การศึกษาในปัจจุบันเจริญก้าวหน้ามาก จนทางราชการประกาศว่าปัจจุบันมีคนไทยอ่านหนังสือออกเกือบทุกคนแล้ว ยังเหลืออยู่อีกเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ยังอ่านหนังสือไม่ได้ ฟังแล้วน่าดีใจแทนเพราะยิ่งมีคนอ่านหนังสือได้มาก แสดงว่าการจัดการศึกษาของประเทศได้ผล ประเทศชาติได้คนมีความรู้มากขึ้น แต่ผู้ดูแลระบบการจัดการศึกษาของไทยไม่ค่อยมีความมั่นคง รัฐบาลใหม่ก็พึ่งเปลี่ยนรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการอีกครั้งแล้ว บางอย่างเปลี่ยนบ่อยยิ่งดี แต่บางเรื่องหากเปลี่ยนแปลงบ่อยๆจะทำให้งานหยุดชะงัก งานเก่าก็ไม่ลื่นไหล งานใหม่ก็ต้องรอ
สมัยก่อนการสอนแบบมุขปาฐะหรือระบบที่เรียกว่าการสอนจากปากต่อปาก อาจารย์ไม่ได้สอนหนังสือแต่บอกหนังสือคือบอกทีละตัวให้ลูกศิษย์ค่อยๆจำไปทุกวันจนจบตำรา วิธีนี้จะเรียกว่าการท่องจำก็ได้ ลูกศิษย์บางคนอ่านหนังสือไม่ออก แต่ท่องจำได้ เคยอ่านประวัติพระเถระรูปหนึ่งที่จังหวัดอุดรธานี (ปัจจุบันท่านมรณภาพไปแล้ว) ท่านอ่านหนังสือไม่ออก แต่เมื่ออุปสมบทฟังพระสงฆ์รูปอื่นๆสวดมนต์ทำวัตรทุกวัน ในที่สุดก็สามารถจดจำได้ และที่สำคัญที่สุดท่านทรงจำปาฏิโมกข์ได้ทั้งๆที่อ่านหนังสือไม่ออก วิธีการคือให้พระหรือสามเณรอ่านให้ฟังวันละเล็กวันละน้อย ส่วนตัวท่านก็ค่อยๆจำและพยายามสาธยายทุกวัน ในที่สุดก็จำได้หมดและสวกปาฏิโมกข์ได้
ผู้เขียนใช้เวลาท่องจำปาฏิโมกข์นานถึงหนึ่งพรรษา สามเดือนเต็มจึงจำได้หมด คือใช้เวลาสามเดือนในภายในพรรษาท่องจำปาฏิโมกข์และบทสวดมนต์อื่นๆ ได้หลายบท พอออกพรรษาเพื่อนๆพระภิกษุที่อุปสมบทด้วยกันพากันลาสิกขา แต่อาตมากลับได้ขึ้นสวดพระปาฏิโมกข์ สวดมาเรื่อยๆหยุดบ้างในบางปี แต่สิ่งที่เคยจำได้แม้จะเลือนไปบ้างแต่พอทบทวนใหม่ก็ใช้เวลาไม่นาน
พระสงฆ์ที่ฟังคนอื่นๆว่าให้ฟังแล้วจำได้นั้น นานๆจะได้พบสักรูปหนึ่ง ครั้งหนึ่งได้พบหลวงปู่(ขอสงวนนาม)ที่วัดป่าแห่งหนึ่ง ในเขตอำเภอหนองวัวซอ อุดรธานีจึงกราบเรียนถามหลวงปู่ว่า “หลวงปู่ท่องปาฏิโมกข์ได้โดยที่อ่านหนังสือไม่ออกจริงๆหรือขอรับ” หลวงปู่ยืนยันว่า “เป็นอย่างนั้นจริงๆ หลวงปู่เรียนหนังสือเพียงชั้นประถมปีที่หนึ่งยังอ่านหนังสือไม่ออกด้วยซ้ำ พ่อแม่ก็พาอพยพจากจังหวัดอุบลราชธานีมาอยู่ที่อุดรธานี จากนั้นมาก็ไม่เคยได้เข้าเรียนในโรงเรียนอีกเลย “
จึงเรียนถามต่อไปว่า “หลวงปู่มีวิธีการในการจำอย่างไรบ้างครับ “
หลวงปู่ “เอาใจจดจ่อ ตั้งใจฟัง ทำใจให้เป็นสมาธิแน่วแน่ และหมั่นสาธยายทบทวนบ่อยๆ ใช้เวลานานกว่าสามปีจึงจำปาฏิโมกข์ได้”
ปาฏิโมกข์คือบันทึกวินัยของพระสงฆ์จำนวน 227 ข้อ บันทึกเป็นภาษาบาลีและใช้สวดสาธยายในวันพระขึ้น-แรม 15 ค่ำ โดยพระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่งที่ท่องจำได้เป็นองค์แสดงปาฏิโมกข์ สวดเป็นภาษาบาลีรูปเดียวตั้งแต่วินัยข้อแรกจนถึงข้อสุดท้าย ใช้เวลาในการสาธยายประมาณ 35-50 นาที
