วันวิสาขบูชาปีนี้ตรงกับวันที่ 4 มิถุนายน พุทธศักราช 2555 เป็นวันคล้ายวันประสูติ ตรัสรู้และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า และเป็นวันครบรอบ 2600 ปีแห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ทั้งหน่วยงานราชการ สถาบัน องค์กรทางศาสนาจึงได้ร่วมมือกันจัดงานเนื่องในวันวิสาขบูชา และเรียกงานในครั้งนี้ว่า “พุทธชยันตี” วันครบรอบวันประสูติ ตรัสรู้และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า แต่เน้นเป็นกรณีพิเศษเพราะครบรอบ 2600 ปีแห่งการตรัสรู้
คำว่า “พุทธชยันตี” มาจากศัพท์ พุทธ+ชยันตี (คำว่า “ชยันตี” เป็นคำในภาษาสันสกฤตแปลว่า “วันครบรอบ” ตรงกับภาษาอังกฤษว่า “Anniversary” ส่วนคำว่า “พุทธ” เป็นภาษาบาลี คำนามเพศชายแปลว่า พระพุทธเจ้า ผู้บรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ หากเป็นคำคุณนาม “พุทธ”ก็จะแปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานอย่างเต็มที่ เมื่อนำมารวมกันเป็น “พุทธชยันตี” จึงแปลว่า การครบรอบวันประสูติ วันตรัสรู้และวันปรินิพพานของของพระพุทธเจ้า
ชาวพุทธเชื่อกันว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ในวันเพ็ญเดือนวิสาข(เดือนหก)ที่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม หรือปัจจุบันคือพุทธคยา ประเทศอินเดีย ก่อนพุทธศักราช 45 ปี พระพุทธเจ้าเผยแผ่ประกาศพระพุทธศาสนาเป็นเวลา 45 ปีก่อนจะปรินิพพาน ปีพุทธศักราชเริ่มนับเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานได้หนึ่งปี เมื่อนำมารวมกันจึงกลายเป็น 45+ 2555 จึงเป็นปีแห่งพุทธชยันตี 2600 ปีแห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า หรือวันครบรอบชัยชนะของพระพุทธเจ้า หรือจะเรียกว่า “ศรีสัมพุทธชันตี สัมพุทธชยันตี” ก็ได้
ในวันประสูติเจ้าชายสิทธัตถะได้เปล่ง “อาสภิวาจา” ซึ่งมาจากคำว่า “อาสภี” เป็นคำคุณนามแปลว่าเข้มแข็ง ประเสริฐ กล้าหาญ เหมือนวัวตัวผู้ ส่วนคำว่า “อาสภ” เป็นคำคุณนามและเป็นคำนามแปลว่าเหมือนวัวตัวผู้ วีรบุรุษ ผู้ยิ่งใหญ่ ดังนั้น “อาสภิวาจา” จึงแปลว่า วาจาอาจหาญ วาจาของผู้ยิ่งใหญ่ ดังที่มีปรากฏในมหาปทานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค(10/26/11) ความว่า “ธรรมดามีอยู่ดังนี้พระโพธิสัตว์ผู้ประสูติแล้วได้ครู่หนึ่ง ประทับยืนด้วยพระบาททั้งสองอันสม่ำเสมอ ผินพระพักตร์ทางด้านทิศอุดร เสด็จดำเนินไปเจ็ดก้าวและเมื่อฝูงเทพดากั้นเศวตฉัตรตามเสด็จอยู่ทรงเหลียวแลดูทั่วทุกทิศ เปล่งวาจาว่าอันองอาจว่า “เราเป็นยอดของโลก เราเป็นใหญ่แห่งโลก เราเป็นผู้ประเสริฐแห่งโลก ความเกิดของเรานี้เป็นครั้งที่สุด บัดนี้ความเกิดอีกมิได้มี” หากจะเขียนเป็นภาษาบาลีก็จะเป็น “อคฺโคหมสฺมิ โลกสฺส เชฏฺโฐหมสฺมิ โลกสฺส เสฏฺโฐหมสฺมิ โลกสฺส อยมนฺติมา เม ชาตินตฺถิทานิ ปุนพฺภโวติ”
