วันหนึ่งนั่งรถไปต่างจังหวัด เนื่องจากถนนคดเคี้ยวเลี้ยวเลาะไปตามเชิงเขาถนนบางช่วงยังเป็นถนนดินแดงเมื่อฝนตกก็กลายเป็นแอ่งน้ำ คนขับก็ไม่ชำนาญเส้นทางการขับรถบนถนนอย่างนี้เสี่ยงกับการเกิดอุบัติเหตุเป็นอย่างยิ่ง ฝนก็ตกถนนบางแห่งน้ำกัดเซาะถนนขาดเป็นช่วงๆ พลางก็เกิดความคิดอย่างหนึ่งขึ้นมาว่าถ้าเราไปขับรถเสียเองจะเป็นอย่างไร ผู้ที่เกิดมายังไม่เคยขับรถแต่ถ้าไปขับรถในสถานการณ์อย่างนี้มีหวังไปไม่ถึงไหน คนที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องแต่หากเข้าไปทำเสียเองคงยุ่งน่าดู โลกมนุษย์ที่มีความยุ่งยากทุกวันนี้ส่วนหนึ่งมาจากผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องอะไร แต่ชอบเข้าไปยุ่งเรื่องของชาวบ้าน บางเรื่องที่กำลังจะยุติกลับต้องเกิดความยุ่งยากจนเกินจะแก้ไขได้
นั่งคิดอยู่ข้างหลังเพลินๆว่าถ้าสมมุติเราเป็นคนขับจะทำอย่างไร คิดจะใส่เกียร์เดินหน้า แต่กลับใส่เกียร์ถอยหลัง ต้องการเหยียบเบรคแต่กลับไปเหยียบคันเร่ง มีหวังไปไม่ถึงที่หมายแน่นอน อาจจะเผลอลงข้างทางแห่งใดแห่งหนึ่งก็ได้ บางครั้งคนที่ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องอาจจะทำให้เรื่องบางเรื่องมีความยุ่งยากมากยิ่งขึ้นก็ได้ มนุษย์เราทุกวันนี้รู้สึกว่าจะทำงานยุ่งอยู่แทบทุกเวลาทุกนาที พอมีเพื่อนมาขอให้ช่วยก็บอกว่ากำลังยุ่งอยู่ช่วยไม่ได้ทั้งๆที่ตอนนั้นไม่ได้ทำอะไรเลย จริงๆแล้วถ้าไม่เกี่ยวจะไม่ยุ่ง เรื่องบางเรื่องปล่อยให้คนที่มีความชำนาญทำจะดีกว่า
เคยเห็นปลาติดเบ็ดไหม พอมันกินเหยื่อเบ็ดก็เกี่ยวเข้าที่ปากปลานั้นอยากจะหลุดจากเบ็ดจึงดิ้นรนเพื่อจะได้หลุดจากเบ็ด แต่ดูเหมือนยิ่งดิ้นเบ็ดก็ยิ่งเกาะแน่นขึ้น ในที่สุดก็ต้องตายเพราะหลงในเหยื่อล่อ ธรรมชาติของปลาย่อมอยู่ในน้ำ แต่เมื่อใดที่ชาวประมงนำปลามาวางไว้บนบก ปลานั้นย่อมดิ้นรนหาทางลงน้ำเพื่อจะได้มีชีวิตรอดต่อไป บางครั้งก็รอด บางครั้งก็ต้องสิ้นใจ ธรรมชาติของปลาที่อยู่บนบกกับธรรมชาติของจิตมีความดิ้นรนกลับกลอกยอกย้อนคล้ายๆกัน เพียงแต่ปลาดิ้นรนเพื่อที่จะได้กลับไปยังน้ำ ส่วนจิตมนุษย์มนุษย์มักจะดิ้นรนไปในกามคุณคือรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่น่าปรารถนา น่ารัก น่าชอบใจทั้งหลาย ซึ่งเปรียบเสมือนเหยื่อล่อ ใครที่หลงในรูปสวยๆ เสียงที่ไพเราะเป็นต้นผู้นั้นกำลังหลงติดเหยื่ออาจจะติดจนดิ้นไม่หลุด เหมือนปลาที่ติดเบ็ดยิ่งดิ้นยิ่งแน่น