วิธีการที่หลงปู่บอกนั้นง่ายมาก แต่ทำยาก สมัยก่อนไม่ค่อยมีตำรามากมายอะไร แต่คนมีความจำดี หลวงปู่เป็นพระนักเทศน์ ทั้งๆที่ไม่ได้มีความรู้นักธรรมชั้นใดเลย แต่เทศน์เก่งมากภาษาคนฟังต้องบอกว่า “เทศน์ได้ถึงจิตถึงใจ” เพราะหลวงปู่แสดงธรรมด้วยประสบการณ์ทางจิตล้วนๆ โดยที่ไม่ได้อ้างอิงจากตำรับตำราเล่มใดเลย เพราะหลวงปู่อ่านหนังสือไม่ออกนั่นเอง
คนมีความรู้ในอดีตจึงไม่ได้วัดกันที่ปริญญาชั้นใดชั้นหนึ่ง จะเรียนจบหรือไม่จบชั้นใดเลยก็ได้ แต่หากมีความรู้ก็สามารถสอนคนอื่นได้ ความรู้ที่มาจากประสบการณ์ตรงกับความรู้ที่มาจากตำราให้ความลุ่มลึกต่างกัน พระอุปัชฌาย์ของอาตมาเคยบอกว่า “หากมีความรู้ตามคัมภีร์หรือตำรา และมีประสบการณ์ตรงด้วย ความรู้บวกกับประสบการณ์ยิ่งจะทำให้มีความลุ่มลึกมากยิ่งขึ้น”
แต่ข้อเท็จจริงกลับเดินสวนทางกัน เมื่อมาศึกษาภาคทฤษฎีคือตำราวิชาการต่างๆ ความรู้ภาควิปัสสนาภาวนาก็ต้องพักไว้ชั่วคราว พระสงฆ์ฝ่ายคันถธุระหรือฝ่ายการศึกษากับพระฝ่ายวิปัสสนาธุระจึงมักจะเดินสวนทางกัน แต่ถ้าทั้งการศึกษาและวิปัสสนามีอยู่ในพระสงฆ์รูปเดียวกัน การศึกษานั้นก็สมบูรณ์ กรณีของหลวงปู่รูปนั้นเป็นเรื่องพิเศษ คงจะหาใครที่จะมีคุณสมบัติอย่างนั้นยาก ผู้เขียนขอคารวะหลวงปู่ในฐานะปรัชญาเมธี ที่มาจากผู้อ่านหนังสือไม่ออก
การศึกษาเป็นเบื้องต้นของการมีความรู้และคนมีความรู้อาจจะได้รับการเรียกขานว่าปราชญ์ในอนาคตกาลก็ได้ หากได้รับการศึกษาที่ดีก็อาจจะกลายเป็นนักคิดคนสำคัญของโลกก็ได้ดังเช่นโสเครตีส เพลโต อริสโตเติล นักปราชญ์กรีกโบราณ หรือเล่าจื้อ ขงจื้อ เม่งจื้อนักปราชญ์จีนโบราณ หรือแม้แต่พระพุทธเจ้าศาสดาของชาวพุทธ ก็ล้วนเป็นนักปราชญ์ที่คนรู้จักทั่วโลก
แต่จะสอนลูกอย่างไรให้เป็นปราชญ์นั้นต้องย้อนกลับไปศึกษาอัตตชีวประวัติของนักปราชญ์แต่ละท่าน วันนี้มีประวัติของท่านเม่งจื้อ นักปราชญ์จีนมานำเสนอ
มีเรื่องเล่าไว้ในหนังสือ “คิดแบบเต๋า” สำนวนแปลของจันทร์เพ็ญ สรุปความได้ว่า “ เม่งจื้อในวัยเด็กเป็นคนเกียจคร้าน ไม่ชอบเรียนหนังสือ มักหนีโรงเรียนเมื่อมีโอกาส มารดาของเม่งจื้อนามว่านางเจียงสี เป็นคนฉลาดก็ไม่ได้ดุด่าแต่อย่างใด นางคิดว่าสภาพแวดล้อมมีอิทธิพลต่อเด็ก การที่จะให้การศึกษาที่ดีแก่เด็กจึงต้องจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม บ้านที่นางอาศัยอยู่ในตอนนั้นอยู่ใกล้ตลาดสดซึ่งจอแจไปด้วยผู้คน เด็กจึงจำสิ่งที่ได้ยินแทบทุกวันและเลียนแบบพฤติกรรมต่างๆที่จดจำมาจากตลาดสด เมื่อนางเจียงสีเห็นสภาพอย่างนั้นจึงย้ายภูมิลำเนาใหม่ นางย้ายมาอยู่ใกล้โรงเรียน และมักจะชี้ให้ลูกชายดูเด็กนักเรียนที่กำลังเรียนหนังสือ และบอกลูกชายว่า “ลูกจงขยันเรียนหนังสือเหมือนเด็กนักเรียนพวกนั้น โตขึ้นจะได้มีวิชาความรู้ติดตัว”
