เข้าพรรษาผ่านมาครบสองเดือนพอดี เหลืออีกเพียงหนึ่งเดือนก็จะออกพรรษาแล้ว เวลาในการปฏิบัติธรรมบำเพ็ญสมาธิภาวนาสำหรับคนบางคนที่ตั้งใจปฏิบัติในช่วงเข้าพรรษาก็เหลือน้อยลง แต่สำหรับผู้ที่ปฏิบัติธรรมโดยไม่สนใจกับกาลเวลา เข้าพรรษาหรือออกพรรษาก็เป็นสมมุติกาล เพราะการทำความดีนั้นไม่ขึ้นอยู่กับกาลเวลา พร้อมเมื่อใดทำได้เมื่อนั้น โดยเฉพาะการฝึกจิตทำได้ทุกเวลา เพราะตราบใดที่ยังมีลมหายใจก็ทำได้ทุกโอกาส
วันหนึ่งเดินข้ามถนนหน้าวัดบวรนิเวศวิหาร ขณะที่กำลังเดินข้ามอยู่นั้นรถเมล์วิ่งมาจากบางลำภูด้วยความเร็วสูง ทำให้ขาที่กำลังจะก้าวผ่านไปต้องหยุดอย่างกระทันหัน เพราะหากขืนเดินต่อไปอาจถูกรถชนตายได้ แต่พอหยุดหันกลับก็ต้องพบกับรถสามล้ออีกคันที่กำลังวิ่งมาจากสี่แยก คิดได้ในบัดดลนั้นว่าหากถูกรถสามล้อชนคงจะบาดเจ็บน้อยกว่าโดนรถเมล์ชน สามล้อคันนั้นก็เบรคอย่างกระทันหันและหักรถพุ่งขึ้นบนบาถวิถี อาตมารอดตายอย่างหวุดหวิดต้องรีบขอโทษคนขับรถสามล้อคันนั้น ซึ่งก็เสียหายนิดหน่อยไม่ได้เป็นอะไรมาก คนขับรถสามล้อยังมีอารมณ์ขัน คงหักห้ามใจไว้ได้และเอ่ยปากสั้นๆว่า “ผมเกือบฆ่าพระทำบาปหนักเสียแล้ว ทีหลังระวังด้วยครับ หลวงพี่” ตอนนั้นตอบอะไรแกไม่ทัน จากนั้นก็ขับรถกลืนหายไปกับท้องถนนที่บังอิญวันนั้นโล่งและว่าง
ยืนทำใจอยู่นานก่อนจะหารถแท็กซีกลับวัด และคิดเล่นๆว่าหากวันนี้ถูกรถชนตายไปจริงๆ เรามีอะไรต้องห่วงอยู่อีกหรือไม่ พอคิดจึงเห็นว่ามีหลายอย่างเหลือเกินที่ยังทำไม่เสร็จ งานที่ค้างอยู่ยังมีอีกมาก กลับถึงกุฏิจึงเก็บข้าวของเครื่องใช้ทำความสะอาดห้องเหมือนกับกำลังจะเตรียมตัวก่อนตาย เพราะหากตายไปจริงๆจะได้ไม่มีอะไรให้ห่วง เมื่อเก็บทำความสะอาดห้องจริงๆกลับพบว่ามีสิ่งที่มีมากที่สุดคือหนังสือทั้งหนังสือบาลี นักธรรม และหนังสือที่ได้รับแจกจากงานต่างๆ บางเล่มอ่านจบมาหลายครั้งแล้ว บางเล่มไม่เคยอ่านเลย เมื่อนำหนังสือเก็บห้องสมุด ห้องจึงว่างเปล่า เหลือเพียงอุปกรณ์ทำงานประจำวันคือเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เรียกว่าโน็ตบุ๊คเก่าๆเครื่องหนึ่งซึ่งพร้อมที่เสียได้ทุกเมื่อ
