วันที่ ๙ มกราคม ๒๕๖๐ เจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัต เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร กรรมการที่ปรึกษาสำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต) เป็นประธานในพิธีปฐมนิเทศการฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ รุ่นที่ ๒๓ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๐ ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีมหาธาตุ แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร
พระศรีวินยาภรณ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายการศึกษา ปฏิบัติหน้าที่รองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ได้กล่าวรายงานสรุปความว่า เกล้า ฯ พระศรีวินยาภรณ์ ในนามของคณะกรรมการ เจ้าหน้าที่ สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต) คณะสงฆ์วัดพระศรีมหาธาตุ พระภิกษุผู้เข้ารับการฝึกอบรมฯ และผู้เข้าร่วมพิธีทุกท่าน รู้สึกเป็นพระคุณอย่างสูงยิ่ง ที่ได้รับความเมตตาจากเจ้าประคุณฯ มาเป็นประธาน ในพิธีเปิดการฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต) รุ่นที่ ๒๒ ประจำปี พุทธศักราช ๒๕๕๙ ในครั้งนี้
โอกาสนี้ เกล้าฯ ขอประทานกราบเรียนความเป็นมาของการฝึกอบรมโดยสังเขป ดังนี้ สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต) ในความอุปถัมภ์ของมหาเถรสมาคม ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดให้มีการฝึกอบรมพระภิกษุเป็นพระธรรมทูตไปต่างประเทศขึ้น ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๓๘ เป็นต้นมา โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
๑. เพื่อเตรียมพระธรรมทูตที่มีคุณภาพ มีศีลาจารวัตรอันดีงาม มีความรู้ดี
ความสามารถดี เพื่อส่งไปปฏิบัติศาสนกิจประจำวัดไทยในต่างประเทศ
๒. เพื่อฝึกอบรมพระธรรมทูตให้มีความสามัคคี มีความมั่นใจในการปฏิบัติศาสนกิจด้านการเผยแผ่ในต่างประเทศ และให้มีหลักการสอนพุทธธรรมที่สอดคล้องเหมาะสม และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
๓. เพื่อสนองงานด้านการเผยแผ่ของคณะสงฆ์และมหาเถรสมาคม
๔. เพื่อสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาและรักษาศรัทธาของชาวพุทธทั่วโลก
สำหรับหลักสูตรที่ใช้ในการฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต) ในรุ่นที่ ๒๓ พุทธศักราช ๒๕๖๐ นี้ สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต) ได้พัฒนาปรับปรุงหลักสูตรการฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศเดิม เป็นหลักสูตรประกาศนียบัตรพระธรรมทูตไปต่างประเทศ ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มพูนความรู้ความสามารถและทักษะพื้นฐาน ที่จำเป็นต่อการปฏิบัติศาสนกิจให้ดียิ่งขึ้น มีอุดมการณ์และอุทิศตนในงานการเผยแผ่ มีความมั่นคงในพระรัตนตรัย มีความเข้าใจ ปฏิบัติได้ และเข้าถึงคุณค่าที่แท้จริงของพุทธธรรม มีความรู้ดี ความสามารถดี และปฏิบัติดี สามารถนำองค์ความรู้ที่ได้รับจากการฝึกอบรม ไปบูรณาการในการปฏิบัติศาสนกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนระยะเวลาในการฝึกอบรม ตั้งแต่วันที่ ๙ มกราคม ถึง ๘ เมษายน รวมทั้งสิ้นเป็นเวลา ๓ เดือน โดยแบ่งการฝึกอบรมออกเป็น ๓ ภาคคือ ภาควิชาการ ภาคจิตภาวนา และภาคศึกษาดูงานและนมัสการสังเวชนียสถานในประเทศอินเดีย-เนปาล
