ทรัพย์สมบัติทั้งหลายหากไม่รักษาไว้ให้ดีอาจถูกขโมยแย่งชิงไปได้ แม้จะมีผู้พิทักษ์สันติราษฎร์คอยสอดส่องดูแลความสงบสุขของมหาชนอยู่ก็ตาม แต่ธรรมชาติของโจรเผลอเมื่อไหร่เป็นอันหาช่องทางขโมยจนได้ แม้บ้านเมืองจะมีกฎหมายแต่เมื่อความโลภในจิตใจคนมีมาก บางครั้งกฎหมายก็ถูกละเลย ไม่ต้องกล่าวถึงกฎศีลธรรมเพราะส่วนมากมักจะมีผลบังคับใช้หลังจากตายไปแล้ว มีสิ่งใดหรือไม่ที่โจรลักหรือขโมยไปไม่ได้หรือหากขโมยไปก็กระทำได้โดยยาก
ครั้งหนึ่งเทวดาองค์หนึ่งได้เข้าไปทูลถามปัญหากับพระพุทธเจ้า ดังข้อความที่ปรากฏในชราสูตร สังยุตตนิกาย สคาถวรรค (15/158/45) ความว่า“อะไรหนอยังประโยชน์ให้สำเร็จ จนกระทั่งชรา อะไรหนอตั้งมั่นแล้วยัง
ประโยชน์ให้สำเร็จ อะไรหนอเป็นรัตนะของคนทั้งหลาย อะไรหนอโจรลักไปได้ยาก”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ศีลยังประโยชน์ให้สำเร็จจนกระทั่งชรา ศรัทธาตั้งมั่นแล้วยังประโยชน์ให้สำเร็จ ปัญญาเป็นรัตนะของคนทั้งหลาย บุญอันโจรลักไปได้ยาก”
ในอรรถกถาชราสูตรได้อธิบายไว้สรุปว่า “เครื่องประดับทั้งหลายมีแก้วมุกดาแก้วมณีและผ้าเป็นต้นย่อมงามแก่บุคคลในเวลาที่ยังเป็นหนุ่มสาวเท่านั้น เมื่อบุคคลทรงเครื่องประดับเหล่านั้นในเวลาที่ตนเป็นผู้แก่คร่ำคร่าแล้วเพราะชราก็จะประสบถ้อยคำอันบุคคลพึงกล่าวว่า บุคคลนี้ย่อมปรารถนาจะเป็นเด็กแม้ในวันนี้เห็นจะเป็นบ้า
ส่วนศีลหาเป็นเช่นนั้นไม่เพราะว่าศีลย่อมงามตลอดกาลเป็นนิตย์ ชนทั้งหลายย่อมรักษาศีลในวัยเด็กก็ดี ในวัยกลางคนก็ดี ในวัยแก่ก็ดี ย่อมไม่มีผู้ที่จะกล่าวว่ามีประโยชน์อะไรด้วยศีลของบุคคลนี้”
เคยเห็นไหมคนแก่ที่อยากเป็นคนหนุ่มสาว แต่งตัวเหมือนคนหนุ่มสาวหรือไม่ก็แต่งหน้าเพื่อทำให้คนเห็นว่าตนยังไม่แก่ชรา ทั้งๆอายุมากแล้ว ตามธรรมชาติมนุษย์หากมีอายุมากก็ต้องแก่ชราเป็นธรรมดา จะคงความเป็นหนุ่มสาวอยู่ได้ตลอดไปนั้นยากที่จะพบเห็น หากคนชรามีศีลคือความเป็นปรกติปฏิบัติตนตามสมควรแก่อายุ ใครๆก็ติฉินนินทาไม่ได้ คนมีศีลจะอยู่จะกินก็มีสุข ส่วนคนมีความทุกข์จะลุกจะนั่งก็ลำบาก คนมีศีลย่อมงามตลอดกาลโดยไม่ต้องคำนึงถึงวัย
คำว่า “ศรัทธาตั้งมั่นแล้วยังประโยชน์ให้สำเร็จ และ“ปัญญาเป็นรัตนะของคนทั้งหลาย” ขอยกไปอธิบายในครั้งต่อๆไป วันนี้ตั้งหัวข้อเรื่องว่า “บุญอันโจรนำไปได้ยาก” ขออรรถาธิบายดังต่อไปนี้
คำว่า “บุญ” ได้แก่บุญเจตนา(เจตนาอันเป็นบุญ) เพราะว่าเจตนานั้นถึงความเป็นภาวะมิใช่รูปอันใคร ๆ ไม่อาจเพื่อนำไปได้ ทรัพย์สมบัติทั้งหลายบรรดามีอาจถูกลักขโมยได้ คนมีทรัพย์มากก็ย่อมต้องหาทางป้องกันรักษาทรัพย์นั่นไว้ไม่ให้โจรขโมยไปได้ แต่การขโมยบุญเป็นเรื่องที่กระทำได้ยาก เพราะบุญเป็นคุณสมบัติที่มีอยู่ภายใน
