แม้จะรู้ว่าเกิด แก่ เจ็บ ตายเป็นเรื่องธรรมดา แต่ทว่าการทำใจให้ยอมรับกับสิ่งที่พานพบเวลาเจ็บป่วยขึ้นมาก็ต้องหาทางรักษาเยียวยาให้หายเป็นปรกติเร็วเท่าไหร่ยิ่งดี แต่ถ้ารักษาไม่หายต้องตายขึ้นมาก็ต้องจัดงานศพ ตามประเพณีที่ถือปฏิบัติกันมานาน คนนั้นหากยังอยู่ให้สุขสบาย คนตายให้เผา งานศพส่วนมากจะจัดที่วัดอาจจะสวดอภิธรรมจะกี่วันนั่นก็แล้วแต่ญาติของผู้เสียชีวิต งานศพแต่ละแห่งอาจแตกต่างกันไป แต่ที่วัดมัชฌันติการามนิยมสวดพระอภิธรรมสามคืน วันสุดท้ายทำบุญเลี้ยงพระถวายภัตตาหารเพลเสร็จ ก่อนจะนำศพขึ้นสู่เมรุจะมีการแสดงพระธรรมเทศนาหนึ่งกัณฑ์
วันนั้นหลวงตาไซเบอร์ฯ รับนิมนต์ไปเทศน์งานศพกำหนดไว้เวลาบ่ายสองโมง แต่หลังฉันภัตตาหารเพลเสร็จแล้วไม่รู้จะทำอะไรไม่อยากอยู่ที่ห้องในช่วงเวลาหลังเที่ยงวัน เพราะมีธรรมชาติอย่างหนึ่งหากท้องตึง หนังตาจะหย่อน เดี๋ยวก็เผลอหลับเสียงานเขาพอดี จึงเดินเล่นไปนั่งรอที่สำนักงานเลขานุการของวัด บ่ายนั้นเงียบมาก มีเพียงเลขานุการวัดรูปเดียวที่วิ่งวุ่นคอยรับแขกที่มาไม่ขาดสาย บางคนมายืมสิ่งของเพื่อไปใช้ในพิธีทำบุญ บางคนนำสิ่งของมาส่ง บางคนมานิมนต์พระสงฆ์เพื่อจะไปร่วมพิธีทำบุญในวันรุ่งขึ้น ส่วนหลวงพ่อเจ้าอาวาสได้ทราบมาว่าวันนี้มีภารกิจนอกวัด ไม่ได้อยู่ที่วัด
นั่งคิดว่าจะเทศน์เรื่องอะไรดี คนฟังเป็นใคร คนตายมีประวัติความเป็นมาอย่างไร กัณฑ์เทศน์วันนั้นก็ไม่ได้เตรียมการณ์ล่วงหน้าอะไรมาก เพียงแต่บันทึกหัวข้อไว้คร่าวๆสรุปว่า “ความสำคัญของการมางานศพแสดงให้เห็นถึงความสามัคคีปรองดอง มองเห็นสัจธรรม กระทำที่พึ่ง นึกถึงพระไตรรัตน์” ซึ่งก็จดจำมาจากที่เคยได้ฟังหลวงพ่อนักเทศน์ท่านหนึ่งมานานจนไม่รู้ว่ามาจากไหนแล้ว หัวข้อสั้นๆเพียงเท่านี้ จากนั้นเวลาขึ้นธรรมาสน์ก็บรรยายขยายความเอาเอง หากคนฟังตั้งใจฟังก็แสดงยาวหน่อย หากเห็นว่าคนฟังเริ่มจะคุยกันก็เตรียมพร้อมที่จะสรุปได้ทันที แม้หัวข้อจะเป็นอย่างเดียวกัน แต่เวลาขยายความสั้นยาวต่างกัน
เทศน์งานศพเนื้อหาแบบเดิมก็ได้ไม่ต้องมีอะไรมาก เพราะคนฟังไม่ใช่กลุ่มเดียวกัน นานๆจะได้มาร่วมงานศพสักครั้ง หากในงานบังเอิญว่าจำหน้าใครได้ก็จะเลี่ยงไม่เทศน์เรื่องเดิม อธิบายไปเรื่อยๆ ใช้เวลาประมาณสามสิบนาทีก็เสร็จงาน รออีกสักสองชั่วโมงก็จะมีพิธีฌาปนกิจ ธรรมดาของงานเป็นดั่งนี้ หากคิดจะเป็นนักเทศน์หรือจำเป็นต้องเทศน์ก็ต้องเตรียมไว้อย่างน้อยสามงานคือ “งานบวช งานศพ และงานทำบุญทั่วไป” ได้เวลายกหัวข้อขึ้นตั้งจากนั้นก็ขยายความเอาเอง
