เสียงดนตรีและการละเล่นของเด็กนักเรียนโรงเรียนวัดมัชฌันติการามที่เปิดการแสดงบนเวทีในการงานประจำปิดทองหลวงปู่อ่อน ญาณเตโช อดีตเจ้าอาวาสวัดมัชฌันติการาม พวกเด็กๆเขาเล่นเต้นไปตามเรื่อง แม้บางครั้งจะเต้นไปคนละทาง เพลงไปอีกอย่าง เด็กเต้นไปอีกอย่างไม่เข้ากับเพลงแต่ก็มีผู้ชมปรบมือให้กำลังใจอย่างสนุกสนาน ทุกคนมองข้ามรูปแบบการแสดงไปแล้ว จะแสดงอะไรก็ตามเถิด แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้ชมมีส่วนร่วมคือเด็กเหล่านี้คือลูกหลานของผู้ชมเอง เด็กแสดงบนเวทีพ่อแม่ผู้ปกครองก็มาร่วมเชียร์ข้างๆเวที คณะครูยังไม่ได้เปลี่ยนชุดสีกากีด้วยซ้ำก็คอยให้กำลังใจ บางคนให้พวงมาลัยเป็นกำลังใจกับการแสดงของนักเรียน พวกเขาทำหน้าที่เป็นผู้สืบสานวัฒนธรรมไทยประเพณีไทยให้คงอยู่
กลางวันเรียนหนังสือ แต่พอแดดร่มลมตกก็มาเปิดการแสดงเพื่อจะได้แสดงออกถึงการมีส่วนร่วมในงานประจำปี สำหรับผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับงานวัดอาจจะรู้สึกรำคาญเสียงดนตรี เสียงโฆษณาประชาสัมพันธ์ ทั้งสอยดาวการกุศล ปาเป้า ลูกโป่ง ชิงช้าสวรรค์ รถด่วน ทะเลบกเป็นต้น ส่วนสินค้ามีขายทุกประเภทตั้งแต่ของกิน ของใช้ ของเล่น ใครอยากได้อะไรก็สามารถเดินชมตามบริเวณที่จัดงาน ช่วงนี้บริเวณทั่ววัดได้เปลี่ยนสภาพเป็นสถานที่จัดงานวัดไปโดยปริยาย
ช่วงกลางวันเงียบ พอค่ำมาเสียงดนตรีจากเวทีการแสดงก็เริ่มขึ้น นักเรียนบางคนแต่งตัวตั้งแต่โรงเรียนเลิก เปลี่ยนชุดนักเรียนมาเป็นชุดการแสดง เตรียมพร้อมอย่างเต็มที่ แม้ว่าการแสดงในวันนี้จะเป็นเพียงการแสดงฟรีก็ตาม
หากใครที่มีถิ่นพำนักอยู่ใกล้วัดก็ต้องอภัยที่มีเสียงรบกวนความสงบสุข แต่งานวัดเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่สืบทอดมาแต่โบราณกาล วัดบางแห่งมีงานประจำปีที่ยิ่งใหญ่มาก มีผู้คนไปชมจำนวนหลายแสนคน ในอดีตบ้านกับวัด มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดแยกกันไม่ออก วัดเป็นศูนย์รวมสำหรับการทำกิจกรรมหลายอย่าง ซึ่งพอสรุปสถานภาพวัดในอดีตได้ดังนี้
1.เป็นสถานศึกษาเป็นโรงเรียนชาวบ้านส่งลูกหลานอยู่วัดเพื่อรับใช้พระและรับการอบรมศีลธรรม เล่าเรียนวิชาการต่างๆ จากพระสงฆ์
2. เป็นสถานสงเคราะห์ บุตรหลานชาวบ้านที่ยากจนได้มาอาศัยอยู่ในวัด อาศัยเล่าเรียนและดำรงชีพ แม้ผู้ใหญ่ที่ยากจนก็อาศัยวัดดำรงชีพ
3. เป็นสถานพยาบาล รักษาผู้เจ็บป่วยตามความรู้ความสามารถในสมัยนั้น