ด้านสถานที่พักและสถานที่ฝึกอบรมพระธรรมทูตนั้น ได้รับความอนุเคราะห์จากวัดพระศรีมหาธาตุ กรุงเทพมหานคร เป็นสถานที่ฝึกอบรมภาควิชาการและภาคจิตภาวนา ส่วนภาคศึกษาดูงานและนมัสการสังเวชนียสถานในประเทศอินเดีย-เนปาล มีวัดเนรัญชราวาส วัดป่าพุทธคยาวัดกุสาวดีพุทธวิหาร วัดไทยสิริราชคฤห์ เป็นต้น
สำหรับผู้เข้ารับการฝึกอบรมฯ ในรุ่นที่ ๒๓ นี้ มีจำนวน ๖๐ รูป ประกอบไปด้วยวิทยฐานะ พระปริยัติธรรมแผนกบาลี เปรียญโท ๒ รูป เปรียญตรี ๑๑ รูป แผนกธรรม นักธรรมเอก ๕๔ รูป นักธรรมโท ๖ รูป ในจำนวนนี้ มีคุณวุฒิสายสามัญ ระดับปริญญาเอก ๑ รูป ปริญญาโท ๑๐ รูป ปริญญาตรี ๑๗ รูป และต่ำกว่าปริญญาตรี ๓๒ รูป
คาดว่าเมื่อผู้เข้ารับการพระธรรมทูตเหล่านี้ผ่านการฝึกอบรม ตามหลักสูตรประกาศนียบัตรพระธรรมทูตไปต่างประเทศครั้งนี้ จะได้พระธรรมทูตที่มีความรู้ดี ความสามารถดี มีศีลาจารวัตรอันดีงาม และอุทิศตนในการประกาศเผยแผ่หลักธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันจะนำมาซึ่งความเลื่อมใสศรัทธาของพุทธศาสนิกชน และความสงบร่มเย็นต่อมนุษยชาติสืบไป
อนึ่ง ในโอกาสที่เจ้าประคุณฯ ได้เมตตามาเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดการปฐมนิเทศ หรือพิธีปัจฉิมนิเทศการฝึกอบรมพระธรรมทูตในแต่ละครั้งที่ผ่านมา และได้เมตตาประทานโอวาทแนวทางการปฏิบัติศาสนกิจของพระธรรมทูตนั้น สำนักฝึกอบรมฯ ได้ตระหนักถึงสาระสำคัญของโอวาท และได้น้อมนำมาเป็นแนวทางในการดำเนินการฝึกอบรมให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป
บัดนี้ งานทุกส่วนและผู้เกี่ยวข้องทุกท่านพร้อมแล้ว ขอประทานกราบเรียน เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้โปรดเมตตากล่าวเปิดการฝึกอบรมฯ และให้โอวาทเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติ เพื่อความเป็นสิริมงคล แก่คณะกรรมการ เจ้าหน้าที่ ผู้เข้ารับการฝึกอบรมฯ ตลอดถึงอุบาสก อุบาสิกา ผู้ถวายการอุปถัมภ์ครั้งนี้โดยทั่วกัน ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
เจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัต ประธานในพิธีได้ให้โอวาทและเปิดการประชุมสรุปความว่า “พระเถรานุเถระและผู้เข้ารับการฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศทุกรูป วัตถุประสงค์ของการฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ ดังคำกล่าวรายงาน วัตถุประสงค์สำคัญที่สุดคือเพื่อความมั่นคงของพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาจะดำรงมั่นอยู่ได้ก็ด้วยสาวกของพระพุทธเจ้าก็คือพระภิกษุเราทั้งหลายได้เผยแผ่ ไปประกาศแนะนำสั่งสอนคำสอนให้แก่ประชาชน จึงเป็นเรื่องสำคัญอันดับแรก
