ไซเบอร์วนาราม.เน็ต

เว็บไซต์เพื่อพระพุทธศาสนา อารามหนึ่งบนโลกไซเบอร์

laithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithai

              จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนาคือ "นิพพาน" หมายถึงการหลุดพ้นจากกิเลสทั้งมวล แต่การดำเนินไปสู่นิพพานนั้นมีหลายกระแส โดยองค์รวมที่พุทธศาสนิกชนรู้จักกันดีเรียกว่า "มรรค" คือทางไปสู่นิพพาน ธรรมะที่จัดเข้าในมรรคมีเป็นจำนวนมากแต่พอสรุปได้ย่อที่สุดคือโพธิปักขิยธรรมต่มีนักวิชาการทางตะวันตกได้ พยายามอธิบายว่านอกเหนือจากที่ชาวพุทธรู้จักกันดีแล้วเมตตาก็สามารถเป็นทางนำสู่นิพพานได้เหมือนกัน 


               ครั้งหนึ่งศาสตราจารย์ ดร. ริชาร์ด กอมบริช แห่งมหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ด ประเทศอังกฤษที่มาปาฐกถา แก่คณาจารย์ นักศึกษามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยเรื่อง “เมตตาธรรมนำสู่นิพพาน(Metta as a Means to Nibbana)” เป็นเรื่องที่ไม่คุ้นเคยกับความเข้าใจพระพุทธศาสนาเถรวาทของคนไทย เพราะคำว่าเมตตาสำหรับคนไทยเป็นหนึ่งในพรหมวิหาร มิใช่ธรรมะที่นำสู่นิพพานโดยตรง หลักธรรมที่นำสู่นิพพานหรือที่เรียกว่าโพธิปักขิยธรรม 37 ประการคือธรรมะที่เป็นองค์แห่งการตรัสรุ้ประกอบด้วยสติปัฏฐาน 4 สัมมัปปธาน 4 อิทธิบาท 4 อินทรีย์ 5 พละ 5 โพชฌงค์ 7 มรรคมีองค์ 8 ในโพธิปักขิยธรรมเหล่านี้ไม่่มีข้อใดที่บ่งถึงเมตตาเลย ดังนั้นเมื่อตั้งหัวข้อว่าเมตตาธรรมนำสู่นิพพาน จึงทำให้ผู้ฟังเกิดความสงสัยว่าคำว่า“เมตตา”นี้มาจากไหนนำสู่นิพพานได้ อย่างไร

 


                  ศาสตราจารย์ ดร. ริชาร์ด กอมบริชได้เริ่มปาฐกถาโดยพยามนำเสนอประเด็นเรื่องเมตตาที่เราเข้าใจดีอยู่แล้วแต่อาจจะมองไม่ลึกซึ้งพอ ในพระไตรปิฎกเมตตามีบทบาทความหมายอีกมากมาย พระพุทธองค์ได้นำเสนอไว้ในเตวิชชสูตร พระองค์ได้แสดงถึงพรหมวิหารธรรม วิหารหมายวัดหรือที่อยู่อาศัย คำว่า“พรหมวิหารี” จึงอาจจะแปลความได้ว่ามีเครื่องอยู่คล้ายดังพรหม แต่พระพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์ต่างก็มีมุมมองที่แตกต่างกัน ในคัมภีร์์อุปนิษัท คำว่า “พรหม”มาจาก “กรรม”หมายถึงพิธีกรรม การเข้าถึงพรหมจึงอยู่ที่การประกอบพิธีกรรมที่ถูกต้อง 
              แต่ในพระพุทธศาสนา คำว่า “กรรม” หมายถึงเจตนา กรรมเป็นคำกลางๆถ้าทำดีก็เรียกว่ากรรมดี ถ้าไม่ดีเรียกว่ากรรมชั่ว กรรมจึงอยู่ที่การกระทำของแต่ละคนมิใช่พิธีกรรมเหมือนที่พราหมณ์เข้าใจในคำสอนของพระพุทธเจ้ามีการใช้คำสอนเชิงอุปมาอุปมัยและเชิงนามธรรมอย่างมากมาย คำที่ใช้ที่เป็นพื้นฐานคือคำว่า “กรรม”หมายถึงการกระทำ ในยุคสมัยนั้นชีวิตที่ดีต้องประกอบด้วยการกระทำที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประกอบพิธีกรรมที่ถูกต้อง ดังนั้นคำว่ากรรมสำหรับพราหมณ์จึงหมายถึงพิธีกรรม แต่พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่ากรรมที่แท้จริงขึ้นอยู่กับเจตนาคือความจงใจหรือตั้งใจ 

