ไซเบอร์วนาราม.เน็ต

เว็บไซต์เพื่อพระพุทธศาสนา อารามหนึ่งบนโลกไซเบอร์

laithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithai

          ในโลกนี้มีผู้คนมากกมาย บางคนประกอบสัมมาอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัว บางคนอาจจะประกอบมิจฉาอาชีพ  บางคนอาจจะทำดีบ้างร้ายบ้างผสมกันไป โลกนี้ก็มีที่ว่างให้มนุษย์และสัตว์โลกได้อาศัย ประเทศไทยยังมีที่ว่างอีกมากมาย แต่บางแห่งแม้จะมองดูว่าง แต่ก็มีเจ้าของจับจองแล้ว เป็นเพียงพื้นที่ว่างแต่มีเจ้าของแล้ว ใครบางคนอาจจะมีที่ว่างในหัวใจที่ยังไม่มีใครจับจอง ที่ว่างนั้นเป็นพื้นที่ส่วนตัว แม้จะได้ชื่อว่ามีเจ้าของแล้ว แต่ทุกคนต้องมี “พื้นที่ว่าง” เป็นโลกส่วนตัวหรือ “พื้นที่ส่วนตัว” ที่ไม่อยากให้ใครเข้ามารบกวน
 

          หลวงตาไซเบอร์เดินเล่นที่ลานหน้าวัด สามเณรกำลังขึ้นป้ายพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษาห้าธันวามหาราช ที่เป็น “วันพ่อแห่งชาติ” ที่กำลังจะมาถึง  แม้จะช่วยอะไรไม่ได้ แต่การยืนดูคอยให้กำลังใจของสามเณรที่ทำงานก็เป็นการทำงานอย่างหนึ่ง ทำงานโดยการให้กำลังใจ 
          ผู้คนเดินผ่านไปผ่านมา ในกลุ่มนั้นมีชายหนุ่มคนหนึ่งในมือถืออุปกรณ์ทำความสะอาดห้องน้ำเดินเข้ามาหา ยกมือไหว้ จากนั้นก็เริ่มต้นบทสนทนาว่า “หลวงพ่อช่วยแผ่เมตตาในการทำความดีของพวกผมด้วยครับ ผมอาสามาล้างห้องน้ำ บำเพ็ญประโยชน์สาธารณะ ทำความดีเนื่องในวันพ่อครับ”


          จึงบอกว่า “ขออนุโมทนาด้วย ขอให้อยู่ดีมีความสุข”  สั้นๆแค่นั้น ชายหนุ่มคนนั้นมองหน้าก่อนจะบอกว่า “หลวงพ่อครับ  คือว่าผมมีเพื่อนมากมายจนนับจำนวนไม่ไหว แต่พอถึงเวลาที่ไม่มีทางไปกลับหาใครไม่ได้สักคนที่พอจะช่วยบอกทาง  ใครคือเพื่อนแท้ใครคือเพื่อนเทียมครับ หลวงพ่อ” นักศึกษาหนุ่มคนนั้นเอ่ยถาม ในวันที่ต้องการกำลังใจ วันที่ท้อแท้ หลังจากที่มาทำความดีโดยการขัดล้างห้องน้ำในวัด อันที่จริงเขามากันสามคนช่วยกันขัดล้างห้องน้ำสาธารณะในบริเวณวัดกว่ายี่สิบห้องจนสะอาด เมื่อเสร็จงานแล้วก็กำลังจะจากไป
          คำถามนั้นตอบไม่ยากเพราะลักษณะเพื่อนแท้เพื่อนเทียมมีแสดงไว้ในพระไตรปิฎก เพียงแต่ยกมาอ้างก็สามารถอธิบายและตอบคำถามได้แล้ว แต่อยากรู้สาเหตุของคำถามนั้น คงเป็นเพราะนิสัยที่อยากรู้อยากเห็นเรื่องของคนอื่น บางทีอาจจะมีเรื่องไปเล่าให้คนอื่นๆฟัง จึงย้อนถามว่า “ เวลาที่ไม่มีทางไปหมายถึงอะไร”
          คำถามย้อนกลับตามหลักการที่พระพุทธเจ้าแสดงว่า “ปฏิปุจฉาพยากรณ์”  ปฏิปุจฉา แปลว่าคำย้อนถาม คำทวนถาม คือแทนที่จะตอบคำถามนั้นนั้นทันทีแต่จะย้อนถามก่อนเพื่อจะได้ทราบว่าคนถามมีความคิดอย่างไร จากนั้นจึงสรุป ถือโอกาสพูดคุยสนทนาไปด้วย

