ฟ้ากำลังมืดที่เก้าอี้หวายใกล้ๆศาลาการเปรียญแสงสว่างจากไฟฟ้าส่องมาไม่ถึงจึงมองเห็นเพียงเงาสลัว พระภิกษุสามเณรกำลังรอเวลาทำวัตรสวดมนต์เย็นซึ่งกำหนดไว้ในเวลาประมาณหนึ่งทุ่ม แต่ฟ้าที่นี่มืดเร็วกว่าปรกติหกโมงเย็นก็มืดสนิทแล้ว ภิกษุบางรูปกำลังนั่งพักผ่อนตามสบาย บางรูปฉันน้ำชากาแฟ บางรูปสนทนาธรรม บางรูปนั่งหลับตาภาวนาตามสะดวก ฝนเริ่มโปรยเม็ดลงมาเบาๆภิกษุสามเณรจึงหาที่กำบัง บริเวณใกล้ๆศาลาการเปรียญยังมีที่ว่างจึงมีภิกษุหลายรูปค่อยๆทยอยเข้ามาหาที่หลบฝน
ความเป็นไปของที่นี่ช่างสงบดีแท้ การดำเนินชีวิตเป็นไปอย่างเรียบง่าย ภิกษุสามเณรทำหน้าที่ตามปรกติเหมือนไม่ทำอะไร แต่แท้จริงกำลังทำงานอันเป็นงานภายใน การนั่งอยู่นิ่งๆ ดูเหมือนง่าย แต่หากนั่งอยู่ในอิริยาบถเดียวนานๆ ที่มองเห็นว่าง่ายก็จะกลายเป็นความยากขึ้นมา เพราะตามธรรมชาติมนุษย์อยู่นิ่งๆในอิริยาบถเดียวนานไม่ได้ ต้องเคลื่อนไหวเปลี่ยนอิริยาบถเช่นเดินอย่างเดียวไม่นานก็เหนื่อย นอนในอิริยาบถเดียวนานๆก็ปวดเหมื่อย พอเปลี่ยนมาเป็นอิริยาบถยืนนานๆ แข้งขาก็จะเริ่มปวดเพราะเลือดไหลลงไปยังขามากเกินไป ครั้นเปลี่ยนมานั่งสักพักก็เริ่มปวดหลัง บางครั้งไล่มาตั้งแต่ฝ่าเท้าจนจรดศีรษะ ในแต่ละวันมนุษย์จึงยืน เดิน นั่ง นอน ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป ทำให้ทุกข์บรรเทาเบาบาลง ภาษาบาลีเรียกว่า “ทุกขตา” แปลว่า ความเป็นสิ่งที่ทนได้ยาก ความเป็นทุกข์ ความเป็นสิ่งที่นำมาซึ่งทุกข์ มนุษย์มองไม่เห็นความเป็นทุกข์เพราะถูกอิริยาบถปิดบังไว้ หากใครอยากเห็นความเป็นทุกข์ต้องทดลองอยู่ในอริยาบถเดียวนานๆ ทุกขตาก็จะปรากฎให้เห็นชัีดเจนขึ้น
อิริยาบถที่ผลัดเปลี่ยนไปเรื่อยๆทำให้ความเป็นทุกข์ถูกกลบ จนทำให้มองไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงเพราะความต่อเนื่องของการเปลี่ยนผ่าน ชีวิตเปลี่ยนไปทุกนาที เด็กเติบโตขึ้นทุกวัน คนหนุ่มสาวก็เจริญขึ้นทุกนาที คนในวัยชราก็แก่ลงทุกวัน วันเวลาไม่คอยใครทำหน้าที่ไปตามวัฏจักร เปลี่ยนผ่านไปเรื่อยกลืนกินสรรพสัตว์ ดังที่แสดงไว้ในชาดก ขุททกนิกาย ทุกนิบาต (27/95) ความว่า “กาโล ฆสติ ภูตานิ สพฺพาเนว สหตฺตนา” แปลความได้ว่า “กาลเวลา ย่อมกินสรรพสัตว์พร้อมทั้งตัวมันเอง”
หลวงตาไซเบอร์ฯ นั่งนิ่งๆอยู่บนเก้าอี้หวายใต้เงาศาลาการเปรียญ จึงทำให้ภิกษุสามเณรที่กำลังเดินผ่านไปมามองไม่ค่อยชัด ตอนนั้นมีภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งเข้ามานั่งข้างเก้าอี้หวายนั้น ยกมือไหว้กล่าวคำทักทาย และเริ่มต้นชวนสนทนา “สวัสดีครับอาจารย์ มาถึงเมื่อไหร่ครับ”