ส่วนพระศาสนาคือพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้นซึ่งจะดำรงมั่นก็ด้วยความเข้าใจของทุกท่าน พระธรรมทูตต้องมีความรู้ ความเข้าใจให้ถูกต้อง พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระศาสนาเป็นเวลา ๔๕ ปี รวมเป็นพระไตรปิฎกเป็นตัวอักษรไทยได้จำนวน ๔๕ เล่ม ทุกท่านที่อุทิศตนเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนามีน้อยท่านที่จะอ่านคำสอนในพระศาสนานั้นได้จบ แต่ว่าถึงอ่านไม่จบก็ต้องเข้าใจว่าพระพุทธเจ้าของเรานั้นสอนเรื่องอะไรบ้าง บัณฑิตในพระพุทธศาสนาได้สรุปคำสอนของพระพุทธเจ้า ๘๔๐๐ นั้น ลงในสามเรื่องคือ “เรื่องศีล เรื่องสมาธิและเรื่องปัญญา” แต่ละเรื่องนั้นทุกท่านก็ทราบและรู้ แต่ว่าจะเข้าใจนำไปแนะนำให้ผู้รับฟังได้ถือปฏิบัติได้อย่างไรนั้นไม่แน่ใจ คือไม่แน่ใจว่าเราจะแนะนำกันสูงเกินที่จะปฏิบัติได้ คำสอนของพระพุทธเจ้าทุกข้อที่ทรงสั่งสอนนั้นทุกคนต้องปฏิบัติได้ ไม่ใช่ปฏิบัติไม่ได้ ถ้าปฏิบัติไม่ได้จะทรงสั่งสอนไปทำไม
ศีลข้อแรกนั้นเราพูดกันสูงจนทุกคนเข้าใจว่าปฏิบัติไม่ได้ ต้องเข้าใจว่าคำสอนของพระพุทธเจ้านั้นมีตั้งแต่เบื้องต้นจนถึงสูงสุด ศีลก็มีตั้งแต่เบื้องต้นจนถึงสูงสุด สมาธิก็มีตั้งแต่เบื้องต้นจนถึงสูงสุด ส่วนปัญญานั้นก็ต้องมีความเข้าใจว่าปัญญาของพระพุทธเจ้ากับปัญญาที่เราเข้าใจนั้นเหมือนกันหรือต่างกันอย่างไร วันนี้ก็อยากจะพูดในเรื่องทั้งสามนี้เพื่อที่จะให้ทุกท่านได้เข้าใจและนำไปแนะนำสั่งสอนให้ทุกคนสามารถปฏิบัติได้ ไม่ได้สูงเกินไปดังที่เราได้ปฏิบัติและแนะนำกัน
คำว่า “ศีล” หรือ“สีล” เป็นคำของพระพุทธเจ้า เป็นภาษาบาลี ที่แปลเป็นไทยว่า “ปกติ” เราทั้งหลายก็รู้แล้ว ปกตินั้นทุกคนมีอยู่แล้ว เกิดมาก็มีปกติของความเป็นคน ศีลเป็นคำภาษาบาลีแปลว่าปกติ ของทุกอย่างมีปกติของมัน เช่นดินนั้นมีปกติแข็ง ถ้าไม่แข็งก็ไม่ใช่ปกติของดิน ที่ดินไม่แข็งเพราะมีน้ำมาเจือปนก็กลายเป็นดินเป็นตมเป็นเลนไป ไฟก็มีปกติร้อนถ้ามันไม่ร้อนก็เป็นไฟเทียมมิใช่ไฟแท้ คนก็มีปกติของความเป็นคน ปกติของความเป็นคนนั้น พระพุทธเจ้าใช้คำว่า “ศีล”
เพราะฉะนั้นจึงทรงแนะนำพร่ำสอนให้รักษาศีลคือให้รักษาปกติของเราไว้ ไม่ได้สอนให้ไปหาศีล ไม่ได้สอนให้ไปขอศีล เพราะฉะนั้นก็ขอให้ไปแนะนำสั่งสอนให้เขาได้ทราบว่าศีลคืออะไร ปกติของความเป็นคนนั้นบัณฑิตท่านบัญญัติไว้อย่างน้อยห้าข้อก็คือ ศีลห้า ข้อหนึ่งไม่ทำร้ายกันทั้งชีวิตทั้งร่างกาย ข้อสองไม่เบียดเบียนทางทรัพย์สิน ข้อสามไม่สำส่อนทางเพศ สามข้อนี้เป็นเรื่องของกาย ซึ่งธรรมชาติให้มาแล้ว ร่างกายของเรานั้นธรรมชาติให้มาแล้วมีปกติสามอย่างคือศีลสามข้อข้างต้น
ยกตัวอย่างให้เห็นว่า เช่นเรานั่งอยู่อย่างนี้ ถ้าองค์หนึ่งลุกขึ้นต่อยองค์ข้างๆ ถือว่าเป็นผู้ผิดปกติหรือไม่ เราก็ต้องเข้าใจว่าองค์ต่อยเข้านั้นผิดปกติ พระพุทธเจ้าเรียกว่าผิดศีล ถามว่าจำเป็นหรือไม่ที่ทุกคนต้องรักษาศีล ก็ต้องตอบว่าทุกคนอยู่ร่วมกันต้องรักษาปกติไว้ให้ได้ ถ้าอย่างนั้นก็อยู่กันอย่างไม่มีสันติ ไม่มีความสุข
