ไม่ได้สอนหนังสือเด็กมานานแล้ว แม้ว่าที่โรงเรียนข้างวัดจะจัดตั้งโรงเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์มาได้สองสามปีแล้วก็ตาม จนกระทั่งมีนักเรียนสามารถสอบธรรมศึกษาชั้นเอกได้แล้วในปีที่ผ่านมา งานสอนหนังสือเด็กจึงเป็นหน้าที่ของภิกษุหนุ่มและสามเณรที่กำลังเรียนในระดับปริญญาตรีและชั้นมัธยมและเรียนภาษาบาลี นานๆจึงจะถามข่าวสักครั้ง แต่ก็พยายามให้การสนับสนุนด้านทุนทรัพย์อยู่บ้าง โดยแบ่งเงินกองทุนเพื่อการศึกษาของวัดช่วยเหลือ ปีละไม่กี่พันบาท เงินส่วนหนึ่งได้มาจากการจัดงานเทศมหาชาติประจำปี ซึ่งในแต่ละปีทางวัดได้มอบให้เป็นทุนใช้จ่ายเพื่อการศึกษาธรรมะ ภาษาบาลีเป็นหลัก แม้จะไม่ได้สอนนักเรียนโดยตรงแต่ก็สอนโดยอ้อมคือสอนพระภิกษุสามเณรที่จะไปเป็นครูสอนนักเรียน
งานที่ทำอยู่ในปัจจุบันแม้จะเกี่ยวกับการสอนแต่ก็เป็นการสอนเป็นภาคการศึกษา ผู้เรียนเป็นหนุ่มสาวแล้ว สอนไม่ยากเพราะเป็นการเรียนที่จะต้องมีการวัดผลเป็นคะแนน อีกส่วนหนึ่งคือการสอนฟรีนั่นคือการสอนนักธรรม ภาษาบาลีสำหรับพระภิกษุสามเณร เรียกว่าสอนเอาบุญไม่มีค่าตอบแทนใดๆทั้งนั้น นอกจากไม่มีค่าตอบแทนแล้วยังต้องหาเงินทุนมาเพื่อใช้จ่ายในการซื้ออุปกรณ์การศึกษา ตำราเรียนเอง ยังโชคดีที่มีผู้บริจาคบ้างในแต่ละปี จึงไม่ค่อยเดือดร้อนนัก คนสอนก็ฟรี คนเรียนก็ฟรีค่อยเป็นค่อยไป งานนี้ทำมานานแล้ว แม้จะเหนื่อยแต่ก็รู้สึกว่าการถ่ายทอดความรู้ที่เรามีให้คนอื่นนั้นเป็นบุญอย่างหนึ่ง
จู่ๆก็มีเสียงโทรศัพท์มาจากสถานีวิทยุแห่งหนึ่งบอกว่าขอสัมภาษณ์ออกรายการวิทยุ ซึ่งยังไม่รู้จักว่าเป็นคลื่นไหน สถานีไหน แต่รับปากเขาไปแล้ว คำถามที่เขากำหนดให้คือ “จะส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่มีคุณธรรมจริยธรรมอย่างไร” เขากำหนดไว้ในวันเสาร์หน้าที่จะถึงนี้ ถามเขาว่ารู้จักชื่อได้อย่างไร เขาบอกว่าเห็นมีรายชื่อเข้าร่วมการประชุมวิพากษ์ร่างแผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ได้ลงทะเบียนเขียนชื่อและหมายเลขโทรศัพท์ไว้ เขาจึงตามตัวถูก