พระพุทธศาสนาแสดงธรรมชาติของจิตไว้ในขุททกนิกาย ธรรมบท(25/13/14) ตอนหนึ่งว่า “นักปราชญ์ย่อมทำจิตที่ดิ้นรน กลับกลอกรักษาได้โดยยากห้ามได้โดยยาก ให้ตรงดังช่างศรดัดลูกศรให้ตรง ฉะนั้น จิตนี้อันพระโยคาวจรยกขึ้นแล้วจากอาลัย คือเบญจกามคุณเพียงดังน้ำซัดไปในวิปัสสนากรรมฐานเพียงดังบก เพื่อจะละบ่วงมาร ย่อมดิ้นรนดุจปลาอันชาวประมง ยกขึ้นแล้วจากที่อยู่คือน้ำโยนไปแล้วบนบกดิ้นรนอยู่ ฉะนั้น” ใครที่เริ่มฝึกจิตก็เริ่มที่จะเห็นความคิดที่ไม่ยอมอยู่นิ่ง
มนุษย์ส่วนหนึ่งที่ต้องยุ่งยากทุกวันนี้ก็เพราะหลงในเหยื่อล่อที่เรียกว่ากามคุณทั้งห้านี่เอง ในยุคนั้นทรงเปรียบเทียบการฝึกจิตเหมือนการดัดลูกศร แต่ถ้าในปัจจุบันอาจจะเปรียบเทียบกับการขับรถบนถนนที่เต็มไปหุบเหวสองข้างทางได้ ขาดสติพลั้งเผลอเมื่อใดตกเหวตายเมื่อนั้น พระพุทธศาสนามีคำสอนให้เข้าใจธรรมชาติของจิตว่าฝึกได้ยากยิ่ง ใครที่ฝึกจิตให้อยู่ในอำนาจได้ย่อมจะมีพลังเข้มแข็งสามารถฟันฝ่าอุปสรรคนานานประการไปได้ดังที่แสดงไว้ในขุททกนิกาย ธรรมบท(25/13/14) ว่า “การฝึกฝนจิตที่ข่มได้ยาก อันเร็ว มีปรกติตกไปในอารมณ์อันบุคคลพึงใคร่อย่างไร เป็นความดี เพราะว่าจิตที่บุคคลฝึกดีแล้วนำสุขมาให้ นักปราชญ์พึงรักษาจิตที่เห็นได้แสนยากละเอียดอ่อนมีปกติตกไปตามความใคร่ เพราะว่าจิตที่บุคคลคุ้มครองแล้วนำสุขมาให้” จิตจะมีพลังต้องได้รับการฝึกฝนอย่างถูกวิธี เมื่อใดคุมจิตให้อยู่ในอำนาจได้เมื่อนั้นก็มีความสุข
ยังดีที่วันนั้นเพียงแต่คิดในใจเท่านั้นไม่ได้เข้าไปช่วยคนขับรถ เพราะมีคติประจำใจอย่างหนึ่งว่า ถ้าไม่จำเป็นจริงๆจะไม่เข้าไปยุ่งเรื่องของคนอื่น นอกจากเขาจะขอให้ช่วย หรือเห็นว่าเขาช่วยเหลือตนเองไม่ได้จริงๆจึงจะเข้าไปช่วย ชีวิตของตนเองต้องต่อสู้กับกิเลสตัณหายากเย็นแสนเข็ญพออยู่แล้ว หากเข้าไปยุ่งเรื่องของคนอื่นๆทั้งๆที่ตนเองไม่เกี่ยวข้องคงจะต้องยุ่งยากมากขึ้นไปอีก ชีวิตบางครั้งก็ต้องวาง ทำในสิ่งที่ควรทำ ไม่พยายามเข้าไปยุ่งเรื่องของคนอื่น เรื่องไหนไม่เกี่ยว เรื่องนั้นใม่ยุ่ง
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
05/10/53