ไซเบอร์วนาราม.เน็ต

เว็บไซต์เพื่อพระพุทธศาสนา อารามหนึ่งบนโลกไซเบอร์

laithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithai

           หลังจากวันออกพรรษาแล้ว มีงานบุญใหญ่ที่รออยู่ในช่วงเวลาหนึ่งเดือนที่เหลือจากวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงวันขึ้น 15  ค่ำ เดือน 12 เป็นงานบุญที่เรียกว่ากาลทานคือจัดขึ้นในช่วงเวลาปีละครั้งเท่านั้น วัดหนึ่งทำได้ครั้งเดียว เรียกกันว่า “กฐิน” เริ่มต้นจากวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 เป็นต้นไป วัดมัชฌันติการาม วงศ์สว่าง 11 บางซื่อ กรุงเทพมหานคร มีงานบุญกฐินในวันอาทิตย์ที่ 24  ตุลาคม 2553 ซึ่งจัดอย่างนี้ทุกปี  ใครจะมาร่วมงานบุญกฐินแรกของปีขอเชิญมาที่วัดได้  
           กฐินนั้นเกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยพุทธกาล มีปรากฎในกฐินขันธกะ วินัยปิฎก มหาวรรค (5/95/108) ความว่า “สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นภิกษุปาไฐยรัฐจำนวน 30 รูป ล้วนถืออารัญญิกธุดงค์  บิณฑปาติกธุดงค์ และเตจีวริกธุดงค์เดินทางไปพระนครสาวัตถีเพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาค เมื่อจวน ถึงวันเข้าพรรษา ไม่สามารถจะเดินทางให้ทันวันเข้าพรรษาในพระนครสาวัตถี จึงจำพรรษา ณ  เมืองสาเกต ในระหว่างทาง ภิกษุเหล่านั้นจำพรรษามีใจรัญจวนว่า พระผู้มีพระภาคประทับอยู่  ใกล้ๆ เรา ระยะทางห่างเพียง 6 โยชน์ แต่พวกเราก็ไม่ได้เฝ้าพระองค์


            เนื่องจากมีพุทธานุญาตให้ภิกษุอยู่จำพรรษาในที่แห่งใดแห่งหนึ่งตลอดสามเดือน เมื่อภิกษุเหล่านี้ตั้งใจจะเดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้า แต่ไปไม่ถึงแม้จะเหลือระยะทางไม่ไกลนักหากเทียบกับปัจจุบันโดยเทียบจากมาตราวัดของไทยคือ 400 เส้นเท่ากับ 1 โยชน์ หากคิดตามนี้ก็พอจะวิเคราะห์ได้ว่า 1 เส้นเท่ากับ 40 เมตร 1000 เมตรเท่ากับหนึ่งกิโลเมตร  25 เส้นจึงเท่ากับ 1 กิโลเมตร  1 โยชน์ประมาณ 16 กิโลเมตร  ดังนั้นถ้าระยะทาง 6 โยชน์ก็น่าจะเทียบได้ประมาณ 96 กิโลเมตร อันนี้คิดตามความรู้ของผู้ที่ไม่เก่งวิชาคณิตศาสตร์ ใครเก่งคำนวณลองพิจารณาดู หากเป็นปัจจุบันนั่งรถไม่นานก็ถึง แต่เมื่อสองพันปีเดินด้วยเท้าวันหนึ่งไม่น่าจะเกินสิบห้ากิโลเมตร หากคิดตามนี้ต้องใช้เวลาเดินทางถึงหนึ่งอาทิตย์ แต่ปัจจุบันไม่ถึงหนึ่งชั่วโมง ดูเอาเถิดกาลเวลาเปลี่ยนการเดินทางก็เปลี่ยนไปด้วย
           ภิกษุเหล่านั้นออกพรรษาทำปวารณาเสร็จแล้ว เมื่อฝนยังตกชุก พื้นภูมิภาคเต็มไปด้วยน้ำ เป็นหล่มเลน  มีจีวรชุ่มชื้นด้วยน้ำ ลำบากกาย เดินทางไปถึงพระนครสาวัตถี พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกคหบดี เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง  
           ภิกษุเหล่านั้นเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าทั้งๆที่จีวรเปียกน้ำ บางรูปก็จีวรขาด เพราะต้องรีบเร่งในการเดินทาง ฝนก็ยังตกบุกป่าฝ่าน้ำเป็นระยะทางเกือบร้อยกิโลเมตร 

