ไซเบอร์วนาราม.เน็ต

เว็บไซต์เพื่อพระพุทธศาสนา อารามหนึ่งบนโลกไซเบอร์

laithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithai

     ​ช่วงนี้ยังเดินทางไปไหนลำบาก โดยเฉพาะในต่างประเทศ เพราะแต่ละแห่งก็ต้องเฝ้าระวังป้องกันเรื่องของโควิด 19 เอาไว้ก่อน ไม่ป่วย ไม่ติด ไม่เป็นไข้ ดีที่สุด เพราะถ้าติดเชื้อนี้ขึ้นเมื่อใด ก็จะต้องเสียทั้งเวลาและเงินทองในการรักษาเยียวยา ถ้าหายได้ก็เป็นการดี แต่ถ้าไม่หายก็อาจจะตายได้ ในช่วงชีวิตหนึ่งหากทะนุถนอมรักษาลมหายใจไว้ให้ได้นานที่สุดน่าจะเป็นการดี ยกเว้นแต่คนที่อยากตายยิ่งตายได้เร็วที่สุดยิ่งดี แต่คนส่วนมากที่ยังสติสัมปชัญญะก็ยังอยากอยู่ดูโลกนี้ต่อไปให้นานที่สุด

     ​ถ้าเป็นห้วงเวลาปรกติต้องวางแผนหาที่ไป ที่ไหนสักแห่งที่ไม่ใช่ที่ๆเราอยู่ประจำ เปลี่ยนสถานที่บ้างชีวิตอาจจะมีสีสันขึ้น วันก่อนได้สนทนากับพระภิกษุชาวเมียนมาท่านหนึ่ง ท่านบอกว่าตั้งแต่เกิดการปฏิวัติขึ้นที่ประเทศเมียนมา ผมก็ยังไม่ได้กลับประเทศ เฝ้าดูอยู่ห่างๆ แม้จะเป็นห่วงแต่ก็คงทำอะไรได้ไม่มากนัก ขอบคุณประเทศไทยที่ยังให้ที่พักพิงในยามยาก
     ​คิดถึงช่วงเวลาที่เดินทางไปต่างประเทศคนเดียว ที่มีการวางแผนอย่างไม่รัดกุม อยากจะไปที่ไหนก็ไป อยากจะขึ้นรถลงเรือ ไปเหนือล่องใต้ ก็แล้วแต่สถานการณ์ ก่อนโรคระบาดโควิดจะเกิดขึ้นสักสองสามเดือน ได้วางแผนการเดินทางไว้ที่ประเทศเมียนมา ต้องการพิสูจน์เส้นทางว่าสถานที่และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในเมียนมาทั้ง 5 แห่ง จะเดินทางไปครั้งเดียวภายในเวลา 7 วันได้หรือไม่
     ​ต้องทบทวนความทรงจำก่อนว่าสิ่งที่ชาวเมียนมายึดถือว่ามีความศักดิสิทธิ์ทั้ง 5 แห่งคือ เจดีย์ชเวดากอง เมืองย่างกุ้ง เจดีย์ชเวมอร์ดอ เมืองหงสาวดีหรือเมืองพะโคะ เจดีย์ชเวสิกอง เมืองพุกาม พระธาตุอินแขวน เมืองมอญ และพระมหามัยมุนี เมืองมัณฑเลย์ หากดูตามแผนที่ก็จากเหนือจรดใต้ ต้องเดินทางอย่างน้อย 5 วันขึ้นไป ถ้าอยู่ในสถานที่แต่ละแห่งหนึ่งวันหนึ่งคืนก็ต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้นอีก

 

