พระพุทธศาสนาเชื่อในหลักการเวียนว่ายตายเกิด ตราบใดที่จิตยังไม่ดับสูญหรือไม่นิพพาน ก็ต้องกลับมาเกิด แก่ เจ็บ ตาย อย่างไม่มีที่สิ้นสุด แม้แต่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เวียนว่ายตายเกิดเสวยชาติในกำเนิดต่างๆกันมากมายเช่นช้าง ม้า วัว ลิง นก ฯลฯ ใช้เวลานานถึงสี่อสงไขยแสนกัปป์จึงดับขันธ์ปรินิพพานในที่สุด
มีข่าวหนังสือพิมพ์เดลินิวส์(09/03/53) นำเสนอข่าวว่า “หนุ่มตายเกิดเป็นไก่เฝ้าแฟนสาวไม่ห่าง”ตามรายงานข่าวสรุปได้ว่านางสาวภัทสนันท์ ขันธสารี เคยมาช่วยงานที่ร้านก๋วยเตี๋ยวของป้า ที่อยุธยา และได้รู้จักกับนายใหญ่ ซึ่งเป็นเพื่อนกับลูกพี่ลูกน้องของตน จากนั้นก็คบหาดูใจเป็นแฟนกันระยะหนึ่ง โดยช่วงที่คบหากันแฟนหนุ่มจะมานั่งหยอกล้อพูดคุยกันที่เปลญวนตัวนี้เป็นประจำ กระทั่งวันหนึ่งในกลางปี 52 แฟนหนุ่มขี่รถจักรยานยนตร์มาหาที่ร้าน นั่งพูดคุยกันที่เปลญวนได้สักพัก ก็ขอตัวกลับโดยขี่รถจักรยายยนตร์คู่ใจออกไปได้แค่ 10 นาที ตนก็ได้รับข่าวร้ายว่าแฟนหนุ่มประสบอุบัติเหตุรถชนเสียชีวิต
น่าเสียใจแทนที่แฟนมาตายก่อนอายุอันควร แต่ชีวิตกำหนดแน่ไม่ค่อยได้ หนุ่มหรือแก่ก็อาจตายได้ทุกเวลา อย่าประมาทในการใช้ชีวิต
ต่อมาไม่นานเธอกลับมาช่วยป้าขายก๋วยเตี๋ยวอีก พอมาถึงก็เจอไก่ชนตัวนี้เข้ามาคลอเคลีย เดินตามต้อย ๆ ไปนั่งเล่นที่เปลญวนก็ตามไปเฝ้าไม่ยอมห่าง แถมยังกระโดดขึ้นมายืนบนขาไม่ยอมไปไหน โยนเศษอาหารหรือข้าวเปลือกให้ก็ไม่ยอมกิน ไม่ยอมไปไหน เฝ้าอยู่ใกล้ ๆ อย่างเดียว
พอเค้าเห็นพฤติกรรมของไก่ที่ทำกับเธอก็เริ่มสงสัยว่าอาจเป็นวิญญาณของพี่ใหญ่แฟนเก่ากลับมาเกิดเป็นไก่ตัวนี้ ตอนแรกยังไม่ค่อยเชื่อ จนลองเรียกชื่อว่า “พี่ใหญ่ ๆ” แค่นั้นมันก็ทำปากมุบมิบ ๆ เหมือนพูดตอบ เธอกับพี่เลยเชื่อว่าน่าจะเป็นวิญญาณของพี่ใหญ่มาเกิดเป็นไก่คอยเฝ้าดู เพราะยังรักและเป็นห่วง ตั้งแต่นั้นหนูก็จะคอยช่วยป้าที่ร้าน และนั่งเล่นพูดคุยกับไก่ชนตัวนี้เป็นประจำ”
พอเป็นข่าวแล้วไม่แน่ใจว่าไก่ตัวนั้นจะตื่นคน จนไม่กล้าเข้าใกล้เธอหรือไม่ต้องคอยดูกันต่อไป
คนตายแล้วเกิดเป็นไก่ได้หรือไม่ยังหาหลักฐานยืนยันไม่ได้ แต่ในพระพุทธศาสนาเคยมีเรื่องเกี่ยวกับคนตายแล้วเกิดเป็นสุนัขดังที่ปรากฎในอรรถกถาโกสัมพิยสูตร มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม 1ภาค 3หน้าที่ 41 มีเรื่องโดยย่อว่า "สองผัวเมียอนาถาคู่หนึ่งเดินทางไกลเพราะเกิดข้าวยากหมากแพง จึงตัดสินใจพาลูกน้อยเดินทางเพื่อหางานทำ พ่อแม่ผลัดเปลี่ยนกันอุ้มลูกน้อย แต่เพราะการเดินไกลพร้อมทั้งความหิวข้าวหิวน้ำอย่างหนักฝ่ายสามีจึงแอบวางลูกน้อยไว้ข้างพุ่มไม้ในที่สุดก็สิ้นใจ