หลวงตาไซเบอร์ฯจึงบอกว่า “มาถึงเมื่อวานนี้เอง” ตอนนั้นกำลังพิจารณาอยู่ว่าเคยเห็นภิกษุรูปนี้ที่ไหนมาก่อน ฟังจากสำเนียงแล้วยังคิดไม่ออกว่าเป็นใครมาจากไหน แต่ฟังจากน้ำสียงที่คุ้นเคยคงเคยรู้จักกันมาก่อน
ภิกษุหนุ่ม “ที่วัดเป็นอย่างไรบ้างครับ ได้ข่าวว่าฉลองเจดีย์ใหญ่”
ฟังมาถึงตอนนี้เริ่มแน่ใจว่าน่าจะทักผิดคน เพราะที่วัดไม่เคยมีการฉลองเจดีย์มาก่อนเลย จึงค่อยๆเรียบเคียงย้อนถามว่า “ท่านมาถึงเมื่อไหร่ มากันกี่รูป”
“มาห้ารูปครับ อากาศที่นี่แปลกดีนะครับ ร้อนอยู่ดีๆก็มีฝนตกลงมา ผมว่าคงมีภิกษุหลายรูปอาพาธบ้างแหละ ท่านอาจารย์ไม่ไปที่อเมริกาอีกหรือครับ”
พอมาถึงคำถามนี้แน่ใจแล้วภิกษุหนุ่มรูปนั้นคงทักผิดคน จึงบอกท่านตรงๆว่า “ท่านกำลังพูดถึงใครครับ ผมไม่เคยไปอเมริกา วัดผมไม่เคยฉลองเจดีย์ใหญ่”
ภิกษุหนุ่มรูปนั้นลุกขึ้นพิจารณามองดูหน้าตาแล้วจึงบอกว่า “ขอโทษครับผมกำลังคุยผิดคนจริงๆ ผมนึกว่ากำลังสนทนาอยู่กับอาจารย์บั้ง วัดถ้ำอภัยอภัยดำรงธรรม สกลนครนะครับ มองดูเผินๆท่านอาจารย์มีรูปร่างหน้าตาคล้ายกันเลยนะครับ ต้องขอโทษด้วยผมคงมองไม่ชัด”
“ไม่เป็นไรครับ คงเพราะความมืดจึงทำให้มองไม่ชัด”
จากนั้นภิกษุหนุ่มรูปนั้นก็กล่าวคำอำลา หลวงตาไซเบอร์ฯ ยังคงนั่งพิจารณาว่าใครกันหนอที่บังเอิญมีหน้าตาเหมือนเรา หรือว่าเรามีหน้าตาเหมือนท่าน สักพักมีพระเถระรูปหนึ่งเดินเข้ามาจึงลุกให้ท่านนั่ง และเดินไปที่ศาลาการเปรียญเพราะใกล้เวลาทำวัตรสวดมนต์แล้ว
ได้เวลาทำวัตรสวดมนต์ มีภิกษุรูปหนึ่งมานั่งข้างๆ ภิกษุหนุ่มรูปนั้นมากระซิบบอกว่า “อาจารย์ครับนั่นแหละที่ผมบอกว่าหน้าตาเหมือนท่าน จนทำให้ผมทักผิดคน”
ไม่ได้สังเกตดูหน้าตาตนเองมานานนอกจากเวลาโกนศีรษะที่มีความจำเป็นต้องส่องกระจกดูผมบนศีรษะว่ามีส่วนไหนที่โกนไม่หมดบ้าง หน้าตาเราก็ธรรมดา ไม่น่าจะมีคนมาเหมือนขนาดที่มีคนทักผิด จึงหันไปยิ้มทักทายภิกษุที่มีพระบอกว่าหน้าตาเหมือนกัน
หลังทำวัตรสวดมนต์จึงเดินเข้าไปทักบอกท่านว่า “มีพระภิกษุรูปหนึ่งบอกว่าเราหน้าตาเหมือนกัน ท่านอาจารย์มาจากสกลนครหรือครับ”
ภิกษุรูปนั้นหันหน้ามาสนทนาด้วยจึงขอบันทึกภาพไว้เป็นหลักฐาน ท่านมีอายุน้อยกว่าสองปี อุปสมบทใกล้เคียงกัน พรรษาน้อยกว่าสองปี หลวงตาไซเบอร์ฯจึงมีฐานะเป็นพี่ ส่วนท่านเป็นน้อง ท่านบรรพชาเป็นสามเณรตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2520 เคยอยู่กับหลวงปู่วัน อุตฺตโม แต่อุปสมบทเป็นพระภิกษุภายหลังจากที่หลวงปู่วันมรณภาพสามปี เหตุการณ์ครั้งนั้นเกิดขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช 2523 มีพระเถระมรณภาพด้วยอุบัติเหตุทางเครื่องบินพร้อมกันห้ารูป