นั่งคิดอะไรเพลินใต้ต้นไม้หน้าสำนักงานของวัด ลมกำลังพัดเย็นสบาย เจ้าหน้าที่ประเมรุเดินเข้ามาหาพลางเอ่ยถามว่า “วันนี้อาจารย์มาก่อนเวลา ยังมีเวลาอีกตั้งชั่วโมงรีบมาทำไม” จึงบอกว่า “บ่ายอย่างนี้ไม่อยากอยู่ในห้องประเดี๋ยวหลับ” จึงชวนคุยเล่นๆว่า “เป็นไงบ้างสบายดีอยู่หรือ” เจ้าหน้าที่บอกว่า “ลำบากครับไม่ค่อยมีเวลาว่าง ต้องทำงานแทบทั้งวัน” เมื่อเห็นว่าคู่สนทนาเงียบมองหน้าเหมือนกับจะเป็นคำถาม
เขาจึงขยายความว่า “ผมต้องตื่นตั้งแต่หกโมงเช้าไปส่งลูกชายคนเล็กเข้าโรงเรียน กลับมาก็ต้องไปส่งลูกสาวคนโตที่ที่ทำงาน กลับมาถึงบ้านก็ปาเข้าไปสามโมงเช้าแล้วครับ จากนั้นก็ต้องเตรียมอุปกรณ์ในการทำอาหารให้ภรรยาขายในตอนกลางวัน ร้านอาหารตามสั่งนะครับ ต้องเปิดร้านก่อนสิบโมงเช้า หากมีงานที่วัดก็ต้องให้ทันพระสวดมนต์ตอนสิบโมงครึ่ง ปล่อยให้ภรรยาขายอาหารคนเดียว ภาคบ่ายก็งานศพนี่แหละครับ ต้องรีบทำให้เสร็จก่อนบ่ายสามโมง เพราะจะต้องไปรับลูกชายที่โรงเรียนอีก จากนั้นก็ไปรับลูกสาวคนโตกลับบ้าน ไม่นานก็ได้เวลารับประทานอาหารเย็น ล้างอุปกรณ์ทำอาหารล้างถ้วยล้างชามกว่าจะเสร็จก็เที่ยงคืนแหละครับ วงจรชีวิตผมเป็นไปดั่งนี้มานานหลายปีแล้ว จนผมแทบจะลืมไปแล้วว่าวันหนึ่งผมทำอะไรบ้าง”
ฟังแล้วต้องอึ้งชีวิตของเจ้าหน้าที่ประจำเมรุต้องทำงานปากกัดตีนถีบขนาดนั้น เจ้าหน้าที่คนนั้นบอกเหมือนขอร้องว่า “อาจารย์ต้องรีบเทศน์ให้จบก่อนบ่ายสามโมงนะครับ ผมจะรีบไปรับลูกที่โรงเรียน ปล่อยให้กลับเองไม่ได้ การเดินทางลำบาก ยิ่งวันไหนที่รถติดกว่าจะถึงบ้านก็แทบแย่นะครับ”
ปรกติไม่ค่อยได้เทศน์ในงานศพ เพราะมักจะเป็นเวลาเดียวกันที่จะต้องไปทำงานที่ศาลา นครปฐม ต้องออกเดินทางประมาณเที่ยงวัน กลับมาก็หนึ่งทุ่ม แต่หากวันไหนที่ไม่มีพระสงฆ์รูปใดว่างก็จะปลีกเวลามาแสดงธรรมให้ เคยบอกหลายครั้งแล้วว่าน่าจะเปลี่ยนเวลาเป็นหลังเพลก่อนเที่ยง แต่ก็ทำได้ไม่กี่ครั้งก็ต้องเลิก เพราะเวลาในการเทศน์นั้น เจ้าภาพแต่ละงานเป็นคนกำหนด บางอย่างพระก็กำหนดเองไม่ได้
