว่า พระเจ้าข้า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ รับสั่งถามว่า ท่านเอาไว้ที่ไหนเล่า กราบทูลว่า ให้ท่านปุโรหิตไปแล้ว พระเจ้าข้า รับสั่งให้เรียกปุโรหิตแม้นั้นมาเฝ้า รับสั่งเช่นนั้นแหละ ถึงท่านปุโรหิตเองก็รับ แล้วกราบทูลว่า ข้าพระองค์ให้แก่คนธรรพ์ไปแล้ว รับสั่งให้เรียกคนธรรพ์มาเฝ้า รับสั่งถามว่า เจ้ารับเอาเครื่องประดับมีค่ามากไปจากมือปุโรหิต หรือ กราบทูลว่า พระเจ้าข้า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ รับสั่งถามว่า เอาไว้ที่ไหน กราบทูลว่า ข้าพระองค์ให้แก่นางวัณณทาสีไปแล้ว ด้วยอำนาจแห่งกิเลส รับสั่งให้เรียกนางวัณณทาสีมา ตรัสถามนางกราบทูลว่า กระหม่อมฉันมิได้รับไว้
เมื่อสอบถามคนทั้งห้ากว่าจะทั่ว ดวงอาทิตย์ก็อัสดง พระราชารับสั่งว่า บัดนี้ มืดค่ำเสียแล้ว เราจักต้องรู้เรื่องในวันพรุ่งนี้ มอบคนทั้งห้าเหล่านั้นแก่พวกอำมาตย์ แล้วเสด็จเข้าสู่พระนคร
พระโพธิสัตว์ดำริว่า เครื่องประดับนี้หายในวงภายในส่วนคฤหบดีนี้เป็นคนภายนอก การเฝ้าประตูเล่าก็เข้มแข็ง เหตุนั้น แม้จะเป็นคนอยู่ข้างในลักเครื่องประดับนั้น ก็ไม่อาจหนีรอด เมื่อเป็นเช่นนี้ ลู่ทางที่คนข้างนอกจะลักก็ดี ที่คนรับใช้ในสวนจักลักก็ดี ไม่มีวี่แววเลย คำที่ทุคคตมนุษย์นี้กล่าวว่า ข้าพระองค์ให้เศรษฐีไปแล้ว ต้องเป็นคำกล่าวเพื่อเปลื้องตน ถึงที่เศรษฐีกล่าวว่าให้แก่ปุโรหิตเล่า จักเป็นอันกล่าวเพราะคิดว่า พวกเราต้องร่วมกันสะสาง แม้ที่ท่านปุโรหิตกล่าวว่า ให้คนธรรพ์ไปแล้ว ก็คงเป็นอันกล่าวเพราะคิดว่า พวกเราต้องอาศัยคนธรรพ์ จักพากันอยู่สบายในเรือนจำ ที่คนธรรพ์พูดว่าให้นางวัณณทาสีไปแล้ว ก็จักเป็นอันกล่าวเพราะคิดว่า พวกเราจักไม่ต้องนึกกระสันอยู่ แม้ทั้งห้าคนเหล่านี้คงไม่ใช่โจรทั้งนั้น
ในอุทยานมีลิงเป็นอันมาก อันเครื่องประดับคงตกอยู่ในมือนางลิงตัวหนึ่งเป็นแน่ พระโพธิสัตว์จึงเข้าเฝ้าพระราชากราบทูลว่า ข้าแต่มหาบพิตร ขอได้โปรดทรงพระกรุณามอบโจรเหล่านั้นแก่ข้าพระองค์ ข้าพระองค์จะชำระเรื่องนั้นเอง พระเจ้าข้า
พระราชารับสั่งว่า ดีแล้ว พ่อบัณฑิต เธอจงชำระเถิด แล้วทรงมอบคนเหล่านั้นแก่พระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์ให้เรียกคนใช้ผู้ชายของตนมา ให้คนทั้งห้าไปอยู่ในที่แห่งเดียวกันทั้งหมด กระทำการควบคุมโดยสงบ สั่งให้แอบฟังว่า พวกนั้นพูดคำใดกันบ้าง เจ้าทั้งหลายจงบอกคำนั้นแก่เรา แล้วหลีกไป พวกคนเหล่านั้นก็ได้กระทำอย่างนั้นแล้ว