ไม่นานนักก็เดินทางมาถึงบ้านคนเลี้ยงโคผู้มีอันจะกินนับได้ว่าอยู่ในขั้นเศรษฐีแห่งหนึ่ง ขอข้าวและน้ำกิน เศรษฐีใจดีมีเมตตาจึงให้คนนำข้าวปลายอาหารอย่างดีมาให้สองผัวเมีย ในขณะเดียวกันก็นำอาหารมาเลี้ยงสุนัขตัวหนึ่งเป็นอาหารที่มองดูน่ากิน สามีกินข้าวไปนั่งมองแม่สุนัขไปด้วยความอิจฉา เกิดเป็นสุนัขเศรษฐีช่างอยู่ดีกินดีมากกว่าเราคนจนเสียอีก ด้วยความหิวผัวรีบกินอาหารเป็นพิษไม่ย่อย นอนตายทั้งๆที่ใจยังคิดอิจฉาสุนัขท้องแก่ตัวนั้น
วิญญาณที่ออกจากร่างได้เข้าไปถืออุบัติในครรภ์ของสุนัขเศรษฐี อีกไม่นานก็ถือกำเนิดเกิดเป็นสุนัข แต่จำอดีตของตนได้ จึงได้ตั้งความหวังไว้ว่าจะมุ่งทำดีเพื่อที่จะได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก สุนัขทำหน้าที่เห่าพระรูปหนึ่งที่มาบิณฑบาตบ้านเศรษฐีเป็นประจำ นั่นคือการความดีของสุนัขตามสมควรแก่สภาวะ ในที่สุดก็กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีกครั้ง
เพราะผลกรรมที่ฆ่าลูกตายในชาติก่อน พอเกิดเป็นมนุษย์อีกครั้งจึงถูกเขาพยายามฆ่าให้ตายตั้งเจ็ดครั้ง แต่เพราะกุศลที่ทำไว้กับพระปัจเจกพุทธเจ้าในชาติที่เกิดเป็นสุนัขทำให้รอดพ้นจากความตายและกลายเป็นเศรษฐีนามว่าโฆสิตเศรษฐี
กรรมหรือการกระทำนั้นมีผลโดยตรงกับตัวคนทำ กรรมดีและกรรมชั่วแยกกันอยู่ เมื่อใดได้โอกาสกรรมนั้นก็จะแสดงผลออกมา หากทำดีบ่อยๆโอกาสที่กรรมชั่วจะแสดงผลก็น้อยลง ในที่สุดก็กลายเป็นกรรมที่ไม่แสดงผล เรานิยมเรียกกรรมชนิดนี้ว่า "อโหสิกรรม"
ครั้งหนึ่งสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พรหมรํสี) เดินผ่านสุนัขตัวหนึ่งที่นอนขวางทางท่านจะไม่เดินข้ามไปแต่จะพูดขอทางก่อนว่า “โยมจ๋า ขอฉันไปทีเถอะจ๊ะ” แล้วก็ก้มกายเดินหลีกทางสุนัขตัวนั้นไป มีผู้ถามว่า ทำไมท่านจึงทำเช่นนั้น ท่านก็จะตอบอย่างน่าคิดว่า “ฉันไม่รู้ว่าสุนัขตัวนี้จะเคยเป็นพระโพธิสัตว์หรือมิใช่ หรือสุนัขตัวนี้อาจเคยเป็นบิดามารดาเรามาก่อน”
การเวียนว่ายตายเกิดจึงเป็นความเชื่อขั้นพื้นฐานอย่างหนึ่งของพระพุทธศาสนา เพราะพระพุทธศาสนาเชื่อเรื่องกฏแห่งกรรม หากมีความผูกพันก็สามารถกลับมาเกิดอีกได้ เป็นอะไรก็ได้ อาจเป็นไก่ เป็นสุนัข หรือเป็นสัตว์อย่างอื่นส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับสภาวะจิตก่อนตาย
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
10/03/53