คืนวันเพ็ญเดือนสาม วันมาฆบูชาปีนี้พระจันทร์เต็มดวงงดงามเป็นพิเศษโผล่พ้นขอบฟ้าปรากฏโฉมเหนือพระเจดีย์ รอบๆพระอุโบสถเนืองแน่นไปด้วยพุทธศาสนิกชนตั้งแต่หัวค่ำ ทุกคนมีดอกไม้ธูปเทียนในมือ ยกมือประนมระหว่างอกและเดินเวียนเทียนสิ้นตติยวารรอบๆพระอุโบสถ ในขณะที่ภายในพระอุโบสถคณะสงฆ์พระภิกษุสามเณรและพุทธศาสนิกชนบางส่วนกำลังสวดมนต์ในเทศกาลวันมาฆบูชา ปีนี้ผู้คนมาจากไหนไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง แต่ผู้คนปีนี้มีจำนวนมากกว่าปีที่ผ่านมา
เสียงจากฝ่ายประชาสัมพันธ์ชักชวนคนให้มาทำบุญในเทศกาลวันมาฆบูชาดังแว่วเข้ามา เสียงจากเวทีการแสดงก็ดังกระหึ่ม เสียงจากซุ้มสอยดาวการกุศลก็เร่งเร้าให้คนมาเสี่ยงโชคเพราะงานวัดปีนี้เป็นวันสุดท้ายแล้ว รางวัลใหญ่ๆทั้งหลายยังล่อตาล่อใจให้ผู้คนมาชุมนุมเพื่อเสี่ยงโชค เสียงจากร้านรวงต่างๆก็เชิญชวนให้เข้ามาที่ร้าน ประสานกับเสียงพระสวดมนต์จากพระอุโบสถ งานวัดเป็นไปอย่างนี้ วันสุดท้ายใครมีดีอะไรให้แสดงออกมาให้หมด บางครั้งฟังไม่ออกว่าเป็นเสียงอะไร แต่ก็เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่ง ต่างคนต่างทำในขอบข่ายของตนเอง ไม่มีเรื่องขัดใจหรือมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกันเลย ทุกอย่างเป็นไปตามครรลองที่ควรจะเป็น ทุกคนต่างมองตรงที่เป้าหมาย
หลวงตาไซเบอร์ฯสวดมนต์ไปสักพักก็ออกมาเข้าห้องน้ำ เดินผ่านฝูงชนที่กำลังเวียนเทียน และนั่งสวดมนต์ด้านนอกพระอุโบสถ จึงหยุดยืนพิจารณาความเป็นไปต่างๆ มีโอกาสได้ทัศนาตามสมควร ก็มีโยมคุ้นเคยคนหนึ่งเข้ามาถามว่า “ท่านอาจารย์ครับ ในวันมาฆบูชาเราจะได้อะไรจากคำสอนของพระพุทธศาสนาครับ”
เทศน์นอกธรรมมาสน์จึงเริ่มต้นขึ้นสรุปความสั้นๆว่า “วันมาฆบูชาพระพุทธเจ้าทรงประกาศหลักการ อุดมการณ์ หลักการ และวิธีการสำหรับพุทธสาวกที่จะไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา หากจะนำมาประยุกต์ใช้สำหรับคนในสมัยปัจจุบันคือ “การจะทำอะไรต้องมีอุดมการณ์ มีเป้าหมาย อย่างที่โฆษณาเขาว่า เป้าหมายมีไว้พุ่งชน เป้าหมายของพระพุทธศาสนาดังที่พระพุทธองค์แสดงไว้ในโอวาทปาฏิโมกข์คาถาแรกว่า “ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา” แปลว่า “ขันติคือความทนทานเป็นตบะอย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสว่า พระนิพพาน เป็นธรรมอย่างยิ่ง”
เป้าหมายของพระพุทธศาสนาคือนิพพาน เมื่อมีเป้าหมายไว้ในเบื้องหน้า ดังนั้นการที่จะเดินตรงไปเบื้องหน้าสู่เป้าหมายนั้นต้องมีวิธีการที่ดีที่ถูกต้องจึงจะไปถึงจุดหมายได้ การเดินทางสู่เป้าหมายนี้จึงต้องใช้ความอดทนเป็นอย่างยิ่ง ต้องทนให้ได้ แม้จะท้อก็ไม่ถอย โบราณว่า “ทนได้ ใจเย็น เป็นสุข” ในทางตรงกันข้าม “หากทนไม่ได้ ใจร้อน มักนอนคุก”
นิพพานคือจุดหมายสูงสุดของของพระพุทธศาสนา หากไปไม่ถึงก็ลดหลั่นลงมา เป็นพรหมโลก ซึ่งมีอยู่ถึง 16 ชั้น หากยังมีความอดทนไม่พอก็ลดลงมาอีกเป็นสวรรค์อีก 6 ชั้น หรือหากมีความเพียรไม่พอก็ขอเกิดเป็นมนุษย์ ส่วนภพภูมิที่ต่ำกว่ามนุษย์ไม่ปรารถนาก็ได้ ต้องพยามหนีให้พ้นจากอบายภูมิ นั่นเป็นเป้าหมายระยะยาว ส่วนเป้าหมายระยะสั้นตามแต่ใครจะกำหนดเอาเอง เช่นจะวางแผนเรียนอะไร ทำงานอะไร มีชีวิตอยู่เพื่ออะไร อยู่อย่างไร ตัวเรากำหนดเป้าหมายเองได้
