นั่งอ่านหนังสือเกี่ยวกับโทรศัพท์มือถือมาหลายเล่ม แต่ละเล่มก็โฆษณาโทรศัพท์แต่ละรุ่นว่ามีคุณสมบัติดีอย่างนั้นอย่างนี้ สามารถรองรับเทคโนโลยีใหม่ๆได้ บางรุ่นแทบคิดไปไม่ถึงว่าเทคโนโลยีจะเจริญก้าวหน้ามากมายขนาดนั้น โทรศัพท์มือถือเป็นมากกว่าโทรศัพท์เพราะได้รวมโปรแกรมความบันเทิงแทบทุกอย่างมาไว้ในเครื่องเล็กๆเครื่องเดียว อ่านไปอ่านมาเลยมึนงงพร้อมกับเกิดคำถามขึ้นมาตกลงเรามีความรู้หรือยัง พลันก็มีคำตอบของนักปรัชญาคนหนึ่งผุดขึ้นมาในใจว่า “อย่างน้อยที่สุดเราก็รู้ว่าเราไม่รู้”
คำพูดประโยคที่ว่า "ข้าพเจ้ามีความรู้อย่างเดียวคือรู้ว่าตัวเองไม่รู้" มาจากนักปรัชญากรีกโบราณคนหนึ่งนามว่าโสเครตีส ที่ชอบถามคำถามกับคนทุกคนที่อ้างตนว่าเป็นผู้รู้ ใครบอกว่าตนเองเป็นนักปราชญ์โสเครตีสจะเข้าไปหาและถามปัญหาเพื่อความรู้แต่ทุกคนเมื่อถูกถามหนักๆเข้ากลับไม่มีใครที่มีความรู้จริงๆ เพราะโสเครตีสถามจนนักปราชญ์สมัยนั้นกลัวว่าจะตอบไม่ได้ แต่ในที่สุดโสเครตีสก็ถูกบังคับให้ดื่มยาพิษและเสียชีวิตในที่สุด เขาตายเพราะยึดมั่นในวิธีการแสวงความรู้ของตนเอง
เมื่อโลกเจริญมากขึ้นจนกระทั่งวิทยาศาสตร์เข้ามาแทนที่ปรัชญา นักวิทยาศาสตร์สามารถตอบคำถามได้แทบทุกอย่าง แต่ก็ยังมีอีกหลายปัญหาที่นักวิทยาศาสตร์ตอบไม่ได้เช่นคนตายแล้วไปไหน เกิดอีกหรือไม่ วิญญาณมีจริงหรือไม่ โลกมาจากไหน ทำไมจึงต้องมีโลก แม้จะมีนักวิทยาศาสตร์อย่างชาร์ล ดาวินได้เสนอทฤษฎีวิวัฒนาการว่าคนวิวัฒนาการมาจากลิง แต่คนก็ยังสงสัยว่าน่าจะมีทฤษฎีอย่างอื่นที่น่าสนใจมากกว่านี้ หนักเข้าเมื่อหาคำตอบไม่ได้ก็ยกให้พระเจ้าเป็นผู้สร้างโลกไปเลย แต่โดยสรุปแล้วปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับชีวิตมนุษย์นี่แหละที่เป็นปัญหาที่ตอบยากที่สุด
ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าได้ถามคำถามในทำนองนี้กับลูกสาวของนายช่างหูกคนหนึ่ง ดังที่ปรากฎในอรรถกถาขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม 1 ภาค 2 ตอน 3 หน้าที่ 248 สรุปความได้ว่า ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าบรมศาสดาเมื่อครั้งที่ประทับอยู่ในเจดีย์ชื่อว่าอัคคาฬวะ เมืองอาฬวี ในขณะนั้นมีลูกสาวของนายช่างหูกคนหนึ่งเข้ามาหา หลังจากถวายบังคมพระศาสดาผู้ประทับนั่งนิ่งในท่ามกลางบริษัทแล้ว พระศาสดาจึงตรัสกะนางว่า “กุมาริกา เธอมาจากไหน”
นางกุมาริกาคนนั้นตอบว่า “ไม่ทราบ พระเจ้าข้า”
พระศาสดาถามต่อไปว่า “เธอจักไปที่ไหน”
นางกุมาริกาตอบว่า “ไม่ทราบ พระเจ้าข้า”
พระศาสดาถามต่อว่า “เธอไม่ทราบหรือ”
นางกุมาริกาตอบว่า “ทราบ พระเจ้าข้า”
พระศาสดาเอ่ยถามอีกว่า “เธอทราบหรือ”
นางกุมาริกาตอบว่า “ไม่ทราบพระเจ้าข้า”
ฟังคำสนทนาอย่างนี้แล้วหลายคนคงคิดว่า นางคนนี้ไม่บ้าก็เมา ถามว่ามาจากไหนแต่กลับบอกว่าไม่ทราบภายหลังกลับตอบว่าทราบ คนในสมัยนั้นก็ไม่ต่างกันกับคนสมัยนี้นักพอได้ฟังคำสนทนาระหว่างพระพุทธเจ้ากับลูกสาวนายช่างหูกต่างก็ลุกฮือขึ้นมาในทันใด แต่ก่อนที่เหตุการณ์จะลุกลามใหญ่โต พระพุทธเจ้าก็ได้บอกให้นางกุมาริกาคนนั้นเฉลยหน่อยปะไร ที่สนทนากันนั้นหมายความว่าอย่างไร