ครั้นถึงเวลาที่พวกมนุษย์สนทนากัน ท่านเศรษฐีกล่าวกะคฤหบดีนั้นว่า เฮ้ย ไอ้คฤหบดีชั่ว มึงเคยพบกู หรือกูเคยพบมึงในครั้งไหน มึงให้เครื่องประดับกูเมื่อไร คฤหบดีกล่าวว่า ข้าแต่ท่านมหาเศรษฐีผู้เป็นเจ้านาย ผมไม่รู้จักสิ่งที่ชื่อว่า มหาสาร จะเป็นเตียงตั่งที่มีเท้าทำด้วยแก่นไม้ ก็ไม่รู้จัก ที่ได้พูดอย่างนั้น เพราะคิดว่า จักอาศัยท่านได้ความรอดพ้น โปรดอย่าโกรธผมเลย ขอรับ
แม้ปุโรหิตก็พูดกับท่านเศรษฐีว่า ท่านให้เครื่องประดับที่คฤหบดีนี้มิได้ให้แก่ท่านเลย แก่เราได้อย่างไรกัน ท่านเศรษฐีกล่าวว่า ข้าพเจ้ากล่าวไป เพราะคิดว่า เราทั้งสองเป็นคนใหญ่คนโต ในเวลาที่เราไปร่วมพูดจากัน การงานจักสำเร็จไปโดยเร็ว
ฝ่ายคนธรรพ์ก็กล่าวกะปุโรหิตว่า ดูก่อนพราหมณ์ ท่านให้เครื่องประดับแก่ผม เมื่อไรกัน ปุโรหิตกล่าวว่า ข้าพเจ้ากล่าวไป เพราะคิดว่า จักได้อาศัยท่านอยู่เป็นสุขในที่ที่ถูกคุมขัง
แม้นางวัณณทาสีก็กล่าวกะคนธรรพ์ว่า ไอ้คนร้าย คนธรรพ์ชาติชั่ว เราเคยไปหาเจ้า หรือเจ้าเคยมาหาเราแต่ครั้งไร เจ้าให้เครื่องประดับแก่เราในเวลาไร คนธรรพ์กล่าวว่า น้องเอ๋ย เพราะเหตุไรจะต้องมาโกรธเคืองข้าพเจ้าด้วยเล่า เมื่อพวกเราทั้งห้าคนอยู่ร่วมกัน เรื่องเพศสัมพันธ์จักต้องมี อาศัยเจ้า พวกเราจักไม่ต้องหงอยเหงา อยู่ร่วมกันอย่างสบายดังนี้
พระโพธิสัตว์ฟังถ้อยคำนั้นจากสำนักของคนที่จัดไว้ ทราบความที่พวกนั้นไม่ใช่โจรโดยแน่นอน คิดว่าเครื่องประดับต้องเป็นนางลิงหยิบเอาไป จักทำอุบายให้มันโยนลงมาจงได้ แล้วทำเครื่องประดับสำเร็จด้วยยางไม้ ให้จับเหล่านางลิงในอุทยาน แล้วให้แต่งเครื่องประดับยางไม้ที่มือที่เท้าและที่คอ แล้วปล่อยไป ฝ่ายนางลิงตัวที่เฝ้าเครื่องทรงอยู่ ก็นั่งอยู่ในอุทยานนั่นเอง
พระโพธิสัตว์สั่งคนทั้งหลายว่า พวกเธอพากันไปเถิด พากันตรวจดูฝูงนางลิงในอุทยานทุกตัว เห็นเครื่องทรงนั้นอยู่ที่ตัวใด จงทำให้มันตกใจ แล้วเอาเครื่องประดับมาให้จงได้ ฝูงนางลิงนั้นเล่าก็พากันร่าเริงยินดีว่า พวกเราได้เครื่องแต่งตัวกันแล้ว ต่างก็วิ่งเที่ยวไปมาในอุทยาน ถึงสำนักของนางลิงนั้น พากันกล่าวว่า จงดูเครื่องประดับของพวกเรา นางลิงทนไม่ไหว คิดว่า เรื่องอะไรด้วยเครื่องประดับทำด้วยยางไม้นี้ แล้วแต่งเครื่องมุกดาหารมาอวด
