เรื่องความดีและความชั่ว เป็นปัญหาต่างก็ถกเถียงกันมานาน และเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหาที่จริยศาสตร์ (Ethics) จะให้คำตอบเกี่ยวกับปัญหาเรื่องความมีอยู่ของคุณคุณค่า เช่นความดีคืออะไร ให้คำตอบเกี่ยวกับเกณฑ์ในการตัดสินความดีงาม อะไรคือเกณฑ์ตัดสินความดีความชั่ว และอุดมคติของชีวิต เป็นต้น ดังนั้น จริยศาสตร์จึงศึกษาเรื่องที่ว่าอะไรถูก อะไรผิด อะไรควร อะไรไม่ควร อะไรดี อะไรชั่ว
คนเราเมื่อเชื่อเรื่องกรรม กล่าวคือทำกรรมดี ย่อมได้รับผลดีตอบแทน ทำกรรมชั่วย่อมได้รับผลชั่วตอบแทนแล้ว สังคมของเราก็สามารถอยู่รอดปลอดภัยจากพันธนาการแห่งอาชญากรรมหรือ ภัยอันตรายต่างๆจากฝีมือมนุษย์ด้วยกันเอง แต่ถ้าหากเราเชื่อว่า ทานที่ให้แล้วไม่มีผล โลกหน้าไม่มีจริง พ่อแม่ไม่มีคุณต่อเรา ปล้นทรัพย์ คอรัปชั่นต่างๆ มีชู้ ฯลฯ ทำตามจิตที่เป็นมิจฉาทิฎฐิ สังคมของเราก็คงจะเต็มไปด้วยความขัดแย้ง การย่ำยีบีฑา มองเพื่อนมนุษย์ด้วยกันคือเหยื่อที่จะคอยเอารัดเอาเปรียบเป็นต้น อย่างในกรณีของโยมคนหนึ่งที่ไม่เชื่อเรื่องบุญเรื่องบาป ได้ไปสนทนาถามกับหลวงปู่ชาว่า "หลวงพ่อเคยพูดว่า ผมเป็นคนหลงผิด แต่ผมว่า หลวงพ่อนั่นแหละหลงผิดมากกว่า เพราะ ศาสนาทุกศาสนาไม่มีจริง เป็นเรื่องที่คนแต่งขึ้น สมมุติขึ้น เพื่อให้คนอื่นหลงเชื่อตาม และของ ทุกสิ่ง ทุกอย่างในโลกนี้ก็มีแต่ของสมมุติทั้งนั้น เช่น ควาย นี่เราก็สมมุติชื่อให้มัน ถ้าเราจะเรียกมัน ว่าหมูก็ได้ ควายก็ไม่ว่าอะไร... คน สัตว์ สิ่งของทุกอย่างก็สมมุติเอาทั้งนั้น แม้แต่ศาสนาก็เป็นเรื่อง สมมุติเหมือนกัน ทำไมหลวงพ่อจะต้องกลัวบาปกรรม จนต้องหนีเข้าป่าเข้าดง ไปทรมานร่างกาย ให้ลำบากเปล่า ๆ แล้วโยมคนนั้นก็ถามหลวงพ่อว่า "ผมคิดของผมอย่างนี้... หลวงพ่อล่ะ มีความเห็นอย่างไร?"
