วันปวารณาออกพรรษามาถึงอีกปีแล้ว ในแต่ละวัดจะมีประเพณีการตักบาตรเทโวโรหณะหลังจากที่พระสงฆ์อยู่จำพรรษาครบไตรมาสหรือสามเดือน พอถึงวันเพ็ญเดือนสิบเอ็ดก็เสร็จสิ้นพรรษากาล พระสงฆ์จะได้เที่ยวจาริกไปตามสถานที่ต่างๆได้ตามอัธยาศัยภายใต้กรอบแห่งพระธรรมวินัย ในวันแรมหนึ่งค่ำหลังวันออกพรรษหนึ่งวัน มีประเพณีตักบาตรเทโวโรหณะชาวบ้านจะมาตักบาตรถวายข้าวปลาอาหารและสิ่งของที่จำเป็นต่างๆ ปีนี้วัดมัชฌันติการามจะได้นำอาหารและสิ่งของจากงานตักบาตรเทโวโรหณะไปร่วมบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในที่ต่างๆตามสมควร พุทธศาสนิกชนที่มาร่วมงานจึงได้ทำบุญสองต่อคือได้ทำบุญตามประเพณีและช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในเวลาเดียวกัน
คำว่า “ปวรณา”เป็นคำนามภาษาบาลี เพศหญิงหรืออิตถีลิงค์ แปลว่า “การเปิดโอกาสให้ตักเตือนกันในคราวออกพรรษาของสงฆ์ การอนุญาตให้ขอสิ่งของได้ และการเปิดโอกาส ในวันปวารณาพระสงฆ์จะล่าวเป็นภาษาบาลีดังที่ปรากฎในปวารณาขันธกะ วินัยปิฏก มหาวรรค (4/226/314) ความว่า “สงฺฆํ ภนฺเต ปวาเรมิ ทิฏฺเฐน วา สุเตน วา ปริสงฺกาย วา วทนฺตุ มํ อายสฺมนฺโต อนุกมฺปํ อุปาทาย ปสฺสนฺโต ปฏิกฺกริสฺสามิ" แปลเป็นภาษาไทยว่า “ เธอทั้งหลาย ฉันปวารณาต่อสงฆ์ ด้วยได้เห็นก็ดี ด้วยได้ฟังก็ดี ด้วยสงสัยก็ดี ขอเธอทั้งหลายจงอาศัยความกรุณาว่ากล่าว ฉัน ฉันเห็นอยู่จักทำคืนเสีย”
พระพุทธเจ้าทรงมีพระพุทธานุญาตปวารณาในปวารณาขันธกะ วินัยปิฏก มหาวรรค(พระไตรปิฎกฉบับภาษาไทย) ความว่า (4/226/260) “ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลายอยู่จำพรรษา แล้วปวารณาด้วยเหตุสามสถานคือด้วยได้เห็น ด้วยได้ฟัง ด้วยสงสัย การปวารณานั้นจักเป็นวิธีเหมาะสมเพื่อว่ากล่าวกันและกัน เป็นวิธีออกจากอาบัติ เป็นวิธีเคารพพระวินัยของพวกเธอ
ทรงอนุญาตวิธีปวารณาไว้ว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงปวารณา อย่างนี้คือภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติกรรมวาจาว่าท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า วันนี้เป็นวันปวารณาถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงปวารณา
ภิกษุผู้เถระพึงห่มผ้าอุตราสงค์(ผ้าจีวร)เฉวียงบ่า นั่งกระโหย่งประคองอัญชลีแล้วกล่าวปวารณาเป็นภาษาบาลี วันปวารณามีสองวัน ตามที่พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย วันปวารณานี้มีสองคือ วัน 14 ค่ำ วัน 15 ค่ำ”
อาการที่ทำปวารณามีสี่อย่างตามที่พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาการที่ทำปวารณานี้มีสี่คือการทำปวารณาเป็นวรรคโดยอธรรม การทำปวารณาพร้อมเพรียงกันโดยอธรรม การทำปวารณาเป็นวรรคโดยธรรม การทำปวารณาพร้อมเพรียงกันโดยธรรม”