     เมื่อวางแผนไว้อย่างนี้ก็ถึงเวลาออกเดินทาง ขึ้นเครื่องบินที่สนามบินดอนเมืองเวลาประมาณแปดโมงเช้า ไปลงที่ย่างกุ้ง นั่งรถแท็กซี่ไปที่เจดีย์ชะเวดากอง ก็มีเวลาอยู่ที่ย่างกุ้งทั้งวัน ยังมีเวลาเที่ยวชมหลวงพ่อตาหวาน พระเจ้าทันใจ และอีกหลายแห่งที่อยากไป ตอนกลางคืนยังมีเวลาชมความงามของเจดีย์ชะเวดากองจนถึงเวลาปิดคือสี่ทุ่ม จากนั้นก็เข้าที่พักที่อยู่ใกล้ๆบริเวณเจดีย์ซึ่งจองไว้ล่วงหน้าก่อนออกเดินทางแล้ว
     วันที่สอง ตอนเช้าออกเดินทางไปยังเมืองพะโคะเพื่อสักการะเจดีย์ชเวมอร์ดอร์ ครั้นจะอาศัยรถโดยสารประจำทางก็ต้องเสียเวลามาก คงตั้งใช้เวลาทั้งวัน จึงตัดสินใจในบัดดลหารถเช่าสักคัน ราคาก็ไม่ได้แพงมากสองสามหมื่นจ๊าต อัตราแลกเปลี่ยนประมาณ 100 บาทเท่ากับ 4000 จ๊าต อัตราจริงๆคือ (4484) สามหมื่นจ๊าตคิดเป็นเงินไทยประมาณ 600 บาท คิดง่ายๆว่า 10000 จ๊าต เท่ากับ 200 บาท ราคาก็ไม่แพงมากนัก เท่ากับนั่งรถแท็กซี่จากบางซื่อไปศาลายาในวันที่รถติด ซึ่งก็เดินทางอย่างนี้แทบทุกวัน
     ​แวะฉันเพลที่ร้านอาหารข้างทาง อาหารเมียนมารสจัดออกเค็มนิดหนึ่ง ในช่วงที่กำลังหิวก็ฉันได้รสชาติไปอีกอย่าง ก่อนเที่ยงก็ถึงเมืองหงสาวดี ไปสักการะเจดีย์มอร์ดอร์หรือมุเตา และเช่ารถสามล้อไปเที่ยวชมสถานที่อีกหลายแห่ง จนกระทั่งใกล้ค่ำก็สอบถามว่าจะไปพระธาตุอินแขวนอย่างไร คนขับรถสามล้อบอกว่าต้องรอพรุ่งนี้ถึงจะมีรถโดยสารซึ่งก็ใช้เวลาวิ่งครึ่งวัน จึงวางแผนใหม่ว่าคืนนี้จะไปพักที่ทางขึ้นพระธาตุอินแขวน ตอนเช้าก็ขึ้นเจดีย์จะทำอย่างไร
     ​เขาพาไปที่สถานีขนส่ง หาเช่ารถให้ในราคาประมาณสามหมื่นจ๊าต ใช้เวลาเดินทางสามชั่วโมง แต่เมื่อออกเดินทางจริงๆ กลับใช้เวลมากว่าที่คิดไว้ นั่งรถชมทุ่ง ชมบรรยากาศสองข้างทางอย่าเพลิดเพลิน เพราะคนขับพูดกันคนละภาษา เขาแค่รับเงินค่าโดยสารและไปส่งที่ปากทางขึ้นสู่เจดีย์เท่านั้น เรื่องอื่นๆไม่สามารถสื่อสารกันผ่านภาษาได้ ไปถึงรัฐมอญเวลาประมาณสามทุ่ม พยายามให้คนขับหาที่พัก ซึ่งยากมาก เพราะไม่ได้จองไว้ล่วงหน้า ขับวนหาที่พักอยู่นาน จนกระทั่งไปพบห้องว่างจนได้ คืนนั้นพักกับคนขับรถจากเมืองพะโคะ แกจะกลับตอนกลางคืนก็ลำบาก พักห้องเดียวกัน มีเตียงเดียว แกก็ไปนอนข้างล่าง เดินทางทั้งวันด้วยความเหนื่อยอ่อน ไม่ต้องอาบน้ำหลับไปตอนไหนไม่รู้

 