4. เป็นที่พักคนเดินทาง
5. เป็นสโมสร ชาวบ้านมาพบปะสังสรรค์ พักผ่อนหย่อนใจ หาความรู้
6. เป็นสถานบันเทิง ที่จัดงานเทศกาลและมหรสพต่าง ๆ
7. เป็นที่ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท (ชาวบ้านไปหาความยุติธรรมที่วัด)
8. เป็นที่ปรึกษาการครองตน การครองชีพ แก้ปัญหาชีวิตครอบครัวและความทุกข์ต่างๆ
9. เป็นศูนย์กลางศิลปวัฒนธรรม ที่รวมรวมศิลปกรรมต่างๆ ของชาติ
10. เป็นคลังพัสดุ เก็บของใช้ต่าง ๆ ที่ชาวบ้านจะได้ใช้ร่วมกันเมื่อมีงานที่วัด หรือเอาไปใช้เมื่อตนมีงาน
11.เป็นศูนย์กลางการปกครองท้องถิ่น ที่กำนันผู้ใหญ่บ้านเรียกประชุมลูกบ้านชี้แจงข้อราชการต่างๆ
12.เป็นที่บำเพ็ญกุศลกิจ หรือประกอบพิธีกรรมตามประเพณี
วัดจึงเป็นบ่อเกิดของวัฒนธรรมประเพณีไทยหลายอย่าง ซึ่งประเพณีเหล่านั้นมาจากกิจกรรมและวันสำคัญของพระพุทธศาสนาเช่น วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา แห่เทียนพรรษา ตักบาตรเทโว ทำขวัญนาค ลอยกระทง และพิธีแห่ต่างๆ ซึ่งมีอยู่ในทุกภาคของประเทศไทย
ในด้านขนบธรรมเนียม ขนบธรรมเนียมต่าง ๆ ของไทยบางอย่างก็มีส่วนสืบเนื่องมาจากพระพุทธศาสนา ได้อาศัยหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเป็นแนวปฏิบัติ เช่น การต้อนรับแขก การเข้าพบผู้ควรเคารพ การให้เกียรติแก่ผู้อื่น มารยาทสุภาพ อ่อนโยน ไม่ลุอำนาจฝ่ายต่ำ เช่น โลภ โกรธ หลง เป็นต้น
ด้านดนตรีหรือดุริยางคศิลป์ มักจะมีเครื่องประโคมดนตรีในพิธีทางพระพุทธศาสนา เช่น ทำบุญเลี้ยงพระในโอกาสต่างๆ บวชนาค เทศน์ ทอดกฐิน ทอดผ้าป่า มักจะมีการบรรเลงเพลงเสมอ เช่น เพลงสาธุการ เพลงเห่เรือพระกฐิน เพลงพญาโศก เป็นต้น
ด้านการศึกษาเล่าเรียน สมัยโบราณวัดเป็นศูนย์กลางการศึกษา พระสงฆ์เป็นครูสอนศีลธรรมและอบรมจรรยามารยาทแล้วยังสอนวิชาการต่างๆ เช่น คณิตศาสตร์ แพทย์ศาสตร์ ดาราศาสตร์ โหราศาสตร์ แม้กระทั่งวิชากระบี่กระบอง ฟันดาบ มวย พระก็เป็นครูสอน ปัจจุบันโรงเรียนได้แยกออกไปจากวัด แต่ในกรุงเทพมหานครโรงเรียนกับวัดยังมีความผูกพันกันอยู่ โรงเรียนบางแห่งตั้งอยู่ในวัด เมื่อทางวัดมีงานก็ได้คณะครูและนักเรียนมาช่วยงานวัดและร่วมกิจกรรมที่วัดจัดขึ้นเช่นงานประจำปีวัดมัชฌันติการาม นักเรียนมาร่วมงานเปิดการแสดงทุกปี บางคนยังมาช่วยทำกิจกรรมอื่นๆ เช่นสอยดาวการกุศล ให้บูชาดอกไม้ธูปเทียน เป็นต้น