อันที่จริงวันนั้นมีพระสงฆ์หลายรูปจากศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และมหาวอทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยและองค์กรอื่นๆอีกหลายแห่ง เขาคงสัมภาษณ์มาเกือบทุกรูปแล้ว เหลือรูปสุดท้ายคนสัมภาษณ์คงไม่เคยได้ยินชื่อ แต่เอาเถอะให้สัมภาษณ์หน่อยก็ไม่เป็นไร บางทีอาจจะโด่งดังทางวิทยุก็ได้ ส่วนทางเว็บไซต์นั้นก็คงต้องเขียนไปเรื่อยๆ เหนื่อยวันไหนก็พัก ไม่ต้องไปตั้งกติกาว่าต้องเขียนทุกวัน เพราะบางวันมีงานตั้งแต่เช้ากลับเข้ากุฏิก็ดึกแล้ว บางวันก็คิดไม่ออก แต่จะพยายามเขียนเท่าที่คิดออก ไม่ต้องบีบคั้นตัวเอง คนจะอ่านหรือไม่ ไม่เป็นไร คงมีสักคนที่เข้ามาอ่าน สาระหนักบ้างเบาบ้างตามอารมณ์ของคนเขียน
ความจริงมีรายการจัดรายการทางสถานีวิทยุอยู่รายการหนึ่งที่ศาลายา แต่เป็นคลื่นวิทยุชุมชน เครื่องส่งได้ไม่ไกลนัก เป็นรายการ “ธรรมะจากข่าว” แต่พักหลังๆรู้สึกว่าทางสถานีจะไม่ค่อยคงที่นักประเดี๋ยวปรับปรุง ประเดี๋ยวเปลี่ยนแปลงเลยต้องพักไป
ปัญหาของสังคมไทย จากการศึกษาของกรมการศาสนาได้สรุปไว้หกประการคือ(1)ครอบครัวขาดความรักความอบอุ่น(2)การมีความรัก การมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร(3)ภัยจากสื่ออินเทอร์เน็ต(4)เยาวชนก่ออาชญากรรมเพิ่มขึ้น(5 ยาเสพติด(6)คอรัปชั่น อาจจะมีปัญหาอื่นๆอีกหลายประการที่ตกสำรวจ
สาเหตุของการเปลี่ยนแปลงมาจกหลายอย่างเช่นการปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจโลกแบหลายศูนย์กลางทำให้สังคมไทยเปลี่ยนแปลง ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี สังคมมีความเป็นปัจเจกสูง ปัญหาคอรัปชั่นยังมีอีกหลายสาเหตุที่ทำให้สังคมเปลี่ยนแปลง หากเริ่มจากจุดเล็กๆเช่นครอบครัวนั่นก็เป็นปัญหาพ่อแม่ไม่ค่อยได้อยู่กับลูก เพราะต้องทำงานหาเงินมาเป็นค่าใช้จ่ายในครอบครัว ลูกก็ต้องไปโรงเรียน บางคนต้องไปอยู่โรงเรียนประจำ ระบบครอบครัวใหญ่แบบโบราณที่รวมกันอยู่แตกสลาย ต่างคนต่างอยู่ แม้รั้วบ้านจะอยู่ติดกันอาจจะไม่รู้จักกันเลยก็ได้
สถาบันการศึกษาที่มุ่งเน้นทางด้านธุรกิจมากเกินไป นักเรียนจึงเหมือนวัตถุดิบที่กำลังพะถูกป้อนเข้าโรงงานอุตสาหกรรมคือมหาวิทยาลัยที่เน้นการผลิตบัณฑิตเพื่อออกสู่โลกธุรกิจ ผลผลิตคือนักศึกษาที่เรียนจบจึงเป็นเหมือนเครื่องจักรชนิดหนึ่งที่จะต้องทำงานตามตารางของเวลา ต้องเข้าออกตามเวลาที่กำหนด การทำงานต่างคนต่างทำ