อาสภิวาจาจึงเป็นการประกาศเป้าหมายในการเกิดของเจ้าชายสิทธัตถะ ซึ่งเกิดมาเพื่อเป็นยอด เป็นใหญ่ เป็นผู้ประเสริฐแห่งโลก และจะเกิดเป็นครั้งสุดท้าย คนส่วนมากเกิดมาร้องให้ แต่เจ้าชายสิทธัตถะเกิดมาก็เปล่งวาจาได้ อาจจะมีผู้โต้แย้งว่า “คนเกิดมาพูดได้เลยนั้นมีอยู่หรือ เท่าที่ศึกษาจากประวัติศาสตร์ก็น่าจะมีอยู่เพียงเจ้าชายสิทธัตถะผู้เดียวนี่แหละ คนอื่นๆยังค้นหาไม่พบ หรือหากจะมีก็ยังไม่เคยได้ยิน
แต่ว่าในพระพุทธศาสนาก็ได้แสดงเรื่องที่ไม่ควรคิดไว้ว่าหากใครคิดเรื่องสี่ประการ มักจะหาคำตอบได้ยาก บางครั้งคิดมากอาจจะมีส่วนแห่งการเป็นบ้าก็ได้ เรื่องที่ไม่ควรคิดเรียกว่า “อจินไตย” แสดงไว้ในในอจินติตสูตร อังคุตรนิกาย จตุกกนิบาต(21/77/79) ความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย อจินไตยสี่ประการนี้ อันบุคคลไม่ควรคิด เมื่อบุคคลคิดพึงเป็นผู้มีส่วนแห่งความเป็นบ้าเดือดร้อน คือ พุทธวิสัยของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ฌานวิสัยของผู้ได้ฌาน วิบากแห่งกรรม ความคิดเรื่องโลก”
เรื่องของการเกิดมาเดินได้และพูดได้จึงอยู่ในพุทธวิสัย เป็นวิสัยของผู้ที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ถึงจะคิดค้นตามหลักเหตุผลอย่างไรก็คงหาคำตอบไม่ได้ คิดมากๆเข้าอาจจะถึงขั้นเป็นบ้าได้ ส่วนผู้ที่ได้ฌานอาจจะทำอะไรที่มนุษย์ธรรมดาทำไม่ได้ เรื่องของผู้มีฤทธิ์คิดไปแล้วปวดหัว วิบากกรรมผลการให้ผลของกรรมก็อธิบายยาก บางครั้งก็อยู่นอกเหตุเหนือผล ส่วนเรื่องของโลกก็ยากที่จะเข้าใจได้ อยู่ดีๆอาจจะเกิดแผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด น้ำท่วมโลกหรือโลกอาจจะแตกสลายหายวับไปกับตาเมื่อไหร่ก็ได้ เพราะโลกเป็นเพียงดาวเคราะห์ขนาดเล็กดวงหนึ่งในจักรวาลเท่านั้นเอง
ก่อนจะมาเกิดในชาติสุดท้ายเพื่อตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้านั้น พระโพธิสัตว์ได้บำเพ็ญบารมีเป็นเวลายาวนานถึงสี่อสงขัยแสนกัป หากจะถามว่าเป็นเวลานานเท่าใด อันนี้ก็ตอบยากอีก คำว่า “อสงขัย” แปลว่านับไม่ได้ หากอยากจะพิสูจน์ก็ลองนับดูเอาเองว่าคนธรรมดานับได้ถึงตัวเลขเท่าไหร่ เริ่มจาก 1-2-3-4 ไปเรื่อยๆ พอถึงจุดหนึ่งจะลืม เช่นอาตมานับได้ประมาณแสนปลายๆก็ลืมแล้ว ต้องเริ่มต้นนับใหม่อีกครั้ง บางครั้งนับได้ไม่ถึงร้อยด้วยซ้ำลืมก่อน