คำว่าบุญตามภาษาบาลีแปลว่า “ความผ่องแผ้วแห่งดวงจิต ความสะอาด ความสุข ความดี” มีโจรคนใดที่คิดจะขโมยความผ่องแผ้วแห่งดวงจิตของคนอื่นได้บ้าง หรือใครบ้างที่เคยได้ยินข่าวว่าโจรปล้นความสุขหรือปล้นความดีของคนอื่นไปได้ แต่การที่คนจะมีบุญได้นั้นจึงเป็นเรื่องของแต่ละบุคคล บุญไม่ใช่สิ่งของที่จะมอบให้ใคนเหมือนสมบัติอื่นๆ
ผู้ที่เป็นปุญญเขตต์หรือเนื้อนาบุญที่สมบูรณ์พร้อมหายาก หากปรากฎให้เห็นผู้คนจะแย่งกันทำบุญได้ บางครั้งก็ต้องใช้วิธีลวงให้หลง เพื่อจะได้มีโอกาสทำความดีก่อนคนอื่น ดังมีเรื่องเล่าว่า“ครั้งหนึ่งพระมาหกัสสปะออกจากนิโรธสมาบัติเดินบิณฑบาตตามตรอกในเมืองราชคฤห์ โดยตั้งใจว่าจะอนุเคราะห์แก่คนเข็ญใจ วันนั้นท้าวสักกะเทวราชทราบข่าวว่าพระเถระพึ่งออกจากสมาบัติจึงปลอมตัวเป็นคนเข็ญใจถวายบิณฑิบาตแก่พระมหากัสสปะพอพระเถระรับบิณฑบาตนั้นกลิ่นอาหารทิพย์หอมตลบอวบอวลไปทั่วเมือง เมื่อพระเถระพิจารณาจึงทราบว่าท้าวสักกะเทวราชได้แย่งสมบัติของคนเข็ญใจดังที่มีปรากฎในอรรถกถา ขุททกนิกายชาดกว่า “ในกาลนั้น พระมหากัสสปเถระคิดว่า ชายนี้มีศักดิ์น้อยแต่บิณฑบาตมีศักดิ์มากเช่นกับโภชนะของท้าวสักกะนั่นใครกันหนอ ครั้งนั้นพระเถระเมื่อพิจารณาจึงทราบว่าชายคนนั้นคือท้าวสักกะจึงกล่าวว่า “พระองค์ทรงแย่งสมบัติของคนเข็ญใจ จัดว่าทำกรรมหนักแล้ว ใคร ๆ ก็ตามที่เป็นคนเข็ญใจ ถวายทานแก่อาตมภาพในวันนี้พึงได้ตำแหน่งเสนาบดี หรือตำแหน่งเศรษฐี”
ท้าวสักกะตอบว่า “ผู้ที่เข็ญใจไปกว่ากระผมไม่มีเลยขอรับ”
พระเถระถามว่า “พระองค์เสวยสิริราชสมบัติในเทวโลกจะจัดว่าเป็นคนเข็ญใจเพราะเหตุไร”
ท้าวสักกะจึงตอบว่า “อย่างที่พระผู้เป็นเจ้าว่าก็ถูกละขอรับ แต่เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้ายังมิทรงอุบัตินั้น กระผมได้ทำกัลยาณกรรม(กรรมดี)ไว้ เมื่อพุทธุปบาทกาลยังเป็นไปอยู่เทพบุตรผู้มีศักดิ์เสมอกันสามองค์คือจูฬรถเทพบุตร มหารถเทพบุตร อเนกวัณณเทพบุตรทำกัลยาณกรรมแล้วได้เกิดในที่ใกล้ของกระผมมีเดชมากกว่ากระผม เมื่อเทพบุตรทั้งสามนั้นพาพวกบริจาริกาลงสู่ระหว่างถนนเพื่อเล่นนักขัตฤกษ์ กระผมต้องต้องหนีเข้าตำหนักเพราะเดชจากสรีระของเทพบุตรทั้งสามนั้นเหนือกว่าและท่วมทับสรีระของกระผม ใครจะเข็ญใจกว่ากระผมเล่าขอรับ”
ทุกข์ของคนมีอำนาจนั้น เมื่อใดก็ตามที่มีคนมีฤทธิ์เดชเหนือกว่าก็ย่อมเป็นทุกข์พวกเทวดาเขาวัดกันด้วยบุญญาบารมี เมื่อผู้มีศักดิ์ใหญ่กว่าเหนือกว่าผ่านมา ผู้มีเดชศักดาน้อยก็ต้องหลบ พระอินทร์ได้ชื่อว่าเป็นใหญ่ในสวรรค์ แต่เมื่อมีผู้มีบุญมากกว่ามาอยู่ใกล้ก็พลันถูกรัศมีของเทพบุตาเหล่านั้นบดบัง เลยกลายเป็นเหมือนผู้มีทุกข์