ในวันมาฆบูชาอย่างน้อยก็ได้เห็นว่า การจะทำงานอะไรให้ประสบความสำเร็จนั้นต้องมีอุดมการณ์หรือเป้าหมายให้ชัดเจน ต้องยึดหลักการไว้ให้มั่น และต้องมีวิธีการที่ถูกต้อง จึงจะไปสู่จุดหมายได้ อย่างน้อยในวันสำคัญเช่นนี้ก็ขอให้มองให้เห็นว่า “เราได้ตัวอย่างที่ดี และมีวิธีปฏิบัติ” ตามหลักการที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่พระอรหันตสาวกในวันเพ็ญ เดือนสาม ดังที่ปรากฏในโอวาทปาฏิโมกข์ ทีฆนิกาย มหาวรรค(10/54/48)ความว่า “ขันติคือความทนทานเป็นตบะอย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสว่า พระนิพพาน เป็นธรรมอย่างยิ่ง ผู้ทำร้ายผู้อื่นผู้เบียดเบียนผู้อื่นไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิตไม่ชื่อว่าเป็นสมณะเลย การไม่ทำบาปทั้งสิ้น การยังกุศลให้ถึงพร้อม การทำจิตของตนให้ผ่องใส นี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย การไม่กล่าวร้าย การไม่ทำร้าย ความสำรวมในพระปาติโมกข์ ความเป็นผู้รู้ประมาณในภัตตาหาร ที่นอนที่นั่งอันสงัด การประกอบความเพียรในอธิจิตหกอย่างนี้ เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย”
เนื้อความนี้แยกย่อยเป็นอุดมการณ์ได้แก่ “ขันติคือความทนทานเป็นตบะอย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสว่า พระนิพพาน เป็นธรรมอย่างยิ่ง ผู้ทำร้ายผู้อื่นผู้เบียดเบียนผู้อื่นไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิตไม่ชื่อว่าเป็นสมณะเลย” ทำงานอะไรอย่าทิ้งอุดมการณ์
จัดเป็นหลักการคือ “การไม่ทำบาปทั้งสิ้น การยังกุศลให้ถึงพร้อม การทำจิตของตนให้ผ่องใส นี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย” พระพุทธเจ้าทุกพระองค์มีคำสอนอย่างเดียวกัน
ส่วนวิธีการในคาถาสุดท้ายคือ “การไม่กล่าวร้าย การไม่ทำร้าย ความสำรวมในพระปาติโมกข์ ความเป็นผู้รู้ประมาณในภัตตาหาร ที่นอนที่นั่งอันสงัด การประกอบความเพียรในอธิจิตหกอย่างนี้ เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย” วิธีการทำงานต้องสานประโยชน์ อย่าด่า อย่ากล่าวร้ายใคร อีกอย่างตัวเราต้องมีดีด้วย ต้องฝึกตนให้พร้อมทั้งกายและใจ
แม้ว่าโอวาทปาฏิโมกข์พระพุทธองค์จะสอนพระอรหันต์ผู้หมดกิเลสอาสวะแล้ว แต่ก็ทรงแนะวิธีว่าจะสอนคนอื่นให้เข้าสู่เป้าหมายอย่างไร เป็นอุดมการณ์สูงสุดของพระพุทธศาสนา ซึ่งในสมัยปัจจุบันแม้จะมีแนวปฏิบัติต่างกัน หลากหลายวิธี แต่ก็เป็นการก้าวไปในหลายเส้นทางสู่เป้าหมายเดียวกัน หลายทางเดิน หลายวิธีการ แต่มีเป้าหมายสูงสุดอย่างเดียวกัน
เสียงพระสงฆ์ในพระอุโบสถกำลังสาธยายโอวาทปาฏิโมกข์ ผู้คนหนาตาขึ้นเรื่อยๆ มาฆบูชาปีนี้หลวงตาไซเบอร์ฯ เดินเวียนเทียนรอบพระอุโบสถและมองตรงสู่เป้าหมายคือนิพพานตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้แล้ว แม้จะอยู่ไกลแสนไกล แต่ก็ยังมีเป้าหมายไว้ให้ดำเนินไป นั่นเป็นเป้าหมายในอนาคตอันยาวไกล ทางข้างหน้าแม้จะยาวไกล แต่หากใจไม่ท้อไม่นานก็ต้องไปถึงจนได้ แต่อีกนานเท่าไหร่บอกไม่ได้ พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญยาวนานตั้งสี่อสงไขยแสนโกฏิจึงถึงเป้าหมาย ตัวเราเองมีความเพียรน้อยอาจจะยาวนานหลายแสนชาติ แต่ก็ไม่เป็นไร แม้หากจะเกิดใหม่อีกแสนชาติก็ขอให้มีใจระลึกได้มองตรงที่เป้าหมายนี้ ส่วนเป้าหมายระยะสั้นๆ เป็นเป้าหมายประจำวัน ในแต่ละช่วงเวลาที่ผ่านไปในแต่ละนาทีขอเพียงให้มีลมหายใจออกก็พอแล้ว
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
27/02/56