ตามปรกติต้นไม้จะงอกขึ้นบนแผ่นดินแผ่กิ่งก้านสาขาแตกหน่อออกใบ หากต้นสูงจะตระหง่านต้องแหงนหน้าขึ้นมอง แต่หากต้นไม้เหมือนไม่ได้งอกขึ้นจากพื้นดินแต่ทว่ารากไม้กลับแผ่คลุมอยู่บนกำแพงหินสูงตระหง่านปานประหนึ่งจะเสียดฟ้า รากของต้นไม้แทรกอยู่ตามก้อนหินที่ก่อสร้างรวมตัวกันเป็นปราสาท มีให้เห็นน้อยมาก แต่ที่ปราสาทตาพรหมถือเป็นเรื่องธรรมดา เพราะต้นไม้ที่นี่งอกขึ้นจากกำแพงหินกระจายอยู่ทั่วปราสาทตาพรหม ภายในเมืองพระนคร จังหวัดเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา
ใครที่เคยดูภาพยนตร์เรื่องทูมไรเดอร์ จะมีฉากหนึ่งที่ผู้ร้ายไล่ล่านางเอกปีนป่ายขึ้นไปยังกำแพงหินมีการต่อสู้กันนั้น ซึ่งต้นไม้ต้นนั้นยังคงอยู่ รอคอยการมาเยือนของผู้ที่รักโบราณสถาน ความแปลกและแตกต่างระหว่างธรรมชาติคือต้นไม้และก้อนหิน ซึ่งไม่น่าจะอยู่ร่วมกันได้เลย ขณะที่กำลังถ่ายภาพเป็นที่ระลึกหันไปอีกทีมีคนกำลังรอถ่ายภาพนับสิบกลุ่ม ทุกคนอยากได้ภาพต้นไม้ไม้แห่งนี้เป็นที่ระลึกจึงได้แต่ถ่ายภาพหมู่ไม่มีโอกาสถ่ายภาพเดี่ยวเลย คนอีกหลายคนกำลังรอ
วันนั้นคณะที่ร่มเดินทางมีพระสงฆ์จากเวียตนามสองรูป พระสงฆ์ไทยสามรูปและภิกษุณีอีกหนึ่งรูป พร้อมทั้งไกด์นำเที่ยวอีกหนึ่งคน จึงเป็นเพียงขบวนเล็กๆ แทรกตัวอยู่ท่ามกลางนักท่องเที่ยวกลุ่มอื่นๆอีกมากมาย สถานที่ที่เดินทางไปในวันนั้นคือปราสาทตาพรหมซึ่งมีความแปลกเป็นเอกลักษณ์ส่วนตัวคือทั่วอาณาบริเวณปราสาทมีต้นไม้แทรกต้นจากกำแพงหินแผ่กิ่งก้านสาขาสูงตระหง่านซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่ที่นี่ทุกอย่างเป็นไปได้ ต้นไม้ที่นี่มีชื่อเรียกว่า “ต้นสะปง” หรือภาษาไทยเรียกว่า “ต้นสำโรง” เป็นไม้ยืนต้นเนื้ออ่อน อีกชนิดหนึ่งเป็นไม้เลื้อยอยู่ตามหน้าบัน รากต้นสะปงจะแทรกตัวซอนไซไปบนแผ่นศิลาเพื่อที่จะหาที่ลงดิน นัยว่ารากไม้ช่วยประครององค์ปราสาทให้ยึดแน่นไม่พังทลายลง รอบๆบริเวณยังมีต้นไม้เหยียดต้นสูงเสียดฟ้ากลายเป็นร่มเงาที่สงบเย็น ตัวปราสาทจึงเหมือนหลบตัวอยู่ใต้หมู่แมกไม้
ตามซอกว่างของประตูทางเดินระหว่างปรางค์ปราสาทเชื่อมต่อกันจะมีพ่อค้าแม่ค้าคอยขายสินค้าและวาดภาพเป็นที่ระลึก ลองถามราคาภาพวาดแผ่นหนึ่งเขาบอกราคาสิบดอลลาร์ ไม่กล้าซื้อไม่กล้าต่อราคา พอเดินผ่านซอกมุมที่ซุ้มเจดีย์แห่งหนึ่งคุณยายกำลังขาของที่ระลึก แม้จะไม่อยากได้แต่ก็อยากช่วยยายซึ่งทำมาหากินด้วยหยาดเหงื่อแรงงาน คุณยายบอกว่าของทุกชิ้นราคายี่สิบบาท จึงหยิบด้ายสีแดงมาเส้นเล็กๆติดมามาเส้นหนึ่ง พลางล้วงเงินจ่ายยายไปหนึ่งร้อยบาท เพราะตอนนั้นไม่มีเงินยี่สิบบาท และยายก็ไม่มีเงินทอน ยายไหว้แล้วไหว้อีกและยิ้มอย่างอารมณ์ดี