แต่ว่าคนเรานั้นมีปกติต่างกันตามฐานะที่เป็นอยู่ ชาวบ้านธรรมดาทั่วไปก็มีปกติอย่างหนึ่ง ตามอาชีพของตนๆ สมมุติว่ารับราชการเป็นทหาร ปกติของทหารก็ต่างจากชาวบ้านทั่วไป สมมุติว่าเกิดเป็นหมู่ชาวประมง ปกติของชาวประมงก็ต่างจากปกติของคนอื่น
เป็นทหารถ้าข้าศึกมาประชิดประเทศ ไม่ออกไปรบกับข้าศึกเพราะกลัวจะผิดศีล ถามว่าถูกหรือไม่ ตอบว่าไม่ถูก เพราะผิดปกติของทหาร เป็นชาวประมงถ้าไม่ออกทะเลเพื่อจับปลา เพราะกลัวจะผิดศีล ถามว่าถูกหรือไม่ ตอบว่าไม่ถูกเพราะไม่ใช่ปกติของชาวประมง ปกติของคนเรานั้นต่างกันไหม แต่ละหน้าที่แต่ละอาชีพ ชาวประมงก็ต้องรักษาปกติของชาวประมงคือรักษาศีลของชาวประมง ทหารก็ต้องรักษาปกติของทหาร ชาวบ้านก็รักษาปกติของชาวบ้าน ถ้าเป็นชาวบ้านทั่วไป ปลวกขึ้นบ้านไม่ไล่ปลวกเพราะกลัวผิดศีลอย่างนี้ก็ไม่ถูก
เพราะฉะนั้นให้เข้าใจเรื่องศีล แล้วก็แนะนำให้เขาให้ปฏิบัติได้ ไม่ให้ผิดปกติของตัวเอง ถ้าจะสรุปก็คือปฏิบัติศีลทุกข้อไม่ให้ผิดกฎหมายของบ้านเมือง ไม่ให้ผิดระเบียบของสังคมถือว่ารักษาศีลได้ รักษาปกติของตนได้ในฐานะนั้นๆ
ถามว่าทหารออกรบยิงข้าศึกตายเป็นบาปหรือไม่ เป็นบาป เพราะว่าทำร้ายชีวิตเขา ชาวประมงออกทะเลจับปลาถามว่าเป็นบาปหรือไม่ ตอบว่าเป็นบาป เพราะทำร้ายชีวิตเขา ศีลกับบาปอย่าเอามาปนกัน ศีลนั้นรักษากายกับวาจาให้เรียบร้อยให้เป็นปกติเท่านั้น บาปไม่ได้เกิดกับกายกับวาจาอย่างเดียวต้องมีใจมาประกอบด้วย สิ่งที่ผิดธรรมเป็นบาป ไม่ผิดศีลแต่ว่าผิดธรรมเป็นบาป เพราะฉะนั้นท่านจึงความสำคัญกับศีลธรรม รักษาศีลให้บริสุทธิ์ในฐานะของตน ถึงอย่างนั้นก็ยังมีบาปอยู่ ถ้ารังเกียจบาปก็อย่าไปเป็นทหารที่จะต้องไปรบกับข้าศึก อย่าไปเป็นชาวประมง เป็นชาวไร่ชาวนาชาวสวนก็ได้
เพราะฉะนั้นอยากท่านอธิบายศีลให้ทุกคนสามารถปฏิบัติได้ ทุกคนปฏิบัติได้ มิใช่ปฏิบัติไม่ได้ อย่างที่เข้าใจว่าเรายังมีกิเลสรักษาศีลไม่ได้ ต้องรักษาได้ในฐานะของตนนั้นๆ ในปกติของตนนั้นๆ ทหารก็มีปกติของทหารคือมีศีลของทหาร ชาวประมงก็มีปกติของชาวประมงคือมีศีลของชาวประมง ชาวบ้านก็มีปกติของชาวบ้านก็คือมีศีลของชาวบ้าน
ถ้าจะยกตัวอย่างให้เห็นชัดกว่านั้น พระก็มีปกติของพระ ก็คือศีลของพระ เช่นพระฉันข้าวเย็น ถามว่าผิดปกติไหม ตอบว่าผิดเพราะปกติของพระไม่ฉันข้าวเย็น แล้วโยมกินข้าวเย็นผิดศีลไหม ไม่ผิดเพราะปกติของโยมคือกินข้าวเย็นได้ เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจศีลและอธิบายศีลให้ถูก บาปกับศีลอย่าเอาไปปนกันนี่คือข้อแรกที่พระพุทธเจ้าสอนไว้
มาถึงสมาธิ สมาธิก็เป็นคำของพระพุทธเจ้า ที่ท่านแปลว่า “ความตั้งใจ” ท่านเรียกว่าสมาธิ มีอุปการะในทุกขณะในทุกอิริยาบถ เป็นของจำเป็นที่ทุกคนจะต้องมีสมาธิในทุกเรื่อง ทุกท่านในที่นี่ผมพูดท่านก็ต้องตั้งใจฟัง การตั้งใจฟังนั้นเรียกว่าสมาธิ ตั้งใจฟังแล้วเกิดประโยชน์อะไรก็เข้าใจที่พูด ถ้าสมาธิสูงเกินไปสมาธิขั้นสูงเป็นอย่างไร อย่างที่เราปฏิบัติธรรมและสอนกันเรื่องสมาธินั้น ก็ถูกไม่ได้ผิด แต่สูงเกินไปทำไม่ได้ เหมือนกับเราทุกท่านที่ฝึกสมาธิกับครูบาอาจารย์ในเบื้องต้นก็อาจจะไม่ได้อะไร ได้เมื่อย นั่งขัดสมาธิหลับตาทำสมาธิ นั่นคือสมาธิในระดับที่สูงไม่สามารถทำได้เราก็ไปมองว่าไม่มีประโยชน์ไม่ได้อะไร นั่นคือสมาธิในขั้นที่สูง