ครั้งนั้นคนเหล่านั้นเห็นมันแล้ว ทำให้มันทิ้งเครื่องทรงแล้ว นำมามอบให้พระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์นำเครื่องทรงนั้นไปถวายพระราชา กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ นี้เครื่องทรงของพระองค์คนแม้ทั้งห้า นั้นมิใช่โจร แต่เครื่องทรงนี้ได้มาจากนางลิงในอุทยาน พระเจ้าข้า พระราชาตรัสถามว่า พ่อบัณฑิต ก็พ่อรู้ความที่เครื่องทรงนี้ตกอยู่ในมือนางลิงได้อย่างไร เอาคืนมาได้อย่างไร พระโพธิสัตว์กราบทูลเรื่องทั้งหมดให้ทรงทราบ
พระราชาทรงดีพระทัยตรัสว่าธรรมดาคนกล้าเป็นต้น เป็นบุคคลที่น่าปรารถนา ในฐานะตำแหน่งจอมทัพเป็นต้น ดังนี้แล้ว เมื่อจะทรงชมเชยพระโพธิสัตว์ ตรัสพระคาถานี้ ความว่า “ยามคับขัน ย่อมปรารถนาผู้กล้าหาญ ยามปรึกษาการงาน ย่อมปรารถนาคนไม่พูดพล่าม ยามมีข้าวน้ำ ย่อมปรารถนาคนเป็นที่รักของตน ยามต้องการเหตุผล ย่อมปรารถนาบัณฑิต”
พระราชาตรัสพรรณนาชมเชยพระโพธิสัตว์ด้วยประการฉะนี้ ทรงบูชาด้วยรัตนะเจ็ดประการ ปานประหนึ่งมหาเมฆยังฝนลูกเห็บให้ตกฉะนั้น ดำรงพระองค์ในโอวาทของพระโพธิสัตว์ ทรงบำเพ็ญบุญมีให้ทานเป็นต้น เสด็จไปตามยถากรรม แม้พระโพธิสัตว์ก็ไปตามยถากรรม
พระบรมศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มา แล้วตรัสคุณของพระเถระเจ้า ทรงประชุมชาดกว่า “พระราชาในครั้งนั้น ได้มาเป็น พระอานนท์ ส่วนอำมาตย์ผู้เป็นบัณฑิต ได้มาเป็น เราตถาคตฉะนี้แล”
วันนี้อ่านนิทานชาดกจากมหาสารชาดก อ่านเพลินๆ มิได้ดัดแปลงเนื้อความให้คลาดเคลื่อนแต่ประการใด แม้จะมีเนื้อหามากไปหน่อย แต่ค่อยๆอ่าน ค่อยๆคิดพิจารณา การใช้คนให้เหมาะกับงานเป็นผลดีมีประโยชน์ แต่ถ้าหากใช้คนไม่เหมาะกับงานอาจจะเกิดผลเสียหายได้ “ทหาร ที่ปรึกษา คนมีทรัพย์ และบัณฑิต” ทำงานไม่เหมือนกัน เพราะแต่ละคนมีความถนัดไม่เหมือนกัน หากใช้คนให้เหมาะกับงานมีโอกาสประสบความสำเร็จตั้งแต่เริ่มต้น ดังสุภาษิตว่า “ยามคับขันย่อมปรารถนาผู้กล้าหาญ ยามปรึกษาการงานย่อมปรารถนาคนไม่พูดพล่าม ยามมีข้าวน้ำย่อมปรารถนาคนเป็นที่รักของตน ยามต้องการเหตุผล ย่อมปรารถนาบัณฑิต”
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
08/03/56