ในแต่ละชาติที่ถือกำเนิดพระโพธิสัตว์ก็จะบำเพ็ญพุทธการกธรรม 10 คือ ทานบารมี สีลบารมี เนกขัมมบารมี ปัญญาบารมี วิริยะบารมี ขันติบารมี สัจจบารมี อธิษฐานบารมี เมตตาบารมี และอเบกขาบารมี บริบูรณ์ นอกจากนั้นในชาติที่จะตรัสรู้เป้นพระพุทธเจ้าก็ต้องประกอบด้วยธรรมสโมธาน 8 ประการบริบูรณ์คือความเป็นมนุษย์ ความสมบูรณ์ด้วยเพศ ( ชาย) เหตุ (ที่จะได้บรรลุพระอรหัต) ได้พบเห็นพระศาสดา ได้บรรพชา สมบูรณ์ด้วยคุณ(คือได้อภิญญาและสมาบัติ) การกระทำอันยิ่ง (สละชีวิตถวายพระพุทธเจ้า) ความเป็นผู้มีฉันทะ (อุตสาหะพากเพียรมาก) และบำเพ็ญ
ในชาติสุดท้ายก่อนจะมาประสูติเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ เมื่อกำเนิดเป็นเวสสันดรก็ได้บำเพ็ญการบริจาคที่ยิ่งใหญ่ห้าประการครบบริบูรณ์ที่เรียกว่า "ปัญจมหาบริจาค" คือ สิ่งที่บริจาคได้ยากยิ่งห้าประการคือ "บริจาคทรัพย์ อวัยวะ ชีวิต บุตร ภรรยา" ดังที่แสดงไว้ในอรรถกถาเวสสันตรชาดก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม 4 ภาค 3 หน้าที่ 732 ความว่า "ธรรมคือประเพณีของพระโพธิสัตว์ในกาลก่อน ได้ยินว่าพระโพธิสัตว์นั้นทรงอนุสรณ์ถึงประเพณีแห่งพระโพธิสัตว์ทั้งหลายในขณะนั้นแต่นั้นพระองค์ทรงดำริว่า พระโพธิ์สัตว์ทั้งปวงไม่ทรงบริจาคมหาบริจาค 5 ประการ คือ บริจาคทรัพย์ บริจาคอวัยวะ บริจาคชีวิตบริจาคบุตร บริจาคภรรยา หาเคยเป็นพระพุทธเจ้าได้ไม่ ก็ตัวเราก็เข้าอยู่ในจำพวกพระโพธิสัตว์เหล่านั้น แม้เราไม่บริจาคบุตรและชายา ก็ไม่อาจจะเป็นพระพุทธเจ้าได้ ทรงดำริฉะนี้แล้ว ยังสัญญาให้เกิดขึ้นว่า แน่ะ เวสสันดรเป็นอย่างไร ท่านไม่รู้ความที่บุตรและบุตรีที่ให้เพื่อเป็นทาสทาสีแก่ชน เหล่าอื่น จะนำมาซึ่งความทุกข์ดอกหรือ เราจักตามไปฆ่าชูชกด้วยเหตุไรเล่าแล้วทรงดำริต่อไปว่า ขึ้นชื่อว่าบริจาคทานแล้วตามเดือดร้อนภายหลัง หาสมควรแก่เราไม่ ทรงตัดพ้อพระองค์เองอย่างนี้แล้ว ทรงอธิษฐานสมาทานศีลมั่นโดยมนสิการว่า ถ้าชูชกฆ่าลูกทั้งสองของเรา จำเดิมแต่เวลาที่เราบริจาคแล้วเราจะไม่กังวลอะไร ๆ ทรงอธิษฐานมั่นฉะนี้แล้ว เสด็จออกจากบรรณศาลาประทับนั่ง ณ แผ่นศิลา แทบทวารบรรณศาลา ดุจปฏิมาทองคำฉะนั้น”
ในชาติสุดท้ายเมื่อกำเนิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ เมื่อออกบรรพชาก็ศึกษาปฏิบัติจากสำนักอาจารย์ต่างๆนานถึงหกปี จนกระทั่งได้ค้นพบวิถีทางที่จะบรรลุเป็นพระพุทธเจ้านั่นคือ “มัชฌิมาปฏิปทา” หรือที่เรียกว่าทางสายกลาง คือไม่เอนเอียงไปทางการทรมานตนที่เรียกว่า “อัตตกิลมถานุโยค” และไม่ปฏิบัติหนักไปทางปล่อยตัวปล่อยใจไปตามอำนาจความอยากที่เรียกว่า “กามสุขัลลิกานุโยค” วันนั้นเป็นวันเพ็ญเดือนวิสาขที่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ เจ้าชายสิทธัตถะนักบวชหนุ่มในวัย 35 ปี ได้ตัดสินเด็ดเดี่ยวยอมพลีตนเพื่อการบรรลุอนุตตรสัมโพธิญาณที่ที่แสดงไว้ในทุกนิบาต