     ​วันที่สามตื่นแต่เช้า ไม่ต้องรออาหารจากที่พัก ให้คนขับพาออกเดินทางไปทางขึ้นพระธาตุอินแขวน นึกว่ามาเช้าแล้ว แต่ผู้คนจำนวนมากยืนรอเพื่อที่จะขึ้นรถไปยังพระธาตุ นักท่องเที่ยวส่วนมากนิยมเรียกรถประเภทนี้ว่า “รถขนหมู” ทั้งเบียดเสียด ทั้งต้องระวังทางโค้งอันตราย สนุกดีเหมือนกัน เที่ยวนั้นมีพระภิกษุหลายรูป ไม่มีใครสนใจว่าเราเป็นใครมาจากไหน สีจีวรก็ออกโทนสีแดงเหมือนพระเมียนมา เพียงพูดภาษาเมียนมาไม่ได้เท่านั้น
     ​มาถึงพระธาตุอินแขวนช่วงใช้วิธีเดินขึ้นตามทางเดินกับผู้คนหลากหลายสัญชาติ มีพระสงฆ์สามเณรออกโคจรบิณฑบาต ได้เห็นเหล่าฤษีเดินบิณฑบาตแทรกไปกับพระสงฆ์ ชีวิตหลากหลายลีลาดีเหมือนกัน แวะฉันภัตตาหารที่ร้านอาหารข้างทาง เจ้าของร้านพูดภาษาไทยได้ ดีใจที่ได้พบพระไทยเลยถวายอาหารเช้า ขออนุโมทนาบุญด้วย แม้จะต่างเชื้อชาติแต่ก็นับถือพระพุทธศาสนาเหมือนกัน อยู่ที่พระธาตุอินแขวนจนกระทั่งบ่ายก็นั่ง “รถขนหมู” ลงมาข้างล่างอีกครั้ง
     ​ถามทางว่าจะไปพุกามอย่างไร ไม่มีรถโดยสารระหว่างสองเมืองนี้ ต้องไปต่อรถโดยสารที่เมืองพะโคะ ถ้าจะเดินทางโดยรถเช่าราคาก็แพงมากฟังอัตราค่ารถแล้วก็ต้องยอมยกเลิกแผนการ จากพระธาตุอินแขวนไปพุกาม 100 ดอลลาร์ครับ” จึงเหมารถกลับไปต่อรถที่พะโคะดีกว่า ประหยัดเงินได้มากกว่า มาถึงเมืองพะโคมืดค่ำพอดี ที่ท่ารถเขาบอกว่ามีรถจากย่างกุ้งไปพุกามผ่านมาทางนี้เวลาประมาณ 3 ทุ่มครับ ค่ารถโดยสารสามหมื่นจ๊าต จึงตัดสินใจรอและคืนนั้นก็หลับบนรถโดยสารจากพะโคะไปพุกาม เนื่องจากคนโดยสารไม่มาก นอนหลับสบายดี ทั้งๆที่น้ำยังไม่ได้อาบมาสองวันแล้ว แต่คนโดยสารส่วนหนึ่งเป็นฝรั่งเป็นนักท่องเที่ยว ได้กลิ่นฉุนของนักเดินทางไม่ต่างกันมากนัก

 