พิจารณาจากภาพถ่ายแล้วดูอย่างไรก็ไม่เหมือน แต่ทำไมภิกษุหนุ่มรูปนั้นบอกว่าเหมือนจนถึงกับทักทายผิด คงเพราะช่วงผ่านของกาลเวลาเป็นช่วงรอยต่อของกลางวันและกลางคืน อาจจะทำให้ดวงตาพร่าพราย แต่หากมองเผินๆก็มีส่วนคล้ายกันอยู่บ้าง โดยทั่วไปพระสงฆ์มีลักษณะคล้ายกันอยู่แล้ว ห่มผ้าสีเดียวกัน โกนศีรษะเหมือนกัน ยิ่งภิกษุที่มีรูปร่างใกล้เคียงกันก็อาจจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ง่าย อย่างไรก็ตามวันนั้นก็ได้พบรู้จักกับเพื่อนภิกษุอีกรูปหนึ่ง เพราะช่วงผ่านของกาลเวลาในสายัณหสมัย
เป็นความเหมือนที่แตกต่างภิกษุรูปนั้นดำเนินชีวิตในเพศสมณะเป็นพระกรรมฐานมีโอกาสได้รับใช้ครูบาอาจารย์ จึงได้ปฏิปทาแห่งแนวทางในการปฏิบัติแบบพระป่าจึงเป็นพระฝ่ายวิปัสสนาธุระ แต่มีช่วงหนึ่งที่ท่านเดินทางๆไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในอเมริกา โลกทัศน์ท่านจึงกว้างไกล เป็นพระป่าที่มีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศหลายประเทศ
ส่วนหลวงตาไซเบอร์ฯ แม้จะอุปสมบทที่วัดป่า แต่วิถีทางได้แปรเปลี่ยนจากพระป่ามาเป็นพระฝ่ายคันถธุระ(ฝ่ายการศึกษา) ศึกษาเล่าเรียนจนเป็นพระมหาเปรียญ หน้าที่ในปัจจุบันจึงอยู่ที่การสอนภาษาบาลีและสอนพระพุทธศาสนาแก่พระภิกษุสามเณร ทั้งสองรูปเดินทางคนละสาย แต่เส้นทางได้โคจรมาพบกันจนได้ ปัจจุบันทั้งสองรูปยังดำรงอยู่ ส่วนอนาคตยังคาดเดาไม่ได้ ใครจะไปก่อนใคร เรื่องของการเปลี่ยนแปลงคาดเดาอนาคตไม่ได้ ทำปัจจุบันให้ดีที่สุด ส่วนอนาคตปล่อยให้เป็นไป โลกไม่เคยหยุดนิ่งชีวิตของสรรพสัตว์ก็หยุดไม่ได้ยังคงดำเนินต่อไปตามทางที่ทุกคนได้เลือกแล้ว
เหตุการณ์ที่สาธยายมาทั้งหมดนั้นเกิดขึ้นในเย็นวันหนึ่งที่วัดป่าสันติหรือสันติวนาราม รัฐยะโฮร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อครั้งที่เดินทางไปร่วมงานฝังลูกนิมิต ฉลองพระอุโบสถ ณ อารามกลางป่าต้นปาล์ม เป็นวัดป่าแห่งแรกในมาเลเซีย บนเนื้อที่กว่าเจ็ดสิบไร่ วันนั้นจึงได้พบกับพระภิกษุที่มีผู้ทักผิดคิดว่าเป็นใครอีกคน
ไม่ว่าจะมีรูปร่างเหมือนกันหรือต่างกัน แต่สรรพชีวิตก็ตกอยู่ภายใต้สิ่งที่เรียกว่า "สังขตธรรม" หมายถึงธรรมที่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง ธรรมที่มีปัจจัย สภาวะที่เกิดจากปัจจัยแต่งขึ้น สภาวะที่ปัจจัยทั้งหลายมาร่วมกันแต่งสรรค์ขึ้น สิ่งที่ปัจจัยประกอบกันขึ้น หรือสิ่งที่ปรากฏและเป็นไปตามเงื่อนไขของปัจจัย เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “สังขาร” หมายถึงสภาวะทุกอย่างทั้งทางวัตถุและทางจิตใจ ทั้งรูปธรรมนามธรรม สังขารหรือสังขตธรรมทั้งปวงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา ชีวิตของสรรพสัตว์ทั้งหลายอยู่ภายใต้กฎแห่งความเป็นธรรมดา มีความเกิดขึ้น เสื่อมไป และแปรปรวนไปเป็นธรรมดา
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
30/12/55