ถ้าจะเรียนคำสอนของพระพุทธเจ้านั้นก็เหมือนบันไดสิบขั้น คนจะขึ้นบันได้สิบขั้นนั้นก็ต้องขึ้นขั้นแรกก่อน ก้าวที่เดียวห้าขั้นสิบขั้นก็คงขึ้นไม่ถึง ขึ้นไม่ได้ ต้องขึ้นตั้งแต่ขั้นแรกไปตามลำดับแล้วก็จะไปถึงขั้นที่สิบเอง ถ้าไปสอนขั้นสูงก็เป็นเรื่องที่ปฏิบัติไม่ได้ ก้าวไม่ถึง
ศีล สมาธิ ก็ต้องเข้าใจตั้งแต่เบื้องต้น ต้องสอนตั้งแต่เบื้องต้นคือชั้นอนุบาล ประถม มัธยม อุดมตามลำดับ อย่างชั้นมัธยมหรืออุดมคนที่ไม่ได้เข้าชั้นประถมก็เข้าใจไม่ได้
ส่วนปัญญานั้นได้แก่ความสำนึกรู้ว่าสิ่งนี้ผิด สิ่งนี้ถูก มีสติกำกับให้เข้าใจว่าผิดนั้นไม่ควรทำ ถูกนั้นควรทำ ทำไมถึงผิดถึงไม่ควรทำ เพราะว่าผิดนั้นทำให้เกิดโทษแก่ชีวิต นั้นถูกควรทำเพราะทำถูกนั้นมีคุณแก่ชีวิต สิ่งผิดสิ่งถูกก็คือกรรมบถสิบประการ ดังที่ท่านทั้งหลายได้เรียนมาแล้วก็คือทางกายสาม ทางวาจาสี่ ทางใจสาม มิใช่กาศึกษาเล่าเรียน
ศีลก็ดี สมาธิก็ดี ปัญญาก็ดี ทุกคนเกิดมาแล้วมีอยู่ด้วยกันทั้งนั้น ศีลแปลว่าปกติ เราทุกคนเกิดมาก็มีปกติของความเป็นคน สมาธิแปลว่าความตั้งใจ ใจเราก็มีอยู่แล้วเกิดมาก็มีแล้วแต่เราไม่ได้ตั้ง เหมือนกับแก้วน้ำมีอยู่ แต่จะให้เกิดประโยชน์คือจะใส่น้ำได้ก็ต้องแก้วตั้งให้มั่นคง ถ้าตั้งไม่ดีใส่น้ำไปก็หกมีอยู่แล้ว
ปัญญาความรู้ผิดรู้ถูก สติตัวยับยั้งทั้งสองอย่างมีอยู่แล้ว แต่ว่าเราไม่ได้พัฒนา ถ้าเราพัฒนาความรู้ผิดหรือถูกให้ดีตามหลักคำสอนขอพระพุทธเจ้าก็จะเกิดประโยชน์ และที่ผมพูดว่าไม่ใช่การศึกษาเล่าเรียนอย่างที่เราเข้าใจ การศึกษาเล่าเรียนอย่างที่เราเข้าใจว่าเป็นผู้มีปัญญานั้น ไม่ใช่ปัญญาของพระพุทธเจ้า ที่มีคำโบราณว่า “ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด” เพราะไม่ได้เอาปัญญามาใช้ เอาแต่ความรู้มาใช้ ปัญญาที่ธรรมชาติให้มาท่านเรียกว่า “สัญชาติกปัญญา” แปลว่าปัญญาที่มาพร้อมกับการเกิด มันจะพัฒนาขึ้นด้วยการประกอบคือการนำไปใช้ การใช้ยิ่งใช้ยิ่งเพิ่มพูน
ส่วนการศึกษาเรียนที่ได้ปริญญาตรี โท เอกนั้น พระพุทธเจ้าว่าเป็นดิรัจฉานวิชา มิใช่ปัญญาอย่างที่พระองค์ทรงประสงค์ ดิรัจฉานวิชานั้นมิใช่ของเลวเป็นของดีเหมือนกัน ความรู้นั้นดี แต่ว่าเราจะเอาความรู้นั้นมาใช้เพื่อทำร้ายตัวเองหรือทำคุณให้กับตัวเอง นั่นก็คือเอาปัญญาของพระพุทธเจ้าออกมาใช้ ทำอย่างไรจึงจะใช้ความรู้มาใช้ให้เป็นประโยชน์ นั่นคือปัญญาที่พระพุทธเจ้าทรงประสงค์ คนเราเอาความรู้มาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ตนเพราะอะไร เพราะว่าไม่ได้เอาปัญญาออกมาใช้นั่นเอง
การศึกษาเล่าเรียนทางโลกที่พระพุทธเจ้าว่าเป็นดิรัจฉานวิชานั้น เพราะเป็นความรู้ที่ก่อให้เกิดกิเลส รู้เพื่อจะสนองกิเลสของคนเรา ซึ่งมีอยู่ประจำใจอยู่แล้ว การศึกษาของพระพุทธเจ้านั้นเป็นการศึกษาเพื่อบรรเทากิเลส ไม่ใช่เพื่อสนองกิเลส เพราะฉะนั้นก็ขอให้ท่านที่จะเป็นพระธรรมทูตได้ศึกษาให้เข้าใจในคำสอนของพระพุทธศาสนาว่ามีเท่าไหร่ ศีลคืออะไร สมาธิคืออะไร และปัญญาคืออะไร เพื่อที่จะให้เขาผู้รับฟังนั้นปฏิบัติได้ ไม่ใช่สอนเพื่อปฏิบัติไม่ได้