คำสนทนาต่อมาสรุปได้ว่า คำว่า "เธอมาจากไหน" นางกุมาริกาตอบว่า "ดิฉันไม่ทราบว่ามาจากไหนจึงได้มาเกิดที่นี่"
ส่วนที่พระพุทธองค์ถามว่า "เธอจะไป ณ ที่ไหน" หม่อมฉันหมายความว่า "ดิฉันจุติจากโลกนี้แล้วย่อมไม่ทราบว่าจักไปเกิดในที่ไหน"
พระพุทธเจ้าสนทนาต่อไปว่า "เมื่อเราถามว่าเธอไม่ทราบหรือทำไมจึงตอบว่าทราบเล่า"
นางกุมาริกาตอบว่า "พระเจ้าข้า หม่อมฉันย่อมทราบภาวะคือความตายของหม่อมฉันเท่านั้น เหตุนั้นจึงกราบทูลอย่างนั้น
ทำไมเมื่อเราถามเธอว่า “เธอย่อมทราบหรือ เพราะเหตุไร จึงพูดว่า “ไม่ทราบ”
นางกุมาริกาจึงกราบทูลว่า “หม่อมฉันย่อมทราบแต่ภาวะคือความตายของหม่อมฉันเท่านั้นพระเจ้าข้า แต่ย่อมไม่ทราบว่าจักตายในเวลากลางคืน กลางวันหรือเวลาเช้าเวลาใดเวลาหนึ่ง จึงพูดอย่างนั้น”
คำสนทนาของคนบางคนอาจแฝงไปด้วยปรัชญา ต้องฟังให้ดีๆ อย่าพึ่งด่วนตัดสินใจว่าผิดหรือถูก จากนั้นพระพุทธเจ้าได้แสดงอนมตัคคสูตร ในสังยุตตนิกาย นิทานวรรค(16/421/177) ว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย สงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ เมื่อเหล่าสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นที่กางกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้ ท่องเที่ยวไปมาอยู่ ที่สุดเบื้องต้นย่อมไม่ปรากฏ
เปรียบเหมือนบุรุษตัดทอนหญ้า ไม้กิ่งไม้ ใบไม้ ในชมพูทวีปนี้ แล้วจึงรวมกันไว้ ครั้นแล้วพึงกระทำให้เป็นมัดๆ ละสี่นิ้ว วางไว้ สมมติว่านี้เป็นมารดาของเรา นี้เป็นมารดาของมารดาของเราโดยลำดับ มารดาของมารดาแห่งบุรุษนั้นไม่พึงสิ้นสุด ส่วนว่าหญ้าไม้ กิ่งไม้ ใบไม้ ในชมพูทวีปนี้ พึงถึงการหมดสิ้นไป ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่าสงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ เมื่อเหล่าสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นที่กางกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้ ท่องเที่ยวไปมาอยู่ ที่สุดเบื้องต้นย่อมไม่ปรากฏ พวกเธอได้เสวยทุกข์ ความเผ็ดร้อน ความพินาศ ได้เพิ่มพูนปฐพีที่เป็นป่าช้า ตลอดกาลนาน เหมือนฉะนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เหตุเพียงเท่านี้ พอทีเดียวเพื่อจะเบื่อหน่ายในสังขารทั้งปวงพอเพื่อจะคลายกำหนัด พอเพื่อจะหลุดพ้น”
โลกมนุษย์นี้ไม่มีเบื้องต้นเบื้องปลาย มนุษย์เวียนว่ายตายเกิดมากมายหลายภพหลายชาติจนจำอดีตชาติของตนไม่ได้ บางคนพ่อตายไปแล้วกลับมาเกิดเป็นลูก บางคนแม่ตายไปแล้วกลึบมาเกิดเป็นลูกของลูกสาว เป็นกงกรรมกงเกวียนหมุนเวียนไม่มีที่สิ้นสุด มนุษยโลกนี้ก็ยากที่จะเรียนรู้ให้จบสิ้นกระบวนการได้ ฟังแล้วเหนื่อย คำพูดของโสเครตีสแม้จะผ่านกาลเวลามานานหลายพันปีแล้วก็ตามก็ยังนำมาใช้ได้ในยุคสมัยปัจจุบัน “ข้าพเจ้ามีความรู้อย่างเดียวเท่านั้นเองคือรู้ว่าตัวเองไม่รู้” และตอนนี้ก็รู้แล้วว่าไม่รู้จะซื้อโทรศัพท์รุ่นไหนดี การไม่รู้ก็เป็นความรู้ชนิดหนึ่งเหมือนกัน
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
07/07/53