คืนนี้พระจันทร์ทอแสงส่องสว่างอยู่กลางฟ้าที่ไร้เมฆหมอก แม้จะเป็นชั่วครู่ก่อนที่จะมีเมฆอีกกลุ่มลอยมาบดบัง แต่ทว่าวันนี้พระจันทร์สวยงามสดใสเป็นพิเศษ วันขึ้นสิบห้าเดือนสิบเป็นวันสารทจีน ตามคติความเชื่อของคนจีน แต่เนื่องจากผู้เขียนไม่ได้มีเชื้อสายของคนมีแซ่มาก่อนเลย ส่วนจะสืบเชื้อสายมาจากไหนนั้นพ่อก็ไม่ได้บอกเล่าให้ฟังเลย จึงสืบสาวหาต้นตระกูลตัวเองไม่ได้เหมือนคนอื่นๆที่บางคนอาจจะมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับบรรพบุรุษหลายชั่วอายุคน จึงไม่มีความรู้เกี่ยวกับวันสารท วันไหว้พระจันทร์เลย แต่ทว่าได้ไหว้พระจันทร์มานานแล้ว แต่ไม่ได้ไหว้พระจันทร์อย่างเดียว ยังไหว้คุณความดีของกระต่ายที่ปรากฏอยู่บนดวงจันทร์ ตามนิทานของแม่ที่เคยเล่าให้ฟังสมัยที่ยังเป็นเด็ก
ความทรงจำเมื่อครั้งยังเป็นเด็กนั้นแม้กาลเวลาจะผ่านไปเนิ่นนานแต่เรื่องบางอย่างกลับจำได้ไม่ลืมเลือน โดยเฉพาะนิทานของแม่ที่มักจะเล่าให้ฟังก่อนนอน แม่เคยร้องเพลงให้ฟัง “จันทร์เอ๋ยขอข้าวขอแกง ขอแหวนทองแดงผูกมือลูกข้า ขอช้างขอม้าให้ไอ้หมามันขี่” ตอนนั้นจำได้ว่าได้ทักท้วงแม่ว่า “ไอ้หมา” มันคือใครกันแม่ เพราะตอนนั้นแม่มีลูกแล้วสามคน ผมไม่ชอบขี่ม้า แม่ไม่ต้องขอม้าให้หรอก ผมชอบขี่ควาย แม่ขอควายให้ผมสิ ผมจะได้ขี่ไปท้องนาช่วยพ่อไถนา”
วันไหนที่แม่อารมณ์ดีมักจะมีนิทานมาเล่าให้ฟังเสมอ สมัยนั้นแม้จะเป็นเรื่องที่แสนธรรมดาและเล่าซ้ำหลายครั้ง แต่ก็ยังชอบฟังเพราะไม่มีสื่ออื่นๆที่จะรับรู้ได้เลย นอกจากวิทยุ แม่ชอบฟังละครวิทยุ เสียงพระเอกนางเอกฟังแล้วรื่นหู เสนาะเพราะพริ้ง เวลาแม่เล่านิทานก็จะทำเสียงคล้ายนางเอกละครวิทยุทำเสียงอ่อนเสียงหวานในเวลาเล่านิทาน
ในวันใดที่เดือนหงาย จันทร์ข้างขึ้นเต็มดวง แม่มักจะมานั่งที่นอกชานเรือน ปั่นฝ้ายหรือไม่ก็เย็บเสื้อกางเกงของพ่อที่ขาดและกางเกงของเหล่าลูกชายทโมนทั้งสามที่มักจะมีเสื้อหรือกางเกงขาดอยู่เสมอ เพราะชอบวิ่งเล่นจนบางครั้งต้องไปเกี่ยวกับกิ่งไม้จนขาดวิ่น แม่ทำงานไปและเล่นนิทานให้ลูกๆฟังไปด้วย
ในขณะที่พ่อก็จะทำงานไปด้วยเหมือนกันเช่นถักแห ทออวน ฟั่นเชือก เป็นต้น อยู่ใกล้ๆกันนั่นแหละ แต่พ่อไม่ค่อยมีเรื่องอะไรมาเล่าให้ฟัง นอกจากมีมีเสียงกระแอม ไอ หรือหัวเราะหึๆเวลาที่แม่เล่านิทานผิดเรื่อง เช่นเรื่องผาแดงนางไอ่ จำปาสี่ต้น นางนกกระยางขาว บางครั้งแม่ก็สมมุติเรื่องและเหตุการณ์โดยเปลี่ยนสถานที่ดื้อๆ เช่นเรื่องผาแดงนางไอ่อันเป็นนิทานที่มีถิ่นกำเนิดที่หนองหาร สกลนครโน่น แต่แม่บอกว่า ผาแดงมาแข่งบั้งไฟที่บริเวณบ้านเรานี่แหละ ยังมีหลักฐานให้เห็นอยู่เลยเช่นบ่อน้ำต่างๆนั้นบางบ่อเกิดจากบั้งไฟของท้าวผาแดง และพระยาขอม ที่วัดบ้านเราก็มีอยู่บ่อหนึ่ง
