ปีหนึ่งจะมีโอกาสเห็นทะเลเพียงไม่กี่ครั้ง เพราะวัดอยู่ไกลทะเลอย่างหนึ่ง และอีกอย่างไม่ค่อยมีกิจที่้จะต้องไปทะเลหรือหากไปก็เพียงแต่นั่งรถผ่านไป โอกาสที่จะได้สัมผัสน้ำทะเลจึงมีน้อย ในวันที่สามเณรจัดทัศนะศึกษาไปเที่ยวทะเลจึงมีโอกาสได้เดินเล่นชายทะเล แม้หาดทรายที่ไปนั้นจะไม่ได้ขาวสะอาดสักเท่าใดนักแต่ก็ยังได้ชื่อว่าเป็นหาดทรายชายทะเล เมื่อเท้าสัมผัสพื้นทรายและน้ำทะเลที่คลื่นกำลังซาดเซาะริมฝั่งจึงได้สัมผัสกับธรรมชาติของความเป็นทะเลที่แท้จริง
ท้องทะเลกว้างใหญ่ไพศาลมองดูสุดลูกตา เห็นเรือชาวประมงหลายลำลอยคลออยู่กลางทะเลโต้กระแสคลื่น หากคลื่นไม่แรงจริงๆเรือจะไม่ล่ม เฉกเช่นชีวิตของมวลมนุษย์จะต้องมีช่วงของการถูกกระแสคลื่นแห่งชีวิตสาดกระหน่ำ จนบางครั้งอาจถึงกับต้องล่มในกระแสธารแห่งชีวิต ผู้ที่ทนทานรับคลื่นแห่งอารยธรรมหรือคลื่นที่มาจากธรรมชาติอยู่ได้จึงเป็นผู้ที่แข็งแกร่งเพราะทนแรงเบียดแห่งโลกธรรมได้
ความอัศจรรย์ไม่เคยมีในมหาสมุทรแปดประการ
ในพระพุทธศาสนาได้แสดงความมหัศจรรย์ของมหาสมุทรหรือทะเลและความมหัศจรรย์ของพระธรรมวินัยไว้ดังที่ปรากฎในพระวินัยปิฎก จุลวรรคภาค (7/449-464/224-229) แสดงความอัศจรรย์ไม่เคยมีในมหาสมุทรแปดประการความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความอัศจรรย์ ไม่เคยมี ในมหาสมุทรแปดอย่างนี้ ที่พวกอสูรพบเห็น แล้ว พากันชื่นชมอยู่ในมหาสมุทรคือ
(1)มหาสมุทรลุ่มลึกลาดลงไปโดยลำดับ มิใช่ลึกมาแต่เดิมเลย ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่มหาสมุทรลุ่มลึกลาดลงไปโดยลำดับมิใช่ลึกมาแต่เดิมเลย นี้เป็นความอัศจรรย์ไม่เคยมี ในมหาสมุทรเป็นข้อที่หนึ่งที่พวกอสูรพบเห็นแล้ว พากันชื่นชมในมหาสมุทร
(2)อนึ่งมหาสมุทรตั้งอยู่ตามธรรมดาไม่ล้นฝั่ง
(3)มหาสมุทรไม่ร่วมกับซากศพที่ตายแล้ว ซากศพที่ตายแล้วใดมีอยู่ในมหาสมุทร มหาสมุทรย่อมนำซากศพที่ตายแล้วนั้นไป สู่ฝั่ง ซัดขึ้นบกโดยพลัน
(4)แม่น้ำใหญ่บางสาย คือ แม่น้ำคงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู มหี ไหลถึงมหาสมุทรแล้วย่อมละนามและโคตรเดิมเสียถึงซึ่งอันนับว่ามหาสมุทรทีเดียว
(5)ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่งแม่น้ำบางสายในโลกที่ไหลไป ย่อมไปรวมยังมหาสมุทร และสายฝนยังตกลงมาจากอากาศ ความพร่องหรือความเต็มของมหาสมุทรย่อมไม่ปรากฏ
(6)มหาสมุทรมีรสเค็มรสเดียว
(7)มหาสมุทรมีรัตนะมาก มีรัตนะมิใช่ชนิดเดียว รัตนะในมหาสมุทรนั้นเหล่านี้ คือ แก้วมุกดา แก้วมณี แก้วไพฑูรย์ สังข์ ศิลา แก้วประพาฬ เงิน ทอง ทับทิม มรกต
(8)มหาสมุทรเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ใหญ่ๆ สัตว์ใหญ่ๆ ในมหาสมุทรนั้นเหล่านี้ คือ ปลาติมิ ปลาติมิงคละ ปลา ติมิติมิงคละ ปลามหาติมิงคละ อสูร นาค คนธรรพ์ อยู่ในมหาสมุทร มี ลำตัวตั้งร้อยโยชน์ก็มี สองร้อยโยชน์ก็มี สามร้อยโยชน์ก็มี สี่ร้อยโยชน์ก็มี ห้าร้อยโยชน์ก็มี
ความอัศจรรย์ไม่เคยมีในธรรมวินัยแปดประการ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความอัศจรรย์ไม่เคยมีในธรรมวินัยนี้มีแปดอย่างเหมือนกันแล ที่พวกภิกษุพบเห็นแล้วพากันชื่นชมในธรรมวินัยนี้คือ