ทั้งสามเรื่องทั้งศีล สมาธิ ปัญญานั้นทรงสั่งสอนที่ไหน ทรงสั่งสอนที่ตัวบุคคลทุกๆคน ทรงสั่งสอนเพื่ออะไร เพื่อให้ดีให้ดูแลสิ่งดีๆที่ธรรมชาติให้มานั้นให้ดี สอนศีลไว้ให้ดูแลกายกับวาจา สอนสมาธิไว้ดูแลใจ สอนปัญญาไว้ให้สำหรับพิจารณาว่าอะไรดี อะไรชั่ว อะไรควรทำอะไรไม่ควรทำ เอาสติไว้เป็นผู้กำกับ
ทุกอย่างรวมลงที่สติมีหนึ่งเดียวคือความประมาทเรียกว่าสติ สรุปว่าคำสอนของพระพุทธเจ้า ๘๔๐๐ ที่เราทั้งหลายเข้าใจว่ายังอ่านไม่จบ แต่ขอให้เข้าใจว่าทรงสอนสามเรื่องคือศีล สมาธิ ปัญญา และสอนให้ผู้ฟังนำไปปฏิบัติได้มิใช่ปฏิบัติไม่ได้ในทุกเรื่อง
เพราะฉะนั้นขอกล่าวกับท่านทั้งหลายที่จะไปเป็นพระธรรมทูต ขอให้สอนตั้งแต่เบื้องต้นคืออนุบาล อย่าไปสอนมัธยมหรืออุดม เพราะคนไม่เรียนอนุบาล ประถม มัธยมจะฟังไม่รู้เรื่อง เพราะไม่ได้เริ่มขึ้นบันไดขั้นหนึ่ง
ทีนี้ก็มีกล่าวรายงานว่าจะไปสังเวชนียสถานสี่ตำบลที่ประเทศอินเดีย-เนปาล สังเวชนียสถานสี่ตำบลนั้น เป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าทรงแนะนำไว้ในมหาปรินิพพานสูตรว่าเป็นสถานที่ควรไป ท่านทั้งหลายจะต้องไปก็ดีแล้ว เพราะเป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าทรงแนะนำให้ไป สิ่งที่อยากจะพูดก็คือทรงรับสั่งไว้ว่าใครได้ไปสังเวชนียสถานสี่ตำบลนี้แม้ครั้งเดียวก็ไม่ตกนรก ท่านจะต้องไปและไปแล้วไม่ตกนรกไปอย่างไร ก็ต้องไปอย่างมีความเข้าใจและปฏิบัติ ทุกท่านผ่านการศึกษามาแล้วทั้งนั้นสังเวชนียสถานสี่ตำบลมีที่ไหนบ้าง แต่ว่าอาจจะไม่ทราบว่าทำไมจึงเรียกว่าสังเวชนียสถาน สถานที่ควรให้เกิดความสังเวช ทำไมไปสถานที่ที่พระพุทธเจ้าประสูติจะสังเวชเรื่องอะไร ไปสถานที่ตรัสรู้ ไปสังเวชเรื่องอะไร ไปสถานที่แสดงปฐมเทศนาไปสังเวชเรื่องอะไร ไปสถานที่ปรินิพพานก็น่าจะเกิดความสังเวชอยู่ ไปอย่างไรจึงจะไม่ตกนรก ไปหนเดียวไปไม่ตกนรก ใครได้ไปครั้งหนึ่งแล้วจะไม่ตกนรก ก็ต้องเข้าใจว่าสังเวชนียสถานนั้นที่ควรให้เกิดสังเวชนั้น ไปสังเวชสถานที่หรือไปสังเวชอะไร สังเวชถ้าจะให้เข้าใจภาษาไทยก็แปลว่า “สลดใจ”
ไปสังเวชนียสถานแล้วสลดใจอย่าไร ก็ต้องคิดให้ได้ว่าพระพุทธเจ้าเป็นโอรสของกษัตริย์ ก็ต้องเข้าใจว่าโอรสกษัตริย์สมัยสองพันกว่าปีนั้นเป็นอย่างไร มีอะไรอย่างไร มีทุกอย่างซึ่งคนสามัญอยากจะมี ไม่มีอะไรบกพร่อง โลกธรรมส่วนที่น่าปรารถนา ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข พระองค์มีพร้อม แต่ว่าสิ่งที่ทุกคนปารถนานั้นพระพุทธเจ้าหันหลังให้โดยที่สุดแม้พระโอรส พระราหุลซึ่งประสูติใหม่ ทรงหันหลังให้ได้ ไม่ใช่เพราะพระองค์ผลักภาระไม่รับผิดชอบ แต่ทรงเห็นโมกธรรรมความหลุดพ้นนั้นเป็นภาระที่ใหญ่หลวงที่จะต้องแสวงหา เพื่อนำพามหาชนให้พ้นจากทุกข์อย่างที่เราทราบกันแล้ว จึงเสด็จมาแสวงหาโมกธรรมมาอยู่ในถิ่นที่คนเราซึ่งยังมีกิเลสก็ไม่อยากไป ไม่อยากมา โดยที่สุดแม้ที่พุทธคยาในเวลานี้ก็ยังไม่สะดวกสบายตามใจของเรา แล้วเราที่เป็นศิษย์ของพระตถาคต เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า เดินตามรอยพระองค์หรือไม่ พระองค์มีโลกธรรมส่วนที่น่าปรารถนา แต่ว่าเรายังเดินหาไหม ถามใจตัวเองก็ได้ว่าเรายังอยากได้ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข หรือไม่ สุขอันนี้ไม่ใช่สุขแท้จริงนะ เป็นสุขเทียม สุขสนองกิเลส