พ่อฟังไปสักพักก็จะเริ่มขัดคอว่า “เอาเข้าไป ผาแดงอยู่สกลนครโน่น จะมาที่อุดรธานีได้อย่างไรกัน มันห่างกันตั้งหลายร้อยกิโลเมตร หากบั้งไฟนั้นมาถึงที่นี่จริง บั้งไฟนั้นต้องมีขนาดใหญ่มาก จะเอาไม้ไผ่ที่ไหนมาทำบั้งไฟเล่า”
แม่ก็จะเถียงว่า “ใช้ไม้ไฝ่ที่พ่อปลูกไว้นั่นไง มามัดรวมกันหลายๆต้น มันก็มีขนาดใหญ่เองแหละพ่อ” พอมาถึงตรงนี้นิทานของแม่ก็เล่าต่อไม่ได้ แม่ก็จะพูดเรื่องอื่น พ่อมักมีเหตุผลที่แม่เถียงไม่ค่อยได้ ส่วนแม่มักจะเป็นเรื่องของจินตนาการ เล่าไปเรื่อยบางครั้งก็คิดเองแต่งเองก็มี
จำได้ว่าครั้งหนึ่งเคยถามแม่ว่า “ทำไมกระต่ายจึงต้องไปอยู่บนดวงจันทร์” แม่ก็จะกระแอมเหมือนนางเอกละครวิทยุ และเริ่มต้นเล่าเรื่องว่า “นานมาแล้ว สัตว์ทั้งหลายพูดได้ ในป่าแห่งหนึ่งมีสัตว์สี่ตัวเป็นสหายกันรักกันมากคือลิง สุนัขจิ้งจอก นาก และกระต่ายอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข วันหนึ่งเป็นวันอุโบสถ กระต่ายจึงบอกให้สัตว์ทั้งสามรักษาศีลและสมาทานอุโบสถ”
วันนั้นนาคได้ปลาตะเพียนมาตัวหนึ่ง ลิงได้ผลไม้มาหลายผล ฝ่ายสุนัขจิ้งจอกออกเที่ยวแสวงหาเหยื่อ ได้เนื้อย่างมาหนึ่งชิ้นและหม้อนมส้มหนึ่งหม้อในกระท่อมของคนเฝ้านาคนหนึ่ง นมส้มคงคล้ายๆกับนมวัวของพ่อเองนี่แหละ
ส่วนกระต่ายคิดว่าพอถึงเวลาอาหารจึงจะออกไปกินหญ้าแพรก จึงนอนอยู่ในพุ่มไม้เป็นที่อยู่ของตน คิดอยู่ว่าเราไม่อาจให้หญ้าแก่พวกยาจกผู้มายังสำนักของเราได้ แม้งาข้าวสารหรืออาหารแห้งอย่างอื่นก็ไม่มี ถ้าหากมียาจกคนขอทานมาขอทานยังสำนักของเราก็จะให้เนื้อในร่างกายของเราอุทิศตนเป็นอาหารให้ทานแก่ผู้ปรารถนา
สัตว์สหานทั้งสี่รักษาอุโบสถศีลจึงไม่กินอาหารในเวลาเย็นต่างนอนรออรุณรุ่งจะมาถึงจึงจะกินอาหาร หรือหากมีใครมาขอก็จะบริจาคอาหารของตนเป็นทานก่อน เรียกว่า “ให้ทานก่อนกิน ถือศีลก่อนนอน” พวกเองต้องเป็นคนดี ต้องรักษาศีลและรู้จักใส่บาตรในตอนเช้าอย่าลืม อย่าได้อายลิงมัน
ร้อนถึงพระอินทร์วันนั้นเกิดที่นั่งร้อนรนขึ้นมา นิทานของคนโบราณมักจะพระอินทร์มาเกี่ยวข้องเสมอ พระอินทร์เป็นตัวแทนของความดีและยุติธรรม พระอินทร์คิดว่าคงมีเหตุบางอย่างเกิดขึ้นที่โลกมนุษย์เมื่อสอดส่องด้วยอิทธิฤทธิ์จึงรู้ว่าสัตว์ทั้งสี่กำลังรักษาอุโบสถ เราต้องไปทดลองดูว่าจะรักษาได้จริงหรือไม่ คืนนั้นพระอินทร์จึงปลอมตัวเป็นคนแก่ เดินเข้าไปหานากบอกว่ากำลังหิวขออาหารให้แก่ฉันด้วยเถิด นากจึงแบ่งปลาตะเพียนที่เก็บไว้ให้ทานแก่ชายแก่คนนั้น
ชายชราเข้าไปหาสุนัขจิ้งจอกและแกล้งขออาหาร สุนัขจิ้งจอกจึงแบ่งเนื้อและนมส้มให้ทานแก่ชายชราขอทานคนนั้น จากนั้นชายชราเข้าไปหาลิง และลิงก็ได้ให้ผลมะม่วงสุกให้แก่ชายชรา ก่อนสว่างไม่นานชายขอทานก็เข้าไปหากระต่ายที่กำลังรักษาอุโบสถศีล และบอกว่ากำลังหิวขออาหารให้แก่ข้าด้วยเถิด