          พระผู้มีพระภาคตรัสถามภิกษุเหล่านั้นว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอยังพอทนได้หรือ พอยังอัตภาพให้เป็นไปได้หรือ พวกเธอเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกัน ไม่วิวาทกัน  จำพรรษาเป็นผาสุก และไม่ลำบากด้วยบิณฑบาตหรือ  
           การที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปราศัยกับพระอาคันทุกะทั้งหลายนั่นเป็นพุทธประเพณี  พระพุทธเจ้าไม่ทรงเลือกว่าจะเป็นใครมาจากไหน เมื่อพบหน้าภิกษุก็มักจะถามไถ่ตามธรรมเนียมว่า “พอทนได้หรือ พอยังอัตภาพให้เป็นไปได้หรือ” ทรงถามด้วยความห่วงใย ภิกษุในบางภาคส่วนในประเทศไทยเมื่อพบหน้ากันก็มักจะถามด้วยถ้อยคำสองคำนี้ว่า "พออดพอทนได้อยู่หรือ" 
            ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า พวกข้าพระพุทธเจ้ายังพอทนได้ พอยังอัตภาพให้เป็นไปได้ พระพุทธเจ้าข้า อนึ่ง ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกัน ไม่วิวาทกัน จำพรรษาเป็นผาสุก และไม่ลำบากด้วยบิณฑบาต พระพุทธเจ้าข้า 

            พระผู้มีพระภาค ทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้นในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลายผู้จำพรรษาแล้วได้กรานกฐิน พวกเธอผู้ได้กรานกฐินแล้ว จักได้อานิสงส์ 5ประการคือ (1) เที่ยวไปไหนไม่ต้องบอกลา  (2) ไม่ต้องถือไตรจีวรไปครบสำรับ   (3) ฉันคณะโภชน์ได้  (4) ทรงอติเรกจีวรไว้ได้ตามปรารถนา  (5) จีวรอันเกิดขึ้น ณ ที่นั้นจักได้แก่พวกเธอ ดูกรภิกษุทั้งหลายอานิสงส์ห้าประการนี้จักได้แก่เธอทั้งหลายผู้ได้กรานกฐินแล้ว                   
         กฐินจัดเป็นกาลทานคือการถวายจำกัดด้วยเวลาภายในหนึ่งเดือนหลังจากออกพรรษาแล้ว  การถวายทานที่เรียกว่ากาลทานนั้นมีเงื่อนไขด้วยกำหนดเวลา ซึ่งเวลาถวายทานมีสองเวลาคือ(1) กาลทาน  คือทานที่ถวายจำกัดเวลา  เช่น  ผ้ากฐิน  กายในหนึ่ง เดือนท้ายฤดูฝน หรือถวายอาหารต้องถวายจากช่วงเวลาเช้าถึงเที่ยง และ(2)วิกาลทานคือทานที่ถวายได้โดยไม่จำกัดเวลาคือถวายเวลาไหนก็ได้ เช่นสงบ จีวร ยา ที่นอน ที่นั่ง น้ำดื่ม หนังสือเป็นต้น 
           นอกจากนั้นยังมีการการถวายทานในพระพุทธศาสนาอีกสองอย่างคือ"ปาฏิบุคลิกทาน" หมายถึงการถวายเจาะจงพระภิกษุสามเณรรูปใดรูปหนึ่งโดยเฉพาะ และ"สังฆทาน" หมายถึงการถวายแก่สงฆ์ทั่วไป ไม่เจาะจงรูปใดรูปหนึ่ง 

