ทุกคนคงอยากมีเงิน อยากร่ำรวย อยากเป็นเศรษฐีด้วยกันทั้งนั้น แต่คนที่ประสบความสำเร็จจนได้รับการขนานนามว่าเศรษฐีนั้นเขาทำกันอย่างไรนั้น ส่วนมากมักจะไม่ค่อยมีใครเปิดเผยเคล็ดลับและวิธีการให้คนอื่นๆได้รับรู้สักเท่าใดนัก อาจจะเพราะกลัวว่าคนอื่นอาจจะนำแนวคิดและหลักปรัชญาไปใช้ในที่สุดอาจจะร่ำรวยกว่าคนที่เป็นต้นคิดก็ได้ แต่ะนินท์ เจียรวนนท์ ผู้ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นบุรุษที่รวยที่สุดในเมืองไทยขณะนี้ยอมเปิดเผย โดยมีหนังสือออกมาหลายเล่ม วันหนึ่งพบหนังสือเล่มเล็กๆเล่มหนึ่งใช้ชื่อว่า “คัมภีร์เจ้าสัว ธนินท์ เจียรวนนท์: บุรุษที่รวยที่สุดในเมืองไทย” อ่านจบภายในหนึ่งชั่วโมง
คนที่ได้ชื่อว่าร่ำรวยที่สุดในประเทศไทย มักจะขับเคี่ยวกันอยู่ไม่กี่ตระกูลหรือไม่กี่บริษัทเช่นเฉลียว อยู่วิทยา เจ้าพ่อกระทิงแดง เครื่องดื่มบำรุงกำลังที่นายเฉลียว ร่วมกับนายดีทริช มาเตสชิทซ์ นักธุรกิจออสเตรียเริ่มผลิตขึ้นเมื่อ 20ปีที่แล้ว ในต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น ในปีที่ผ่านมา มีมูลค่าทรัพย์สินทั้งหมด 4,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 136,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 500 ล้านดอลลาร์
นายเจริญ สิริวัฒนภักดี ผู้ก่อตั้งบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ เจ้าของธุรกิจวิสกี้และเบียร์ เหล้าแม่โขง , เบียร์ช้าง ฯลฯ ที่เพิ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์เมื่อปี 2549ทั้งยังเป็นเจ้าของกิจการโรงแรมพลาซ่า แอทธินี่ และไอเอ็มเอ็ม อีกด้วย มูลค่าทรัพย์สินรวม 3,900 ล้านดอลลาร์
ครอบครัว “จิราธิวัฒน์” มีกิจการหลายอย่างตั้งแต่ธุรกิจค้า ปลีก (ห้างเซ็นทรัล) ?,อสังหาริมทรัพย์ ,โรงแรม เป็นต้น มูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม 2,800 ล้านดอลลาร์
นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) กิจการเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี.) อายุ 69 ปี มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ์ 2,000 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นเงินไทยเท่าไหร่ไปบวกลบคูณหารกันเอาเอง
คนรวยคนอื่นๆยังไม่มีข้อมูลว่าเขาทำกันอย่างไรถึงได้ร่ำรวยมหาศาลขนาดนั้น แต่นายธนินท์ เจียรวนนท์มีคนเขียนถึงเนื้อหาปรากฎในหนังคัมภีร์เจ้าสัว ธนินท์ เจียรวนนท์: บุรุษที่รวยที่สุดในเมืองไทย บางส่วนของหนังสือเล่มนี้นำเสนกลยุทธสู่ความสำเร็จ
กลยุทธ์ที่นายธนินท์ เจียรวนนท์ ใช้ในการบริหารงานอย่างหนึ่งคือจากการให้สัมภาษณ์ว่า “นโยบายในการบริหารงานของผม ผมมักจะเน้นเรื่องเป้าหมาย ส่วนวิธีการให้เขาคิดหาทางเอาเอง” (ทศ คณนาพร,คัมภีร์เจ้าสัว ธนินท์ เจียรวนนท์: บุรุษที่รวยที่สุดในเมืองไทย,กรุงเทพฯ:แฮปปี้บุ๊ค,2553,หน้า 174) ฟังดูแล้วง่ายเหลือเกิน แต่บริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ก็สามารถขยายเครือข่ายไปทั่วโลก
