หากใครที่เคยเข้าร่วมประชุมที่มีคนหลากหลายอาชีพมาประชุมร่วมกัน แม้จะมีหัวข้อหลักในการประชุมแต่หากควบคุมการประชุมไม่ดีโอกาสที่จะออกนอกประเด็นเป็นไปได้สูง บางครั้งอาจออกนอกเรื่องจนกู่ไม่กลับ เพราะต่างคนต่างมีผลประโยชน์ที่แฝงอยู่ในการประชุมนั้น บางครั้งประธานพูดอยู่คนเดียวหรือพูดเพียงคนสองคนปล่อยให้คนอื่นๆนั่งฟัง การประชุมต้องเสนอความเห็นจนนำไปสู่การปฏิบัติได้ หากประชุมเสร็จแล้วต่างคนต่างไปไม่นำผลของการประชุมไปใช้จะประชุมกันไปทำไมกัน การหมั่นประชุมกันเนืองนิตย์นั้นเป็นหลักสำคัญอย่างหนึ่งของการอยู่ร่วมกัน เมื่อเกิดปัญหาที่มีผลกระทบกับคนหมู่มาก การประชุมกันเนืองนิตย์เป็นธรรมข้อหนึ่งในอปริหานิยธรรม
อปริหานิยธรรม หมายถึงธรรมอันไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อม เป็นไปเพื่อความเจริญถ่ายเดียว สำหรับหมู่ชนหรือผู้บริหารบ้านเมือง ครั้งหนึ่งวัสสการพราหมณ์อำมาตย์ผู้ใหญ่ในมคธรัฐเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อต้องการที่จะทราบเหตุแห่งเสื่อมเพราะพระเจ้าอชาตศรัตรูต้องการตจะปราบแคว้นวัชชี แต่ยกกองทัพไปรบเมื่อใด ก็ต้องพ่ายแพ้กลับมาทุกทีไม่สามารถเอาชนะกษัตริย์แห่งแคว้นวัชชีได้เลย จะมีวิธีการอย่างไรทำให้แคว้นวัชชีพินาศถึงความวอดวาย”
พระพุทธเจ้าแทนที่จะตอบคำถามวัสสการพราหมณ์แต่ได้หันไปสนทนากับพระอานนท์แทนดังที่แสดงไว้ในมหาปรินิพพานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค (10/68/79) ความว่า “สมัยนั้น ท่านพระอานนท์ ยืนถวายอยู่งานพัดพระผู้มีพระภาค อยู่ ณ เบื้องพระปฤษฎางค์ ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะท่านพระอานนท์ตามลำดับว่า (1) ดูกรอานนท์ เธอได้ยินมาอย่างไร พวกเจ้าวัชชีหมั่นประชุมกันเนืองๆหรือ (2) พวกเจ้าวัชชีพร้อมเพรียงกันประชุมพร้อมเพรียงกันเลิกประชุม และพร้อมเพรียงกันทำกิจที่เจ้าวัชชีพึงกระทำหรือ (3) พวกเจ้าวัชชีไม่ได้บัญญัติสิ่งที่มิได้บัญญัติไว้ ไม่ถอนสิ่งที่ได้บัญญัติไว้แล้ว สมาทานประพฤติอยู่ในวัชชีธรรมของเก่าตามที่บัญญัติไว้แล้ว พวกเจ้าวัชชีจักไม่บัญญัติสิ่งที่มิได้บัญญัติไว้ จักไม่ถอน สิ่งที่ได้บัญญัติไว้แล้ว จักสมาทานประพฤติอยู่ในวัชชีธรรมของเก่าตามที่บัญญัติไว้ (4) พวกเจ้าวัชชีสักการเคารพนับถือบูชา ท่านที่เป็นผู้ใหญ่ของพวกเจ้าวัชชี และเชื่อฟังถ้อยคำของท่านเหล่านั้นหรือ (5) พวกเจ้าวัชชีไม่ฉุดคร่าขืนใจสตรีหรือ กุมารีในสกุลให้อยู่ร่วมด้วยหรือ (6) พวกเจ้าวัชชีสักการะเคารพ นับถือ บูชาเจดีย์ของพวกเจ้าวัชชีทั้งภายในภายนอก และไม่ปล่อยให้ธรรมิกพลี ที่เคยให้ที่เคยกระทำ แก่เจดีย์เหล่านั้นเสื่อมทรามไปหรือ(7) ดูกรอานนท์ เธอได้ยินมาอย่างไร พวกเจ้าวัชชีจัดแจงไว้ดีแล้วซึ่งความอารักขาป้องกันคุ้มครองอันเป็นธรรมในพระอรหันต์ทั้งหลาย ด้วยตั้งใจว่า ไฉนหนอ พระอรหันต์ที่ยังมิได้มา พึงมาสู่แว่นแคว้นและที่มาแล้ว พึงอยู่เป็น ผาสุกในแว่นแคว้น ดังนี้หรือ”
พระอานนท์ทูลตอบไปตามลำดับว่า “ข้าพระองค์ได้ยินมาอย่างนั้น พระเจ้าข้า”