อีกอย่างความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ดูเหมือนจะวิ่งนำหน้ารายได้ มีสินค้าใหม่ๆออกมาทำให้คนอยากได้แทบทุกวันทั้งๆที่บางอย่างไม่มีความจำเป็นด้วยซ้ำแต่ก็ยังอยากได้เพราะจุดมุ่งหมายเดียวคือใช้แล้วมันเท่ ซึ่งได้กลายเป็นค่านิยมของคนรุ่นใหม่ไปแล้ว ทั้งๆที่บางอย่างไม่มีความจำเป็นต้องมีก็ได้ เรื่องนี้ต้องแก้ด้วย “ความรู้จักพอ” หรือ “ความพอเพียง” พอมี พออยู่ พอกิน ไม่ต้องดิ้นรนแสวงหามากจนเกินไป บางคนทำงานหนักจนลืมการใช้ชีวิตที่มีความสุข เพราะความสุขไปอยู่ที่ความอยากมี อยากเป็น อยากได้ เลยกลายเป็นทาสแห่งความอยากคือตัณหาที่จะถมอย่างไรก็ไม่มีวันเต็ม ดังพุทธภาษิตในขุททกนิกาย ธรรมบทว่า(25/28/40)ว่า “นตฺถิ ตณฺหาสมา นที” แปลว่า “แม่น้ำเสมอด้วยตัณหาไม่มี” ตัณหาเหมือนแม่น้ำที่ไม่มีวันเต็ม นั่นคือหากจะวิ่งตามความอยากจะไม่มีวันพอ แล้วจะปลูกฝังอย่างไรให้คนรุ่นใหม่เข้าใจในความรู้จักพอ
สถาบันที่สำคัญในการถ่ายทอดคุณธรรมควรเริ่มต้นที่ครอบครัว สถาบันการศึกษา สถาบันศาสนา โดยมีสื่อสารมวลชนเป็นผู้ประชาสัมพันธ์ ในอดีตมีโครงการส่งเสริมคุณธรรมอยู่โครงการหนึ่งเรียกว่า “บวร” ย่อมมาจาก “บ้าน วัด โรงเรียน” ซึ่งก็ดำเนินการอยู่พักหนึ่งช่วงหลังๆแม้จะมีอยู่แต่ก็ไม่ค่อยมีคนกล่าวถึงมากนัก
ในแง่ของศาสนาคุณธรรมของแต่ละศาสนาไม่เหมือนกัน ผู้เขียนรู้จักศาสนาตั้งแต่ยังเด็ก แต่ไม่ได้รู้จักในฐานะของศาสนา รู้จักเพียงแต่ว่าพระคือใคร การทำบุญต้องทำอย่างไร ส่วนจะได้บุญหรือไม่ตอนนั้นยังไม่ทราบ โดยมีแม่เป็นครูผู้สอนคนแรก ทุกเช้าแม่จะตื่นแต่เช้าหุงข้าวทำอาหาร ได้เวลาพระออกบิณฑบาตก็จะเรียกลูกๆออกไปใส่บาตรด้วย เด็กๆก็จะเริ่มไหว้พระเป็น ที่ออกไปใส่บาตรกับแม่ไม่ใช่ไปเพราะอยากทำบุญแต่ไปเพราะจะได้กินข้าว แม่บอกว่าต้องใส่บาตรพระก่อนถึงจะกินข้าวได้ อีกอย่างข้าวที่ใส่บาตรพระมักจะเป็นของที่ดีที่สุดคือนำส่วนที่ดีที่สุดของข้าวไปใส่บาตร ข้าวจะอ่อนนิ่มและอร่อยที่สุด การได้กินข้าวอย่างเดียวกันกับที่ถวายพระจึงทำให้เริ่มรู้จักว่าพระคือใคร เรียนรู้โดยที่แม่เริ่มสอนจากบทเรียนง่ายๆ อีกอย่างพอไปโรงเรียนก็เรียนที่โรงเรียนวัดได้อาศัยกินข้าวจากบาตรพระ หลวงพ่อพาทำวัตรสวดมนต์ก็สวดตามทั้งๆจำอะไรไม่ค่อยได้นานๆเข้าก็จำได้เอง การเรียนรู้ศาสนาเริ่มจากการเรียนที่ไม่ได้เรียนนี่แหละเป็นการปลูกฝังทีละเล็กทีละน้อย ในที่สุดก็คุ้นเคยกับพระ คุ้นเคยกับพิธีกรรมและรู้จักกับคำสอนของศาสนา จากการกระทำบ่อยๆจนกลายเป็นนิสัย