                พรหมโลกพระพุทธศาสนาหมายถึงสิ่งที่อยู่ในโลกปัจจุบันทรงแสดงไว้ในเตวิชชสูตรในครั้งนั้นวาเสฏฐมาณพกับภารทวาชมาณพ ทูลถามพระพุทธเจ้าถึงทางที่ท่านโปกขรสาติพราหมณ์บอกไว้นี้เท่านั้นเป็นมรรคาตรง เป็นทางตรง เป็นทางนำออก นำผู้ดำเนินไปตามทางนั้นให้เป็นสหายแห่งพรหมได้ ส่วนภารทวาชมาณพพูดอย่างนี้ว่าหนทางที่ท่านตารุกขพราหมณ์บอกไว้นี้เท่านั้น เป็นมรรคาตรงเป็นทางตรง เป็นทางนำออก นำผู้ดำเนินไปตามทางนั้นให้เป็นสหายแห่งพรหมได้ ทางของพราหมณ์ทั้งสองนั้นทางของใครถูก 
                พระพุทธเจ้าจึงแสดงว่า พวกพราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชาไม่รู้จักพรหม ไม่เห็นพรหม จักแสดง หนทางเพื่อความเป็นสหายแห่งพรหมว่า หนทางนี้แหละ เป็นมรรคาตรง เป็นทางตรง เป็นทางนำออก นำผู้ดำเนินไปตามทางนั้นให้เป็นสหายแห่งพรหมได้ ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ ดูกรวาเสฏฐะ เหมือนแถวคนตาบอดเกาะหลังกันและกัน คนต้นก็ไม่เห็น คนกลางก็ไม่เห็น แม้คนท้ายก็ไม่เห็น ฉันใด ภาษิตของพราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชา มีอุปมาเหมือนแถวคนตาบอด ฉันนั้นเหมือนกัน คนต้นก็ไม่เห็น คนกลางก็ไม่เห็น แม้คนท้ายก็ไม่เห็น ภาษิตของพราหมณ์ผู้ได้ ไตรวิชชาเหล่านั้น ถึงความเป็นคำน่าหัวเราะทีเดียว ถึงความเป็นคำต่ำช้า อย่างเดียว ถึงความเป็นคำเปล่า ถึงความเป็นคำเหลวไหลแท้ๆ ดูกรวาเสฏฐะท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน พราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชา เห็นพระจันทร์และพระอาทิตย์ แม้ชนอื่นเป็นอันมากก็เห็นพระจันทร์ และพระอาทิตย์ ขึ้นไปเมื่อใด ตกไปเมื่อใด พราหมณ์ทั้งหลายย่อมอ้อนวอนชมเชย ประนมมือนอบน้อมเดินเวียนรอบ” 