จากนั้นก็เริ่มตั้งสติโดยกำหนดจิตให้อยู่กับลมหายใจเข้าออกผูกไว้กับคำบริกรรมที่เคยชินคือ “พุทโธ” พอทำไปได้สักพักความคิดต่างๆวนเวียนเข้ามา หลายเรื่องที่ไม่คาดคิดแทรกเข้ามา จิตฝึกได้ยากจริงๆ สิ่งที่เหมือนกับจะลืมเลือนก็พลันกระจ่างชัด สิ่งที่เหมือนกับเข้าใจชัดพลันมืดมัว หากปล่อยวางคำบริกรรมเมื่อไหร่ก็มีแต่จะหลับ นี่กระมังที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ในปัชโชตสูตร สังยุตตนิกาย สคาถวรรค (15/217/54) ว่า “สติเป็นธรรมเครื่องตื่นอยู่ในโลก มาจากภาษาบาลีว่า “สติ โลกสฺมิ ชาคโร” แสดงว่าคนไม่มีสติก็เหมือนคนหลับ และคนหลับทั้งๆที่ยังตื่นอาจจะตายตายโดยไม่รู้ตัว
ที่เราพลั้งเผลอไปเพราะขาดสตินี่เอง ดีที่ยังคิดได้ทันไม่ปล่อยเท้าให้ก้าวเดินไปข้างหน้ามากกว่านี้ ไม่อย่างนั้นคงไม่มีโอกาสอยู่ดูโลกนี้อีกต่อไปแล้ว จิตนั้นต้องมีสติคอยกำกับหากเมื่อใดขาดสติอาจจะตกไปในอำนาจของความประมาทได้
ความเจริญย่อมมีแก่คนมีสติทุกเมื่อ แต่ก็ยังไม่พ้นจากเวร ดังที่พระพุทธเจ้าได้โต้ตอบกับยักษ์ชื่อว่ามณีภัทในมณิภัททสูตร สัง(15/812-813/250) ความว่า “สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่เจดีย์ชื่อมณิมาฬกะ อันเป็นที่ครอบครองของยักษ์ชื่อมณีภัททะในแคว้นมคธ ครั้งนั้นยักษ์ชื่อมณิภัททะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วได้กล่าวคาถานี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า “ความเจริญย่อมมีแก่คนมีสติทุกเมื่อ คนมีสติย่อมได้ความสุข ความดีย่อมมีแก่คนมีสติเป็นนิตย์ และคนมีสติย่อมหลุดพ้นจากเวร”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่าตอบมณีภัทว่า “ความเจริญย่อมมีแก่คนมีสติทุกเมื่อ คนมีสติย่อมได้ความสุข ความดีย่อมมีแก่คนมีสติเป็นนิตย์ แต่คนมีสติยังไม่หลุดพ้นจากเวร
แต่ผู้ใดมีใจยินดีในความไม่เบียดเบียนตลอดวันและคืนทั้งหมด และเป็นผู้มีส่วนแห่งเมตตาในสรรพสัตว์ ผู้นั้นย่อมไม่มีเวรกับใครๆ”
แปลมาจากภาษาบาลีว่า
“สติมโต สทา ภทฺทํ สติมา สุขเมธติ สติมโต สุเว เสยฺโย เวรา น ปริมุจฺจตีติ
ยสฺส สพฺพมโหรตฺตึ อหึสาย รโต มโน เมตฺตํโส สพฺพภูเตสุ เวรนฺตสฺส น เกนจีติ”
วันนั้นยังนับว่าชะตายังไม่ถึงฆาตยังดีที่ดึงสติกลับมาได้ทัน หากเผลอสติอีกนิดเดียวคงต้องขึ้นเมรุเผาศพไปแล้ว ไม่มีโอกาสได้เตรียมตัวก่อนตายเลย ทุกวันนี้แม้จะเตรียมตัวตายไว้แล้วแต่ก็ยังไม่อยากตาย แม้ว่าความตายนั้นจะติดตามเราอยู่ทุกย่างก้าวเหมือนเงาตามติดตามตัวก็ตาม ก่อนนอนแทบทุกวันก็ได้แต่แผ่เมตตาจิตขอให้คนขับรถเมล์คันนั้นหรือคันอื่นๆได้ชลอความเร็วลงบ้าง เพราะเรารอดตายมาได้หวุดหวิด แต่ชีวิตคนอื่นอาจจะไม่โชคดีเหมือนดังเช่นอาตมา
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
12/09/54