 

          นักศึกษาท่านนั้นบอกว่า “ผมมาจากต่างจังหวัดนะครับ เป็นนักศึกษาชั้นปีที่หนึ่ง ทุกคนพึ่งพบกันปีแรก แม้จะเป็นเพื่อนร่วมห้องเรียน แต่ก็ยังมีบางอย่างที่เป็นเหมือนเส้นบางๆที่กางกั้นอยู่  ดูเหมือนทุกคนจะมีพื้นที่ส่วนตัวของแต่ละคนที่ไม่อยากให้ใครรับรู้ ในด้านการศึกษาไม่มีปัญหาอะไรทุกคนเป็นเพื่อนร่วมห้องเรียนปรึกษาหารือเกี่ยวกับวิชาต่างๆได้ แต่เมื่อจะพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาส่วนตัว กลับพูดคุยได้ไม่เต็มเสียง คงเพราะเวลาที่คบหากันนั้นเป็นไปตามเงื่อนไขของการศึกษา มิใช่คบหากันเพราะอยากเป็นเพื่อนนะครับ ผมเป็นคนมีเพื่อนมากในเวลาที่มีงานเลี้ยง อย่างนี้น่าจะเรียกว่าเพื่อนกิน คำว่า “เพื่อนกินหาง่าย เพื่อนตายหายาก” หมายถึงเพื่อนในลักษณะเช่นนี้ใช่ไหมครับ
          มนุษย์แต่ละคนมี “พื้นที่ส่วนตัว” หรือจะเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ระยะห่าง” เป็นช่องว่างที่แต่ละคนมีอยู่เหมือนต้นไม้ต้องมีช่องว่างห่างกันพอดีจึงเจริญเติบโตได้  อาคารบ้านเรือนหากอยู่ชิดกันเกินไปก็ดูไม่งาม แม้ในอาคารบ้านเรือน เสาแต่ละต้นก็ต้องมีระยะห่างกันพอสมควร จึงจะสามารถค้ำหลังคาไว้ได้ โบสถ์วิหารก็เฉกเช่นเดียวกัน ต้องมีระยะห่างของเสา จึงจะมีที่ว่างสำหรับให้ศรัทธาชนเข้าไปสักการะได้ มนุษย์ก็เฉกเช่นเดียวกันต้องมีระยะห่าง พ่อกับแม่แม้จะอยู่ด้วยกันก็จะมีระยะห่างของกันและกันอยู่ พ่อ แม่ ลูก มีเวลาที่มีความเป็นส่วนตัวของแต่ละคน มนุษย์เราไม่ได้อยู่คนเดียวในสังคม ต้องอยู่ร่วมกับคนอื่นๆด้วย


          พระพุทธศาสนาแสดงความเกี่ยวข้องของมนุษย์เหมือนทิศทั้งหก ดังที่แสดงไว้ในสิงคาลกสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค (11/198/144) ความว่า “พึงทราบทิศหกเหล่านี้ คือ พึงทราบมารดาบิดาว่าเป็นทิศเบื้องหน้า อาจารย์เป็นทิศเบื้องขวา บุตรและภรรยาเป็นทิศเบื้องหลัง มิตรและอำมาตย์เป็นทิศเบื้องซ้าย ทาสและกรรมกรเป็นทิศเบื้องต่ำ สมณพราหมณ์เป็นทิศเบื้องบน”
          ความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับคนในฐานะต่างๆนั้นมีแสดงไว้โดยละเอียดในสิงคาลกสูตร ว่าควรจะทำอย่างไรกับคนที่จะต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน  หากมีเวลาควรจะศึกษาด้วยตนเองก็ได้  ในวันนี้เป็นการตอบคำถามของนักศึกษาหนุ่มคนนั้นที่ว่าด้วยมิตรสหายหรือเพื่อน ใครคือมิตรเทียม ใครคือมิตรแท้ได้แสดงไว้ดังนี้  (11/186/142) “ดูกรคฤหบดีบุตร คนสี่จำพวกเหล่านี้ คือ คนนำสิ่งของๆเพื่อนไปถ่ายเดียว (คนปอกลอก) คนดีแต่พูด  คนหัวประจบ  คนชักชวนในทางฉิบหาย ท่านพึงทราบว่าไม่ใช่มิตร เป็นแต่คนเทียมมิตร” ภาษาบาลีใช้คำว่า “มิตตปฏิรูปก” แปลว่าคนเทียมมิตร หรือจะแปลว่ามิตรเทียมก็ได้
          ส่วนมิตรแท้นั้นมีแสดงไว้ว่า  (11/192/143) “ดูกรคฤหบดีบุตร มิตรสี่จำพวกเหล่านี้ คือ มิตรมีอุปการะ มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์   มิตรแนะประโยชน์  มิตรมีความรักใคร่  ท่านพึงทราบว่า เป็นมิตรมีใจดี (เป็นมิตรแท้)” ภาษาบาลีใช้คำว่า “สุหท” แปลว่า ผู้มีใจดี นิยมแปลว่า “มิตรแท้”

