แสงแดดอ่อนยามเช้าในฤดูหนาวมีความอบอุ่นนุ่มนวลเป็นพิเศษ ไม่ร้อนจนเกินไป อุ่นกำลังดี ตอนเช้าเดินเล่นออกกำลังกายท้าสัมผัสพื้นดินเหมือนกับจะบอกว่าถึงอย่างไรมนุษย์ก็หนีธรรมชาติคือธาตุทั้งสี่ไม่พ้น ต้องพึ่งดินสำหรับการดำรงอยู่ ต้องพึ่งน้ำสำหรับหล่อเลี้ยงร่างกาย ต้องพึ่งลมหายใจเข้าออก และต้องพึ่งความร้อนจากไฟในการเผาผลาญอาหาร ดิน น้ำ ลม ไฟภายนอกดำรงอยู่ เปลี่ยนแปลงตามสภาวะ ดิน น้ำ ลมไฟ ในกายมนุษย์ต้องมีความสมดุล ชีวิตจึงจะดำเนินไปได้อย่างสะดวก หากมีธาตุใดเกิดทำงานไม่ปรกติก็ต้องพึ่งพาการรักษาพยาบาล หากรักษาความสมดุลของธาตุทั้งสี่ในกายไว้ได้ชีวิตก็ดำเนินไปอย่าปรกติสุข
หลวงตาไซเบอร์ออกจากพระอุโบสถหลังทำวัตรสวดมนต์ในตอนเช้า เดินผิงแดดอุ่นที่กำลังสบายในวันที่อากาศค่อนข้างเย็น วันนี้อากาศดีลมสงบนิ่ง มีแสงแดดอ่อนๆมาจากดวงอาทิตย์กลมโต หน้าหนาวดวงอาทิตย์มักจะมองดูมีขนาดโตกว่าปรกติ เดินเล่นเพลินๆชีวิตนี้สงบดีเหมือนกัน ตอนนั้นคิดถึงคำสอนของคนโบราณที่บอกว่า “ตื่นแต่เช้า กินข้าวพอประมาณ ทำงานตามกำลัง มีหวังอายุยืน”
ตอนเช้าอากาศบริสุทธิ์ได้สูดอากาศที่ยังไม่ค่อยมีมลภาวะมากนัก ร่างกายได้รับอากาศดีก็ย่อมจะทำให้สุขภาพดีไปด้วย ตื่นแต่เช้าเดินย่ำบนน้ำค้างที่ยังเกาะอยู่ตามใบหญ้า เท้าจะเย็นสดชื่น นัยว่าเป็นการรักษาโรคหัวใจอย่างหนึ่ง ใครที่เป็นโรคหัวใจลองนำวิธีนี้ไปใช้ดู แต่ในกรุงเทพมหานครจะหาพื้นที่เป็นหญ้าจากที่ไหนกัน เพราะพื้นส่วนมากเป็นพื้นปูน เท้าสัมผัสพื้นปูนดูไม่ค่อยจะสบายเท่าไหร่
วัฒนธรรมการกินของมนุษย์นั้นมีหลากหลาย ในพระพุทธศาสนาแสดงถึงการรู้จักประมาณในการรับประทานอาหาร ในคำว่า “โภชเนมัตตัญญุตา” จัดเป็นธรรมข้อหนึ่งใน “อปัณณกปฏิปทา” หมายถึงข้อปฏิบัติที่ไม่ผิด ปฏิปทาที่เป็นส่วนแก่นสารเนื้อแท้ ซึ่งจะนำผู้ปฏิบัติให้ถึงความเจริญงอกงามในธรรม เป็นผู้ดำเนินอยู่ในแนวทางแห่งความปลอดพ้นจากทุกข์อย่างแน่นอนไม่ผิดพลาด ประกอบด้วยคุณธรรมสามประการดังที่แสดงไว้ในอปัณณกสูตร อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต (20/455/129) ความว่า “ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรมสามประการชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติไม่ผิด และชื่อว่าเธอปรารภปัญญาเพื่อความสิ้นอาสวะทั้งหลาย ธรรมสาม ประการเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย เป็นผู้รู้จักประมาณในโภชนะ เป็นผู้ประกอบความเพียร......ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรมสามประการนี้แลย่อมชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติไม่ผิด และชื่อว่าเธอปรารภปัญญาเพื่อความสิ้นอาสวะทั้งหลาย”
