เวลาเย็นมืดค่ำแล้วที่สนามบินนานาชาติ กรุงพนมเปญเมืองหลวงของประเทศกัมพูชาสว่างไสวไปด้วยแสงไฟ มีพระสงฆ์มาคอยต้อนรับคณะผู้เดินทางเข้าร่วมประชุม ซึ่งไม่รู้มาจากที่ไหนบ้าง เห็นมีทั้งพระสงฆ์จากประเทศจีน มองโกเลีย เมียนมาร์ และตัวแทนจากประเทศไทย ระหว่างเส้นทางไปยังที่พักซึ่งอยู่ในกรุงพนมเปญสองข้างทางเต็มไปด้วยผู้คน รถที่สัญจรไปมาบนท้องถนนมากที่สุดคือรถมอเตอร์ไชค์และรถจักรยานสองล้อ อยู่บนถนนเดียวกันกับรถยนต์หลากหลายชนิด บัดนี้ได้มาเยือนกรุงพนมเปญจริงๆแล้ว ได้แต่เอ่ยคำทักทายเป็นภาษากัมพูชาว่า “ซกสบายเดย์ พนมเปญ”
การเดินทางไปร่วมประชุมว่าด้วยวัฒนธรรมพระพุทธศาสนาแห่งเอเชียจัดขึ้นครั้งแรกที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา วันแรกเปิดงานที่กระทรวงธรรมการและศาสนาของกัมพูชา โดยมีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงธรรมการและศาสนาแห่งกัมพูชาเป็นประธานในการเปิดงาน ฝ่ายสงฆ์มีสมเด็จพระสังฆราชบัวครีและสมเด็จพระสังฆราชเทพวงศ์แห่งกัมพูชา และเจ้าภาพในการอุปถัมภ์ในการจัดงานครั้งนี้คือพระซีต้า หยุน แห่งวัดหลีซู เมืองกวางโจว งานจึงออกมาเป็นแบบจีนมากกว่าจะเป็นแบบกัมพูชา
ภาษาที่ใช้ในงานครั้งนี้จึงมีสามภาษา คือกัมพูชา จีนและภาษาอังกฤษ ส่วนภาษาไทยก็ต้องคอยฟังคำแปลจากพระสงฆ์ชาวกัมพูชาท่านหนึ่งที่ผู้เขียนเจตนานั่งข้างๆ คุยกันไปได้สักพักท่านถามเป็นภาษาอังกฤษสำนวนกัมพูชาว่ามาจากไหน เมื่อได้รับคำตอบว่ามาจากเมืองไทย ท่านก็เปลี่ยนจากภาษาอังกฤษมาสนทนาเป็นภาษาไทยแทน ท่านจึงกลายเป็นล่ามกิตติมศักดิ์ไปโดยปริยาย พระพม่าที่นั่งอยู่อีกด้านหนึ่งพยายามหันมาถามในทำนองว่า บนเวทีกำลังพูดอะไรกัน ในช่วงต้นของการเปิดการประชุมวันนั้นจึงยังคงงงๆว่าเขากำลังทำอะไรกันกัมพูชาเป็นเจ้าภาพจัดงานหรือว่าคณะสงฆ์จีนแห่งวัดหลี่ซูเป็นเจ้าภาพจัดงาน
เริ่มต้นด้วยรัฐมนตรีกล่าวต้อนรับ สมเด็จพระสังฆราชทั้งสองพระองค์กล่าวต้อนรับ พระซีต้าหยุน กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงาน สรุปได้ว่า “การประชุมครั้งนี้เพื่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมทางพระพุทธศาสนาระหว่างประเทศต่างๆที่นับถือพระพุทธศาสนา ตอนนั้นเน้นที่ภาษากัมพูชาและภาษาจีน ซึ่งผู้เขียนฟังไม่ออกทั้งสองภาษา ล่ามก็แปลไม่ทัน จึงขอให้ท่านสรุปให้ฟังตอนหลัง ซึงก็พอสรุปสาระสำคัญได้ว่า เจ้าของพื้นที่ในการจัดการประชุมคือกัมพูชายินดีต้อนรับ ผู้อุปถัมภ์ในการจัดการประชุมเพื่อต้องการจะหาความร่วมมือกับประเทศต่างๆในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ซึ่งไม่มีการแยกนิกาย เพราะในการประชุมมีทุกนิกายทั้งมหายาน วัชรยาน และเถรวาท มีพระสงฆ์จากทุกนิกายเข้าร่วมประชุม ช่วงสุดท้ายในพิธีเปิดการประชุมมีการแสดงวัฒนธรรมของประเทศต่างๆ พอถึงช่วงนี้ภาษาก็ไม่ใช่สิ่งจำเป็นอีกต่อไป ศิลปวัฒนธรรมได้ก้าวพ้นกำแพงแห่งภาษาไปแล้ว ผู้แสดงจะใช้ภาษาอะไรผู้ฟังก็เข้าใจได้ ที่ฮืออาและเป็นที่ชอบใจของผู้ชมมากที่สุดคือมนุษย์พันหน้า เขาสามารถเปลี่ยนกลับไปกลับมามากกว่าสิบหน้าต่อหน้าผู้ชม เพียงแต่สะบัดหน้าเท่านั้น การแสดงในช่วงแรกยังเน้นที่วัฒนธรรมจีนแทรกกับวัฒนธรรมกัมพูชา