     ​วันที่สี่มาถึงพุกามประมาณตีสี่แวะที่ร้านกาแฟสั่งกาแฟร้อนตามก็สว่าง มีใครคนหนึ่งเข้ามาพูดคุยด้วย เมื่อบอกว่าอยากไปชมพระอาทิตย์ขึ้น เขารีบเรียกหารถให้ในบัดเดี๋ยวนั้น ตกลงเบื้องต้นว่าพาไปชมพระอาทิตย์ขึ้นที่เจดีย์ชะเวซันดอร์ เขารีบออกเดินทางในทันที พุกามในเวลาตะวันขึ้นสวยงามจริงๆ เห็นบอลลูนจำนวนมากลอยผ่านทะเลเจดีย์เป็นภาพที่อยากลองขึ้นดูสักครั้ง ถ้ามาที่พุกามต้องชมทั้งตะวันขึ้นและชมตะวันตกบนระเบียงเจดีย์
     ​กลับจากชมเจดีย์ก็ไปสักการะเจดีย์ชะเวสิกอง คนขับพาไปฉันภัตตาหารที่ร้านแห่งหนึ่ง สั่งอาหารมาชุดหนึ่ง อาหารทยอยมาเรื่อยๆถ้วยเล็กๆประมาณ 20 ชนิด ในใจก็คิดราคาไปด้วยคงหลายหมื่น ก่อนเข้าร้านคิดว่าแค่อาหารจานเดียวก็พอแล้ว แต่นี่มากันเป็นชุดใหญ่ ซึ่งเกินกำลังท้อง ฉันอย่างไรก็ไม่หมด พยายามบอกว่าพอแล้วไม่ต้องยกมาอีก เด็กสาวคนหลายคนที่ยกอาหารมาก็บอกว่า มันเป็นชุดต้องบริการให้ครบ ในขณะฉันนั้นมีชายแก่คนหนึ่งนั่งมองอยู่ที่โต๊ะใกล้ๆอย่างเงียบๆ ในใจอยากจะแบ่งอาหารไปให้ พอฉันเรียบร้อยชายแก่คนนั้นก็เดินเข้ามายกมือไหว้ และพูดด้วยภาษาเมียนมาผ่านคนขับแปลได้ความว่า “ผมเป็นเจ้าของร้านนี้ ขอถวายอาหารมื้อนี้ แด่พระคุณเจ้า ขอให้พระคุณเจ้าเที่ยวชมเมืองพุกามอย่างสบายใจ” ต้องบอกว่าเราคาดการณ์ผิด เห็นเจ้าของร้านเป็นเหมือนคนจน สายตาเรานี่แย่จริงๆ มองเศรษฐีกลายเป็นคนจนไปได้  
     ​ต้องบอกว่าอาหารมือนั้นอิ่มจนอยากหาที่นอนสักงีบ จึงให้คนขับพาหาที่พักซึ่งไม่ยากแม้จะไม่ได้จองล่วงหน้า พุกามมีที่พักราคาถูกมากมาย คืนละประมาณ 20 ดอลลาร์ ประมาณ 600 บาท ที่พักสงบเงียบดีมาก จากนั้นจึงไปติดต่อร้านที่ให้บริการบอลลูน ไปสามแห่งจึงได้ที่ว่างที่ราคาแพงมาก หากจองล่วงหน้าราคาประมาณ 200-300 ดอลลาร์ต่อครั้ง แต่นี่ไม่ได้จองล่วงหน้าที่ว่างจึงเหลือน้อย ราคาก็แพงขึ้นไปเป็น 350-400 ดอลลาร์ เมื่อคิดว่าเราอาจจะได้มาที่พุกามเป็นครั้งสุดท้ายก็ได้ เงินทองของนอกกายถ้ายังไม่ตายก็คงพอหาได้ จึงตัดสินใจในบัดดล มาที่พุกามแล้วต้องขึ้นบอลลูนชมเจดีย์สักครั้ง  ตอนกลางวันได้พักอาบน้ำนอนหลับงีบหนึ่งจากนั้นก็ออกชมเจดีย์ต่อ เหมารถม้าได้คันหนึ่งราคา 20 ดอลลาร์/ต่อวัน เที่ยวครึ่งวันก็เหลือครึ่งหนึ่ง ยังมีเวลานั่งเรือชมแม่น้ำอิรวดี ตอนเย็นยังไปชมพระอาทิตย์ตกดิน บรรยากาศสวยงามมาก

 


 