หลวงปู่ชาจึงกล่าวขึ้นว่า "คนที่คิดอย่างโยมนี้ พระพุทธเจ้าท่านทิ้ง โปรดไม่ได้หรอก เหมือนบัวใต้ตม... ทันทีที่พูดจบ ก็หันไปถามโยมว่า “ถ้าโยมไม่เชื่อว่า บาปมีจริง ทำไมไม่ทดลองไปลักไปปล้น หรือไปฆ่าเขาดูเล่า จะได้รู้ว่าเป็นอย่างไร" โยมพูดแทรกขึ้นว่า "อ้าว..! จะให้ผมไปฆ่าเขาได้อย่างไร เดี๋ยวญาติพี่น้องเขาก็ตามล่าผม หรือไม่ก็ติดคุกนะซิ” หลวงปู่ชา "นั่นแหละผลของบาปรู้ไหม"โยมคนนั้นชักลังเลสงสัยและอ่อนข้อต่อเหตุผลของหลวงปู่ชา แต่ก็ยังไม่หายข้องใจ จึงกล่าวว่า "บางทีบาปอาจจะมีจริง ก็ได้ แต่บุญล่ะ... หลวงพ่อมาอยู่ป่าทรมานตัวเองอย่างนี้ ไม่เห็นว่าจะเป็นบุญตรงไหนเลย?" หลวงปู่ชาสนทนาตอบว่า "โยมจะคิดอย่างนั้นก็ได้ แต่อาตมาจะเปรียบเทียบให้ฟัง ที่อาตมาประพฤติตาม พระธรรมวินัยอยู่เช่นนี้ ถ้าบาปไม่มี บุญไม่มี..ก็เสมอทุน แต่ถ้าบาปมี บุญมี อาตมาจะได้กำไร.. คนหนึ่งเสมอตัวหรืออาจได้กำไร กับคนที่มีแต่ทางขาดทุน ใครจะดีกว่ากัน" เพราะฉะนั้น การทำดี มีแต่ได้กำไร แต่การชั่วมีแต่เสียกำไรขาดทุน
เรื่องความดี-ชั่ว ในทางพระพุทธศาสนานั้น อ. สุเชาว์ พลอยชุม ได้กล่าวไว้ในหนังสือ พุทธปรัชญาในสุตตันตปิฎกว่า พระพุทธศาสนามิได้ถือว่า ดีทุกอย่างเท่ากันหมด หรือว่า ชั่วทุกอย่างเท่ากันหมด แต่ถือว่า ดี-ชั่ว มีหลายระดับแตกต่างกันไปตามคุณภาพหรือน้ำหนักของผลที่มีต่อชีวิตมนุษย์ และคำว่า คุณภาพหรือน้ำหนักที่จะเป็นตัวบ่งชี้ถึงระดับของความดีดังกล่าวนี้ก็คือ ถ้ามองในแง่หนึ่งซึ่งอาจเรียกได้ว่าผลเชิงลบ ก็ได้แก่สามารถลดกิเลศหรือกำจัดความทุกข์ของชีวิตได้แค่ไหน ถ้ามองอีกแง่หนึ่งซึ่งอาจเรียกได้ว่าผลเชิงบวก ก็ได้แก่สามารถเพิ่มคุณธรรม หรือให้ความสุขแก่ชีวิตได้แค่ไหน ทั้งนี้เพราะพระพุทธศาสนาถือว่า กิเลสหรือความชั่วเป็นเหตุของความทุกข์ คุณธรรมหรือความดีเป็นเหตุของความสุข ฉะนั้นมาตรสำหรับวัดระดับความดีความชั่วก็คือ ความสุข ความทุกข์ หรือความบริสุทธิ์ ความเศร้าหมองอันเป็นผลจากความดีความชั่วนั้นๆนั่นเอง (สุเชาว์ พลอยชุม,พุทธปรัชญานุสุตตันตปิฎก, กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหามกุฎราชวิทยาลัย, 2552, หน้า 130 )
เรามักทราบกันดีอยู่ว่า พระพุทธศาสนาสอนว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” ดังพุทธพจน์ที่ว่า "ยาทิสํ วปเต พีชํ ตาทิสํ ลภเต ผลํ กลฺยาณการี กลฺยาณํ ปาปการี จ ปาปกํ" (สํ.ส. 15/903/333) แปลว่า “บุคคลหว่านพืชเช่นใด ย่อมได้ผลเช่นนั้น บุคคลที่ทำกรรมดี ย่อมได้ผลดี ผู้ทำกรรมชั่ว ย่อมได้ผลชั่ว”แต่ก็มักจะมีผู้ความเห็นค้านอยู่เสมอว่า บางคนทำดีแทบตายไม่เห็นดีเลย บางคนทำชั่วกลับสบาย มียศศักดิ์และทรัพย์สินเงินทอง มีคนนับหน้าถือตา เป็นต้น ความจริงที่ว่า “ทำดีได้ดี” ทำชั่วได้ชั่ว” นั้น ก็ไม่เห็นผิดตรงไหนเลย เพราะภาษาก็บอกอยู่แจ่มแจ้งแล้วว่า “ทำดี” ต้อง “ได้ดี” คือได้ความดีเป็นผลตอบแทน “ทำชั่ว” ก็ต้อง “ ได้ชั่ว คือได้ความชั่วเป็นผลตอบแทน ซึ่งความดีความชั่วนี้เป็นผลที่เกิดโดยตรงทางด้านจิตใจ เช่นเราขยันศึกษาเล่าเรียนนี้เป็นการทำดี ผลที่ได้รับคือปัญญา ความเฉลียวฉลาดซึ่งเป็นความดี ทำชั่วเช่นการเกียจคร้านไม่อยากศึกษาเล่าเรียน ผลที่ได้รับคือความโง่ นั่นแหละคือตัวความชั่ว