เม่งจื้อเข้าเรียนในโรงเรียนแห่งนั้นและยังคงมีนิสัยค่อนข้างขี้เกียจเรียน วันหนึ่งแอบหนีกลับบ้านก่อนโรงเรียนเลิก ขณะนั้นมารดากำลังทอผ้า พอรู้ว่าลูกชายหนีโรงเรียนกลับบ้านก่อนโรงเรียนเลิก แทนที่จะดุด่า นางกลับหยิบกรรไกรตัดด้ายออกทั้งๆที่เพิ่งทอได้เป็นผืนเพียงครึ่งเดียว
เม่งจื้อแปลกใจจึงถามแม่ว่า “แม่ยังทอผ้าไม่เสร็จ ทำไมตัดด้ายทิ้งเสียก่อนเล่า”
มารดาของเม่งจื้อจึงตอบว่า “เหมือนกับที่เจ้าหนีโรงเรียนมานั่นแหละ โรงเรียนยังไม่ทันเลิกเจ้าก็แอบหนีมาเสียก่อน อย่างนี้จะมีวิชาความรู้ที่ไหนไว้เลี้ยงตัวเมื่อเติบโตเล่า แม่ต้องทนนั่งทอผ้าเพื่อหาเงินมาเป็นค่าเล่าเล่าเรียนของเจ้า แต่เจ้ากลับไม่รักดี มันจะต่างอะไรกันกับการทอผ้าเพียงครึ่งเดียวแล้วตัดทิ้งเล่า”
ภายหลังต่อมาเม่งจื้อก็ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน ต่อมาได้เป็นศิษย์ของจื้อซือ ซึ่งเป็นศิษย์ผู้สืบทอดลัทธิขงจื้อชั้นสาม ภายหลังได้กลายเป็นปรัชญาเมธีที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งของจีน
คนไทยโบราณมีคำสอนอย่างหนึ่งว่า “ทำให้สุด ขุดให้ถึง” ซึ่งใกล้เคียงกับพุทธภาษิตในวิโรจนอสุรินทสูตร สังยุตตนิกาย สคาถวรรค (15/892/272) ความว่า "เป็นชายควรพยายามไปจนกว่าประโยชน์สำเร็จ ประโยชน์งดงามอยู่ที่ความสำเร็จ ประโยชน์ยิ่งกว่าขันติไม่มี" แปลมาจากภาษาบาลีว่า "วายเมเถว ปุริโส ยาว อตฺถสฺส นิปฺปทา นิปฺผนฺนโสภิโน อตฺถา ขนฺตยา ภิยฺโย วิชฺชติฯ" หรือจะแปลใหม่ก็จะได้ความว่า "เป็นคนควรพยายามจนกว่าจะประสบความสำเร็จ" แปลมาจากคาถาต้นว่า “วายเมเถว ปุริโส ยาว อตฺถสฺส นิปฺปทา" ซึ่งความหมายยังคงเดิม เพราะคำว่า "ปุริโส" จะแปลว่า "คน" ก็ย่อมได้ คนเราหากไม่หมดความเพียรย่อมทำงานสำเร็จจนได้
หลวงปู่พระฝ่ายวิปัสสนารูปนั้นอ่านหนังสือไม่ออก แต่สามารถจดจำบทสวดมนต์และปาฏิโมกข์ได้ อีกทั้งยังเป็นนักเทศน์ชื่อดัง เป็นเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่ง ความสำเร็จมาจากความมีใจจดจ่อและตั้งใจจริง ซึ่งไม่มีอะไรที่ยากเกินความเพียรพยายามมนุษย์ไปได้ หากตั้งใจที่จะทำจริงๆ ก็จะกลายเป็นปรัชญาเมธีได้เหมือนกัน
ส่วนเม่งจื้อเป็นนักปราชญ์คนสำคัญคนหนึ่งของจีน ความสำเร็จส่วนหนึ่งมาจากแม่ที่แม้จะไม่ได้เรียนอะไรมาก แต่สามารถสอนลูกให้เป็นนักปราชญ์ได้ มารดาของเม่งจื้อเน้นที่สภาพแวดล้อมต้องเหมาะสมกับการศึกษา หากวันนั้นนางกับลูกชายยังมีภูมิลำเนาอยู่ใกล้กับตลาดสด วันนี้อาจจะไม่มีใครรู้จักเม่งจื้อในฐานะนักปรัชญาเมธีเลยก็ได้ คนที่ถูกลืมมักจะมีมากกว่าคนที่ถูกจำ
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
29/10/55