นานๆจะได้ดูภาพยนตร์สักเรื่อง วันนี้มีผู้หวังดีท่านหนึ่งส่งหนังเรื่องอวตารมาให้ดูเป็นแผ่นดีวีดี ดูหนังจบก็ต้องตะลึงในจินตนาการของผู้สร้างที่ทุ่มทุนมหาศาลและทำรายได้ทำลายสถิติหนังทำเงินแทบทุกเรื่อง ข่าวว่าถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์หลายสาขา แสดงว่าคนในปัจจุบันมีจินตนาการที่พร้อมจะหนีจากโลกแห่งความเป็นจริงที่สับสนวุ่นวายได้วิจิตรพิสดารมากยิ่งขึ้น
คำว่า "อวตาร" (อะ-วะ-ตาน หรือ อะ-วะ-ตาระ) เป็นคำที่มาจากภาษาสันสกฤตและภาษาบาลี หมายถึงการแบ่งภาคมาเกิดบนโลกมนุษย์ตามความเชื่อของศาสนาฮินดู โดยเทพแบ่งพลังงานส่วนหนึ่งลงมาเกิดเป็นมนุษย์หรือสัตว์ เพื่อทำหน้าที่อย่างหนึ่งอย่างใด ในลัทธิไวษณพนิกาย ถือว่าเมื่อศีลธรรมของมนุษย์เสื่อมลง จนเกิดความเดือดร้อนไปทั่ว พระนารายณ์จะอวตารลงมาปราบยุคเข็ญ (พจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากล อังกฤษ-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. พิมพ์ครั้งที่ 2. ราชบัณฑิตยสถาน. 2548. หน้า 78-79. )
ส่วนในภาษาบาลีมีคำที่ใกล้เคียงคือ “อวตรณ” แปลว่า อวตาร,การแบ่งภาคลงมาเกิด,ท่า,ช่อง และคำว่า “อวตรติ” แปลว่า หยั่งลง,แบ่งภาคลงมาเกิด (พระอุดรคณาธิการ,พจนานุกรมบาลี-ไทย,กรุงพฯ:ธรรมสาร,2546, หน้า 61)
มีประเด็นที่น่าสนใจอย่างหนึ่งคือ ในขณะที่คนส่วนมากมักจะรู้จักนารายณ์สิบปาง แต่ตามเอกสารต้นฉบับตัวเขียนในส่วนภาษาไทยโบราณของหอสมุดแห่งชาติซึ่งจำนวน 29 เล่มใช้ชื่อว่านารายณ์ยี่สิบปางซึ่งประกอบด้วยมัจฉาวตาร สุวรรณกัจฉปาวตาร กฤษณาวตาร เสวตวราหวตาร มหิงสาวตาร ทวิชาวตาร นรสิงหาวตาร สมณาวตาร อัปสราวตาร รามาวตาร ทุลกีอวตาร บุรษรามาวตาร (ศ.ดร.นิยะดา เหล่าสุนทร,คัมภีร์นารายณ์ 20 ปางกับคนไทย,กรุงเทพฯ: แม่คำผาง, 2540,หน้า 18) ในยุคหนึ่งฮินดูต้องการกลืนพระพุทธศาสนาจึงมี "พุทธาวตาร" ทำให้คนฮินดูเข้าใจว่าพระพุทธศาสนาคือนิกายหนึ่งในศาสนาฮินดู
ในอรรถกถาพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม 1 ภาค 1 หน้าที่ 9 มีคำอธิบายคำว่า “พุทธะ” ไว้ว่า บทว่า “พุทธะ” นั้นชื่อว่าพุทธะเพราะอรรถว่าตรัสรู้สัจจะทั้งหลาย เหมือนผู้ที่ลงมาในโลก อวตารก็เรียกว่าผู้ลงมา อวตาร การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าแสดงว่ามีส่วนคล้ายการอวตารเท่านั้น มิใช่อวตารลงมาเองตามที่ศาสนาฮินดูเข้าใจ และยิ่งห่างไกลจากภาพยนตร์เรื่อง “อวตาร” เพราะนั่นเป็นการสร้างอวตารทางวิทยาศาสตร์ พระพุทธศาสนาเถรวาทจึงไม่ได้มีแนวคิดเรื่องการอวตารที่ชัดเจน แต่ในนิกายมหายานค่อนข้างจะมีความเชื่อเรื่องอวตารที่ชัดเจนดังกรณีของดาไลลามะองค์ปัจจุบันซึ่งเป็นองค์ที่สิบสี่ ก็เป็นร่างอวตารของดาไลลามะองค์ที่หนึ่งกลับชาติมาเกิด องค์ที่หนึ่งและองค์ที่สิบสี่คือจิตดวงเดียวกันแต่อยู่ในร่างกายต่างกรรมต่างวาระกันเท่านั้น
อาจจะมีบ้างในบางครั้งที่เราอยากหนีให้พ้นจากเรื่องรกสมองที่ตามประชิดในชีวิตอันแสนวุ่นวาย อวตารเราสร้างได้ในโลกไซเบอร์สเปชคือการที่ใครสักคนสร้างสัญลักษณ์แทนตนในรูปแบบต่างๆไม่ว่าจะเป็นไอคอนหรือรูปภาพ โมเดลสามมิติ เป็นการอวตารให้ปรากฏในโลกอินเทอร์เน็ต อะไรก็ได้ที่ไม่ใช่ตัวตนของเราจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นเกมส์คอมพิวเตอร์ เว็บบอร์ด เว็บไซต์ เครือข่ายชุมชนออนไลน์ต่างๆ เพื่อที่จะทำให้ตนเองเป็นใครบางคนที่มีสถานะความสำคัญในโลกไซเบอร์สเปช อันอาจเป็นการแสดงความสามารถที่มีอยู่ให้ปรากฏออกมา หรือได้ระบาย ปลดปล่อยจากสภาวะที่เป็นจริงในโลกแห่งความจริงที่กำลังประสบอยู่ โลกไซเบอร์ตอบสนองการอวตารของคนได้ส่วนหนึ่ง
