ปัจจุบันเมืองหลวงของอินเดียคือนิวเดลี เป็นเขตสหภาพปกครองตนเองอีกเมืองหนึ่ง สร้างขึ้นมาเพื่อให้มีลักษณะพิเศษให้แตกต่างจากเมืองเก่าคือเดลี จึงได้แยกออกเป็นสองเมืองคือโอลเดลี หรือเดลีเก่าและเดลีใหม่หรือนิวเดลี ธรรมดาของเมืองหลวงมักจะมีผู้คนจำนวนมาก มีการจรจรที่ติดขัด มีอาคารพาณิชย์มากมาย ไม่เหมาะกับการเป็นเมืองท่องเที่ยว แต่ในการเดินทางระหว่าประเทศมีความจำเป็นต้องเดินทางไป เพราะมีสนามบินนานาชาติสามารถเชื่อมโยงไปยังประเทศอื่นๆทั่วโลก
การเดินทางกลับกรุงเทพมีเวลาอีกสองวัน มีเวลาในการชมสถานที่ต่างๆได้อีกหลายแห่ง สถานที่ท่องเที่ยวที่ปรากฏในลิสต์ต่างๆส่วนมากจะเป็นสถานที่ที่เคยไปมาแล้วเช่นสถานที่แสดงมหาสติปัฏฐานสูตร เรดฟอร์ด ประตูอินเดีย พิพิธภัณฑ์สถานอินเดีย วัดดอกบัว (วัดในศาสนาบาไฮ) สถานที่แห่งหนึ่งคือวัดฮินดูสมัยใหม่คืออาซาดัม เป็นวัดฮินดูที่สร้างด้วยหินอ่อนทั้งวัด ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำยุมนา
สำหรับสถานที่พักนั้นมีวัดพุทธฝ่ายเถรวาทอยู่วัดหนึ่ง เป็นวัดประจำนครเดลี มีวัดไทยพักอยู่ประจำ ภายใต้การดูแลของวัดสังฆทาน สมัยก่อนหลวงพ่อสนองเคยมาพักพาอาศัยอยู่พักหนึ่ง จึงส่งพระภิกษุจากวัดสังฆทานมาอยู่ประจำ ส่วนพระสงฆ์ไทยอีกกลุ่มหนึ่งจะเป็นพระนักศึกษาที่เดินทางมาศึกษาระดับปริญญาโท และปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยเดลี บางปีมีหลายรูป ผลัดกันอยู่ทำภารกิจที่วัดโภคัล หรือหากมีกิจกรรมที่มีความสำคัญก็จะจัดงานที่วัดนี้ วัดโภคัลจึงกลายเป็นวัดไทยไปโดยปริยาย
ในยุคต่อมาพระนักศึกษาไทยเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยเดลีน้อยลง บางปีมีเพียงสองสามรูปเท่านั้น แม้แต่นักศึกษาที่เป็นฆราวาสก็ลดน้อยลง จะด้วยเหตุผลกลใดก็ยากจะคาดเดา วัดโภคัลจึงมีเพียงพระสงฆ์เพียงไม่กี่รูปที่คอยดูแลรักษา
ที่วัดโภคัลพุทธวิหารเมื่อก่อสร้างมีพระภิกษุชาวบังคลาเทศสองรูปอยู่จำพรรษาด้วยกัน บางท่านบอกว่ารูปหนึ่งบังคลาเทศ อีกรูปเป็นชาวเมียนมา ครั้งหนึ่งได้เกิดเหตุการณ์เข้าใจผิดจนทำให้พระภิกษุรูปหนึ่งถูกทำร้ายจนเสียสติ แต่ก็ยังคงรักษาสภาวะของความเป็นภิกษุอยู่ได้ เพราะบางครั้งก็มีสติสามารถมีสติระลึกได้ นามของท่านยังปรากฏในทำเนียบพระภิกษุของวัดโภคัลพุทธวิหารอยู่จนถึงปัจจุบันคือ “สัตตยปาลเถระ” ท่านมรณภาพปีพุทธศักราช 2565 อุบาสิกาที่อยู่ดูแลวัดเล่าให้ฟังว่า “ปรกติท่านสัตตยปาลจะพักที่ชั้นบนของศาลาจะลงมาฉันอาหารประมาณ 10 โมงเช้าทุกวัน ที่วัดโภคัลจะปฏิบัติตามแบบของพระกรรมฐานคือฉันภัตตาหารมื้อเดียว ฉันในบาตร วันนั้นไม่เห็นท่านลงมาตามปรกติ ท่านเจ้าอาวาสจึงให้คนไปเรียก ปรากฎว่าท่านไม่รู้สึกตัวแล้ว เหมือนคนนอนหลับ แต่เมื่อสัมผัสตัวจึงรู้ว่าท่านมรณภาพแล้ว และได้ทำพิธีฌาปนกิจตามธรรมเนียม ท่านคงไปดีแล้ว จากวันนั้นผ่านมาเกือบสองปีแล้ว ไม่มีใครฝันเห็นท่านอีกเลย เหลือแค่ภาพถ่ายภาพเดียว ท่านเป็นพระดีนะ ประชาชนในแถบนี้นับถือท่านดุจเทพเจ้า”