(1) ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนมหาสมุทรลุ่มลึกลาดลงไปโดยลำดับมิใช่ลึกมาแต่เดิมเลย สิกขาตามลำดับ กิริยาตามลำดับ ปฏิปทาตามลำดับ ใน ธรรมวินัยนี้ก็เหมือนกัน มิใช่แทงตลอดอรหัตผลมาแต่เดิมเลย ข้อที่สิกขาตามลำดับ กิริยาตามลำดับ ปฏิปทาตามลำดับ ในธรรมวินัยนี้ มิใช่แทงตลอดอรหัตผลมาแต่เดิมเลย นี้เป็นความอัศจรรย์ไม่เคยมีในธรรมวินัยนี้ เป็นข้อที่หนึ่งที่ภิกษุ ทั้งหลายพบเห็นแล้ว พากันชื่นชมในธรรมวินัยนี้
(2)ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนมหาสมุทรตั้งอยู่ตามธรรมดา ไม่ล้นฝั่ง สาวกทั้งหลายของเราก็เหมือนกัน ไม่ล่วงละเมิดสิกขาบทที่เราบัญญัติ แล้วแก่สาวกทั้งหลาย แม้เพราะเหตุแห่งชีวิต ข้อที่สาวกทั้งหลายของเราไม่ล่วง ละเมิดสิกขาบทที่เราบัญญัติแล้วแก่สาวกทั้งหลายแม้เพราะเหตุแห่งชีวิต
(3)ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนมหาสมุทรไม่ร่วมกับซากศพที่ตายแล้ว ซากศพที่ตายแล้วใดมีอยู่ในมหาสมุทร มหาสมุทรย่อมนำซากศพที่ตาย แล้วนั้นไปสู่ฝั่ง ซัดขึ้นบกโดยพลัน บุคคลนั้นใดเป็นผู้ทุศีล มีธรรมลามก มี ความประพฤติไม่สะอาด น่ารังเกียจ ปิดบังการกระทำ มิใช่สมณะปฏิญาณว่าเป็นสมณะ มิใช่พรหมจารีปฏิญาณว่าเป็นพรหมจารี เน่าภายในโชกชุ่มด้วยกิเลส ผู้เศร้าหมอง ก็เหมือนกัน สงฆ์ย่อมไม่ร่วมกับบุคคลนั้น ย่อมประชุมกันยกเธอเสียโดยพลัน ถึงแม้เธอนั่งในท่ามกลางภิกษุสงฆ์ก็จริง ถึงอย่างนั้น เธอชื่อว่าไกลจากสงฆ์ และสงฆ์ก็ไกลจากเธอ ข้อที่บุคคลนั้นใด เป็นผู้ทุศีล มีธรรมลามก มีความประพฤติไม่ สะอาด น่ารังเกียจ ปิดบังการกระทำ มิใช่สมณะ ปฏิญาณว่าเป็นสมณะ มิใช่พรหมจารีปฏิญาณ ว่าเป็นพรหมจารี เน่าภายใน โชกชุ่ม ด้วยกิเลส ผู้เศร้าหมอง สงฆ์ย่อมไม่ร่วมกับบุคคลนั้น ย่อมประชุมกันยกเธอเสีย โดยพลัน ถึงแม้เธอนั่งในท่ามกลางภิกษุสงฆ์ก็จริง ถึงอย่างนั้น เธอ ชื่อว่าไกล จากสงฆ์ และสงฆ์ก็ไกลจากเธอ
(4)ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนแม่น้ำใหญ่บางสาย คือ แม่น้ำ คงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู มหี ไหลถึงมหาสมุทรแล้วย่อมละนามและโคตรเดิมเสีย ถึงซึ่งอันนับว่ามหาสมุทรทีเดียว วรรณะสี่เหล่านี้ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ศูทร ก็เหมือนกัน ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศ แล้ว ย่อมละชื่อและตระกูลเดิมเสีย ถึงซึ่งอันนับว่า สมณะเชื้อสายพระศากยบุตรทีเดียว
(5)ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนแม่น้ำบางสายในโลกที่ไหลไป ย่อมไปรวมยังมหาสมุทร และสายฝนยังตกลงมาจากอากาศ ความพร่องหรือความ เต็มของมหาสมุทรย่อมไม่ปรากฏเพราะเหตุนั้น ภิกษุจำนวนมากก็เหมือนกัน ถ้า แม้ยังปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ความพร่องหรือความเต็มของนิพพานธาตุย่อมไม่ปรากฏ เพราะเหตุนั้น ข้อที่ภิกษุจำนวนมาก ถ้าแม้ยังปรินิพพานด้วย อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ความพร่องหรือความเต็มของนิพพานธาตุย่อมไม่ปรากฏ
