โลกมนุษย์เกิดสงครามโลกมาหลายครั้งแล้ว แต่ละครั้งมีการสูญชีวิตผู้คนเป็นจำนวนมาก ผู้นำในแต่ละประเทศจึงพยายามไม่ให้เกิดสงครามที่ขยายใหญ่โตจนเป้นสงครามโลก หากจะมีสงครามก็ให้มีสงครามเล็กๆรีบแก้ปัญหา หาทางแก้ไขเพื่อไม่ให้เกิดสงครามขึ้น ต้องมีการสูญเสียน้อยที่สุด หรือไม่มีผลกระทบต่อชาติอื่นเมืองอื่น ผู้นำประเทศมหาอำนาจจึงยอมลงทุนเพื่อเปิดการเจรจาในการระงับสงคราม สงครามไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ล้วนมีอันตรายทั้งนั้น วิธีที่ดีที่สุดคืออย่าให้มีสงคราม
วันนี้มีนิทานมาเล่านิทานให้ฟังหนึ่งเรื่อง เรืองมีอยู่ว่าครั้งหนึ่งเทวดากับอสูรเกิดปัญหาการแย่งชิงน้ำอมฤตหรือที่หรือภาษาทางการก็บอกว่า “สุรา” ส่วนภาษาชาวบ้านนิยมเรียกว่า “เหล้า” นั่นแล สิ่งเดียวกัน แต่เมื่ออยู่ในสำนักของแต่ละสภาพก็มีชื่อเรียกขานต่างกัน สาระสำคัญของสุราคือดื่มแล้วเมา ตามเรื่องเล่าในคัมภีร์พวกเทวดาและอสูรต่างก็ชอบดื่มน้ำอมฤต มีตำนานการผลิตที่เล่าขานอย่างพิสดารเช่นเรื่องพระนารายณ์กวนน้ำอมฤตที่เกษียรสมุทรเป็นต้น
คำว่า “อสุร”เป็นคำนามเพศชายแปลว่า ผู้ใม่แกล้วกล้า อมนุษย์จำพวกหนึ่ง ยักษ์มาร ผี
คำว่า “อสุรกาย” คำนามเพศชาย หมายถึงอสุรกาย พวกอสูร สัตว์จำพวกมีกายไม่กล้า
คำว่า “อสูร” แปลว่าไม่แกล้วกล้า ขี้ชลาด โง่เง่า
เมื่อตกลงกันไม่ได้ก็ต้องสู้รบกัน ตามตำนานแล้วเทวดาและอสูรผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ แต่ยุคหลังพวกอสูรมักจะแพ้มากกว่าชนะ เทวดาเลยดื่มน้ำอมฤตกันและเที่ยวเล่นอย่างสนุกสนาน “ในภาษาบาลี “เทวดา หรือเทวตา” รากศัพท์เดิมมาจาก “ทิว” ธาตุ ในความเล่น แปลง “ทิว” เป็น “เทว” เป็นคำนามเพศชาย แปลว่าเทพเจ้า เทวดา พระยม ความตาย สมมุติเทพ พระราชา ฟ้า ท้องฟ้า ฝน เมฆ แปลได้หลายความหมาย แต่ถ้าแปลตามรากฐานของธาตุดั้งเดิมก็จะแปลแบบง่ายว่า “พวกชอบเล่นสนุก”
ตามตำนานต่างๆของเทวดาจึงมักจะมีเรื่องสวนสวรรค์ สระอโนดาต อย่างกรณ๊ของพระอินทร์เจ้าแห่งสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ก็ใช่ย่อย มีมเหสีสี่องค์ มีช้างทรงชื่อเอราวัณ บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นี้มีอุทยานที่งดงามมาก
ครั้งนั้นสงครามกำลังจะเกิด แต่ฤาษีกลุ่มหนึ่งคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าว่าครั้งนี้พวกอสูรคงพ่ายแพ้และคงหาเรื่องรุกรานพวกนักบวชผู้มีกัลยาณธรรม มีข้อความปรากฎในสมุททกสูตรที่ 10 สังยุตตนิกาย สคาถวรรค (15/903) ความว่า “พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลายเรื่องเคยมีมาแล้ว ฤาษีผู้มีศีลมีกัลยาณธรรมมากรูปด้วยกัน อาศัยอยู่ในกุฎีที่มุงบังด้วยใบไม้แทบฝั่งสมุทร ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยนั้นแล สงครามระหว่างพวกเทวดากับอสูรได้ประชิดกันแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล พวกฤาษีผู้มีศีลมีกัลยาณธรรมเหล่านั้นพากันคิดเห็นว่า พวกเทวดาตั้งอยู่ในธรรม พวกอสูรไม่ตั้งอยู่ในธรรม ภัยนั้นพึงเกิดแก่พวกเราเพราะอสูรโดยแท้ อย่ากระนั้นเลย พวกเราควรเข้าไปหาท้าวสมพรจอมอสูรแล้วขออภัยทานเถิด