วัดโภคัลพุทธวิหารยังมีพระสงฆ์ไทยคอยดูแล อย่างน้อยจะมีพระมาอยู่จำพรรษาปีละรูป บางปีก็จะมีสามเณรชาวอินเดียมาบรรพชาบ้าง แต่ส่วนมากจะอยู่ได้ไม่นาน เรื่องการบรรพชาของชาวอินเดียเพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนานั้นเข้าใจยาก คติความเชื่อได้ถูกดัดแปลงจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของฮินดูไปแล้ว
นอกจากวัดไทยแล้ว ที่เมืองเดลียังมีนานาชาติอีกหลายประเทศเช่นวัดลาว (ปัจจุบันอยู่ภายใต้การดูแลของลามะจากลาดักส์) วัดกัมพูชา วัดเมียนมา วัดศรีลังกา กระจายอยู่ตามสถานที่ต่างๆในเมืองนิวเดลี แต่ละวัดก็มักจะมีชาวพุทธจากประเทศนั้นไปเยือนมิได้ขาด
นครเดลีเหมาะที่จะเป็นทางผ่านไปยังเมืองต่างๆ เพราะการคมนาคมสะดวก มีเส้นทางสัญจรให้เลือกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเครื่องบิน รถไฟ รถโดยสาร ใครที่ผ่านไปทางนั้น หากจะติดที่พักที่วัดโภคัลก็สามารถบอกรถแท็กซี่ให้ไปส่งได้เลย สำหรับคนไทยพักฟรี ส่วนคนชาติอื่นๆอาจจะมีค่าใช้จ่ายบ้าง แต่ก็ไม่ได้มากมายอะไร พักวัดลดค่าใช้จ่ายได้อีกมาก
เมืองเดลีในสมัยพุทธกาลปรากฏชื่อในนามแคว้นกุรุ พระองค์เคยเสด็จมาที่เมืองนี้และได้แสดงมหาสติปัฏฐานแก่ชาวกุรุ ดังข้อความที่ปรากฏในมหาสติปัฏฐานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค (10/273/257) ความว่า “สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในกุรุชนบท มีนิคมของชาวกุรุ ชื่อว่ากัมมาสทัมมะ ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธภาษิตนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย หนทางนี้เป็นที่ไปอันเอก เพื่อความบริสุทธิ์ของเหล่าสัตว์ เพื่อล่วงความโศกและปริเทวะ เพื่อความดับสูญแห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุธรรมที่ถูกต้อง เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานหนทางนี้ คือ สติปัฏฐาน 4 ประการ 4 ประการ เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลายภิกษุในธรรมวินัยนี้ (1) พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะมีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ (2)พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ (3) พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ (4) พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะมีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้
มหาสติปัฏฐานสูตรพระพุทธองค์ทรงแสดงอานิสงส์ของการปฏิบัติไว้ด้วย มีข้อความสรุปไว้ในท้ายพระสูตร(10/300/277) ความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ผู้ใดผู้หนึ่ง พึงเจริญสติปัฏฐานทั้ง 4 นี้อย่างนี้ ตลอด 7 ปี เขาพึงหวังผล 2 ประการอย่างใดอย่างหนึ่ง คือพระอรหัตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีอุปาทิเหลืออยู่ เป็นพระอนาคามี 7 ปียกไว้