     วันที่ห้าต้องตื่นตีสี่ ผู้ให้บริการบอลลูนมารับถึงที่พัก เมื่อทุกคนพร้อมก็ออกเดินทางไปยังสถานที่ขึ้นบอลลูนซึ่งอยู่นอกเมือง เช้านั้นมีนักท่องเที่ยวหลายร้อยคน ส่วนมากมาจากต่างประเทศ มีพระภิกษุจากประเทศไทยรูปเดียวแทรกอยู่ในกลุ่มนักท่องเที่ยวเหล่านั้น บอลลูนมีหลายบริษัทมีสีต่างกัน แดง เขียว เหลือง เมื่อขึ้นสู่ท้องฟ้าจึงเหมือนเครื่องประดับฟ้าแห่งเมืองพุกาม บอลลูนลูกหนึ่งจำกัดด้วยน้ำหนักของคนขึ้นรวมกัน ไม่ได้นับจำนวนคน ถ้าเป็นคนตัวเล็กหรือเด็กก็รับได้มากหน่อย ประมาณ 8-12 คน
     ​พุกามเมืองที่น่าพิศวง เมืองที่น่าค้นหา เจดีย์ธรรมดาแต่ผ่านกาลเวลามานานนับพันปี แม้จะมีปัญหาเรื่องของแผ่นดินไหว เจดีย์บางแห่งพังไปบ้าง แต่ที่เหลืออยู่ก็มีมากว่าสี่พันองค์ คงต้องใช้เวลาหลายวันกว่าจะเที่ยวชมได้อย่างทั่วถึง
     ​ตอนเย็นขึ้นรถโดยสารจากพุกามไปมัณฑเลย์แต่แจ้งเจตจำนงว่าจะลงที่วัดพระมหามัยมุนี ถ้าไปถึงก็ให้บอกด้วย ประมาณตีสองรถโดยสารก็ไปถึงทางแยกเข้าวัดพระมหามัยมุนี นั่งรถมอเตอร์ไซด์ไปที่วัดก็ยังเงียบอยู่ เขาจะเปิดวัดประมาณตีสี่ รอที่หน้าวัดแค่สองชั่วโมง นั่งฉันกาแฟ เดินเล่นก็ได้ที่เหมาะกับการนั่งรอที่ระเบียงร้านค้าแห่งหนึ่งเผลอหลับไปงีบหนึ่ง เหมือนคนจรหมอนหมิ่น แต่ยังดีที่เมืองนี้ไม่มีโจร ไม่มีขโมย ของทุกอย่างยังอยู่ตามปรกติ กระเป๋าเดินทางใบเดียว โทรศัพท์หนึ่งเครื่องกับกล้องอีกตัวหนึ่งยังอยู่ครบ
     ​เช้าวันที่หกเข้าสักการะพระมหามัยมุนี เป็นการเดินทางสักการะห้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในเมียนมาครบในเวลาหกวัน บ่ายก็เช่ารถมุ่งหน้าสู่เมืองมัณฑเลย์ ยังมีเวลาไปชมสะพานอูเบ็งยามเย็น ก่อนจะหาที่พักเมืองนี้หายากหน่อย ที่พักแทบทุกแห่งบอกว่าต้องจองล่วงหน้า มาอย่างนี้ไม่มีที่ว่างให้ ก็ต้องใช้วิชาเก่าคือให้คนขับรถที่เหมาไว้นอกจากพาเที่ยวแล้วก็ยังหาที่พักได้ด้วย แต่ราคาค่อนข้างแพง
     ​วันที่เจ็ดมีเวลาว่างทั้งวัน ไปวัดกุโสดอร์ชมพระไตรปิฎกหินอ่อน ไปปราสาทไม้สัก ไปอีกหลายแห่ง ตามแต่คนขับเขาจะพาไป ไปชมยอดเขา ชมวัดวาอารามต่างๆ รอจนถึงเวลาค่ำก็ไปที่สนามบินมัณฑเลย์เดินทางกลับประเทศไทยโดยสวัสดิภาพ
     ​การเดินทางคนเดียวนั้นได้ความสะดวก ไม่ต้องปรึกษาใคร คิดแล้วลงมือทำได้เลย แต่ค่าใช้จ่ายน่าจะมากกว่าเดินทางกับบริษัทท่องเที่ยว เพราะต้องแข่งกับเวลา จะมัวรอรถโดยสารอย่างเดียวบางทีก็ต้องเสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ เงินนะหมดแล้วก็แล้วไป พอหาใหม่ได้ หากยังมีลมหายใจ ยังมีชีวิตที่พร้อมจะทำงานต่อไป
     ​ช่วงนี้นอกจากจะมีวิกฤตโควิดแล้ว เมียนมาก็ไม่น่าไปเพราะมีการต่อต้านนการรัฐประหาร มีประชาชนออกมาเคลื่อนไหวตามท้องถนน บางวันมีคนบาดเจ็บล้มตาย ก็แค่อยากเล่าให้ฟัง ที่เหลือก็เป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ บางทีอาจจะเกิดขึ้นครั้งเดียวในช่วงชีวิตนี้



 

พระมหาบุญไทย  ปุญญมโน
31/03/64


 

​  

 

 

 



 

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

กองธรรมสนามหลวง

กองบาลีสนามหลวง

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กรมการศาสนา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัย  มมร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)

เว็บไชต์นักศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มมร

 

วัดไทย

เว็บวัดในประเทศไทย

วัดไทยในต่างประเทศ

คณะสงฆ์ธรรมยุตUSA

 วัดป่าธรรมชาติ LA

พระคุ้มครอง

วัดธรรมยุตทั่วโลก

 

ส่วนราชการในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ส่วนราชการในประเทศไทย

กระทรวงในประเทศไทย

 

หนังสือพิมพ์ไทย

ไทยรัฐ
เดลินิวส์
มติชน
ผู้จัดการ
กรุงเทพธุรกิจ
คม ชัด ลึก
บ้านเมือง
ข่าวสด
ฐานเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ
สยามกีฬา
แนวหน้า
โพสต์ทูเดย์
ไทยโพสต์
สยามรัฐ
สยามธุรกิจ
บางกอกทูเดย์

 

ข่าวภาษาต่างประเทศ

ข่าว CNN

ข่าว BBC

Bangkok Post

The Nation

หนังสือพิมพภาษาต่างประเทศ

เมนูสมาชิก