มีข่าวพาดหัวหนังสือพิมพ์หลายฉบับว่า “ลูกค้าฉุนฆ่าสยองหมอดูปากไว บอกให้ไปขายตัวสาว19ใช้ขวดตีดับ” ทำไมคนไทยจะมีใจโหดร้ายถึงขนาดต้องฆ่ากันเพียงเพราะคำพูดเพียงไม่กี่คำ หมอดูก็ปากไว คนร้ายก็ใจโหด นี่มันอะไรกัน ถ้อยคำบางอย่างแม้จะเป็นเรื่องจริงแท้ แต่ไม่มีประโยชน์ก็ไม่ควรพูด มีสุภาษิตโบราณพูดไว้เป็นคติเตือนใจเกี่ยวกับคำพูดไว้ว่า “พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง”นั่นแสดงว่าควรเลือกพูดแต่คำที่ควรพูด บางเรื่องก็ควรเป็นผู้ที่รู้จักฟัง มิใช่พูดทุกอย่างที่รู้ แต่ควรรู้ที่จะพูดจึงจะเป็นผลดีกับทั้งสองฝ่าย
จากเนื้อหาของข่าวสรุปความว่า “เจ้าของร้านเช่าหนังสือย่านมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ยึดอาชีพหมอดูเป็นรายได้เสริม เจอลูกค้าสาววัย 19ปี เพิ่งประกันตัวคดีลักทรัพย์ในร้านกาแฟ เข้ามาพึ่งดูดวงชะตา ทำนะหน้าทองเอาเคล็ด พร้อมถามหางานอะไรที่เหมาะสม หมอดูหญิงดันปากไวแนะให้ไปขายตัว เด็กสาวถึงกับโมโหจับหัวกระแทกบันได แล้วคว้าขวดน้ำผึ้งตีตายสยอง
ต่อมาตำรวจสามารถจับกุมฆาตกรได้ เป็นหญิงสาวอายุ 19 ปี จึงควบคุมตัวไปสอบสวนที่โรงพัก สาวฆาตกรโหดสารภาพว่า อยู่ระหว่างประกันตัวในคดีลักทรัพย์ขนมที่ร้านกาแฟ ซึ่งตัวเองเคยทำงานอยู่ บนชั้น 4 ห้างมาบุญครองเซ็นเตอร์ เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และวันเดียวกันนี้ มีนัดรายงานตัวที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ แต่เบี้ยวไม่ได้เดินทางไป เพราะจะมาพบผู้ตายที่รู้จักกันอยู่ก่อน นอกจากเปิดร้านหนังสือให้เช่าแล้วยังรับเป็นหมอดูไพ่ป๊อก และทำนะหน้าทองเสริมดวงชะตาด้วย ตนเลยตัดสินใจให้ผู้ตายช่วยดูดวง พร้อมตกลงทำนะหน้าทอง แก้เคล็ดในราคา 3,500 บาท โดยขอผัดผ่อนจ่ายเป็นงวด
ตนถามว่าจะทำอาชีพอะไรดีที่สามารถหาเงินไปใช้หนี้ค่าประกันตัว และสู้คดีที่เกิดขึ้นผู้ตายกลับตอบเชิงดูถูกเย้ยหยันแนะนำให้ไปขายตัว ทำให้ตนเกิดความโมโหตรงเข้าจิกหัวผู้ตายจับกระแทกราวบันไดหลายครั้ง ผู้ตายพยายามฮึดสู้ ตนจึงหันไปคว้าขวดน้ำผึ้งตีไปที่ศีรษะหญิงหมอดูจนแน่นิ่งแล้วเอาเศษผ้ามัดมือไพล่หลังเพราะกลัวจะลุกขึ้นมาสู้อีก จากนั้นก็หยิบเอาเงินในตัวเหยื่อจำนวน 6,400 บาท ขึ้นไปบนชั้นสอง หวังเปลี่ยนเสื้อผ้า แต่ดันมีคนมาพบศพและแจ้งตำรวจพอดี(ไทยรัฐ 08/06/53)
เรื่องนี้จริงหรือเท็จต้องรอการสอบสวน ถ้าหมอดูคนนั้นพูดอย่างนั้นจริงตามที่หญิงสาวบอก ก็ต้องบอกว่าพูดผิดกาลเทศะไป เรื่องบางอย่างแม้จะเป็นเรื่องจริง แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ก็ไม่ควรพูด พระพุทธศาสนามีหลักการเกี่ยวกับคำพูดไว้หลายแห่ง แต่วันนี้ยกมาเพียงสูตรเดียวคือปาสาทิกสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค (11/ 119/106) ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าได้กล่าวถึงสิ่งที่ควรพยากรณ์หรือไม่ควรพยากรณ์แก่พระสามเณรจุนทะไว้ว่า “ดูกรจุนทะ แม้หากว่าสิ่งที่เป็นอดีต ไม่เป็นจริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ตถาคตก็ไม่พยากรณ์สิ่งนั้น