ผู้ใดผู้หนึ่งพึงเจริญสติปัฏฐาน 4 นี้ อย่างนี้ตลอด 6 ปี ... 5 ปี ... 4 ปี ... 3 ปี ...2 ปี ... 1 ปี เขาพึงหวังผล 2 ประการอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ พระอรหัตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีอุปาทิเหลืออยู่ เป็นพระอนาคามี 1 ปียกไว้
ผู้ใดผู้หนึ่ง พึงเจริญสติปัฏฐาน 4 นี้ อย่างนี้ตลอด 7 เดือน เขาพึงหวังผล 2 ประการอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ พระอรหัตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีอุปาทิเหลืออยู่เป็นพระอนาคามี 7 เดือนยกไว้
ผู้ใดผู้หนึ่งเจริญสติปัฏฐานทั้ง 4 นี้ อย่างนี้ตลอด 6 เดือน ... 5 เดือน ... 4 เดือน ... 3 เดือน ... 2 เดือน ... 1 เดือน ... กึ่งเดือน เขาพึงหวังผล 2 ประการอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ พระอรหัตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีอุปาทิเหลืออยู่ เป็นพระอนาคามี
กึ่งเดือนยกไว้ ผู้ใดผู้หนึ่งพึงเจริญสติปัฏฐาน 4 นี้ อย่างนี้ตลอด 7 วัน เขาพึงหวังผล 2 ประการอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ พระอรหัตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีอุปาทิเหลืออยู่ เป็นพระอนาคามี
ดูกรภิกษุทั้งหลาย หนทางนี้เป็นที่ไปอันเอก เพื่อความบริสุทธิ์ของเหล่าสัตว์ เพื่อล่วงความโศกและปริเทวะ เพื่อความดับสูญแห่งทุกข์โทมนัส เพื่อบรรลุธรรมที่ถูกต้อง เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน หนทางนี้ คือ สติปัฏฐาน 4ประการ ฉะนี้แล
บุคคลที่เจริญมหาสติปัฏฐานสี่เป็นประจำย่อมได้รับอานิสงส์ภายใน 7 วัน 7 เดือน 7 ปี ย่อมได้รับอานิสงส์สองประการคือเป็นพระอรหันต์ หรือเป็นพระอนาคามี
ปัจจุบันสถานที่แสดงมหาสติปัฏฐานสูตร มีหลักฐานปรากฏให้เห็นเป็นก้อนหินที่พอจะเรียกได้ว่าเป็นภูเขาขนาดเล็กตั้งอยู่ในเมืองเดลีเขตไกรลาสตะวันออก ชาวพุทธที่มักจะเดินทางไปนมัสการสถานที่แห่งนี้ส่วนมากจะเป็นชาวศรีลังกา และชาวเมียนมา
เมืองเดลียังมีสถานที่สำคัญทั้งทางศาสนาและที่เกี่ยวกับบุคคลสำคัญอีกหลายแห่งเช่นคานธี มาต สถานที่ที่มหาตม คานธี เสียชีวิต มีอนุสรณ์สถานแสดงประวัติของคานธีไว้ให้อนุชนคนรุ่นหลังได้ศึกษา เมื่อเดินทางไปอินเดีย หากมีปัญหาเกี่ยวกับเที่ยวบินที่อาจจะเดินทางไม่ตรงเวลา หรือหากจะแวะพักที่สักสองสามคืนก็จะมีเวลาเดินทางไปชมสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์อื่นๆได้ โดยเฉพาะชาวพุทธหากต้องการเดินทางไปชมสถานที่สำคัญที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาก็สามารถเดินทางไปยังกัมมสทัมมะนิคม แคว้ากุรุ ในสมัยพุทธกาล ปัจจุบันได้รับการดูแลรักษาไว้เป็นอย่างดี มีชื่อปรากฏในปัจจุบันว่า “Asokan Rock Edict” East of Kailash New Delhi.
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
11/05/67