พระพุทธเจ้าจึงสรุปเป็นข้อๆว่า “ หากพวกเจ้าวัชชีปฏิบัติตามนี้หลักนี้ พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น
จากนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงรับสั่งกะวัสสการพราหมณ์อำมาตย์ผู้ใหญ่ในมคธรัฐว่า “ดูกรพราหมณ์ สมัยหนึ่ง เราอยู่ที่สารันททเจดีย์เขตเมืองเวสาลีนี้ ณ ที่นั้นเราได้แสดงอปริหานิยธรรมทั้งเจ็ดนี้ แก่พวกเจ้าวัชชี ก็อปริหานิยธรรมทั้งเจ็ดนี้ จักตั้งอยู่ในพวกเจ้าวัชชี และพวกเจ้าวัชชีจักสนใจในอปริหานิยธรรมทั้งเจ็ดนี้ อยู่เพียงใดพราหมณ์พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อมเพียงนั้น
หากว่าโดยสรุปในอปริหายนิธรรมได้แก่ (1) หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์ (2) พร้อมเพรียงกันประชุม พร้อมเพรียงกันเลิกประชุม พร้อมเพรียงกันทำกิจที่พึงทำ ข้อนี้แปลอีกอย่างหนึ่งว่า พร้อมเพรียงกันลุกขึ้นป้องกันบ้านเมือง พร้อมเพรียงกันทำกิจทั้งหลาย(3)ไม่บัญญัติสิ่งที่มิได้บัญญัติไว้ (อันขัดต่อหลักการเดิม) ไม่ล้มล้างสิ่งที่บัญญัติไว้ (ตามหลักการเดิม) ถือปฏิบัติมั่นตามวัชชีธรรม (หลักการ) ตามที่วางไว้เดิม (4) ท่านเหล่าใดเป็นผู้ใหญ่ในชนชาววัชชี เคารพนับถือท่านเหล่านั้น เห็นถ้อยคำของท่านว่าเป็นสิ่งอันควรรับฟัง (5) บรรดากุลสตรีกุลกุมารีทั้งหลาย ให้อยู่ดีโดยมิถูกข่มเหง หรือฉุดคร่าขืนใจ(6) เคารพสักการะบูชาเจดีย์ (ปูชนียสถานและปูชนียวัตถุ ตลอดถึงอนุสาวรีย์ต่างๆ) ของวัชชี (ประจำชาติ) ทั้งหลาย ทั้งภายในและภายนอก ไม่ปล่อยให้ธรรมิกพลีที่เคยให้เคยทำแก่เจดีย์เหล่านั้นเสื่อมทรามไป (7) จัดให้ความอารักขา คุ้มครอง ป้องกัน อันชอบธรรม แก่พระอรหันต์ทั้งหลาย (ในที่นี้กินความกว้าง หมายถึงบรรพชิตผู้ดำรงธรรมเป็นหลักใจของประชาชนทั่วไป) ตั้งใจว่า ขอพระอรหันต์ทั้งหลายที่ยังมิได้มา พึงมาสู่แว่นแคว้น ที่มาแล้วพึงอยู่ในแว่นแคว้นโดยผาสุก
อปริหานิยธรรมเจ็ดประการนี้ พระพุทธเจ้าตรัสแสดงแก่เจ้าวัชชีทั้งหลายผู้ปกครองรัฐโดยระบอบสามัคคีธรรมซึ่งรัฐคู่อริยอมรับว่า เมื่อชาววัชชียังปฏิบัติตามหลักธรรมนี้ จะเอาชนะด้วยการรบไม่ได้ นอกจากจะใช้การเกลี้ยกล่อมหรือยุแยกให้แตกสามัคคี
การประชุมเพื่อปรึกษาหารือในกิจการบางอย่าง แม้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีตามหลักอปริหานิยธรรมคือธรรมอันไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อมเป็นไปเพื่อความเจริญถ่ายเดียว สำหรับหมู่ชนหรือผู้บริหารบ้านเมือง หากหมั่นประชุมกันเนืองนิตย์ พร้อมเพรียงกันประชุม พร้อมเพรียงกันเลิกประชุม พร้อมเพรียงกันทำกิจที่พึงทำ ย่อมมีแต่ความเจริญ แต่มีข้อแม้ว่าในการประชุมนั้นต้องรับฟังความคิดเห็นของบุคคลที่มีความเห็นแตกต่างด้วย หากต่างฝ่ายต่างมุ่งประชุมเพื่อมุ่งหวังถึงผลประโยชน์ตนและหวังถึงการได้มาซึ่งอำนาจ การประชุมนั้นก็วุ่นวายเพราะหาบทสรุปที่ถูกต้องเหมาะสมไม่ได้
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
18/09/55