การทำให้เกิดสังเวชนั้นมิใช่สังเวชสถานที่ สังเวชตัวเราว่าเราเป็นศิษย์ตถาคตดำเนินตามรอยพระบาทพระพุทธเจ้าหรือไม่ หรือว่ายังสวนทางอยู่ พระพุทธเจ้าเดินหนีอิฏฐารมณ์ เรายังเดินเข้าหาหรือไม่ ถ้ายังเดินเข้าหาอยู่ควรจะปฏิบัติตนอย่างไร ถ้ามีปัญญา ถ้ามีปัญญามีสติอย่างที่พูดเตือนตัวเองให้ได้คือความชั่วอย่าทำ ทำแต่ความดี สังเวชตัวเองให้ได้ว่าทำไมยังจึงวิ่งหาลาภ ยศ สรรเสริญ สุข สวนทางกับพระพุทธเจ้า ทำไมไม่ปฏิบัติตามพระพุทธเจ้า ถ้าเกิดปัญญาอย่างนี้ เตือนตนอย่างนี้ และปฏิบัติตนได้อย่างนี้ ถามว่าจะตกนรกไหม
ถ้าไปแล้วไปสังเวชขอทาน ไปสังเวชสถานที่ว่ามันลำบากลำบน คงไม่พ้นจากนรก อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงชักชวน เพราะฉะนั้นเมื่อจะไปสังเวชนียสถานก็ขอให้ไปแล้วอย่าตกนรก ตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงเชื้อเชิญชักชวนก็คือสังเวชตัวเอง อย่าไปสังเวชสถานที่ สังเวชตัวเองว่าทำไมเรายังปฏิบัติตนตามกิเลส ทำไมไม่ทวนกระแสกิเลส
ความดีนั้นทรงแนะนำสั่งสอนให้ทำเร็วที่สุดเหมือนกับไฟไหม้ศีรษะ เข้าใจไหม ไฟมันไหม้ที่ศีรษะเราถามว่าเราจะทำอะไรก่อน เราจะกินข้าวก่อนไหม เราจะคุยกับเพื่อนก่อนไหม ก็คงไม่ ไฟกำลังไหม้ศีรษะก็ต้องดับไฟก่อนถึงไปทำอย่างอื่น แต่ว่าในชีวิตประจำวันนั้นเรามักจะผลัด ใครชวนให้ทำความดีอะไร ก็มักจะผลัดว่ายังมีภาระอยู่ ทำนี่ก่อน ทำโน่นก่อน ค่อยทำทีหลัง อันนี้ก็คือการผลัด ท่านสอนให้ทำทันทีเหมือนไฟไหม้ศีรษะ
ทั้งหมดนี้ก็เป็นเรื่องที่มาพูดให้ท่านฟังในฐานะที่ท่านจะต้องไปเป็นพระธรรมทูตนำคำสอนของพระพุทธศาสนาไปเผยแผ่ เพื่อความมั่นคงและสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาอย่างที่รายงานและจะไปสังเวชนียสถานสี่ตำบล ก็ขอให้ถามว่า “ไปทำไม ไปเพื่ออะไร ทำไมพระพุทธเจ้าจึงทรงเชื้อเชิญให้ทุกคนควรไป” หวังว่าจะเป็นประโยชน์เป็นข้อคิดของทุกท่าน
กลับที่เรื่องของพระศาสนาอีกหน่อยหนึ่ง พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนด้วยพระองค์เองตลอดพระชนม์ชีพที่เรียกว่าพุทธกิจ หน้าที่ของพระพุทธเจ้าตลอดระยะเวลา ๔๕ ปี และมีคำสอนสรุปลงสามอย่างตามที่กล่าวแล้ว แต่ว่าสามอย่างนั้นมิใช่เรื่องง่ายต้องมีวิธีต่างๆอีกมากมายซึ่งเป็นวิธีที่ทรงแนะนำสั่งสอน
ศีลนั้นควรรักษาเพราะเป็นของดีอยู่แล้ว รักษาไว้ให้ได้ สมาธินั้นควรทำก็คือจัดตั้งให้ได้ ใจนั้นควรตั้งควรทำ แต่วิธีที่จะตั้งใจนั้นมีวิธีเป็นอันมากเพราะว่าตั้งยาก ตั้งแล้วอาจจะตั้งผิด ท่านมีวิธีสอนตั้งให้ถูก