                 ในเตวิชชสูตรทางไปสู่พรหมของพราหมณ์และของพระพุทธศาสนาจึงไม่เหมือนกันเพราะจิตมีสถานภาพที่ละเอียด เจตนาทำให้เกิดความคิด พรหมโลกของอุปนิษัท เมื่อกระทำพิธีกรรมจะนำไปสู่พรหมโลกเทียบได้กับสวรรค์ แม้แต่ในศาสนาคริสต์ก็มีโลกสวรรค์ เทพสถิตย์ในสรวงสวรรค์เป็นภาพของชายแก่เคราขาวนั่งบนบัลลังก์ทองคำในสวนอันรื่นรมย์ อันที่จริงสวรรค์เป็นความสุขทางใจ เพราะสวรรค์ไม่เหมือนมนุษย์ ภาพของชายแก่เครายาวจึงเป็นการอธิบายใน เชิงอุปมาอุปมัย
                  พระพุทธเจ้าบอกว่าพรหมคือสิ่งที่ทุกคนสามรถปฏิบัติได้ และจะทำให้คนๆอยู่ได้อย่างสงบสุขและสันติสุข เมตตาคล้ายกับการย่อส่วนของพรหมโลก อย่างในเมตตาสูตรบอกว่าเป็นเจโตวิมุตติ การโต้ตอบกับศาสนาพราหมณ์ และอีกอย่างทำให้จิตหลุดพ้น การไปพรหมโลกจะไม่กลับมาอีก ในพระพุทธศาสนาคือพระอนาคามีพระพุทธเจ้าก็บอกว่าพระองค์ก็เป็นพราหมณ์ต่เป็นพราหมณ์เพราะมีพรหมวิหารธรรมคือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา 
                   วิธีการทำให้จิตหลุดพ้นของพระพุทธศาสนากับศาสนาพราหมณ์แตกต่างกัน พรหมของพราหมณ์คือนิพพาน ส่วนของพระพุทธศาสนาเป็นสภาพของจิตที่ประกอบด้วยพรหมวิหารธรรมอันได้แก่เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา การอธิบายพรหมวิหารในพระพุทธศาสนาก็มีวิธีการและความเข้าใจแตกต่างกันบ้างคือในมหายานและเถรวาท
                เมตตาธรรมเป็นการสร้างอัตตลักษณ์ให้แก่ชาวพุทธ ระหว่างมหายานกับเถรวาทต่างกัน เถรวาทถือหลักเมตตา จึงมุ่งปฏิบัติเพื่อบรรลุนิพพานในชาตินี้ ต่างจากมหายานที่มุ่งบำเพ็ญบารมีเพื่อหวังจะช่วยสัตว์โลกให้พ้นทุกข์ก่อน 
               กรุณา สำหรับมหายานทำให้เป็นพระโพธิสัตว์ มหายานจึงเน้นที่กรุณาระหว่างเมตตากับกรุณาจึงทำให้เกิดอัตลักษณ์ของมหายานและเถรวาทได้
              การเน้นที่เมตตาหรือกรุณาก็ทำให้พระพุทธศาสนามีมุมมองที่กว้างไกลมาก แม้แต่แนวคิดของเถรวาท
เกิดจากเมตตา ส่วนมหายานเกิดจากกรุณา การมีมุมมองที่ต่างกันเป็นเหตุให้เกิดหลักปฏิบัติที่ต่างกันไปด้วย ส่วนมุทิตาและอุเบกขาซึ่งจัดอยู่ในพรหมวิหารธรรมนั้นเป็นส่วนที่ต่อเนื่องมาจากเมตตาและกรุณา
             ศาสตราจารย์ริชาร์ด กอมบริชได้สรุปจบการปาฐกถาว่ามีคำหนึ่งที่ใกล้เคียงกับเมตตานั้นคืออหิงสา แต่ถ้าอยากจะเข้าใจให้ชัดเจนต้องย้อนกลับไปอ่านเตวิชชสูตร ซึ่งอยู่ในทีฆนิกาย สีลขันธวรรค พระไตรปิฎกภาษาไทยเล่มที่ 9 ข้อ 365 จะอธิบายเรื่องของเมตตาและพรหมได้เป็นอย่างดี