ครั้งนั้นแล ฤาษีผู้มีศีลมีกัลยาณธรรมเหล่านั้นได้อันตรธานไปในบรรณกุฎีแทบฝั่งสมุทร ไปปรากฏอยู่ตรงหน้าท้าวสมพรจอมอสูรเหมือนบุรุษมีกำลังเหยียดแขนที่คู้ หรือคู้แขนที่เหยียด ฉะนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลายลำดับนั้น พวกฤาษีผู้มีศีลมีกัลยาณธรรมเหล่านั้น ได้กล่าวกะท้าวสมพรจอมอสูรด้วยคาถาว่า “พวกฤาษีมาขออภัยกะท่านท้าวสมพร การให้ภัยหรือให้อภัยท่านกระทำได้โดยแท้”
ท้าวสมพรจอมอสูรได้กล่าวตอบว่า “การอภัยไม่มีแก่พวกฤาษี ผู้ชั่วช้าคบหาท้าวสักกะ เราให้เฉพาะแต่ภัยเท่านั้นแก่พวกท่านผู้ขออภัย”
พวกฤาษีกล่าวว่า “ท่านให้เฉพาะแต่ภัยเท่านั้นแก่พวกเราผู้ขออภัย พวกเราขอรับเอาแต่อภัยอย่างเดียว ส่วนภัยจงเป็นของท่านเถิด บุคคลหว่านพืชเช่นใดย่อมได้ผลเช่นนั้น คนทำดีย่อมได้ดี ทำชั่วก็ย่อมได้ชั่ว แน่ะพ่อ ท่านหว่านพืชลงไปไว้แล้ว ท่านจักต้องเสวยผลของมัน”
ครั้งนั้นแล ฤาษีผู้มีศีลมีกัลยาณธรรมเหล่านั้น ได้สาปแช่งท้าวสมพรจอมอสูรแล้วอันตรธานหายไปในที่ตรงหน้าท้าวสมพรจอมอสูร แล้วไปปรากฏอยู่ในบรรณกุฎีแทบฝั่งสมุทร เปรียบเหมือนบุรุษมีกำลังเหยียดแขนที่คู้ หรือคู้แขนที่เหยียดฉะนั้น”
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล ท้าวสมพรจอมอสูรถูกฤาษีผู้มีศีลมีกัลยาณธรรมเหล่านั้นสาปแช่งแล้ว ได้ยินว่าในคืนวันนั้น ตกใจหวาดหวั่นถึงสามครั้ง”
ความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมดาของสัตว์โลก แม้แต่เทวดาที่ได้ชื่อว่าผู้มีคุณธรรมสูงกว่าสัตว์โลกหลายกลุ่มก็ยังหนีสงครามที่เกิดจากพวกอสูรไม่พ้น การสู้รบใครจะแพ้ใครจะชนะเป็นเรื่องของโอกาส มีปัจจัยหลายอย่างที่จะทำให้แพ้หรือชนะ ถ้าเทวดาแพ้ส่วนมากจะไม่ค่อยมีผลกับคนอื่น เทวดาก็กลับไปเตรียมกำลังกองทัพเพื่อสู้รบใหม่
แต่ถ้าพวกอสูรพ่ายแพ้มักจะโทษคนอื่น เมื่อเอาชนะโดยตรงไม่ได้ก็หาเรื่องกล่าวหาว่าต้องมีกำลังเสริมอื่นๆ ในพระสูตรนี้พวกฤษีซึ่งเป็นนักบวชผู้ปฎิบัติธรรมไม่ได้มีส่วนรู้เห็นอันใดเลยก็ยังถูกรุกราน
เนื่องจากฤาษีพอมีพลังทางจิตอยู่บ้างสามารถสาปแช่งให้คนอื่นเดือนร้อนได้มนต์คาถา ซึ่งถือว่าเป็นอาวุธสำหรับนักบวชที่พอจะมีอิทธิฤทธิ์อยู่บ้าง แต่ถ้าเป็นนักบวชที่ไม่ได้มีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์อันใดเลย ก็จะถูกรุกรานจากพวกอสูรอยู่ร่ำไป การที่จะหลบให้พ้นจากพวกอสูรพาลชนทั้งหลายนั้นยากแท้ ทำดีก็ถูกกล่าวหาว่าทำผิด บางครั้งถูกตัดสินเพียงเพราะข่าวลือ ผู้ทำกรรมเช่นใดย่อมจะได้รับกรรมเช่นนั้น เมื่อหว่านพืชเช่นใดลงไปแล้ว อีกไม่นานก็ย่อมจะได้รับผลนั้นไม่ช้าก็เร็ว
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
11/07/61