(6)ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนมหาสมุทรมีรสเค็มรสเดียว ธรรมวินัยนี้ก็เหมือนกัน มีวิมุตติรส รสเดียว ข้อที่ธรรมวินัยนี้มีวิมุตติรส รสเดียว แม้นี้ก็เป็นความอัศจรรย์ไม่เคยมีในธรรมวินัยนี้
(7)ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนมหาสมุทรมีรัตนะมาก มีรัตนะมิใช่ชนิดเดียว รัตนะในมหาสมุทรนั้นเหล่านี้ คือ แก้วมุกดา แก้วมณี แก้วไพฑูรย์ สังข์ ศิลา แก้วประพาฬ เงิน ทอง ทับทิม มรกต ธรรมวินัย นี้ก็เหมือนกัน มีรัตนะมาก มีรัตนะมิใช่อย่างเดียว รัตนะในธรรมวินัยนั้นเหล่านี้คือสติปัฏฐาน 4 สัมมัปปธาน 4 อิทธิบาท 4 อินทรีย์ 5 พละ 5 โพชฌงค์ 7 อริยมรรคมีองค์ 8
(8)ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนมหาสมุทรเป็นที่อยู่อาศัยของ สัตว์ใหญ่ๆ สัตว์ใหญ่ๆ ในมหาสมุทรนั้นเหล่านี้ คือ ปลาติมิ ... อสูร นาค คนธรรพ์ มีอยู่ในมหาสมุทร มีลำตัวตั้งร้อยโยชน์ก็มี สองร้อยโยชน์ก็มี สามร้อย โยชน์ก็มี สี่ร้อยโยชน์ก็มี ห้าร้อยโยชน์ก็มี ธรรมวินัยนี้ก็เหมือนกัน เป็นที่อยู่ อาศัยของคนใหญ่ๆ คนใหญ่ๆ ในธรรมวินัยนั้นเหล่านี้ คือโสดาบัน ผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งซึงโสดาปัตติผล สกิทาคามี ผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งซึ่งสกิทาคามิผล อนาคามี ผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งซึ่งอนาคามิผล อรหันต์ ผู้ปฏิบัติเพื่อความเป็น อรหันต์ ข้อที่ธรรมวินัยนี้เป็นที่อยู่อาศัยของคนใหญ่ๆ คนใหญ่ๆ ในธรรมวินัย นั้นเหล่านี้ คือ โสดาบัน ... ผู้ปฏิบัติเพื่อความเป็นอรหันต์ แม้นี้ก็เป็นความอัศจรรย์ ไม่เคยมี ในธรรมวินัยนี้ เป็นข้อที่แปดที่ภิกษุทั้งหลายพบเห็นแล้วพากันชื่นชมในธรรมวินัยนี้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความอัศจรรย์ไม่เคยมีในธรรมวินัยนี้แปดประการนี้แล ที่ภิกษุทั้งหลายพบเห็นแล้วพากันชื่นชมในธรรมวินัยนี้ พระพุทธเจ้าทรงแสดงความมหัศจรรย์ของมหาสมุทรและพระธรรมวินัยไว้เพื่อเป็นการแสดงว่าทั้งมหาสมุทรและพระธรรมวินัยความความกว้าง ลึกคล้ายๆกัน มีเอกลักษณ์มีความมหัศจรรย์แปดประการเหมือนกัน ดังที่พระพุทธองค์สรุปเป็นอุทานคาถา(7/465/229) ว่า “สิ่งที่ปิดไว้ ย่อมรั่วได้ สิ่งที่เปิด ย่อมไม่รั่ว เพราะฉะนั้นจงเปิดสิ่งที่ปิด เช่นนี้สิ่งที่เปิดนั้นจักไม่รั่ว”
มหาสมุทรยังคงรักษารสคือความเค็มไว้และคงทำหน้าที่ของตนต่อไป ส่วนอาตมาภาพนั้นเมื่อได้สัมผัสกับหาดทรายและน้ำในทะเลซึ่งหากออกทะเลไปไกลจากชาบฝั่งคงลึกมากจนยากที่จะหยั่งถึง เฉกเช่นพระธรรมวินัยซึ่งมีความลุ่มลึกจนสุดจะหยั่งคาด เส้นทางข้างหน้าที่ดูเหมือนใกล้ แต่ทำไมพออกเดินทางจริงๆเส้นทางนั้นเหมือนจะทอดยาวไกลออกไปทุกที ชีวิตนี้เหมือนเรือที่กำลังลอยลำอยู่กลางทะเล ไม่รู้เมื่อเมื่อใดจะถูกคลื่นกระหน่ำจนอับปางและจมหายไปในห้วงแห่งมหาสมุทร
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
09/12/54