ส่วนปัญญานั้นเหมือนของใช้ มีอยู่แล้วนำออกมาใช้ ยิ่งใช้ยิ่งมีประโยชน์ ย่างใช้ยิ่งพัฒนา ยิ่งใช้ยิ่งเพิ่มพูน ยิ่งมีมาก ไม่เหมือนสิ่งอื่นยิ่งใช้ยิ่งหมด ที่ท่านว่าปัญญาย่อมเกิดเพราะการประกอบ ไม่เหมือนวัตถุสิ่งของยิ่งใช้ยิ่งหมด แต่ปัญญายิ่งใช้ยิ่งมีมาก
วัตถุประสงค์ของการแนะนำสั่งสอนนั้นคือนิพพาน นิพพานนั้นก็มิใช่มีสูงสุด ก็มีบันไดเป็นขั้นๆ สมมุติว่าสิบขั้นก็ต้องมีขั้นที่หนึ่งด้วย มิใช่มีขั้นสิบ เพราะฉะนั้นทุกคนต้องไปนิพพานในวันนี้ ไม่ใช่เกินเอื้อม ไม่ใช่เรายังมีกิเลสอยู่ยังไม่ไปนิพพาน เพราะนิพพานเป็นคำของพระพุทธเจ้า “นิพพาน” คำไทยแปลว่า “ดับ” ดับอะไร “ดับทุกข์” ทุกข์ไม่มีใครอยากได้ แล้วไม่ดับหรือถ้าไม่อยากได้ ทุกข์ในเรื่องอะไรก็สาวไปหาเหตุคือสมุทัยในเรื่องนั้น ก็ไปดับเหตุของทุกข์ในเรื่องนั้นทุกข์ก็หมดไป คนทุกคนเกิดมามีทุกข์ทั้งนั้น ไม่มีใครอยากได้ แต่ปฏิเสธนิพพาน ต้องสอนให้เขาดับทุกข์ให้ได้ ให้ไปนิพพานให้ได้ในปัจจุบัน ไม่ใช่สูงสุดแต่เป็นนิพพานในขั้นต้นคือบันไดขั้นที่หนึ่ง ไม่นานก็ถึงขั้นที่สิบเอง
ธรรมทุกข้อเป็นทั้งโลกิยะและโลกุตตระ เราต้องปฏิบัติในขั้นที่เราถึงได้คือขั้นอนุบาล ขั้นประถม มัธยม อุดมตามลำดับตามที่กล่าวแล้ว อย่าไปสอนสูงจนไปไม่ถึงเอื้อมไม่ถึง
หวังว่าทุกท่านคงเข้าใจและนำพระพุทธศาสนาไปสอนให้เขาปฏิบัติได้ แต่ข้อสำคัญต้องตั้งใจปฏิบัติเองด้วย เพื่อเป็นที่ตั้งของความศรัทธาความเลื่อมใสดังที่กล่าวแล้ว แม้ว่าเราจะปฏิบัติได้ไม่ถึงขั้นสูงสุดบริสุทธิ์บริบูณ์ แต่ว่าก็ต้องตั้งใจปฏิบัติตนและพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ เพื่อเป็นที่ตั้งของศรัทธาปสาทะ และศรัทธาปสาทะนั้นก็จะเป็นเหตุให้เขาตั้งใจฟังเราสอน จึงเป็นคุณต่อการเป็นพระธรรมทูต เมื่อเป็นคุณแล้วก็เป็นสิ่งที่ทุกท่านเตือนตัวเองไว้ให้ดีและสอนคนอื่นในสิ่งที่ตนเองปฏิบัติได้ ไม่ใช่ร้อยเปอร์เซ็นต์
ขออนุโมทนาทุกท่านที่ได้ตั้งใจมาเข้ารับการฝึกอบรมเพื่อไปปฏิบัติศาสนกิจเพื่อเผยแผ่คำสอนของพระพุทธเจ้าตามภาระหน้าที่ เพื่อความดำรงมั่นคงของศาสนาเพื่อประโยชน์แก่มหาชน
ขออนุโมทนาขอบคุณ พระเถรานุเถระที่เกี่ยวข้องในเรื่องการอบรมนี้ทุกท่านทุกรูป ขออนุโมทนาสถาบัน ส่วนราชการ และพุทธศาสนิกชน สาธุชนทุกท่านที่ให้การสนับสนุนในเรื่องต่างๆให้การอบรมพระธรรมทูตนั้นเป็นไปด้วยความเรียบสะดวก บรรลุวัตถุประสงค์ตามที่มุ่งหมายทุกประการ..ขอขอบคุณ ขออนุโมทนา
การฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธรรมยุต) รุ่นที่ ๒๓/๒๕๖๐ ระหว่างวันที่ ๙ มกราคม ถึงวันที่ ๘ เมษายน ๒๕๖๐ ที่สถาบันฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ) วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน กรุงเทพมหานคร แบ่งเป็นสามภาคคือภาควิชาการ วันที่ ๙ มกราคม-๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ ภาคศึกษาดูงานและนมัสการสังเวชนียสถานสี่ตำบลประเทศอินเดี-เนปาล วันที่ ๑-๑๐ มีนาคม ๒๕๖๐ และภาคจิตภาวนาระหว่างวันที่ ๑๓-๑๗ มีนาคม ๒๕๖๐
ฝ่ายเลขานุการ สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)
รายงาน