                                                                         
              หลังจากที่ได้อ่านเตวิชชสูตรแล้วก็พบว่าในพระสูตรดังกล่าวแสดงถึงทางไปสู่พรหมของลัทธิพราหมณ์และพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าตรัสว่าพระองค์รู้จักพรหม พรหมโลกดังที่พระองค์แสดงไว้ว่า “ดูกรวาเสฏฐะ เมื่อบุรุษนั้นเกิดแล้ว เติบโตแล้วในมนสากตคาม ถูกถามถึงทางแห่งมนสากตคาม จะพึงมีความชักช้าหรืออ้ำอึ้งบ้าง ตถาคตถูกถามถึงพรหมโลก หรือปฏิปทาอันจะยังสัตว์ให้ถึงพรหมโลก ไม่มีความชักช้าหรืออ้ำอึ้งเลย เรารู้จักพรหม รู้จักพรหมโลก รู้ปฏิปทาอันจะยังสัตว์ให้ถึงพรหมโลก และรู้ถึงว่าพรหมปฏิบัติอย่างไร จึงเข้าถึงพรหมโลกด้วย”
(9/382/270) 
               จากนั้นพระพุทธเจ้าจึงทรงแสดงปฏิปทาไปพรหมโลกความว่า “ดูกรวาเสฏฐะ พระตถาคตเสด็จอุบัติในโลกนี้เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลกเป็นสารถี ฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกพระธรรม พระตถาคตพระองค์นั้น ทรงทำโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ให้แจ้งชัดด้วยพระปัญญาอันยิ่งของพระองค์เองแล้วอยู่ ทรงสอนหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์์เทวดาและมนุษย์ให้ รู้ตาม ทรงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง คฤหบดี บุตรคฤหบดี หรือผู้เกิดเฉพาะในตระกูลใดตระกูลหนึ่ง ย่อมฟังธรรมนั้น ครั้นฟังแล้วได้ศรัทธาในพระตถาคต เมื่อได้ศรัทธาแล้ว ย่อมเห็นตระหนักว่า ฆราวาสคับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี บรรพชาเป็นทางปลอดโปร่ง การที่บุคคลผู้ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ ให้บริสุทธิ์ให้บริบูรณ์โดยส่วนเดียวดุจสังข์ขัด ไม่ใช่ทำได้ง่าย ถ้ากระไร เราพึงปลงผมและหนวดนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกบวชเป็นบรรพชิต สมัยต่อมา เขาละกองโภคสมบัติน้อย ใหญ่ ละเครือญาติน้อยใหญ่ ปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกบวชเป็น บรรพชิตเมื่อบวชแล้ว สำรวมระวังในพระปาติโมกข์อยู่ ถึงพร้อมด้วยมรรยาทและโคจร มีปกติเห็นภัย ในโทษเพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ประกอบด้วยกายกรรม วจีกรรมที่เป็นกุศล มีอาชีพบริสุทธิ์ ถึงพร้อมด้วยศีล คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลายประกอบด้วย สติสัมปชัญญะ เป็นผู้สันโดษ” (9/382/271)
                ในเตวิชชสูตรพระพุทธเจ้าแสดงถึงปฏิปทาในการเข้าถึงพรหมโลก มิได้แสดงปฏิปทาแห่งพระนิพพาน แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าต่อจากนั้นพระองค์ทรงแสดงจุลศีล มัชฌิมศีลและมหาศีล จากนั้นพราหมณ์สองคนคือโปกขรสาติพราหมณ์และภารทวาชพราหมณ์ก็แสดงตนเป็นอุบาสก 