งานวัดกับวัฒนธรรมไทยจึงแยกกันไม่ออก แม้ว่าวัฒนธรรมจะมีบ่อเกิดมาจากหลายสาเหตุ แต่สำหรับวัฒนธรรมไทยส่วนหนึ่งมาจากวัด การจัดงานวัดจึงเป็นการอนุรักษ์และส่งเสริมวัฒนธรรมไทยอีกทางหนึ่ง วัฒนธรรมประเพณีบางอย่างกำลังจะถูกกลืนและเลือนหายไปจากสังคมไทย ในขณะที่วัฒนธรรมใหม่กำลังแทรกเข้ามา หากไม่รักษาวัฒนธรรมเก่าไว้ อีกไม่นานก็จะเหลือแต่ตำนานที่คนเฒ่าคนแก่เล่าขาน ส่วนลูกหลานนึกภาพไม่ออกว่าวัฒนธรรมเช่นนั้นครั้งหนึ่งเคยมีในสังคมไทย วัฒนธรรมหากไม่มีการสืบสานส่งต่อจากคนรุ่นเก่าไปสู่คนรุ่นใหม่ไม่นานก็เลือน
เด็กหญิงคนหนึ่งกำลังตักบาตร 108 ข้างๆวิหารหลวงปู่อ่อน เธออยู่ในชุดเตรียมพร้อมเพื่อการแสดงบนเวที จึงถามว่า “หนูอธิษฐานอะไรก่อนใส่บาตร” เธอหันมายิ้มก่อนจะบอกว่า “หนูอธิษฐานให้สอบผ่านชั้นประถมปีที่สาม เรียนสำเร็จปีหน้าจะได้เรียนชั้นประถมปีที่สี่ และอธิษฐานขอให้พ่อแม่หนูอยู่ดีมีความสุข และขอให้หนูแสดงแสดงได้ประทับใจคนดูคะ หลวงพ่อ”
พอการแสดงเริ่มขึ้นหน้าเวทีก็ถูกจับจองด้วยบรรดาครู นักเรียน และผู้ปกครอง หันไปเห็นคุณยายคนหนึ่งนั่งอยู่ใกล้กับบริการนวดแผนโบราณที่เปิดบริการนวดฟรีที่ศาลาหน้าวัด ไม่ห่างจากเวทีการแสดงนัก กำลังนั่งเพ่งมองไปบนเวทีที่เด็กนักเรียนกำลังแสดง คุณยายเพ่งดูด้วยความตั้งใจ ปากก็เคี้ยวหมากไปด้วย บางครั้งหัวเราะจนน้ำหมากไหลรินตามขอบปาก จึงเข้าไปถามไถ่ “คุณยายยังมองเห็นหรือ”
คุณยายยกมือไหว้ ก่อนจะตอบด้วยรอยยิ้มแห่งความสุขว่า “พอมองเห็นเจ้าคะ ยายมาทุกปีสนุกดี ยายอายุมากแล้วปีนี้แปดสิบพอดี ต้องดูไว้บางทีปีหน้าอาจจะไม่มีโอกาสได้ดู ปีนี้ยายมีหลานสาวชั้น ป.3 ร่วมแสดงบนเวทีด้วย” ยายชี้ให้ดู เมื่อมองไปบนเวที การแสดงชุดเงาะป่ากำลังเล่น โดยเด็กนักเรียนชั้น ป.3 กำลังแสดงอย่างสนุกสาน ยายก็เฝ้าดูหลานแสดงอย่างอารมณ์ดี ยิ้มไป หัวเราะไป บางครั้งน้ำหมากก็ไหลไปด้วย
งานประจำปีวัดมัชฌันติการามปีนี้เริ่มมาได้สามวันแล้ว จะสิ้นสุดวันสุดท้ายคืนวันมาฆบูชา ผู้ที่มาเที่ยวงานจะได้ร่วมสวดมนต์และเวียนเทียนรอบเจดีย์และพระอุโบสถ เป็นการปฏิบัติตนเพื่อน้อมรำลึกถึงวันสำคัญของพระพุทธศาสนา มาเที่ยวงานแล้วยังมีโอกาสได้ทำบุญ หากใครมีเวลาว่างจะแวะเข้ามาเที่ยงงานวัดขอเชิญได้ การแสดงของเด็กนักเรียนเริ่มเวลา 18.00 น. ทุกวัน พวกเขาทำหน้าที่เป็นเหมือนผู้สืบต่อวัฒนธรรมจากบรรพบุรุษให้คงอยู่กับสังคมสมัยใหม่
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
19/02/56