กระต่ายได้ฟังดังนั้นก็มีความยินดี จึงบอกว่าให้ชายชราก่อไฟขึ้น เมื่อพระอินทร์ในร่างชายแก่ทำตาม กระต่ายจึงบอกว่า “ข้าพเจ้าไม่มีอะไรจะให้ทานเป็นอาหารแก่ท่าน แต่จะให้ร่างกายนี้เป็นทาน” จากนั้นก็ตั้งจิตอธิษฐานในการบริจาคร่างกายเป็นทาน กระโดดเข้ากองไฟที่กำลังลุกโชน แต่เนื่องด้วยอานุภาพของพระอินทร์ ไฟนั้นกลายเป็นเหมือนน้ำเย็น
ชายชราจึงกลับร่างเป็นพระอินทร์ตามเดิมแสดงตนแก่กระต่ายพลางบอกว่า “เรามาเพื่อทดลองท่านว่าจะทำอย่างที่ตั้งใจไว้จริงหรือไม่ ท่านรักษาอุโบสถศีลได้จริง และถวายร่างกายเป็นทานจริงอย่างที่ท่านได้กล่าวสัจวาจาไว้ ต่อจากนี้ไปขอให้คุณความดีของท่านจงปรากฏให้คนได้ระลึกนึกถึงตลอดไปเถิด” พระอินทร์จึงเนรมิตให้มีภาพกระต่ายปรากฏบนดวงจันทร์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
หากจะไหว้พระจันทร์ก็ให้นึกถึงกระต่ายที่ได้บำเพ็ญทานบารมีโดยการบริจาคร่างกายเป็นทาน การรักษาศีลและให้ทานเป็นความดีที่ควรถือเป็นแบบอย่าง เป็นมนุษย์ต้องทำดี ไม่อย่างนั้นจะได้ชื่อว่าเกิดมาเป็นมนุษย์ทั้งที จะไม่ได้อายลิง อายนาก อายสุนัขจิ้งจอก และอายกระต่ายบนดวงจันทร์” นิทานจบก็ได้เวลาหลับนอนพักผ่อนพอดี
"แล้วเรื่องกระต่ายหมายจันทร์หละแม่ เรื่องมันเป็นอย่างไร" ลูกชายทโมนยังอยากฟังต่อ แม่เหนื่อยแล้วจึงบอกว่า "เรื่องนี้ต้องให้พ่อเอ็งเป็นคนเล่า" ซึ่งจนแล้วจนรอดพ่อก็ไม่เคยเล่าสักที นิทานของแม่จบลงด้วยดี ภายหลังเมื่อโตขึ้นได้ศึกษาพระพุทธศาสนาจึงพบว่านิทานของแม่แท้จริงคือเรื่องของการบำเพ็ญบารมีของพระพุทธเจ้า เรื่องกระต่ายที่ปรากฏบนดวงจันทร์มีแสดงไว้ในอรรถถาสสปัณฑิตชาดก ขุททกนิกาย แม้เนื้อหาที่แม่เคยเล่าจะไม่ตรงกับในหนังสือ แต่นิทานที่แม่เล่าจำได้ไม่เคยลืม เหมือนเงาร่างของกระต่ายตัวนั้นที่สถิตอยู่บนดวงจันทร์ตราบชั่วกาลนาน
ในคืนเดือนหงายหากเพ่งมองให้ดีจะเห็นเงาร่างของกระต่ายอยู่บนดวงจันทร์ หากถาม นีล อาร์มสตอง มนุษย์คนแรกที่เหยียบดวงจันทร์ ที่พึ่งเสียชีวิตไปไม่นาน คงบอกว่านั่นเป็นเพียงภูเขาและฝุ่นละออง ไม่มีกระต่ายอย่างที่นัยน์ตามนุษย์บางประเทศมองเห็น แม้เมื่อดวงจันทร์ถูกมนุษย์ขึ้นไปเยือนแล้ว นักวิทยาศาสตร์จะได้อธิบายตามหลักวิทยาศาสตร์แล้วก็ตาม แต่ทว่านิทานของคนโบราณก็ยังใช้ได้ เพราะนั่นคือเรื่องเล่าขานที่สอนให้คนทำความดี แม้ในทุกวันนี้ในวันที่พระจันทร์เต็มดวงก็ยังนึกถึงกระต่ายโพธิสัตว์ตัวนั้น เป็นกระต่ายที่รักษาศีลอุโบสถ และเป็นกระต่ายตัวที่จำมาจากนิทานที่แม่เคยให้ฟังในสมัยที่ยังเป็นเด็ก
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
31/08/55