ในช่วงนี้มีแต่ข่าวน้ำท่วมดูแล้วสงสารผู้คนที่ต้องประสบกับภัยธรรมชาติ หากพอช่วยได้ก็เท่าที่จะช่วยได้ ช่วงนี้จึงพยายามกด sms ส่งไปยังสถานีโทรทัศน์ต่างๆที่มีโครงการร่วมบริจาคช่วยเหลือน้ำท่วม วันหนึ่งส่งหลายครั้งก็ได้บริจาคหลายบาทเหมือนกัน ช่วยได้เท่าที่จะมีแรง ได้ข่าวมาว่าในงานวันตักบาตรเทโวโรหนะในวันออกพรรษาที่ใกล้เข้ามานี้ ทางวัดมัชฌันติการามประกาศให้อาหารแห้งที่ได้จากการบิณฑบาตให้ร่วมบริจาคนำไปช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม ที่ไหนก็ได้โดยมีทหารนำรถมาบรรทุกไป ฟังแล้วรู้สึกว่าคงจะได้ช่วยเหลือผู้ประสบภัยบ้างไม่มากก็น้อย หากพอจะช่วยได้ก็ต้องช่วยกันไป
มีข่าวหนึ่งแทรกมากับข่าวน้ำท่วมคือการเสียชีวิตของสตีฟ จ๊อบส์ ผู้สร้าง Apple,Macintosh,IPhone,Ipad ข่าวว่าสินค้าบางรุ่นกำลังขายดิบขายดี ผลิตภัณฑ์กำลังไปได้สวยแต่ผู้บริหารก็พลันเสียชีวิตในวัยที่ยังไม่ถึงหกสิบปี เขาเจ้าของวาทะที่นำมาเป็นชื่อเรื่องในวันนี้ “ชีวิตมันช่างสั้นนัก อีกประเดี๋ยวคุณก็ต้องตายแล้วละ คุณรู้หรือเปล่า”
เคยคิดว่าหากมีเงินพอเมื่อไหร่จะไปซื้อคอมพิวเตอร์ขนาดสมุดบันทึกหรือโน้ตบุ๊ก(สะกดตามศัพท์คอมพิวเตอร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน)ที่มีรูปแอปเปิลโชว์อยู่ด้านหลัง มองแล้วมันสวยดี แต่เมื่อเข้าไปถามที่ร้านค้าต้องหงายหลังกลับมาทุกที ราคามันแพงกว่าโน้ตบุ๊กอื่นๆเกลือบสองเท่าตัวหรือหากซื้อเจ้าแอปเปิลหนึ่งเครื่องอาจจะซื้อรุ่นอื่นๆตั้งสามสี่เครื่อง จนกระทั่งบัดนี้ยังไม่เคยมีคอมพิวเตอร์ยี่ห้อที่มีลูกแอปเปิลแหว่งสักเครื่องเดียว ราคามันแพงเกินความจำเป็น อีกอย่างงานที่ทำก็ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้เครื่องราคาแพงขนาดนั้น งานพิมพ์เอกสาร งานนำเสนอและงานเขียนเว็บไซต์ ไม่จำเป็นกับเครื่องที่ราคาแพงอย่างแอปเปิล ทุกวันนี้จึงไม่มีใช้ยังคงใช้เครื่องเก่าๆยี่ห้อธรรมดาต่อไป
แต่ทว่าหนังสือที่มีคนเขียนเกี่ยวกับผู้ก่อตั้งและผู้บริหารของบริษัทนี้ยังอ่านอยู่ อ่านเพื่อหาแรงบันดาลใจ อ่านเพื่อศึกษา อ่านเพื่อที่จะเข้าใจแนวคิดในการผลิตอุปกรณ์ที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ เคยไปดูอุปกรณ์ทางคอมพิวเตอร์ขนาดสมุดบันทึหรือโน้ตบุ๊กรุ่นใหม่ๆ ส่วนหนึ่งจะไม่มีเครื่องอ่านซีดีหรือดีวีดีในตัวเครื่อง แต่กลับอยู่ด้านนอกแทน ก็เกิดสงสัยว่าเครื่องเล่นซีดีหรือดีวีดีของเจ้าพวกเครื่องเหล่านี้หายไปไหนหมด หรือว่าเจ้าแผ่นซีดีจะกลายเป็นขยะที่ไม่รู้จะเก็บไว้ทำอะไร เหมือนกับเมื่อไม่นานมานี้เทปคาสเซ็ตได้หายไปจากความจำเป็นของการใช้งาน ที่ห้องยังมีเทปเก่าๆอีกหลายกล่อง เคยบันทึกเสียงภาษาบาลีสมัยที่ยังเรียนภาษาบาลี ขี้เกียจอ่านสายตาไม่ดีจึงใช้วิธีบันทึกลงยังเทปคาสเซ็ต จากนั้นก็นั่งฟังนอนฟัง โดยเปิดหนังสือตามไปด้วย การทำอย่างนี้ไม่เครียด เพราะง่วงเมื่อไหร่ก็ปล่อยให้เทปเล่นไปเรื่อยๆจนจบก็ปิดเอง อย่าว่าไปการเรียนด้วยตนเองแบบนี้สอบได้ถึงเปรียญธรรมเจ็ดประโยค
หนังสือที่เกี่ยวกับสตีฟ จ๊อบส์ เคยซื้อมาและอ่านจบแล้วเล่มหนึ่งคือ “เป็นที่หนึ่งไม่เหมือนใคร สไตล์ สตีฟ จ๊อบส์” อีกเล่มกำลังอ่านคือ “กล้าคิดต่างอย่างสตีฟ จ๊อบส์” ชีวิตเขาแปลกดี ก่อตั้งบริษัทครั้งแรกเพื่อนชื่อ โรนัลด์ เวย์น ที่โรงรถในบ้านของเขาเอง ชื่อ “Apple Computer” ในปี พ.ศ. 2519 (1976) ผลิตเครื่องคอมพิวเตอร์ภายใต้ชื่อ “Apple I” และ “Apple II” ประสบความสำเร็จ แต่พอมาถึง “Apple III” ในปี พ.ศ. 2523 (1980) กลับประสบกับความล้มเหลว จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2528(1985) เขาก็ต้องออกจากบริษัทที่ตนเองก่อตั้ง เขาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทแอปเปิล แต่กลับถูกไล่ออก ดังข้อความตอนหนึ่งว่า “ในที่สุดทางคณะกรรมการบริหารจึงมีมติให้ สตีฟ จ๊อบส์ ถูกไล่ออกจากบริษัทที่เขาสร้างขึ้นมากับมือ ซึ่งเชื่อว่าน้อยคนบนโลกใบนี้จะเจอเหตุการณ์แบบนี้” (เป็นที่หนึ่งไม่เหมือนใคร สไตล์ สตีฟ จ๊อบส์,หน้า 32)
ช่วงที่สตีฟ จ๊อบส์ก่อตั้งบริษัทผู้เขียนกำลังเป็นหนุ่มน้อย แต่เนื่องจากอยู่ในชนบทห่างไกลความเจริญ รับฟังข่าวสารได้ทางเดียวคือวิทยุ ทั้งหมู่บ้านมีโทรทัศน์เครื่องแรกเครื่องเดียวจากคนที่ไปทำงานที่ตะวันออกกลาง หากจะดูละคร หรือดูมวยถ่ายทอดสดก็ต้องจ่ายค่าดูครั้งละหนึ่งบาท พวกหนุ่มในชนบทช่วงนั้นจึงมีความฝันคือการได้เดินทางไปทำงานยังต่างประเทศ แต่ผู้เขียนเองฝันสลายไม่เคยกลายเป็นความจริง แทนที่จะได้ไปทำงานต่างประเทศต้องหันหน้าเข้าวัดแทน