พระสูตรนี้แม้จะสอนภิกษุแต่ชาวบ้านทั่วไปก็สามารถนำไปปฏิบัติได้ โดยเฉพาะเรื่องของการกินหรือการรับประทานอาหาร ภาษาบาลีใช้สามคำคือ “อินทรีสังวร โภชเนมัตตัญญญุตา และชาคริยานุโยค” ซึ่งมีคำอธิบายได้โดยสรุปดังนี้
1.อินทรียสังวร หมายถึงการสำรวมอินทรีย์ คือระวังไม่ให้บาปอกุศลธรรมครอบงำใจ เมื่อรับรู้อารมณ์ด้วยอินทรีย์ทั้งหก
2.โภชเนมัตตัญญุตา หมายถึงความรู้จักประมาณในการบริโภค คือรู้จักพิจารณารับประทานอาหารเพื่อหล่อเลี้ยงร่างกายใช้ทำกิจให้ชีวิตผาสุก มิใช่เพื่อสนุกสนาน มัวเมา กินเพื่ออยู่ มิใช่อยู่เพื่อกิน
3.ชาคริยานุโยค หมายถึงการหมั่นประกอบความตื่น ไม่เห็นแก่นอน คือขยันหมั่นเพียรตื่นตัวอยู่เป็นนิตย์ ชำระจิตมิให้มีนิวรณ์ พร้อมเสมอทุกเวลาที่จะปฏิบัติกิจให้ก้าวหน้าต่อไป
ในส่วนของการรู้จักประมาณในการบริโภคในพระสูตรนี้มีคำอธิบายสำหรับภิกษุไว้ว่า “ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้รู้จักประมาณในโภชนะอย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว ฉันอาหารไม่ใช่เพื่อเล่น ไม่ใช่เพื่อจะมัวเมา ไม่ใช่เพื่อจะประดับ ไม่ใช่เพื่อจะประเทืองผิว เพียงเพื่อกายนี้ตั้งอยู่ เพื่อจะให้กายนี้เป็นไปเพื่อจะกำจัดความเบียดเบียนลำบาก เพื่อจะอนุเคราะห์พรหมจรรย์ด้วยคิดเห็นว่าเราจักกำจัดเวทนาเก่าเสีย และจักไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น ความที่กายจักเป็นไปได้นาน ความเป็นผู้ไม่มีโทษและความอยู่สำราญจักเกิดมีแก่เรา ดังนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้รู้จักประมาณในโภชนะอย่างนี้แล”
คำว่า “ทำงานตามกำลัง” นั้นขึ้นอยู่กับกำลังของแต่ละคน บางคนโหมทำงานหนักจนลืมหยุดพักผ่อน ร่างกายของมนุษย์นั้นต้องได้รับพักผ่อนที่เพียงพอจึงจะมีแรงในการทำงานต่อไปได้ เหมือนเครื่องยนต์ทั้งหลายต้องมีเวลาในการหยุดพักเครื่อง จึงจะสามารถทำงานอย่างมีประสิทธิภาพได้ ชีวิตมนุษย์บางคนเร่งทำงานเพื่อหาเงินมาเลี้ยงชีพ จนลืมไปว่ามนุษย์ไม่ใช่เครื่องจักรที่จะทำงานติดต่อกันได้นานๆ ต้องพักหรือหยุดให้ร่างกายและจิตใจได้พักผ่อน ทำงานหนักมีทรัพย์สินเงินทองมากแต่ไม่มีเวลาใช้เงินที่หามาได้หรือไม่มีเวลาใช้ชีวิตเป็นชีวิตที่น่าเสียดาย
ส่วนคำว่า “มีหวังอายุยืน” เป็นเพียงการคาดคะเนตามหลักการ เพราะชีวิตไม่มีความแน่นอน บางคนแม้ไม่ได้ทำงานหนักก็อาจจะเสียชีวิตได้เหมือนกัน คำสอนของคนโบราณที่บอกว่า “ตื่นแต่เช้า กินข้าวพอประมาณ ทำงานตามกำลัง มีหวังอายุยืน” ส่วนใครที่ปฏิบัติตรงกันข้ามคือ “ตื่นสาย กินข้าวเกินประมาณ ทำงานเกินกำลัง มีหวังอายุสั้น” คนโบราณมีคำสอนที่เป็นหลักปรัชญาง่ายๆ อยู่บนพื้นฐานของความเป็นไปตามธรรมชาติและวิถีชีวิตของคนธรรมดานี่เอง
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
29/01/56