การปวารณาในความหมายแรกจึงเป็นการเปิดโอกาสให้ภิกษุว่ากล่าวตักเตือนกันได้ตามธรรมวินัย บางทีการที่จะต้องอยู่ร่วมกันภายในพรรษาอาจจะมีอะไรที่ไม่ถูกใจ หรือขัดอกขัดใจกันบ้างหรือที่สรุปได้ว่า “ทำอะไรก็ขัดตา เจรจาไม่เข้าหู ดูแล้วขัดใจ อาจบรรลัยทั้งสองทาง” ในวันปวารณาจึงเปิดโอกาสให้ว่ากล่าวตักเตือนกันได้
อันที่จริงการอยู่ร่วมกันนานๆหากไม่ปรับเปลี่ยนอุปนิสัย “ยอมใครไม่เป็น ใจเย็นไม่พอ และรออะไรไม่ได้” ย่อมจะลำบาก หากเราเป็นผู้น้อยคำเตือนที่มาจากผู้ใหญ่แม้จะฟังเป็นเหมือนคำดุ แต่ก็เป็นคำเตือนที่มีคุณค่า แต่ถ้าเราเป็นผู้ใหญ่หากคำเตือนจากคนที่มีฐานะต่ำกว่าหรือมีอายุน้อยกว่า บางครั้งคำเตือนนั้นก็มีประโยชน์เกินกว่าที่จะคาดคิดก็ได้
มีเรื่องเล่าว่า “ครั้งหนึ่งมีนักปราชญ์ท่านหนึ่งเป็นอาจารย์สอนศิลปวิทยาการต่างๆมีลูกศิษย์มากมาย วันหนึ่งเดินทางไปยังชนบทบังเอิญพลบค่ำแล้ว เห็นเด็กเลี้ยงโคกำลังเป่าขลุ่ยบนหลังควายกลับบ้านอย่างสบายอารมณ์ ตอนนั้นเป็นช่วงเดือนเพ็ญ ดวงดาวกำลังกำลังมาเยือนฟ้าแล้ว ด้วยความที่เป็นอาจารย์จึงเกิดความสงสารวันเวลาที่เด็กคนนั้นจะต้องสูญเสียไปอย่างไร้ค่า จึงแวะเข้าไปทักทาย และบอกว่า “ข้าคืออาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่มีความรู้มากสอนได้ทุกเรื่อง หากเธออยากรู้เรื่องอะไรให้ถามมาได้เลย ข้ายินดีสอนเธอ”
พอเด็กเลี้ยงโคคนนั้นได้ยินจึงลงจากหลังควายมาแสดงคารวะและเอ่ยถามคำถามแรกว่า “ดาวบนฟ้ามีกี่ดวง” อาจารย์งงตอบไม่ได้ จึงบอกว่า “ถามไกลไปข้ายังไม่ได้นับ ถามใกล้ๆหน่อยสิ”
เด็กเลี้ยงควายจึงถามคำถามใหม่ว่า “ขนคิ้วท่านมีกี่เส้น”
คราวนี้อาจารย์สะดุ้งเพราะคำถามนั้นมันใกล้เสียจนมองไม่เห็น จึงตอบไม่ได้ จากนั้นจึงหันไปถามเด็กเลี้ยงควายคนนั้นว่า “เออ...ว่าแต่ถนนสายนี้จะไปไหน”
เด็กคนนั้นตอบว่า “อายุมากขนาดนี้แล้วยังไม่รู้เลยว่าถนนสายนี้จะไปไหน ช่างโง่เสียจริง” พูดจบเด็กเลี้ยงโคก็หยิบขลุ่ยขึ้นเป่าและเดินตามหลังควายเข้าหมู่บ้านไป
บางครั้งผู้ที่คิดว่าตนรู้ อาจจะไม่รู้ทุกเรื่องก็ได้ เด็กเลี้ยงควายคนนั้นอาจจะไม่มีเจตนาถามคำถามที่นักปราชญ์ตอบไม่ได้ แต่นักปราชญ์พึ่งรู้ตัวว่าตัวเองไม่ได้ฉลาดปราดเปรื่องอย่างที่คนอื่นพากันยกย่อง “จะเป็นนักปราชญ์ไปได้อย่างไรกัน แม้เรื่องที่อยู่ใกล้ที่สุดคือขนตามีกี่เส้นก็ยังมองไม่เห็นและตอบไม่ได้” นักปราชญ์ชรารำพึงกับตัวเอง
ปวารณาในความหมายที่สองคืออนุญาตให้ขอสิ่งของได้ การขอมีข้อจำกัดหากขอมากบางทีก็อาจจะไม่ถูกใจผู้ถูกขอได้ แต่ถ้าเขา "ปวารณา" ไว้จึงควรขอ ในช่วงนี้ประเทศชาติกำลังประสบกับอุทกภัยขออนุญาตขอบริจาคอาหาร สิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นส่งไปร่วมช่วยเหลือผู้ประสบภัย ใครจะมาร่วมงานตักบาตรในวันเทโวโรหณะที่วัดมัชฌันติการามเช้าวันที่ 13 ตุลาคม 2554 เวลา 07.00 น. เป็นต้นไป เครื่องอุปโภค บิรโภคที่ได้จากการตักบาตรจะนำไปร่วมบริจาคผู้ประสบภัยโดยนำไปสมทบที่วัดบวรนิเวศวิหาร ใครจะมาร่วมงานขอเชิญได้
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
12/10/54