ส่วนการที่เราตีความหมายของความดีเป็นทรัพย์สินเงินทองยศศักดิ์อัครฐาน ตีความหมายชั่วว่าความยากจนไม่มียศถาบรรดาศักดิ์ อย่างนั้นหาถูกต้องไม่ และนั่นไม่ใช่ผลของการกระทำดีโดยตรง แต่ทว่าเป็นผลโดยอ้อมเหมือนกับเรารดน้ำพรวนดินต้นไม้ ผลโดยตรงก็คือการที่ต้นไม้นั้นเจริญเติบโตขึ้นมา ส่วนการได้ผลของมันจนกระทั่งเอาไปขายได้เงินมานั้นเป็นผลโดยอ้อม ซึ่งเกิดเนื่องมาจากการที่ต้นไม้นั้นเจริญเติบโตนั่นเอง การศึกษาเล่าเรียนเป็นการทำดี เราก็ได้รับปัญญาความเฉลียวฉลาด ซึ่งเป็นความดีที่นับว่าเป็นผลโดยตรง ผลโดยอ้อมของการทำความดีนี้ก็คือ เราอาจเข้ารับราชการได้เงินเดือนสูงๆเป็นต้น คนเราทำดีต้องได้ดีตอบแทนเสมอไป และเมื่อทำความชั่วก็ต้องได้รับผลชั่วตอบแทนเสมอไป
ในอปัณณกสูตรนั้น พระพุทธเจ้าทรงให้เหตุผลในการปฏิบัติดีกับประพฤติชั่วเกี่ยวกับทิฎฐิต่างๆที่บุคคลสมาทานหรือว่ายึดไว้เป็นแบบแผนในการปฏิบัติว่ามีโทษและมีคุณดังนี้
บุคคลที่สมาทานถือเอานัตถิกทิฎฐิ, อกิริยทิฎฐิ, อเหตุกทิฎฐิ พวกเขาจะได้รับโทษในโลกทั้ง 2 คือ
(1) ในปัจจุบันถูกวิญญูชนติเตียนได้
(2) หลังจากตายแล้วจักไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
บุคคลที่สมาทานถือเอาอัตถิกทิฐิ,กิริยทิฐิและเหตุกทิฐิ นั้น พวกเขาจะได้รับคุณในโลกทั้ง 2 คือ
(1) ในปัจจุบันวิญญูชนย่อมสรรเสริญ
(2) หลังจากตายแล้วจักไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์
จะเห็นได้ว่า บุคคลที่ทำชั่วนั้นเขาก็ย่อมถูกติเตียนจากบัณฑิตหรือวิญญูชนในปัจจุบันว่าเป็นบุคคลผู้ทุศีล มีมิจฉาทิฐิ และถ้าหากว่าในโลกหน้ามีจริงเขาก็ย่อมไปบังเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนบุคคลที่ทำดีนั้นเขาก็จะได้รับการสรรเสริญและยกย่องจากบัณฑิตหรือวิญญูชนว่าเป็นคนมีศีลธรรม เป็นสัมมาทิฐิ มีความเห็นถูกต้อง ควรทำตามแบบอย่าง และเมื่อโลกหน้ามีจริง เขาก็จะไปเกิดในที่สุคติ มีสวรรค์เป็นเบื้องหน้าเป็นต้น ดังนั้น ถ้าการทำชั่วไม่มีผลจริงและโลกหน้าไม่มีจริงคนทำชั่วแล้วตายไปก็ไม่ได้ไม่เสียเท่ากับเสมอตัว ถ้าการทำชั่วมีผลจริงและโลกหน้ามีจริงคนทำชั่วแล้วตายไปก็มีหวังไปทุคติเท่ากับเสียหรือขาดทุน
แม้การทำชั่วไม่มีผลจริงและโลกหน้าไม่มีจริงคนทำชั่วก็ยังเป็นที่นินทาของคนทั่วไปก็ยังเสียหรือขาดทุนอยู่ดี ถ้าการทำดีไม่มีผลจริงและโลกหน้าไม่มีผลจริงคนทำดีตายไปก็ไม่ได้ไม่เสียเท่ากับเสมอตัว ถ้าการทำดีมีผลจริงและโลกหน้ามีจริงคนทำดีแล้วตายไป ก็ย่อมมีหวังไปสู่สุขคติเท่ากับได้หรือมีกำไร แม้การทำดีไม่มีผลจริงและโลกหน้าไม่มีจริงคนทำดีก็ยังเป็นที่สรรเสริญของคนทั่วไปในโลก เท่ากับยังได้หรือมีกำไร
พระมหาสมชาย มหาวีโร
นักศึกษาปริญญาโท ปี 1
สาขาวิชาพุทธศาสนาและปรัชญา
มหาวิทยาลัย มหามกุฎราชวิทยาลัย
14/08/53