           ในกาลทานสูตร อังคุตรนิกาย ปัญจกนิบาต (22/36/36) ได้แสดงทานตามกาลไว้ห้าประการดังข้อความว่า  “ดูกรภิกษุทั้งหลาย กาลทาน 5 ประการนี้คือ(1) ทายกย่อมให้ทานแก่ผู้มาสู่ถิ่นของตน (2)ทายกย่อมให้ทานแก่ผู้เตรียมจะไป (3) ทายกย่อมให้ทานในสมัยข้าวแพง (4)ทายกย่อมให้ข้าวใหม่แก่ผู้มีศีล (5) ทายกย่อมให้ผลไม้ใหม่แก่ผู้มีศีล 
          ดูกรภิกษุทั้งหลาย กาลทาน5 ประการนี้แล  ผู้มีปัญญา รู้ความประสงค์ ปราศจากความตระหนี่ ย่อมให้ทานในกาลที่ควรให้ เพราะผู้ให้ทานตามกาลในพระอริยเจ้าทั้งหลาย ผู้ปฏิบัติซื่อตรง ผู้มีใจคงที่ เป็นผู้มีใจผ่องใสทักขิณาทานจึงจะมีผลไพบูลย์ ชนเหล่าใด ย่อมอนุโมทนาหรือช่วยเหลือในทักขิณาทานนั้น ทักขิณาทานนั้นย่อมไม่มีผลบกพร่อง เพราะการอนุโมทนาหรือการช่วยเหลือนั้นแม้พวกที่อนุโมทนาหรือช่วยเหลือ ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งบุญเพราะฉะนั้น ผู้มีจิตไม่ท้อถอยจึงควรให้ทานในเขตที่มีผลมาก บุญทั้งหลายย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายในปรโลก” ทานทั้งห้าประการก็เรียกว่าเป็นการให้ทานตามกาล ผู้มาเยือนต้องต้อนรับ ผู้กำลังจะเดินทางก็ต้องช่วยเหลือค่าเดินทางตามสมควร ยิ่งในช่วงเวลาที่น้ำกำลังท่วมแบบนี้อยู่ในยุคข้าวยากหมากแพงก้ควรร่วมกันบริจาคหรือให้การช่วยเหลือตามกำลัง 

           วัดมัชฌันติการามมีงานกฐินในวันที่ 24 ตุลาคม 2553 จัดงานในวันแรก เพราะต้องการให้พระภิกษุสามเณรในวัดจะได้เดินทางไปร่วมงานกฐินในวัดอื่นๆได้หรือเดินทางไปต่างจังหวัดได้โดยสะดวก งานเริ่มตั้งแต่เวลา 07.30 นาฬิกา ตักบาตรเทโวโรหณะและต่อด้วยกฐิน วันเดียวได้ทำบุญสองครั้ง ใครจะมาร่วมงานขอเชิญมาที่วัดได้ อยู่ต่างประเทศมาไม่ได้ส่งปัจจัยมาร่วมทำบุญก็ได้


พระมหาบุญไทย  ปุญญมโน
24/10/53

 

 


เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

กองธรรมสนามหลวง

กองบาลีสนามหลวง

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กรมการศาสนา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัย  มมร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)

เว็บไชต์นักศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มมร

 

วัดไทย

เว็บวัดในประเทศไทย

วัดไทยในต่างประเทศ

คณะสงฆ์ธรรมยุตUSA

 วัดป่าธรรมชาติ LA

พระคุ้มครอง

วัดธรรมยุตทั่วโลก

 

ส่วนราชการในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ส่วนราชการในประเทศไทย

กระทรวงในประเทศไทย

 

หนังสือพิมพ์ไทย

ไทยรัฐ
เดลินิวส์
มติชน
ผู้จัดการ
กรุงเทพธุรกิจ
คม ชัด ลึก
บ้านเมือง
ข่าวสด
ฐานเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ
สยามกีฬา
แนวหน้า
โพสต์ทูเดย์
ไทยโพสต์
สยามรัฐ
สยามธุรกิจ
บางกอกทูเดย์

 

ข่าวภาษาต่างประเทศ

ข่าว CNN

ข่าว BBC

Bangkok Post

The Nation

หนังสือพิมพภาษาต่างประเทศ

เมนูสมาชิก