อังคุตตรนิกาย ปฐมปัณณาสก์ (20/251/48) ความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลายได้ยินว่า เราเริ่มตั้งความเพียรอันไม่ย่อหย่อนว่าจะเหลืออยู่แต่หนัง เอ็น และกระดูก ก็ตามที เนื้อและเลือดในสรีระจงเหือดแห้งไปก็ตามเถิด หากยังไม่บรรลุผลที่บุคคลพึงบรรลุได้ด้วยเรี่ยวแรงของบุรุษ ด้วยความเพียรของบุรุษ ด้วยความบากบั่นของบุรุษแล้ว จักไม่หยุดความเพียรเสีย”
หากจะแปลความตามภาษาชาวบ้านก็ต้องบอกว่า “ไม่ตายไม่เลิก” จะมีใครสักกี่คนที่กล้ากล่าวคำปฏิญาณตนอย่างนั้น เพราะความตั้งใจจริง ทำจริง สละตนจริง โลกนี้จึงมีพระพุทธเจ้าบุคคลเป็นเป็นเอกของโลก เมื่อเกิดขึ้นย่อมเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์เกื้อกูลเพื่อความสุขแก่มหาชน ดังที่แสดงไว้ในอังคุตตรนิกาย เอกนิบาต (20/139/22 ) ความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้เอก เมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์โลกเพื่ออัตถะประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย บุคคลผู้เอกเป็นไฉน คือ พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้เอกนี้แล เมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่ออัตถะประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย”
ในโอกาสแห่งวันครบรอบพุทธชยันตี 2600 ปีแห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ชาวพุทธได้จัดงานฉลองทั่วโลก ในส่วนของประเทศไทย วัด องค์กรทางศาสนาต่างๆได้จัดงานในเทศกาลวันวิสาขบูชาทั่วประเทศ ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อำเภอวังน้อย จังหวัดอยุธยาได้จัดงาน พุทธชยันตี 2600 ปีแห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า โดยมีการประชุมพระธรรมทูตจากทั่วโลก การสัมมนาวิชาการจากนักวิชาการทั่วโลกภายใต้หัวข้อสี่เรื่องคือ(1) พุทธิปัญญาและการปรองดอง (Buddhist Wisdom and Reconciliation) (2) พุทธิปัญญาและสิ่งแวดล้อม ( Buddhist Wisdom and Environment) (3) พุทธิปัญญาและการปรับเปลี่ยนชีวิตมนุษย์ (Buddhist Wisdom and Human Transformation) และ(4)สัมมนาเชิงปฏิบัติการพระไตรปิฎกสากล สรุปได้สั้นๆน่าจะเป็น “การอยู่ร่วมกับคนอื่น การอยู่ร่วมกับธรรมชาติ การอยู่กับตนเอง และการสร้างผลงานไว้กับโลก” นั่นเอง งานจัดในช่วงวันที่ 29 พฤษภาคม ถึงวันที่ 3 มิถุนายน 2555 ใครอยากฟังภาษาอังกฤษขอเชิญได้ หรือหากจะอ่านจากเอกสารการประชุมก็เข้าไปดูได้ที่ http://www.undv.org/ มีเอกสารในการสัมมนาให้อ่านมากมาย
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
01/06/55