บ่นงึมงำอวยพรด้วยภาษากัมพูชาที่ฟังไม่รู้เรื่อง แต่เดาเอาว่าขอให้เดินทางโดยสวัสดิภาพและมีโชคดีตลอดไป บางทีการฟังภาษาไม่ออกก็มีผลดีเพราะเราสามารถแปลตามความต้องการของเราได้ อยากให้ยายพูดอะไรเราก็แปลไปตามที่เราต้องการ ยกกล้องในมือและบอกยายว่าขอถ่ายภาพยายเป็นที่ระลึก ยายยิ้มและตั้งท่าเหมือนสาวรุ่น แต่กล้องในมือก็ลั่นชัตเตอร์ออกไปสี่ห้าภาพแล้ว
ขณะนั้นที่ถ่ายภาพอยู่นั้นเสียงไกด์บอกว่านี่คือภาพแกะสลักของไดโนเสาร์อยู่บนกำแพงหิน พร้อมกับภาพแกะสลักของสัตว์ต่างๆอีกหลาชนิด เมื่อเดินไปดูจึงได้เห็นซึ่งหากดูเผินๆมีส่วนคล้ายไดโนเสาร์จริงๆ เพ่งพินิศดูอีกทีคล้ายๆสุกร จิ้งโจ้ ช้างหรือกิ้งก่าขนาดใหญ่ น่าจะเรียกว่า “กิ้งก่ายักษ์” ดูแล้วตีความได้หลายอย่าง ใครดูแล้วเป็นตัวอะไรก็ขึ้นอยู่กับคนดู แต่ไกด์นำเที่ยวยืนยันว่านี่คือไดโนเสาร์ จากนั้นก็ยกเหตุอ้างผลของนักวิชาการต่างๆมาอธิบายประกอบ หรือว่าคนโบราณเมื่อเกือบหนึ่งพันปีรู้จักไดโนเสาร์แล้ว
ทำให้คิดถึงนิทานปรัมปราที่เล่าขานอยู่แถวๆจังหวัดอุดรธานี ขอนแก่น คนเฒ่าคนแก่เล่าให้ฟังว่า “นานมาแล้วมีกิ้งก่ายักษ์จะออกมาปรากฎตัวเที่ยวกินพืชผักของชาวบ้าน กิ้งก่ายักษ์บางตัวกินสัตว์ใหญ่เป็นอาหาร บางครั้งก็กินมนุษย์เป็นอาหารตัวมันใหญ่มากขนาดเท่าภูเขาทั้งลูก บางครั้งจะร้องเสียงดังลั่นจากภูเวียงเสียงสะท้านไปถึงภูเก้า มันท่องเที่ยวไปตามภูเขาต่างๆบางครั้งออกไปถึงเขมรและย้อนกลับมายังภูเวียง ภูกระดึง เวลาที่มันออกมาผู้คนต้องหลบมันวิ่งเร็วมาก” คนโบราณเคยเล่าขานเรื่องราวเหล่านี้ไว้ แต่เป็นเพียงนิยายปรัมปรา ตอนเป็นเด็กก็เพียงแต่คิดว่าคนโบราณคงหานิทานหลอกเด็กเท่านั้น ไม่เคยคาดคิดมาก่อนเลยว่าบริเวณภูเวียงจะเคยเป็นถิ่นอาศัยของไดโนเสาร์มาก่อนเลย แต่เมื่อมีการค้นพบนิทานของคนโบราณก็ไม่ใช่เรื่องไร้สาระ “กิ้งก่ายักษ์กับไดโนเสาร์” มีรูปร่างคล้ายกันผิดกันเพียงขนาด กิ้งก่าที่เคยเห็นมีขนาดเล็กนิดเดียวในขณะที่ไดโนเสาร์มีขนาดใหญ่โตมโหฬาร
ตามหลักฐานระบุว่า “ฟอสซิลไดโนเสาร์ชิ้นแรกของไทยพบที่อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น ในปี 2519 โดยนายสุธรรม แย้มนิยม อดีตนักธรณีวิทยาของกรมทรัพยากรธรณี ขณะสำรวจแร่ยูเรเนียม ในหมวดหินเสาขัว ที่อุทยานแห่งชาติภูเวียง บริเวณห้วยประตูตีหมา กระดูกชิ้นนี้มีความกว้างยาวประมาณ 1 ฟุต จากการเปรียบเทียบพบว่ามีลักษณะใกล้เคียงกับไดโนเสาร์ซอโรพอด ซึ่งมีขนาดใหญ่ยาวประมาณ 15 เมตร และจากการตรวจสอบพบว่าเป็นส่วนปลายล่างสุดของกระดูกต้นขาของไดโนเสาร์จำพวกกินพืช การสำรวจไดโนเสาร์ที่ภูเวียงได้เริ่มต้นอย่างจริงจังในปี 