การแสดงธรรมในวันนั้นจึงต้องย่อเนื้อความให้สั้น ยกหัวข้อขึ้นตั้งเหมือนเดิม และอธิบายขยายความสรุปความว่า คำว่า “สามัคคีปรองดอง” หมายถึงความสามัคคีในหมู่ญาติ เพราะหากมีญาติเสียชีวิตมีกำหนดฌาปนกิจแล้ว ญาติไม่มาร่วมงานดูกระไรอยู่ แม้จะอยู่ไกลอย่างไร หากไม่ลำบากเกินไปก็ต้องมาร่วมงานให้ได้ บางคนไม่เคยได้พบหน้าญาติเลยหลายปี มีโอกาสเห็นหน้าพบปะกันก็เวลาที่ญาติพี่น้องเสียชีวิตนี่แหละ หากจะมีกรณีพิพาทในระหว่างหมู่ญาติก็ให้เก็บไว้ก่อน เรียกว่าเก็บความชัง ขังความแค้นไว้สักครู่ ไว้ให้งานเสร็จก่อนค่อยว่ากันใหม่ หากทะเลาะกันในงานโบราณว่าคนตายนอนตาไม่หลับ
คำว่า “มองเห็นสัจธรรม” ความตายคือคือความจริงแท้ ไม่มีใครหนีพ้น ทุกคนต้องตายเหมือนกัน หากทุกคนมองทะลุเข้าไปในโลงศพก็จะเห็นเหมือนกันนั่นคือผู้ที่นอนนิ่งอยู่ในโลงนั้นต่างก็เคยมีชีวิตมีลมหายใจเหมือนเรานั่นแล จงจำไว้เถิดว่า “เรามีความแก่เป็นธรรมดา มีความเจ็บเป็นธรรมดา มีความตายเป็นธรรมดา” นี่คือสัจธรรมความจริงที่ทุกควรรับรู้ไว้
คำว่า “กระทำที่พึ่ง” แต่ละคนพึ่งคนอื่นตลอดไปไม่ได้ เราพึ่งพ่อแม่ได้ก็เพียงไม่กี่ปี ญาติพี่น้องก็พึ่งได้เพียงบางช่วงเวลาเท่านั้น ที่พึ่งที่แท้นั้นแต่ละคนต้องสร้างที่พึ่งด้วยตนเอง ที่พึ่งที่ดีที่สุดก็คือการทำบุญซึ่งจะเป็นเสบียงติดตัวไปในภพหน้า ที่เรียกว่า “สี่คนหาม สามคนแห่ คนหนึ่งนั่งแคร่อีกสองคนพาไป” นั่นไง ปริศนาธรรมข้อนี้สอนให้คนไม่ประมาท ต้องสร้างที่พึ่งให้แก่ตนให้ได้ เพราะสองคนที่พาไปหมายถึงบาปและบุญ
คำว่า “นึกถึงพระไตรรัตน์” หมายถึงได้มีโอกาสเข้าวัด อย่างน้อยก็ก่อนเสียชีวิต หากได้คิดก็จะได้ทำบุญไว้ก่อนเสียชีวิต มีคนเคยบอกว่าให้เข้าวัดก่อนที่จะมีคนนำเข้า หากปล่อยให้ถึงตอนนั้นมีพระนำหน้าก็ไม่รู้เรื่องแล้ว หากจะทำบุญก็ต้องเริ่มทำ เพราะหากทำบุญช้าไปใจย่อมยินดีในบาป
เหลือบดูเวลาตอนนั้นเลยบ่าสองโมงครึ่งไปหลายนาทีแล้ว เห็นเจ้าหน้าประจำเมรุเดินไปเดินมา ไม่อยู่นิ่งพลางยกนาฬิกาที่ข้อมือดูเวลา คงเกรงว่าจะไปรับลูกที่โรงเรียนไม่ทัน หรือหากช้าไปลูกจะรอนานเกินไป เทศน์วันนั้นจึงสั้นกระชับรีบสรุปจบในบัดดลนั้น ตอนนั้นเจ้าภาพบางคนพึ่งเดินเข้ามาในงาน เขาคงไม่ได้ตั้งใจมาฟังเทศน์ คงตั้งในจะมาเผาศพ
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
21/08/55