สตีฟ จ๊อบส์เป็นคนประเภทที่ไม่ยอมแพ้เขาเชื่อว่า “โลกใบนี้ทั้งใบเปลี่ยนแปลงได้ด้วยมือของตัวเราเองและจะทำอะไรก็ตามถ้าซื่อสัตย์ต่อหัวใจตัวเอง ทุกอย่างเริ่มต้นใหม่ได้เสมอ” (หน้า 33) ในที่สุดเขาก็ตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาในชื่อ “NeXT Inc” เขาบริหารงานอยู่นาน ก่อนจะกลับมารับตำแหน่งผู้บริหารบริษัทแอปเปิลอีกครั้งในปี พ.ศ. 2540 (1997) เปิดตัวคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลในชื่อ “IMac” ในอีกหนึ่งปีต่อมา และทยอยออกสินค้าใหม่ๆออกมาอย่างต่อเนื่องเช่น iPod, IPad, iPhone,iTunes เขาเป็นผู้บริหารที่รับเงินค่าจ้างรายปีเพียง 1 ดอลลาร์สหรัฐ” ซึ่งจอ็บส์ได้แนวคิดที่เขาค้นพบจากปรัชญาเซนที่เขาศึกษาเรียนรู้และปฏิบัติอยู่เป็นประจำคือเมื่อ “ให้” แบบไม่มีเงื่อนไขแล้วเขาจะได้ “รับ” แบบไม่มีเงื่อนไขเช่นกัน (หน้า 43)
สตีฟ จ๊อบส์ ผู้ก่อตั้งบริษัท และอดีตหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) เสียชีวิตแล้ว(5 ตุลาคม 2554) ในวัย 56 ปี หลังจากต่อสู้กับโรคมะเร็งมาหลายปี และเป็นการเสียชีวิตหลังจากที่แอ๊ปเปิ้ล พึ่งเปิดตัว ไอโฟน 4 เอส ได้เพียงวันเดียว
ไม่ได้ติดตามความเคลื่อนไหวของเทคโนโลยีมานาน เลยไม่รู้ว่าเจ้าเครื่องแอปเปิลมันไปถึงไหนแล้ว อีกอย่างมันเป็นสินค้าของคนมีเงิน คนที่มีเงินน้อยจึงได้แต่ดูอย่างเดียว ผู้เขียนก่อนจะตัดสินใจซื้ออะไรก็มักจะถามตัวเองอยู่เสมอว่า “จำเป็นหรือไม่ จะเอาไปใช้งานอะไร” เจ้าโน้ตบุ๊กที่ใช้อยู่ก็ยังใช้งานได้ดี แม้จะตกรุ่นไปนานแล้วก็ตาม
สตีฟ จ๊อบส์ถือได้ว่าเป็นผู้นำทางนวัตกรรมที่สำคัญคนหนึ่ง แต่คนเก่งไม่ได้มีคนเดียว ยังมีอีกหลายคนที่กำลังจะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆให้กับโลก เทคโลยีเปลี่ยนแปลงไว ใจคนก็เปลี่ยนแปลงเร็วไม่แพ้กัน ขอไว้อาลัยให้กับสตีฟ จ๊อบส์อีกครั้ง เขามาแล้วก็ไปเหมือนคนอื่นๆ เขาบอกว่า “งานของผมไม่ใช่การทำให้ทุกคนมีชีวิตอย่างสบาย แต่งานของผมคือการทำให้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้น” และอีกตอนหนึ่งว่า “ชีวิตมันช่างสั้นนัก อีกประเดี๋ยวคุณก็ต้องตายแล้วละ คุณรู้หรือเปล่า, Life is Brief, and then you die, You know?” และเขาก็จากไปจริงๆเหลือไว้แต่สินค้าที่ยังคงขายต่อไป
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
08/10/54