จบพิธีเปิดได้เวลาฉันเพลและเข้าถวายสักการะสมเด็จพระสังฆราชบัวครี ที่วัดบัวตูมบัวครี จากนั้นมีการบันทึกความร่วมมือกันกับตัวแทนพระสงฆ์จากประเทศต่างๆ ข้อตกลงมีสามข้อคือ(1)สมาชิกจะเข้าร่วมประชุมทุกครั้งที่มีการจัดงานในครั้งต่อไป (2) แลกเปลี่ยนอาจารย์และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา (3) สร้างหลักสูตรการสอนภาษาต่างประเทศระยะสั้น โดยสมาชิกจะสนับสนุนอาจารย์ให้แก่บรรดาสมาชิก
การประชุมในครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมครบทั้งสี่บริษัทคือภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ทั้งหมดได้รับสิทธิเท่าเทียมกัน จึงได้เห็นและสนทนากับภิกษุณีเถรวาทจากไต้หวัน มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวลาที่นั่งประชุมผสมผสานกันไปดูไม่ออกว่าใครเป็นภิกษุใครเป็นภิกษุณี หากไม่เอ่ยปากก็ไม่รู้ว่าเป็นหญิงหรือชาย
รองนายกรัฐมนตรี(หญิง) กัมพูชา
ภาคบ่ายเข้าถวายสักการะสมเด็จพระสังฆราชเทพวงศ์ที่วัดอุณาโลม ผู้เขียนถ่ายภาพเพียงพอกับความต้องการแล้วก็เตร่ออกมาจากพระอุโบสถ ในขณะที่ยืนอยู่นั้นก็มีพระกัมพูชารูปหนึ่งเดินเข้ามาทักบอกว่าผมเคยอยู่จำพรรษาที่ประเทศไทย จึงขอความรู้เรื่องพระพุทธศาสนาในกัมพูชาสรุปได้ว่า “ในประเทศกัมพูชามีทั้งเถรวาทและมหายาน ในส่วนของเถรวาทมีพระสงฆ์ทั่วประเทศประมาณ 50000 รูป มีวัดมากกว่า 5000 วัด การปกครองแยกออกเป็นสองนิกายเหมือนประเทศไทยคือนิกายธรรมยุตและมหานิกาย แต่ละนิกายมีสมเด็จพระสังฆราชเป็นผู้บริหารสูงสุด กัมพูชาจึงมีสมเด็จพระสังฆราชสองพระองค์ การบริหารก็จะมีพระสงฆ์ในระดับรองลงมาตามลำดับ แต่แยกกันบริหาร พระสงฆ์กัมพูชานิยมเข้ามาศึกษาที่มหาวิทยาลัยสงฆ์ในประเทศไทย บางรูปไปศึกษาที่อินเดีย และมีพระสงฆ์อีกจำนวนหนึ่งนิยมเดินทางไปจำพรรษาที่ประเทศฝรั่งเศสในฐานะพระธรรมทูตซึ่งมีวัดกัมพูชาในฝรั่งเศสหลายวัด”
ผู้เขียนกับสมเด็จพระสังฆราชเทพวงศ์
สมเด็จพระสังฆราชเทพวงศ์อายุ 78 พรรษาแล้ว แต่ก็ยังแข็งแรง สนทนาปราศรัยกับผู้เข้าร่วมประชุมจากประเทศต่างๆอย่างอารมณ์ดี เมื่อผู้เขียนเข้าไปไหว้ก่อนจะออกจากวัด สมเด็จพระสังฆราชยังยกมือลูบหลังพลางเอ่ยทักเป็นภาษากัมพูชาฟังสำเนียงได้ว่า “ซกสบายเดย์” จึงตอบพระองค์ท่านไปว่า “สุขสบายดี สุขะเพียบละออ ออกุนเจริญ” แปลเองตามที่เข้าใจว่า “สุขสบายดีขอรับ ขอให้พระองค์มีสุขภาพที่แข็งแรง ขอบคุณมากในการจัดงาน” ตอนนั้นคิดภาษากัมพูชาได้แค่นั้น และก็ใช้สามคำนี้ตลอดช่วงเวลาที่อยู่ในกัมพูชา พูดได้สามคำก็อยู่ในกัมพูชาได้อย่างสุขสบายดี
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
19/12/54