เป้าหมายของการค้าก็คือกำไร ยิ่งมีกำไรมากเท่าไหร่ก็ถือว่าประสบความสำเร็จ ส่วนวิธีการนั้นขึ้นอยู่กับแต่ละคน พ่อค้าแต่ละคนย่อมมีวิธีการของตนเอง ซีพีมีเป้าหมายที่ชัดเจนดังที่ธนินท์ให้สัมภาษณ์ไว้ตอนหนึ่งว่า “สิ่งที่ผมยึดมั่นมาโดยตลอด เมื่อจะทำอะไรก็ตามคำนึงถึงส่วนใหญ่เป็นหลัก ผมคิดว่าใครก็ตามที่คิดแต่ผลประโยชน์ของตัวเอง คนนั้นยากที่จะเจริญก้าวหน้าและยากที่จะเป็นผู้นำ ไม่ว่าผมจะทำธุรกิจหรือทำการค้าอะไร สิ่งแรกที่ผมคิดถึงก็คือผู้บริโภคว่าจะได้รับอะไร แล้วจึงมาคิดว่าต่อไปเราจะทำอะไร เราจะได้อะไร” (เล่มเดียวกัน,หน้า 169)
สรุปแล้วผมให้ความสำคัญให้อำนาจ ให้โอกาสแก่ผู้ร่วมงานทุกคน ให้เขามีความพยายามด้วยตัวเองจนถึงที่สุด มากกว่าจะไปบังคับให้เขาทำอย่างนั้นอย่างนี้ ผมรู้ดีว่าผู้มีความสามารถจะไม่ชอบให้ใครบังคับ เพราะจะขาดความสนุกในการทำงาน
เคล็ดลับการสร้างคนเก่งให้กับองค์กรที่เครือซีพีใช้กับคนเก่งสรุปได้สามประการคือ(1) อำนาจ เพราะคนเก่งต้องมีเวที สำหรับใช้แสดงความสามารถ (2)เกียรติ เพราะนอกจากจะแสดงความสามารถอย่างเต็มที่แล้ว คนเก่งต้องได้รับการยอมรับจากผู้ร่วมงานและบุคคลภายนอกด้วย (3)เงิน ก็คือผลตอบแทนที่จูงใจ พร้อมขอให้ผู้นำกลุ่มธุรกิจต่างๆเร่งดำเนินการสร้างและพัฒนาคนเก่งให้แก่ซีพีด้วย เพราะเครือซีพีจะยิ่งใหญ่ได้ก็ต้องสร้างคน ถ้าไม่มีคนเก่งเราก็ไม่สามารถชนะใครในตลาดโลกได้ (เล่มเดียวกัน,หน้า 152)
อำนาจ เกียรติและเงินสามอย่างนี้คือสิ่งที่เจ้าสัวใช้ในการบริหารงาน จึงไม่แปลกที่คนเก่งทั้งหลายต่างก็มารวมตัวกันอยู่ที่บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ คนรวยเขามีแนวคิดที่ไม่เหมือนใคร เพราะถ้าคิดเหมือนคนอื่นเขาก็คงไม่รวย เคล็ดลับในการสร้างคนเก่งนี้เป็นเพียงหนึ่งในสิบหกกลยุทธ์ของเจ้าสัวที่นำมาใช้
หนังสือเล่มนี้บอกว่าธนินท์ เจียรวนนท์คือบุรุษที่รวยที่สุดในประเทศไทย หากไม่ใช่ก็คงไม่ผิดไปจากความจริงนัก พออ่านหนังสือเล่มนี้จบก็อยากให้คนอื่นๆที่ไม่ได้อ่านได้รับรู้ว่า คนที่รวยที่สุดในประเทศไทยเขาคิดกันอย่างไร มีปรัชญาในการบริหารอย่างไร แม้ว่าคนเขียนจะไม่ใช่คนที่จนที่สุดในประเทศแต่ก็ใกล้เคียง แต่ที่จนเพราะตั้งใจจน เพราะคิดแล้วว่าคงไม่มีโอกาสรวย เงินตราเกียรติและอำนาจไม่ใช่สิ่งที่ต้องการ เพราะทั้งสามอย่างนั้นแม้คนทั่วไปจะปรารถนา แต่พระพุทธศาสนาก็บอกว่าเงินตราคืออสรพิษ ภิกษุรูปใดเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องเรื่องของเงินตราอาจจะถูกแว้งกัดได้ทุกเวลา
เศรษฐีเขามองไปที่เป้าหมาย ส่วนพระพุทธศาสนาแม้จะมีเป้าหมายในการปฏิบัติธรรมที่ชัดเจนคือนิพพาน แต่วิธีการก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน เป้าหมายและวิธีการต้องเป็นไปพร้อมกัน ผลสำเร็จจึงจะได้ผลอย่างสมบูรณ์แบบ หากการปฏิบัติธรรมไม่คำนึงถึงวิธีการ ผลที่ได้มักจะล้มเหลว บางคนอาจกลายเป็นบ้าได้ง่ายๆ
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
27/09/53