2524 โดยนายเชิงชาย ไกรคง นักธรณีวิทยาจากกรมทรัพยากรธรณี ได้พาคณะสำรวจโบราณชีววิทยาไทย และฝรั่งเศสขึ้นไปสำรวจกระดูกไดโนเสาร์บริเวณยอดห้วยประตูตีหมา อำเภอภูเวียงคณะสำรวจพบกระดูกไดโนเสาร์ชนิดกินพืชขนาดใหญ่ รวมทั้งฟันจระเข้ กระดองเต่า ฟันและเกล็ดปลาโบราณ และจากการสำรวจในเวลาต่อมาได้พบกระดูกไดโนเสาร์อีกหลายชนิด ศูนย์ศึกษาวิจัยและพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียงจัดตั้งขึ้น โดยความร่วมมือของกรมทรัพยากรธรณี การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และจังหวัดขอนแก่น เพื่อเป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าของนักวิชาการ สำหรับให้การศึกษาแก่เยาวชน และเป็นแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดขอนแก่น” (ที่มาhttp://www.dmr.go.th/ewt_news.php?nid=7118&filename=index)
ไดโนเสาร์ที่ค้นพบที่อำเภอภูเวียง ขอนแก่นนั้นเป็นสัตว์กินพืช แต่คนโบราณคงเสริมแต่งทำให้กิ้งก่ายักษ์กลายเป็นสัตว์กินสัตว์ กิ้งก่ายักษ์ของคนโบราณน่าจะเป็นที่รู้จักกันแล้ว เพียงแต่ไม่รู้จักว่าเป็นไดโนเสาร์ ภาพแกะสลักที่ปราสาทตาพรหมคงมาจากเรื่องเล่าสืบๆต่อกันมา
ต้นไม้ที่แทรกตัวขึ้นตามกำแพงหินและแทรกรากลงตามซอกของก้อนหิน บางต้นมีรูปร่างแปลกๆ ต้นหนึ่งมีรูปร่างคล้ายงูยักษ์ บางต้นเป็นโพลงขนาดใหญ่เหมือนถ้ำ ไกด์ยังบอกว่าทางยูเนสโก้กำลังพิจารณาจะตัดต้นไม้เหล่านี้ทิ้งเพราะต้นไม้ทำลายโบราณวัตถุ เรื่องนี้คงก่อให้เกิดความเห็นแตกต่างและเกิดการวิพากย์กันอีกนาน เพราะมีต้นไม้นี่แหละปราสาทธรรมดาจึงมีเสน่ห์ ต้นไม้และปราสาทอยู่ร่วมกันมานานกว่าพันปีแล้ว หากตัดทิ้งไปปราสาทก็จะหมดเสน่ห์ แต่ยูเนสโก้คงมองไปอีกมุมเพราะหากปล่อยไว้อาจจะเป็นอันตรายต่อปราสาท ลึกๆในใจยังอยากเห็นต้นไม้เหล่านี้คงอยู่คู่กับปราสาทต่อไป เพราะที่อยากจะไปชมปราสาทตาพรหมก็เนื่องเพราะอยากดูต้นไม้บนกำแพงหิน หากไม่มีต้นไม้จะไปดูอะไร
ต้นไม้บนกำแพงหิน ยายชราที่ขายของที่ระลึก คนวาดภาพและภาพแกะสลักไดโนเสาร์ ปรากฎตัว อยู่ร่วมกันอย่างสันติที่ปราสาทตาพรหมเป็นความแปลกและมนต์เสน่ห์แห่งปราสาทหินโบราณแห่งนี้ยังคงรอคอยการไปเยือนของผู้คนจากทุกทั่วสารทิศ ก่อนจากลาเดินผ่านวงดนตรีคนพิการนัยว่าเป็นทหารที่ได้รับผลมาจากสงคราม เสียงดนตรีดูเศร้าสร้อยภายใต้ร่มเงาของหมู่แมกไม้อันร่มเย็นบาดลึกลงไปในหัวใจเหมือนกำลังเห็นเงาสงครามและการสูญเสียของผู้คนหลายล้านคนที่ถูกสังหารในยุคเขมรแดง บาดแผลจากสงครามยังคงหลงเหลือให้ผู้คนจดจำไปอีกนาน
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
21/12/54