                 ส่วนในพรหมชาลสูตรหลังจากที่แสดงจุลศีล มัชฌิมศีลและมหาศีลแล้ว พระพุทธเจ้ายังแสดงทิฏฐิ62 ที่่คนในโลกยึดถือ ในสามัญญผลสูตรได้แสดงศีลทั้งสามระดับแล้วแสดงอินทรีย์สังวร สติสัมปชัญญะ สันโดษ ฌาน วิปัสสนาญาณต่อซึ่งเป็นทางสู่นิพพานโดยแท้ เพราะในวิปัสสนาญาณข้อหนึ่งคืออาสวักขยญาณความว่าภิกษุนั้นเมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่นไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ ย่อมรู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เหล่านี้ อาสวะ นี้อาสวสมุทัยนี้อาสวนิโรธ นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา
เมื่อเธอรู้เห็นอย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้นแม้จากกามาสวะ แม้จากภวาสวะ แม้จากอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณว่าหลุดพ้นแล้ว. รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี (9/138/77) 
                 จากพระสูตรทั้งสามซึ่งแสดงจุลศีล มัชฌิมศีลและมหาศีลเหมือนกัน แต่ข้อความต่อจากนั้นมีแปลกกัน ที่แดสงทางแห่งนิพพานได้ชัดเจนที่สุดคือสามัญผลสูตร ส่วนในเตวิชชสูตรเมื่อแสดงทางไปสู่พรหมโลกแล้วพระองค์ก็ทรงหยุด พราหมณ์สองคนแสดงตนเป็นอบาสกเท่านั้น มิได้อุปสมบทโดยทันที ดังนั้นหากศึกษาตามเตวิชชสูตรเมตตาก็จะเป็นเพียงทางแห่งพรหมโลกเท่านั้น มิใช่ธรรมที่ทำให้เข้าถึงนิพพาน แต่เป็นทางที่จะพัฒนาต่อไปได้อีก
                   การที่ศาสตราจารย์ ดร. ริชาร์ด กอมบริชบอกว่าเมตตาเป็นธรรมะที่นำสู่นิพพานจึงเป็นมุมมองที่นำเสนอโดย การเปรียบเทียบจากลัทธิพราหมณ์ เป็นธรรมะที่ทุกคนนำไปปฏิบัติได้ เพราะสามารถเทียบเคียงได้กับทุกศาสนา แต่จุดสูงสุดของแต่ละศาสนาอาจมีความเห็นไม่เหมือนกัน พระพุทธศาสนามีจุดสูงสุดเหนือกว่าพรหมโลกคือนิพพานอัน เป็นสภาวะที่สิ้นกิเลสต้องใช้อาสวักขญญาณใน วิปัสสนาญาณตาม ที่ปรากฏในสามัญญผลสูตร 

             หากมองตามทัศนะของคนเดินทางสู่นิพาน ผู้มีจิตประกอบด้วยเมตตาธรรมก็สามารถเดินทางเข้าสู่นิพพานได้ เพราะตลอดระยะเวลา 45 พรรษานั้นพระพุทธเจ้าทรงแสดงหลักธรรมที่นำไปสู่นิพพานไว้มากมาย พระพุทธเจ้าแสดงธรรมทุกวันบางครั้งเรื่องเดียวกันอาจจะมีวิธีแสดงที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับกลุ่มคนฟัง เมตตาก็เป็นเพียงเรื่องหนึ่งที่เป็นทางสู่นิพพาน แต่ต้องตีความให้ดี มิฉะนั้นจะกลายเป็นเรื่องของพราหมณ์ไป
             ได้ทราบข่าวว่าในช่วงวันที่ 1-3 ตุลาคม 2553 ศาสตราจารย์ ดร. ริชาร์ด กอมบริช จะมาปาฐกถาอีกครั้งหนึ่งที่วัดบวรนิเวศวิหาร ใครที่ต้องการเข้าฟังต้องคอยติดตามข่าวต่อไป

 

พระมหาบุญไทย  ปุญญมโน
14/09/53

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

กองธรรมสนามหลวง

กองบาลีสนามหลวง

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กรมการศาสนา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัย  มมร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)

เว็บไชต์นักศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มมร

 

วัดไทย

เว็บวัดในประเทศไทย

วัดไทยในต่างประเทศ

คณะสงฆ์ธรรมยุตUSA

 วัดป่าธรรมชาติ LA

พระคุ้มครอง

วัดธรรมยุตทั่วโลก

 

ส่วนราชการในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ส่วนราชการในประเทศไทย

กระทรวงในประเทศไทย

 

หนังสือพิมพ์ไทย

ไทยรัฐ
เดลินิวส์
มติชน
ผู้จัดการ
กรุงเทพธุรกิจ
คม ชัด ลึก
บ้านเมือง
ข่าวสด
ฐานเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ
สยามกีฬา
แนวหน้า
โพสต์ทูเดย์
ไทยโพสต์
สยามรัฐ
สยามธุรกิจ
บางกอกทูเดย์

 

ข่าวภาษาต่างประเทศ

ข่าว CNN

ข่าว BBC

Bangkok Post

The Nation

หนังสือพิมพภาษาต่างประเทศ

เมนูสมาชิก