แม้หากว่าสิ่งที่เป็นอดีต เป็นของจริงเป็นของแท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ตถาคตก็ไม่พยากรณ์
หากว่าสิ่งที่เป็นอดีตเป็นของจริงเป็นของแท้ ประกอบด้วยประโยชน์ตถาคตย่อมเป็นผู้รู้กาลในสิ่งนั้นเพื่อพยากรณ์ปัญหานั้น
แม้หากว่าสิ่งที่เป็นอนาคตไม่เป็นจริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ตถาคตก็ไม่พยากรณ์สิ่งนั้น
แม้หากว่าสิ่งที่เป็นอนาคตเป็นของจริง เป็นของแท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ตถาคตก็ไม่พยากรณ์แม้สิ่งนั้น
แม้หากว่าสิ่งที่เป็นอนาคตเป็นของจริง เป็นของแท้ ประกอบด้วยประโยชน์ ตถาคตย่อมเป็นผู้รู้กาลในสิ่งนั้นเพื่อพยากรณ์ปัญหานั้น
แม้หากว่าสิ่งที่เป็นปัจจุบัน ไม่เป็นจริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ตถาคตย่อมไม่พยากรณ์สิ่งนั้น
แม้หากว่าสิ่งที่เป็นปัจจุบัน เป็นของจริง เป็นของแท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ตถาคตก็ไม่พยากรณ์แม้สิ่งนั้น
แม้หากว่าสิ่งที่เป็นปัจจุบัน เป็นของจริง เป็นของแท้ ประกอบด้วยประโยชน์ ตถาคตย่อมเป็นผู้รู้กาลในสิ่งนั้น เพื่อพยากรณ์ปัญหานั้นด้วยเหตุดังนี้แล
ดูกรจุนทะ ตถาคตเป็นกาลวาที เป็นสัจจวาที เป็นภูตวาที เป็นอัตถวาที เป็นธรรมวาที เป็นวินัยวาที ในธรรมทั้งหลายทั้งที่เป็นอดีต อนาคตและปัจจุบัน เพราะฉะนั้น ชาวโลก จึงเรียกว่า “ตถาคโต” ด้วยประการดังนี้
จากข้อควาในพระสูตรนี้จะเห็นว่าแม้จะเป็นเรื่องจริงแท้ มีประโยชน์ แต่ก็ต้องรู้จักเลือกเวลาในการพูดด้วย เพราะหากพูดผิดกาลอาจจะเป็นโทษแก่ผู้พูดได้
มีเรื่องเล่าว่าครั้งหนึ่งมีโจรคนหนึ่งลักขโมยทรัพย์ของชาวบ้านถูกเจ้าของทรัพย์ตามล่าวิ่งผ่านหน้าพระสงฆ์รูปหนึ่งไป พอดีพวกชาวบ้านไล่ตามมาพบพระสงฆ์รูปนั้น จึงได้เข้าไปถามว่า “พระคุณเจ้าเห็นโจรผ่านไปทางนี้ไหม”
ความจริงโจรนั้นก็พึ่งวิ่งผ่านไปไม่นาน หากจะตอบว่า “เห็น” โจรนั้นอาจถูกชาวบ้านที่กำลังโกรธแค้นทำร้ายจนเสียชีวิตได้ ครั้นจะตอบว่า “ไม่เห็น” ก็จะเป็นการพูดเท็จ แต่วิสัยของสมณะผู้ฉลาดย่อมหาทางออกได้ จึงขยับจากที่ยืนอยู่ก่อนไปสองสามก้าว จากนั้นจึงตอบพวกชาวบ้านไปว่า “อาตมายืนอยู่ตรงนี้ไม่เห็นเลย” แล้วก็นิ่งเงียบไม่พูดอะไรอีก
พวกชาวบ้านก็แยกย้ายกันค้นหาโจรต่อไป จะพบหรือไม่หรือพบแล้วจะทำอย่างไรกันต่อไปก็เป็นการพ้นจากหน้าที่ของสมณะไปแล้ว ใครทำกรรมอันใดไว้ก็ต้องยอมรับผลของกรรมนั้น โจรปล้นเขาก็สมควรได้รับโทษ
บางเรื่องแม้จะเป็นเรื่องจริง แต่เมื่อกล่าวออกไปอาจจะเป็นโทษแก่ผู้พูดก็ไม่ควรพูดเรียกว่าพูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง พวกหมอดูส่วนมากมักจะเป็นคนที่รู้จักพูด มักจะพูดเพื่อให้กำลังใจแก่คนอื่นๆ แม้บางเรื่องจะร้ายแรงก็หาทางทำให้เป็นเรื่องง่ายได้เช่นแนะนำให้ไปสะเดาะเคราะห์ บอกให้ไปทำบุญเป็นต้นเรื่องร้ายจะกลายเป็นดี ก่อนจะพูดอะไรออกไปพึงสังวรระวังไว้ ไม่เช่นนั้นอาจเป็นภัยแก่ตัว
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
10/06/53