 

          ใครที่เป็นมิตรแท้หรือเป็นเพียงคนเทียมมิตร พิจารณาคบหากันเอาเองก็แล้วกัน ขอเพียงแค่ใครสักคนที่เข้าใจเราแม้จะเป็นเพียงเรื่องเล็กๆแต่สามารถพูดคุยได้ บอกทางได้ในวันที่ไม่มีทางออก หรือในวันที่ท้อแท้ ใครคนนั้นที่สามารถฟังและบอกทางเราได้ เขาคือเพื่อนคนหนึ่ง ส่วนจะเป็นเพื่อนแท้หรือเพื่อนเทียม  เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์  เรื่องบางเรื่องก็ต้องพึ่งพากาลเวลา ปล่อยให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ตามที่โบราณกล่าวไว้ว่า "เส้นทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน"
          ชายหนุ่มนักศึกษาคนนั้นบอกว่า “ผมคงต้องหาใครสักคนมาเติมเต็มช่องว่างแห่งหัวใจแล้วครับ ผมหมายถึงเพื่อนนะครับ ต้องมีใครสักคนที่เป็นเพื่อนแท้” จากนั้นก็บอกลา  วันนี้ก็ได้สนทนากับใครสักคน เป็นวันเวลาที่ไม่เหงาจนเกินไป หลวงตาไซเบอร์เดินขึ้นกุฏิที่ยังมีที่ว่างอีกมากมาย อาจจะว่างเกินไปด้วยซ้ำ อันที่จริงในวัดมีพระภิกษุสามเณรมากกว่าห้าสิบรูป แต่คงเพราะมีที่ว่างมากเกินไป จึงหาใครสักคนพูดคุยในเรื่องบางอย่างไม่ได้  สามเณรบางรูปเพียงแต่เดินผ่านยกมือไหว้และจากไป  เราคงแก่เกินไปจึงไม่ค่อยมีใครอยากเป็นเพื่อน หรือว่าเราเองมี “พื้นที่ส่วนตัว” มากเกินไป จึงไม่มีใครสักคนในช่องว่างแห่งหัวใจ

 

พระมหาบุญไทย  ปุญญมโน
02/12/55

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

กองธรรมสนามหลวง

กองบาลีสนามหลวง

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กรมการศาสนา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัย  มมร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)

เว็บไชต์นักศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มมร

 

วัดไทย

เว็บวัดในประเทศไทย

วัดไทยในต่างประเทศ

คณะสงฆ์ธรรมยุตUSA

 วัดป่าธรรมชาติ LA

พระคุ้มครอง

วัดธรรมยุตทั่วโลก

 

ส่วนราชการในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ส่วนราชการในประเทศไทย

กระทรวงในประเทศไทย

 

หนังสือพิมพ์ไทย

ไทยรัฐ
เดลินิวส์
มติชน
ผู้จัดการ
กรุงเทพธุรกิจ
คม ชัด ลึก
บ้านเมือง
ข่าวสด
ฐานเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ
สยามกีฬา
แนวหน้า
โพสต์ทูเดย์
ไทยโพสต์
สยามรัฐ
สยามธุรกิจ
บางกอกทูเดย์

 

ข่าวภาษาต่างประเทศ

ข่าว CNN

ข่าว BBC

Bangkok Post

The Nation

หนังสือพิมพภาษาต่างประเทศ

เมนูสมาชิก