ในโลกแห่งความเป็นจริงเขาอาจเป็นเพียงคนพิการที่ทำอะไรได้ไม่มากนัก แต่โลกแห่งการอวตารเขาคือวีรบุรุษ เรื่องแบบนี้ถูกใจคนส่วนมาก เพราะใครๆก็อยากเป็นวีรบุรุษ อยากเป็นผู้ชนะ บางครั้งเพียงได้ฝันก็มีความสุขแล้ว ทำให้เกิดอาการทางจิตชนิดหนึ่งเรียกว่า “ฮิคิโคโมริชินโดรม” ที่กำลังระบาดในเอเชีย แม้จะยังไม่นับว่าเป็นคนป่วย แต่ก็มีอาการใกล้ๆกับการเป็นคนป่วยทางจิตอ่อนๆ อาการแบบนี้เป็นสภาวะการณ์การเก็บตัวหนีจากโลกแห่งความจริง หาเวลาส่วนหนึ่งมาสร้างอวตารขึ้นในโลกไซเบอร์ เพื่อทดแทนปมด้อยในโลกแห่งความเป็นจริง
คนที่เป็นโรคนี้มักจะเกิดขึ้นในคนสามกลุ่มคือ กลุ่มแรกได้แก่บุคคลที่ตกงาน มองตัวเองว่าเป็นคนไร้ค่า แต่ในโลกไซเบอร์จะสร้างตัวตนอย่างไรก็ได้ จากคนไม่มีใครต้องการ อาจเป็นท่ีปารถนาของคนบางกลุ่ม หรืออาจเป็นวีรบุรุษของคนในอีกโลกหนึ่งก็ได้ โลกแห่งความจริงไม่น่าอยู่ แต่โลกในฝันนั้นอลังการ
กลุ่มที่สองมักเกิดกับผู้ใหญ่ที่เอาแต่ทำงาน คนเหล่านี้จะทำงานหนักจนไม่ค่อยมีเวลาพักผ่อน จึงหาทางออกโดยการอวตารตัวตนขึ้นมาเพื่อหลบลี้ตัวเองออกจากความเป็นจริง เพื่อเข้าสู่โลกไซเบอร์สเปช บางครั้งกลายเป็นผู้หลอกลวงคนอื่น บางครั้งถูกหลอกเสียเอง
กลุ่มที่สามคือพวกเด็กนักเรียนนักศึกษาที่เรียนอย่างหนักจนไม่ค่อยมีเวลาสมาคมกับใคร จึงหาทางออกโดยการเข้าสู่โลกไซเบอร์ บางคนสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ จึงมุมานะเล่นเกมส์คอมพิวเตอร์ หรือเมื่อมีความชำนาญมากเข้าก็กลายเป็นผู้ก่ออาชญากรรมทางอินเทอร์เน็ตเสียเอง หรือปล่อยไวรัสเพื่อทำลายเครือข่ายอื่นๆ เด็กพวกนี้ในโลกแห่งความเป็นจริง แม้จะไม่ค่อยประสบความสำเร็จ แต่ในโลกไซเบอร์เขาคือผู้ยิ่งใหญ่
แนวคิดเรื่องการอวตารของโลกตะวันออกและโลกตะวันตกจึงแตกต่างกัน ในศาสนาฮินดูพระนารายณ์อวตารลงมาปราบยุคเข็ญ แต่ในโลกตะวันตกอวตารเพื่อหนีจากโลกแห่งความเป็นจริงสู่โลกแห่งจินตนาการ โลกแห่งความจริงเราอาจทุกข์ทรมาน แต่ในโลกแห่งความฝันฉันกำลังเสวยสุขในทิพยวิมาน
ไซเบอร์วนารามดอทเน็ตมีตัวตนจริง เว็บมาสเตอร์มิได้อวตารมาจากไหน มีที่พักหลักแหล่งแจ้งไว้ชัดเจน สามารถติดต่อได้ทั้งทางอีเมล์และโทรศัพท์ ที่เปิดเว็บไซต์ขึ้นมาครั้งแรกมีวัตถุประสงค์เพียงสองประการคือต้องการศึกษาการเขียนเว็บไซต์ด้วยจุมลา และต้องการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในโลกไซเบอร์ ที่เขียนก็เขียนตามอารมณ์และความสนใจของผู้เขียน เพราะยังไม่มีใครขอให้เขียนตามใจคนอ่าน ยังอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง แต่ไม่แน่ว่าจะ "อวตาร" จากโลกที่เป็นอยู่เมื่อใด
เอ๊ะ… เขียนไปเขียนมาหรือว่าเว็บมาสเตอร์ไซเบอร์วนารามกำลังมีอาการ “ฮิคิโคโมริชินโดรม” ขึ้นมาแล้ว คิดว่าตัวเองกำลังอวตารเป็น “ใครสักคน” ในโลกไซเบอร์หรืออย่างไร.....
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
06/03/53