พระเถระจึงบอกว่า “ตั้งแต่นี้ต่อไปพระองค์อย่าได้ลวงถวายทานแก่อาตมภาพอย่างนี้อีกเลย”
ท้าวสักกะเทวราชสงสัยจึงถามว่า “เมื่อกระผมลวงถวายทานแก่ท่าน กุศลจะมีแก่กระผมหรือไม่มี”
พระเถระตอบว่า “มีสิ พระองค์จะมีอานุภาพเหนือกว่าเทพบุตรทั้งสามนั้น”
คนที่มีใจใฝ่บุญบางครั้งถึงกลับต้องลวงเพื่อที่จะได้ถวายทาน เพราะหากท้าวสักกะมาในเพศของเทวดา พระมหากัสสปะก็จะไม่รับบิณฑบาตนั้น เพราะพระเถระตั้งใจว่าจะให้การสงเคราะห์แก่คนเข็ญใจเท่านั้น ท้าวสักกะเทวราชหรือที่นิยมเรียกว่าพระอินทร์จึงต้องปลอมตัวเป็นคนเข็ญใจ แม้จะไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นการขโมยบุญ แต่ก็เป็นการหลอกลวงเพื่อที่จะได้ทำบุญ
ส่วนคนที่ไม่เคยทำบุญ แม้ว่ากำลังทำบุญอยู่แท้ๆก็ไม่รู้ตัวว่าตนกำลังทำบุญ มีเรื่องเล่ากันว่า “ครั้งหนึ่งมีพระธุดงค์รูปหนึ่งเดินทางจาริกไปตามที่ต่างๆ เย็นวันหนึ่งมาถึงฝั่งแม่น้ำต้องการจะข้ามน้ำไปยังอารามที่อยู่ตรงข้ามอีกฟากฝั่งของแม่น้ำ เรือข้ามฟากก็ไม่มีแต่พลันก็หันไปพบกับคนหาปลาคนหนึ่งกำลังแจวเรือเข้ามาใกล้จึงเอ่ยปากขอข้ามไปฝั่งโน้น คนหาปลาคนนั้นบอกว่าต้องเสียเงินค่าจ้างจึงจะพาไป พระธุดงค์บอกว่าอาตมาไม่มีเงินเลย หากโยมพาอาตมาข้ามไปฝั่งโน้นได้ อาตมาจะให้บุญแทน คนหาปลาจึงพาพระรูปนั้นข้ามแม่น้ำไปได้อย่างปลอดภัย พอถึงฝั่งพระก็จะให้พรแทนค่าจ้าง แต่คนหาปลาบอกว่าก็ท่านสัญญาไว้แล้วว่าจะให้บุญก็ต้องให้บุญสิครับ เพราะบุญที่คนหาปลาคนนั้นเข้าใจคือวัตถุสิ่งของซึ่งตนก็ไม่เคยเห็น ส่วนบุญที่พระธุดงค์เข้าใจคือความสุขความดีที่อยู่ภายในเป็นนามธรรมไม่ใช่วัตถุที่จะจับต้องได้
เมื่อความเข้าใจต่างกันจึงตกลงกันไม่ได้ พระธุดงค์รูปนั้นคิดอะไรไม่ออกพลางเอามือขยี้จมูก บังเอิญขี้มูกที่พึ่งแห้งติดมือมาพอดี พระจึงทำทีล้วงลงไปในย่ามและนำเอาก้อนขี้มูกที่เป็นก้อนขนาดเล็กๆติดมือมาด้วย พลางบอกว่าคนหาปลาคนนั้นไปว่า “เอ้า....ถ้าโยมอยากได้บุญก็เอาก้อนนี่ไป” คนหาปลายกมือไหว้และแจวเรือหายลับไปในลำน้ำ ส่วนพระธุดงค์ก็มุ่งหน้าเข้าวัดเพื่อหาที่พักผ่อนในคืนนั้น
คนหาปลาเมื่อได้ก้อนบุญมาแล้วเกรงว่าจะทำหล่นหาย เพราะมีขนาดไม่ใหญ่นักเล็กๆขนาดยาอม จะเก็บไว้ในกระเป๋าเสื้อก็เกรงว่าจะถูกน้ำละลายเสียหายไปก่อน ในที่สุดจึงคิดวิธีที่ดีที่สุดคือกลืนกินชะเลย จะได้ลิ้มรสชาติแห่งบุญซะที เมื่อก้อนบุญถึงปลายลิ้น คนหาปลาก็เปล่งอุทานอย่างอิ่มบุญว่า “อ๋อ....บุญนี้มีรสปะแล่มๆออกเค็มนิดหน่อย” ก่อนที่จะทำงานตามอาชีพต่อไป คนที่ไม่รู้จักบุญย่อมเข้าใจสาระในบุญได้ยากด้วยประการฉะนี้
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
05/09/54