ช่วงนี้ต้องคอยติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด เพราะเริ่มไม่แน่ใจแล้วว่าน้ำจะท่วมวัดหรือไม่ ดูข่าวไปก็ต้องคอยมองดูคลองข้างวัดไปด้วยว่าปริมาณของน้ำเพิ่มขึ้นหรือยัง คลองบางเขนใหม่อยู่หน้าวัด น้ำไหลลงที่แม่น้ำเจ้าพระยา หากเป็นเวลาปกติทางราชการจะผันน้ำเข้ามา ยิ่งในช่วงใกล้ลอยกระทงน้ำจะเอ่อคลองสามารถจัดงานลอยกระทงประจำปีได้สะดวก แต่ปีนี้ในคลองน้ำยังน้อย น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยายังไม่ทะลักเข้ามา หากไม่ได้ติดตามข่าวสารอะไรก็ต้องบอกว่า ทุกอย่างอยู่ในสภาพปกติ
แต่ทว่าในความปกติของสภาพการณ์ในปัจจุบันนั้น เชื่อใจหรือไว้ใจอะไรไม่ค่อยได้ โบราณว่าไว้ว่า "อย่าไว้ใจทาง อย่าวางใจคน" แต่ช่วงนี้หากจะเปลี่ยนใหม่ให้เหมาะกับสถานการณ์น่าจะเป็น "อย่าไว้ใจทาง อย่าวางใจน้ำ" น่าจะเข้ากับสถานการณ์ได้ดีที่สุด วันพระที่ผ่านมา มีประชาชนมาวัดจำนวนน้อยลง ลองสอบถามบางท่านบอกว่าไม่อยากอยู่ห่างจากโทรทัศน์ต้องคอยติดตามข่าวสารตลอดเวลา
อุบาสิกาคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า "วันนี้เดินทางลำบากมาก บ้านอยู่แถวบางเขน น้ำยังไม่ท่วม น้ำไม่มี ถนนยังแห้งสนิท แต่ที่ลำบากคือถนนที่เคยกว้างกลับดูแคบไปเพราะมีประชาชนนำรถยนต์มาจอดบนถนนสูงจำนวนมาก ยิ่งเป็นทางด่วนหรือบนสะพานสูงรถยิ่งมาก คนเขากลัวน้ำท่วม ที่จริงก็กลัวทุกคน แต่มีวิธีแก้ปัญหาต่างกัน"
อีกคนหนึ่งบอกว่า "บ้านอยู่ลึกเข้าไปในซอยวงศ์สว่าง 11 มีชายแดนติดเขตจังหวัดนนทบุรี ตอนนี้แม้น้ำจะยังไม่ท่วม แต่มีแนวโน้มว่ามีโอกาสท่วมได้สูง เก็บเข้าของขึ้นไว้บนขั้นสองแล้ว ป้องกันได้บ้างแต่หากน้ำหลากมาจริงๆก็คงต้องท่วม"
อุบาสกท่านหนึ่งถามว่า "โรงเรียนพระปริยัติธรรมชั้นสาม มีใครพักอาศัยอยู่บ้าง"
จึงบอกว่า "ตอนนี้อาตมาพักอยู่รูปเดียว หากเกิดน้ำท่วมก็สามารถเข้าพักได้เลย โรงเรียนพระปริยัติธรรมวัดมัชฌันติการามรับได้ประมาณ 100 คน"
หากฟังข่าวมากๆบางคนจะเกิดความสับสน เพราะข่าวก็คือข่าว แม้จะนำเสนอความจริงแต่เนื่องจากข้อจำกัดของเวลาจึงนำเสนอได้เพียงบางส่วนเท่านั้น นักข่าวคนหนึ่งเคยบอกวิธีนำเสนอข่าวที่ทำให้น่าสนใจนั้นสรุปได้สั้นๆว่า "เรื่องจริงเจ็ด เรื่องเท็จสาม" หมายถึงข้อมูลนั้นหากตั้งไว้ที่สิบส่วน แต่จะนำเสนอได้ประมาณเจ็ดส่วน ส่วนอีกสามส่วนต้องใส่ความคิดเห็น ข้อวิจารณ์ การคาดการณ์หรือแม้แต่การปรุงแต่งเข้าไปทำให้ข่าวน่าสนใจยิ่งขึ้น บางครั้งเพราะการคาดการณ์นี่แหละทำให้กลายเป็นประเด็นที่ทำให้คนตกใจกลัวจนเกินเหตุ เช่นมีวันหนึ่งทางรัฐบาลประกาศว่า "วันนี้คาดว่าจะมีน้ำเพิ่มขึ้นประมาณสามเซ็นติเมตร ให้ประชาชนที่อยู่ในเขตนนทบุรี รีบขนย้ายสิ่งของและเตรียมอพยพ" โฆษกประกาศจบไปได้ไม่นาน พลันก็มีคนนำสารไปบอกคนอื่นๆว่า "น้ำจะเพิ่มขึ้นสามเมตร ให้รีบอพยพ"