มีพุทธภาษิตบทหนึ่งในธรรมบท ขุททกนิกาย (25/19/22) ว่า “หากว่าบุรุษพึงทำบุญไซร้ พึงทำบุญนั้นบ่อยๆ พึงทำความพอใจในบุญนั้น เพราะการสั่งสมบุญนำสุขมาให้” การทำบุญจึงเกิดจากการสั่งสมค่อยเป็นค่อยไป ต้องกระทำอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่กระทำครั้งเดียวแล้วเลิก เหมือนน้ำฝนที่ตกลงยังภาชนะที่ตั้งอยู่กลางแจ้งไม่นานก็เต็ม การที่คนจะมีคุณธรรมจึงต้องเริ่มจากสถาบันที่เล็กที่สุดคือครอบครัว ตามมาด้วยสถาบันการศึกษาสถาบันศาสนา และยังมีปัจจัยอื่นๆอีกมาก เช่นสื่อสารมวลชนจะต้องนำเสนอสิ่งที่เป็นสาระมากกว่าที่จะนำเสนอสิ่งที่เป็นเครื่องมอมเมา ปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้ว่ารายการโทรทัศน์มักจะเน้นที่เรื่องประเทืองเริงรมย์ ละครโทรทัศน์มักจะหนีไม่พ้นเรื่องเกี่ยวกับการชิงรักหักสวาท ความฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม ความมักใหญ่ใฝ่สูง แม้จะไม่อยากดูแต่เปลี่ยนไปช่องไหนก็พบแต่เรื่องทำนองนี้ คนผู้เสพรับข่าวสารจึงถูกสั่งสมทีละน้อยโดยไม่รู้สึกตัว
แผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมเขียนไว้กว้างๆโดยไม่ได้เน้นไปที่คำสอนของศาสนาใดศาสนาหนึ่ง แต่มุ่งเน้นที่สถาบันหลักสำคัญของชาตินั่นคือครอบครัว การศึกษาและชุมชน มองข้ามความเป็นปัจเจกบุคคลซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนสังคม อันที่จริงปัจเจกก็มีความสำคัญ เหมือนเรือทั้งลำที่กำลังลอยอยู่กลางทะเล หากมีรอยรั่วเพียงน้อยนิดแล้วไม่อุดรูรั่ว รูรั่วนั้นไม่นานก็จะขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ สังคมก็ไม่ต่างกัน หากปล่อยให้คนอันเป็นส่วนหนึ่งของสังคมขาดคุณธรรมจะจะทำให้ลุกลามไปยังส่วนอื่นๆของสังคมด้วย บาดแผลในร่างกายหากไม่รีบรักษาอาจจะลุกลามใหญ่โตจนยากจะแก้ไขได้
จะส่งเสริมคุณธรรมอย่างไรนั้น แล้วแต่คนจะคิด แต่หากถามผู้เขียนในวันนี้ก็ต้องบอกว่าควรเริ่มจากสถาบันที่เล็กที่สุดคือครอบครัวนี่แหละ หากครอบครัวยังไม่มั่นคงก็ยากที่จะทำให้คนมีคุณธรรมได้ เพราะคุณธรรมนั้นต้องค่อยๆสั่งสม จากนั้นจึงขยายไปยังสถาบันการศึกษา โดยมีสถาบันศาสนาคอยให้คำแนะนำ ที่สำคัญสื่อสารมวลชนทั้งหลายก็ต้องพยายามสอดแทรกตัวอย่างที่ดีให้มากขึ้น มิใช่มุ่งเสนอแต่ด้านร้ายจนอาจจะกลายเป็นวัฒนธรรมเลียนแบบ หากเป็นการเลียนแบบในด้านดีก็น่าส่งเสริม แต่ด้านไม่ดีควรเสนอให้น้อยลง แม้จะยากแต่ไม่ใช่ทำไม่ได้
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
13/09/55