สามเซ็นติเมตรกับสามเมตรต่างกันมาก พอได้ยินว่าสามเมตรเท่านั้นคนที่เชื่อข่าวที่ยังไม่ได้กรองก็ต้องวิ่งวุ่นเก็บข้าวของ แต่คนที่ยังมีสติก็ต้องคิดว่า "การที่น้ำจะเพิ่มขึ้นสูงถึงสามเมตรนั้น เทียบได้กับสึนาน้ำจืดเลยทีเดียว ถึงเก็บข้าวของไว้ข้างบนก็คงไม่รอดจากสภาวะวิกฤตไปได้"
ในสภาวะแบบนี้สิ่งที่จะต้องรับรู้สรุปได้สามอย่างคือ "ความรู้ข้อมูลข่าวสาร การเตรียมพร้อม และการมีสติ" ต้องศึกษาหาความรู้และรับรู้ข่าวสารที่ทันต่อเหตุการณ์ ไม่ทำลายคูกั้นน้ำที่ทางราชการจัดเตรียมไว้ เพราะเมื่อคูกั้นน้ำแตกอาจจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ส่วนอื่นๆได้ และการแก้ปัญหาก็ยากลำบากขึ้น บางครั้งสิ่งที่เราคิดกับสิ่งที่รัฐบาลทำอาจจะไม่เหมือนกัน อย่างกรณีของดอนเมืองที่มีประชาชนพังแนวกระสอบทราย เพราะเข้าใจว่าหากน้ำไม่ไหลจะท่วมบ้านตนเอง แต่พอแนวกั้นน้ำแตก พื้นที่ส่วนอื่นๆก็ต้องได้รับผลกระทบ
การเตรียมความพร้อมในการอพยพ เท่าที่ดูจากข่าวคนส่วนหนึ่งไม่ค่อยเตรียมตัว เพราะเชื่อมั่นว่าน้ำจะไม่ท่วม นั่นเพราะจากประวัติศาสตร์น้ำไม่เคยท่วมเลยตลอดระยะเวลาห้าสิบปี จึงสรุปเอาเองว่าน้ำคงไม่ท่วม เหตุการณ์บางอย่างอาจซ้ำรอยประวัติศาสตร์ได้ แต่บางเรื่องอาจสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่เสียเองก็ได้ หากบ้านเรือนอยู่ในวิถีที่น้ำอาจจะท่วมได้ ช่วงนี้อาจจะหลบไปพักที่ไหนสักแห่งก็ได้ หรือเตรียมพร้อมเก็บเข้าของที่จำเป็นใส่กระเป๋าพร้อมที่จะนำติดตัวไปได้ตลอดเวลา
อาจจะมีคนค้านว่า "มันจำเป็นทุกอย่างนั่นแหละ"
แต่หากลองพิจารณาดูให้ดีสิ่งที่จำเป็นจริงๆนั่นมีเพียงไม่กี่อย่าง แต่ "เพียงไม่กี่อย่าง" ของแต่ละคนอาจจะไม่เหมือนกัน อันนี้แล้วแต่ความจำเป็นของแต่ละคน มนุษย์เรามีบ่วงที่คอยคล้องอยู่หลายบ่วง ดังคำโบราณที่ว่า "มีลูกเหมือนเชือกผูกคอ ภรรยาเหมือนปอผูกศอก ทรัพย์สมบัติเหมือนปลอกผูกขา" แต่ละคนจึงถูกบ่วงผูกไว้ไม่เท่ากัน ส่วนใครจะสลัดหลุดจากบ่วงเหล่านี้ได้หรือไม่นั้น อยู่ที่ภูมิปัญญาและความรู้ความเข้าใจโลกของแต่ละคน
สิ่งสุดท้ายที่จะต้องมีไว้ประจำใจเสมอคือ "การมีสติ ระลึกได้ตลอดเวลาว่าขณะนี้เรากำลังทำอะไรอยู่" เมื่อมีความพร้อมแม้น้ำจะหลากมาก็ไม่น่ากลัว เพราะเรามีการเตรียมตัวไว้ก่อนแล้ว น้ำจะมาทางไหนก็ยังคาดเดาไม่ได้ ที่ว่าป้องกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ควรฟังหูไว้หู เพราะเส้นทางและสายน้ำในสภาวะปัจจุบันไม่มีอะไรคาดเดาได้ร้อยเปอร์เช็นต์ คนอื่นจะเตรียมพร้อมอย่างไรไม่ทราบ แต่อาตมาถือคติไว้เสมอในยามนี้ว่า "ไม่ไว้ใจทาง ไม่วางใจน้ำ" ถนนที่เคยสัญจรด้วยรถยนต์ อาจจะต้องแปรเปลี่ยนเป็นนั่งเรือแทนได้ทุกเมื่อ จึงต้องเตรียมตัวให้พร้อมที่จะอพยพได้ทุกเวลา
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
21/10/54